เสียงสะท้อน… กกต.เกิด ‘สุญญากาศ’

หมายเหตุ – กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนักวิชาการ วิเคราะห์สถานะการทำงานของ กกต.ชุดปัจจุบันภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบว่าที่ กกต.ชุดใหม่ 7 คน ที่อาจเกิดภาวะสุญญากาศ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์


ศุภชัย สมเจริญ
ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

การที่ สนช.ไม่รับรองคุณสมบัติของผู้สมัครเป็น กกต.ทั้ง 7 คน พวกผมที่เป็น กกต.เก่าก็ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ชุดใหม่เข้ามาแทน และคิดว่าไม่เกิดภาวะสุญญากาศแต่อย่างใด เพราะ กกต.ต้องทำหน้าที่ต่อไป ส่วนการเลือกตั้งก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย กกต.เตรียมพร้อมจัดการเลือกตั้ง ดังนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นไม่มีผลกระทบใดๆ เลย เพียงแต่ยังไม่ได้ กกต.ชุดใหม่เท่านั้นเอง แต่คิดว่าถ้าได้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาในช่วงกระชั้นชิดการเลือกตั้งและการเตรียมการต่างๆ คงจะไม่ทัน แต่ถ้ามาตอนนี้คงจะเตรียมตัวทัน เพราะน่าจะเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

อย่างไรก็ตาม กกต.ชุดเก่าก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ชุดใหม่มา และถ้ามี กกต.ท่านใดลาออกในช่วงนี้ คิดว่าไม่เป็นอะไรหรอก กกต.ก็ทำงานได้ องค์ประชุมครบ ไม่มีปัญหาอะไร ขอยืนยันว่าถ้าสรรหาใหม่ก็จะไม่กระทบกรอบโรดแมป การเลือกตั้ง การสรรหา กกต.ใหม่ก็ทำไป ไม่เกี่ยวกัน โดยจะสรรหาใหม่ 5 คน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกอีก 2 คน ดังนั้น จะไม่กระทบกับโรดแมป เพราะกระบวนการตรงนี้จะอยู่ที่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เมื่อใด

Advertisement

ผมยืนยันว่าเราพร้อมทำงานต่อตั้งแต่โดนเซตซีโร่ กกต.ไม่ได้มีความน้อยเนื้อต่ำใจอะไรเลย กกต.มีหน้าที่ก็ต้องทำไป ไม่ใช่ว่าเขาเซตซีโร่แล้ว กกต.จะไม่ทำงานมันไม่ใช่ มีหน้าที่ก็ต้องทำ และยังคิดว่าอย่าไปวิตกกังวลเกินเหตุกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ กกต.ระดับสูงล้วนมีความชำนาญ มีประสบการณ์การเลือกตั้ง

เราเพียงรอ กกต.ชุดใหม่เข้ามา เพื่อจะสานงานต่อ ซึ่งตอนนี้เราเตรียมการส่งมอบสิ่งต่างๆ ให้ เมื่อเข้ามาก็จะทำงานได้เลย จะได้ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย ทำได้เลย


 

Advertisement
โอฬาร ถิ่นบางเตียว

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ถึงแม้ว่า สนช.จะคว่ำ กกต.ที่กรรมการสรรหาเสนอชื่อมาโดยให้เหตุผลต่างๆ นานา โดยหลักแล้ว กกต.ชุดปัจจุบันที่เราเรียกว่ารักษาการ จริงๆ แล้วมีอำนาจเต็มในการจัดการเลือกตั้ง แต่เพราะมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่ สังคมเลยตีราคาว่าเป็นรักษาการเพื่อรอชุดใหม่

ประเด็นที่สังคมสงสัยคือ สนช.คว่ำ กกต.ทั้งหมด ถามว่ากระบวนการสรรหาเกิดอะไรขึ้น และถ้า กกต.ลาออกไปสัก 3 คน ทำให้ กกต.ไม่ครบองค์ประกอบ จะจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ ก็ต้องมีช่องทางหาคนมาเพิ่ม ประเด็นคือในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าคนลาออก ใครจะกล้าตัดสินใจหรือกล้าลงสมัครเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์การเมืองในอนาคต การเลือกตั้งจะออกไปในทิศทางใดในขณะที่ คสช.ใช้อำนาจเต็มและพยายามปิดกั้นการปฏิรูปทั้งหมด ซึ่งทำให้หลายคนคิดว่าเป็นการนำมาสู่การยื้อการเลือกตั้ง

ส่วนตัวคิดอีกมุมหนึ่งว่าถ้ามีการลาออกแล้วไม่มีคนลงสมัคร ก็มีช่องทางของมาตรา 44 ที่สามารถหาคนมาเพิ่มได้ สิ่งที่จะตามมาคือ ถ้าเป็นคนของ คสช.มาอยู่ใน กกต. คิดว่าจะมีลักษณะคล้ายโมเดลของ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีต กกต. ซึ่งมีลักษณะการทำงานที่ศาลพิพากษาแล้วว่าโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายการเมือง ซึ่งอยู่ในร่องเดียวกัน ถ้ามีการเลือกตั้งแต่ กกต.หลับตาข้างเดียวเพื่อช่วย คสช.ก็น่าคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น มองว่าอาจไม่ใช่การยื้อการเลือกตั้งแต่เป็นการหาคนของตัวเองเข้าสู่องค์กรการจัดการเลือกตั้ง เพื่อช่วยเหลือพรรคหรือกลุ่มของตัวเองให้มีโอกาสชนะการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

สำหรับความเห็นในกรณีที่ว่า กกต.ไม่น่าจะลาออก เพราะจะเป็นตราบาปนั้น ก็มีความเป็นไปได้ แต่อย่าลืมประเด็นที่ว่า หลายๆ คนใน กกต.เป็นนักกฎหมาย เป็นผู้อาวุโส เลยมองว่าไม่น่าจะอยากให้คดีติดตัวไปจนตายเหมือนกัน

การลาออกอาจเพราะไม่อยากรับเผือกร้อน ถ้าจัดการเลือกตั้งไปแล้วมีโอกาสมีปัญหาก็ลาออกเสียเอง หรือถูกกดดันให้ลาออกซึ่งมีความเป็นไปได้ หลายคนจึงมองว่าเป็นการยื้อการเลือกตั้งเพื่อหาคนที่ตัวเองควบคุมได้เข้าไปนั่งเป็น กกต.แทนในการจัดการเลือกตั้ง


 

แฟ้มภาพ

สดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่เริ่มมี กกต. โดยเป็นครั้งแรกที่มีการคว่ำผู้ผ่านการคัดเลือกเป็น กกต. จึงเหมือนกับว่า สนช.มีเจตนาที่แอบแฝงอยู่ ทั้งนี้ ไม่อยากมองว่า สนช.ได้รับคำสั่งจากใคร แต่การเลือก กกต.ทั้ง 7 คน ซึ่งผ่านคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ถือว่ากระบวนการสรรหาได้คัดกรองมาอย่างดีแล้ว โดยยึดคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อถึงขั้นตอนการพิจารณาของ สนช.จึงไม่น่าจะต้องเป็นกังวลในเรื่องของคุณสมบัติ แต่ สนช.กลับไม่เห็นชอบ ยิ่งดูจากคะแนนเสียงที่โหวตคว่ำ ซึ่งไม่เห็นชอบสูงกว่าเห็นชอบมาก จึงอดคิดไม่ได้ว่าทำไม สนช.จึงมีความคิดที่เหมือนกัน ใครสั่งมาหรือเปล่า สนช.อ้างผู้ผ่านการสรรหาทั้ง 7 คนนั้น ยังไม่มีประสบการณ์การจัดการเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมาคนที่เข้ามาเป็น กกต.ก็ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องของการจัดเลือกตั้งเช่นกัน เพราะถ้าจะเอาผู้ที่มีประสบการณ์ก็จะต้องเลือกจากเจ้าหน้าที่ กกต. ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ผ่านประสบการณ์การจัดเลือกตั้งมาแล้ว อีกอย่าง คุณสมบัติตามกฎหมายก็ไม่ได้บอกว่าจะต้องเคยจัดการเลือกตั้งมาก่อน เพราะหน้าที่ของ กกต.คือการวางนโยบาย โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ

สำหรับ สนช.ในเมื่อเรามอบฉันทามติให้กับคณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้ว เราก็ต้องยอมรับการคัดเลือกของทั้ง 2 องค์กรนี้ แม้ผู้ผ่านการสรรหาจะไม่เป็นที่รู้จักในสังคม แต่คณะกรรมการสรรหาได้ดูประวัติการทำงานอย่างรอบคอบแล้ว จึงเห็นว่าเหมาะสม ซึ่ง สนช.จะต้องให้เกียรติกัน แต่เมื่อ สนช.คว่ำ คณะกรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็จะรู้สึกท้อ กลัวว่า สนช.จะไม่รับรองอีกในการสรรหาครั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม สนช.ควรพิจารณาถึงการลงมติของตัวเองในครั้งหน้า ทั้งนี้ ถ้า สนช.คว่ำ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ยังมองเห็นชัดว่าต้องการเลื่อนเลือกตั้ง แต่การคว่ำ 7 กกต.ยังมองไม่ออกว่าต้องการอะไร และ สนช.เองก็ยังหาคำอธิบายไม่ได้เลย นอกจากนี้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายังอยากได้ข้อแนะนำจาก สนช. พร้อมซักถามว่าทำไมถึงไม่เห็นชอบผู้ผ่านการสรรหา กกต. โดย สนช.ควรให้คำชี้แจงดีกว่าปิดบัง

เมื่อกระบวนการสรรหา กกต.ล่าช้า กฎหมายยังให้อำนาจ กกต.ชุดเดิมรักษาการไปก่อน ขณะเดียวกัน มี กกต.ที่จะต้องออกเพราะอายุครบ 70 ปี ในเดือนสิงหาคมนี้ 1 คน นอกจากนี้ยังมีเสียงเล็ดลอดมาว่า กกต.ชุดปัจจุบันบางคนจะลาออก เพราะเกรงจะถูกฟ้องร้องในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น จึงต้องการลาออก เพราะถึงอย่างไรก็ต้องออกอยู่แล้วเพราะขาดคุณสมบัติ

ดังนั้น แม้ คสช.จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ กกต.ที่อายุครบ 70 ปี ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ก็จะต้องตีความอย่างรอบคอบ เพราะในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกไม่ยอมให้ กกต.อายุเกิน 70 ปี แต่มี กกต.ลาออกจนเหลือ 3 คน จะไม่สามารถจัดการประชุมได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีนี้หรือไม่ก็ยังไม่รู้


 

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ผลกระทบเฉพาะหน้าในตอนนี้คิดว่ายังไม่มี เพราะตัว กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งก็ต้องให้กฎหมายลูกเสร็จก่อน คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับการได้มาซึ่ง ส.ว. ตรงนี้ยังมีระยะเวลาอีก 90 วันที่ขยายไว้ โดยนับจากการที่กฎหมายประกาศใช้ แต่ตอนนี้กฎหมายยังร่างไม่เสร็จ อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการมากมาย เฉพาะหน้าอาจจะดึงเวลาไปก่อน อาจจะเสร็จประมาณกลางปีหรือปลายปีนี้ก็ได้ แล้วนับอีก 90 วัน นี่คือวิธีแรก

ถามว่าผลกระทบมีไหม แบบเฉพาะหน้า ในทางกฎหมายกับการเมือง คิดว่ายังไม่มีผล แต่ในแง่ของความรู้สึก ก็ต้องถามว่าความรู้สึกของประชาชนเป็นอย่างไร แล้วที่ไปเลือกกันมา ใช้เงินเบี้ยประชุมทั้งหลายทั้งปวงมันไม่ได้อะไรที่เป็นชิ้นเป็นเป็นอัน ใช่หรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งคือความมีประสิทธิ ภาพ คือ เสียเงิน เสียเบี้ยประชุมไปแล้ว แต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย ถ้าพูดอย่างถึงที่สุดจริงๆ ข้ออ้างของ สนช.ที่โหวตคว่ำไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่ 7 ท่านนี้ไม่มีความรู้เรื่องการจัดการเลือกตั้ง จริงๆ แล้วถ้าย้อนไปดู กกต.ชุดอื่นๆ ตอนที่เข้ามาใหม่ๆ ไม่มีใครรู้การเลือกตั้งเหมือนกัน ทุกคนแค่เลือกตั้งเป็น แต่กลไกในการจัดการเลือกตั้ง ต้องไปดูในตัวกฎหมาย ว่ากำหนดวิธีการอย่างไร กลไกที่ขับเคลื่อนจริงๆ คือข้าราชการ กกต.เป็นเพียงแค่คนกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎ และวินิจฉัยในประเด็นที่มีข้อขัดแย้งเท่านั้น เช่น กรณีแบบนี้ถือว่าทุจริตไหม ให้ใบเหลืองใบแดงว่ากันไป ไม่มีใครมีความรู้เรื่องการจัดการเลือกตั้ง 100% ทุกคนก็ต้องมาเริ่มใหม่

ประเด็นสำคัญจริงๆ น่าจะมาจากผู้แทนจากศาลฎีกามากกว่า ที่ตอนนั้นมีปัญหากันค่อนข้างเยอะในเรื่องของการลงคะแนนแบบเปิดเผย ซึ่งต้องรู้ว่าใครลงให้ใคร แต่รู้สึกว่าศาลฎีกาไม่ได้ใช้วิธีนี้ ถ้าเอาชื่อเสนอไปในอนาคตอาจมีปัญหาในทางรัฐธรรมนูญว่าที่มาของ กกต.บางคนผิด อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต ตอนนี้ก็ทำหมันไปก่อน

ปัญหาต่อมาคือ ตอนนี้ กกต.ที่ชั่งใจว่าจะออกหรือไม่ออก ส่วนตัวคิดว่ายังไงก็ไม่ออกเพราะถึงที่สุดแล้ว ธงของ สนช.และ คสช.ออกมาแล้วว่ายังไง กกต.ก็ต้องถูกนับ 1 ใหม่ คือ เซตซีโร่นั่นเอง การเลือกตั้งครั้งหน้า สุดท้ายก็ต้องเป็นคนชุดใหม่มาจัดการ เพราะธงของ สนช.และ คสช.ที่ผ่านมาคือไม่เอาคนที่เหลือเหล่านี้เป็นคนจัดแน่นอน ถ้าพูดกันแบบง่ายๆ คือ ตอนนี้อยู่ให้ครบวาระกันไปก่อน

ส่วนผลกระทบระยะยาวเป็นเรื่องทางการเมือง ว่าตราบใดที่ยังไม่มี กกต.ที่เป็นทางการ หมายความว่าระยะเวลาในการประกาศ พ.ร.ป. 2 ฉบับต้องยืดออกไปด้วย คือเมื่อกฎหมายประการใช้บังคับ มันมีเรื่องที่ไปคุยกันว่าจะให้ 90 วันอะไรก็ตาม ในขณะที่ กกต.ยังไม่มี แล้วถ้ากฎหมายใช้บังคับไปแล้ว แต่ กกต.ไม่มี จะทำอย่างไร จะกลับไปสู่ช่วงหนึ่งที่เป็นช่องว่างของกฎหมายว่าสุดท้ายแล้วใครที่จะเป็นคนมีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งระหว่าง กกต.ชุดเก่าที่ตั้งมาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 กับ กกต.ชุดใหม่ที่มาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งยังไม่เกิด นี่คือปัญหาระยะยาวที่น่าจะเกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้น ผลกระทบจริงๆ คือ ดีไม่ดี การเลือกตั้งเลื่อนออกไปแน่ๆ ยังไม่มีคนจัดการการเลือกตั้ง กฎหมายก็ยังประกาศใช้เพื่อให้เวลาเริ่มนับถอยหลังไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image