คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ซีเรีย: แผ่นดินกลียุค

(ภาพ- Ghouta Media Centet via AP)

เหตุการณ์ปิดล้อมต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์ ผนวกกับการโจมตีทางอากาศสลับกับการถล่มด้วยอาวุธหนัก ที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมกับพลเรือนซีเรีย 400,000 คนที่กูตาตะวันออก เป็นเครื่องยืนยันชัดเจนอีกครั้งว่า ยังไม่มีสันติภาพในซีเรีย แม้จะหลงเหลือขบวนการก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส หรือ ไอซิส) อยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ไม่มีสันติภาพยังไม่พอ สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานถึง 7 ปี ยังก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นซ้ำซ้อน ถมทับลงครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อรูปเป็นเครื่องหมายคำถามที่ใหญ่โตมากขึ้นทุกวัน ท้าทายจิตวิญญาณของมนุษย์ทุกผู้คนที่รับรู้เรื่องราว ที่อยู่ในเหตุการณ์และที่โยงใยอยู่เบื้องหลังเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด

เป็นคำถามที่สอบถามถึงมนุษยชาติทุกผู้คนว่า กมลสันดานใฝ่ดีของคนเราร่วงโรยชืดชาหมดแล้วหรืออย่างไร
เพียง 3 เดือน มีผู้คนล้มตายลงมากกว่า 700 คน สถิติที่ถูกทำลายไปด้วยการเข่นฆ่าครั้งใหม่ที่กูตาตะวันออก สถิติใหม่คือในเวลาเพียงไม่ครบ 48 ชั่วโมงดีก็มีคนล้มตายไปถึง 250 รายเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา

การหลับหูหลับตาฆ่าไม่เลือกหน้า เด็ก สตรี คนชรา ถล่มไม่เลือกสถานที่ ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงพยาบาล
ตั้งแต่เช้าวันที่ 19 กุมภาพันธ์เรื่อยมา โรงพยาบาล 7 แห่งถูกโจมตีด้วยอาวุธสงคราม และ “บาร์เรลบอมบ์” โรงพยาบาล 2 โรงในจำนวนนี้จำเป็นต้องระงับการรักษาพยาบาลชั่วคราว อีกโรงเสียหายสาหัสจนจำเป็นต้องเลิกให้บริการไปเลย

Advertisement

ไม่แปลกที่นายแพทย์ในกูตาตะวันออกผู้หนึ่งบอกว่า “นี่ไม่ใช่สงคราม แต่เป็นการสังหารหมู่”

การสังหารหมู่ที่เข้าข่ายเป็น “อาชญากรรมสงคราม” เกิดบ้างเป็นครั้งคราวในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ในทศวรรษ 1980 โลกได้เห็น ซัดดัม ฮุสเซน สังหารหมู่ชาวเคิร์ดใน ฮาลับยา ในทศวรรษ 1990 เกิดเหตุทำนองเดียวกันที่ เซรเบรนิกา

ในทศวรรษนี้ ศตวรรษนี้ ไดแอนา ซีมานน์ นักวิจัยของแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล บอกว่า อาชญกรรมสงครามระดับ “มหากาพย์” กำลังดำเนินอยู่ในกูตาตะวันออก

และไม่เฉพาะแต่ในกูตาตะวันออกเท่านั้นที่มนุษยธรรมกำลังตกอยู่ในสภาพวิกฤต แต่ในหลายพื้นที่ในซีเรีย ยิ่งนับวันยิ่งอยู่ในสภาพกลียุค ยกพวกเข้าห้ำหั่น ฆ่าฟันกันแบบไร้เหตุผลมากขึ้นทุกที

 

 

เหตุการณ์ที่ กูตาตะวันออก เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งซึ่งประกอบกันเป็นภาพรวมของสงครามกลางเมืองซีเรียในเวลานี้ ยามที่ทุกฝ่ายตระหนักว่า “ศัตรูร่วม” สำคัญที่สุดของพวกอย่าง ไอเอส ถูกพิชิตลงแล้ว และ “รัฐกาหลิบ” ที่เคยกว้างขวาง หดเล็กลงเหลือเพียงส่วนเสี้ยวบนดินแดนห่างไกลในทะเลทราย และเริ่มเปลี่ยนสภาพของสงครามในซีเรียไป

สงครามในซีเรียที่เคยเป็นถูกใช้เป็นมาตรวัดการเอาชนะการก่อการร้าย กลับกลายเป็นสมรภูมิเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ส่วนตนของแต่ละฝ่ายไปแทบจะในทันทีทันใด

ฝ่ายต่างๆ เหล่านี้ มีตั้งแต่มหาอำนาจระดับโลก มหาอำนาจในภูมิภาค อาทิ สหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, ตุรกี, อิหร่าน และแม้กระทั่งอิสราเอล เรื่อยไปจนถึงกลุ่มติดอาวุธทั้งหลายแหล่ ตั้งแต่กลุ่มก่อการร้าย กลุ่มติดอาวุธของฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาลกับทหารแปรพักตร์ ไปจนถึงกองทัพภายใต้บังคับบัญชาของ บาร์ชาร์ อัล อัสซาด และบรรดา นักรบรับจ้างอีกหลากหลายกลุ่ม

เมื่อต่างฝ่ายต่างปฏิบัติการเพื่อบรรลุถึงผลประโยชน์ของฝ่ายตัว หรือเพื่อสัมฤทธิผลตาม “วาระซ่อนเร้น” ที่ซุกซ่อนเอาไว้ภายใต้คราบของการเป็น “พันธมิตร” การปะทะกันแบบ “ไม่ได้ตั้งใจ” ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ถี่ยิบขึ้น และคนภายนอกก็ยิ่งไม่เข้าใจสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากขึ้นทุกทีเช่นเดียวกัน

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา การสู้รบจึงได้เกิดขึ้นถี่ยิบ ต่างฝ่ายต่างโหมกำลังโจมตีเป้าหมายของตนมากขึ้นและรุนแรงขึ้น

ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม เรื่อยมาจนถึงเวลานี้ กองทัพตุรกีใช้กำลังทางอากาศโหมถล่มที่ตั้งของ กองกำลังปกป้องประชาชน (วายพีจี) กองกำลังติดอาวุธของชนเชื้อสายเคิร์ดในซีเรีย บริเวณเมือง อัฟริน ทางตอนเหนือของประเทศ ในขณะที่อิสราเอล ส่งฝูงบินหลายระลอกโจมตีเป้าหมายหลายจุด ซึ่งทางการอิสราเอลแถลงว่า ประสบความสำเร็จในการทำลายสมรรถนะของระบบต่อต้านอากาศยานของซีเรียลงไปแล้วอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

สาเหตุของการโจมตีทางอากาศดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินรบของอิสราเอลลำหนึ่งถูกยิงตก ระหว่างปฏิบัติการตอบโต้การที่ “โดรน” ลำหนึ่งของอิหร่านล่วงล้ำเข้ามาในน่านฟ้าอิสราเอล

จากนั้นก็เกิดปะทะ “ลึกลับ” ขึ้นใกล้กับลานก๊าซธรรมชาติแห่งหนึ่ง ใน “เดเอียร์ เอซ-ซอร์” ซึ่งมีรายงานบางกระแสถึงกับระบุว่า เป็นการเผชิญหน้าที่ “นองเลือด” มากที่สุดระหว่างทหารรัสเซียกับทหารอเมริกัน นับตั้งแต่สิ้่นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา ตามรายงานระบุว่าพบ “ทหารรับจ้างรัสเซีย” อยู่ในกลุ่มผู้เสียชีวิตด้วยจำนวนหนึ่ง

รายงานบางกระแสอ้างว่าฝ่ายรัสเซียประสบความสูญเสียครั้งใหญ่มากถึง 200 นายในการรบครั้งนี้ แม้ว่าแหล่งข่าวท้องถิ่นจากโรงพยาบาลทหารใน เดเอียร์ เอซ-ซอร์ เองชี้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 10-20 คนก็ตามที

การขาดหายไปของ “ศัตรูร่วม” อย่างไอเอส ไม่เพียงทำให้การสู้รบเกิดขึ้นถี่ยิบเท่านั้น ยังอำมหิตเลือดเย็นมากขึ้นอีกด้วย

 

 

การเกิดขึ้นของรัฐกาหลิบ และกองกำลังรัฐอิสลาม ที่ยึดครองดินแดนบางส่วนในอิรักและอีกบางส่วนในซีเรีย ไม่เพียงทำให้เกิด “เป้าใหญ่” สำหรับทุกฝ่ายขึ้นเท่านั้น ยังทำให้เกิด “ข้ออ้าง” ให้กับทุกฝ่ายในการสั่งสมกำลัง สะสมอาวุธ และลงมือทำสงครามเพื่อ “ปลดปล่อย” ดินแดนที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของไอเอส

การ “ปลดปล่อย” ดังกล่าวนี้หอมหวลเป็นพิเศษ ก่อให้เกิดความมุ่งมั่นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกดินแดนที่ถูกปลดปล่อยเป็นอิสระจากอิทธิพลของไอเอส จะกลายเป็นดินแดนภายใต้อิทธิพลของกลุ่มนั้นๆ เองไปโดยปริยาย ความเย้ายวนนี้ยิ่งกลายเป็นใบเบิกทางให้ใช้ไอเอสเป็นข้ออ้างในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในซีเรีย

ความพยายามในการสร้างพันธมิตรเพื่อต่อต้านไอเอสขึ้นมา ไม่เพียงส่งผลให้ทหารอเมริกันจำนวนหนึ่งต้องระเห็จมาใช้ชีวิตเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่ที่นี่เท่านั้น ยังทำให้กองกำลังติดอาวุธของชนชาวเคิร์ด ทางตอนเหนือของซีเรียกลายเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศไปในเวลานี้ ในเวลานี้ เคิร์ดควบคุมพื้นที่อยู่ราวๆ 1 ใน 4 ของเนื้อที่ทั้งประเทศซีเรีย และ พยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาให้คงอยู่เช่นนั้น

ตุรกี ไม่มีวันสบายใจกับอิธิพลของเคิร์ดในระดับนั้น พยายามทุกวิถีทางที่จะลดทอนพื้นที่อิทธิพลของเคิร์ดลง ซึ่งตรงกันข้ามกับความพยายามของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการใช้กองกำลังติดอาวุธเคิร์ด เพื่อยันไม่ให้อิหร่านแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้นในซีเรีย ถึงขนาดลงทุนใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพ ขนส่งกองกำลังเคิร์ดไปยัง เดเอียร์ เอซ-ซอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังอื่นใดเข้าไปยึดครองลานน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในบริเวณดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ในเวลาเดียวกัน การแทรกแซงของกองกำลังต่างชาติทั้งหลาย มีเงื่อนไขเหมือนกันอยู่ประการหนึ่งคือ ต้องจำกัดการสูญเสียคนของตนเองให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยเหตุผลในทางการเมืองภายในประเทศของแต่ละประเทศ เพราะการพลีชีพทหารของตนเองเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ชัดเจน คือความเสียหายในทางการเมืองอย่างเอกอุ

นั่นคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังที่ว่า ทำไมกองทัพของหลายประเทศถึง เลือกที่จะใช้กองกำลังติดอาวุธในท้องถิ่นเ หรือไม่ก็เลือกใช้บริการของ “ทหารรับจ้าง” ทั้งหลายป็นเครื่องมือในสมรภูมิที่ยุ่งเหยิงสับสนอย่างเช่นในซีเรีย

ฝ่ายอเมริกันใช้กองกำลังติดอาวุธเคิร์ด ในขณะที่ตุรกีนอกเหนือจากการใช้ทหารของตัวเองแล้ว ยังใช้กองกำลังติดอาวุธของฝ่ายกบฏต่อต้านอัสซาด ในการสู้รบปรบมือกับฝ่ายอื่นๆ ในขณะที่อิหร่าน นอกเหนือจากกองกำลังของตนแล้วใช้สารพัดกองกำลังเท่าที่สามารถกะเกณฑ์เข้ามาได้ ตั้งแต่กองกำลังอิรัก, อัฟกัน และ ปากีสถาน โดยมีนายทหารจากกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติ (ไออาร์จี) ของตนเป็นผู้บังคับบัญชา

นับตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมา มีกองทหารที่อยู่ภายใต้บัญชาการของนายทหารอิหร่าน ปฏิบัติการอยู่ในซีเรียหลายแสนคน และเป็นกองกำลังหลักที่ช่วยค้ำจุนบัลลังก์ของ บาชาร์ อัล อัสซาด ให้อยู่มาได้จนถึงขณะนี้
รัสเซีย นั้นหลายฝ่ายเข้าใจมาโดยตลอดว่าใช้ทหารประจำการของตนเองเข้าไปปฏิบัติการในซีเรีย จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้หารรับจ้างจากรัสเซีย ซึ่งรวมทั้ง ชายชาวคอสแสควัย 51 ปีโพสรูปของตนเองก่อนหน้า “ออกศึก” ในซีเรีย ทำให้โลกได้รู้จักหน่วยทหารรับจ้าง “วากเนอร์ กรุ๊ป” ที่ว่ากันว่า อยู่ในสัญญาจ้างโดย “กลุ่มนักธุรกิจซีเรีย” กลุ่มหนึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น กองกำลังติดอาวุธของชนเผ่าในซีเรียอย่างน้อย 2 กลุ่ม มีส่วนร่วมอยู่ในกลียุคครั้งนี้ด้วย หนึ่งในจำนวนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของ นักปลอมแปลงชื่อดังอย่าง ทอร์กี อัลโบ ฮาเหม็ด ซึ่งมีหมายจับในข้อหาฆาตกรรมในกาตาร์ และมีหมายจับในข้อหาปลอมแปลงในซาอุดีอาระเบีย
ตอนนี้ อาชญากรรมตัวเอ้ระดับภูมิภาค ได้ทั้งเงินและได้ทั้งอภิสิทธิ์คุ้มครองจากรัฐบาลซีเรีย

 

 

ภายใต้ความหลากหลายของคนถือปืน ที่ถูกผลักดันโดยผลประโยชน์ทั้งเฉพาะหน้าของกลุ่ม ผลประโยชน์เฉพาะหน้าของประเทศหรือผู้ให้การสนับสนุนทั้งอาวุธและเงิน รวมถึงผลประโยชน์ในระยะยาวที่หลายฝ่ายคำนึงถึง สงครามในซีเรียไม่มีวันสิ้นสุดลงง่ายๆ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในเวลานี้ แม้ว่าประชาคมนานาชาติจะเรียกร้องให้หาทางออกโดยสันติ ผ่านการเจรจาก็ตามที

ภายใต้สถานการณ์เช่นนั้น คำว่า “มิตร” หรือ “ศัตรู” ไม่มีความหมายตามนัยของคำมานานแล้ว ไม่แปลกที่คนที่มองจากภายนอกเข้าไปจะพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง รัสเซีย, เคิร์ด, อิหร่าน, ตุรกี, และอเมริกัน ที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรู รบราฆ่าฟันกันเอาเป็นเอาตายในซีกหนึ่งของซีเรีย กลับกลายเป็นโอนอ่อนผ่อนปรน ถึงขนาดร่วมมือซึ่งกันและกันในอีกซีกหนึ่งของประเทศ

ไม่มีอะไรแน่นอนอีกต่อไป แม้กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับรัสเซีย ซึ่งถึงแม้จะหนุนหลังอัสซาดแบบสุดลิ่มทิ่มประตู แต่วาระซ่อนเร้นของทั้ง 2 ยังแตกต่างกัน รัสเซีย ต้องการสร้างกลุ่มประเทศที่ “อยู่ใต้อาณัติ” ของตนขึ้นมาในตะวันออกกลาง เพื่อหวังผลพลอยได้ใหญ่โตในระยะยาว นั่นคือการ “เข้าไปแทนที่สหรัฐอเมริกา” ในฐานะมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในภูมิภาค

ในขณะที่อิหร่าน ไม่เพียงต้องการอิทธิพลทางการเมือง หากแต่ยังต้องการขยาย “อาณาจักรชีอะห์” ให้ขยายออกไปครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางให้มากที่สุด ลงทุนถึงขนาดรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนนิกายจากสุหนี่เป็นชีอะห์ควบคู่ไปกับการระดมซื้อที่ดิน และปลูกสร้างโรงงานขึ้นที่นั่น ซึ่งในระยะยาวไม่สอดคล้องกับความต้องการของรัสเซียแน่นอน

คำถามที่ว่า 7 ปีที่ผ่านมา ซีเรีย ก้าวมาสู่สภาพกลียุคเช่นนี้ได้อย่างไร คำตอบก็คงหนีไม่พ้นข้อเท็จจริงที่ว่า

เนื่องจาก บาชาร์ อัล อัสซาด ยินดีที่จะทำลายซีเรียลงทั้งประเทศ มากกว่าที่จะยินยอมก้าวลงจากอำนาจ…เท่านั้นเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image