เวทีปลุกไทยพร้อมรับ ‘5G’ โลกยุคใหม่…อีกไม่ไกล

หมายเหตุ – หนังสือพิมพ์ “มติชน” จัดเสวนาหัวข้อ “5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” มี พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวเปิดงาน นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายอัน เจี้ยน ประธานบริหาร ฝ่ายขายและการตลาดโซลูชั่นไร้สาย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด และนางนาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต้อนรับ มีนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ปาฐกถาพิเศษ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ควอลคอมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ และบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมบรรยายพิเศษ ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (ซอยรางน้ำ) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์


พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร 
ประธานกรรมการ กสทช.

ในห้วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนเทคโนโลยีในไทยไม่หยุดยั้ง นับตั้งแต่เทคโนโลยี 2G ไปสู่ 3G และ 4G ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมไทยไปมาก มีการพัฒนาเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน และไม่กี่วันข้างหน้าจากนี้ไทยจะเข้าสู่เทคโนโลยี 5G เชื่อว่าจะเปลี่ยนสภาพสังคมไปอีกขั้นหนึ่ง จะเกิดนวัตกรรมที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะนี้ทราบว่าทุกบริษัทในโลกกำลังพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองเพื่อรองรับ 5G

ทั้งนี้ กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล จะดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G เพราะทราบดีว่าหากคิดไม่ทัน ดำเนินการไม่ทัน ประเทศไทยมีความเสี่ยงจะล้าหลังได้ การจัดสัมมนา 5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทยครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่จะร่วมกันทำความเข้าใจในการเข้าสู่ยุค 5G ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้จัดสัมมนาที่ร่วมกันจัดงานเพื่อสร้างการเตรียมพร้อมให้กับประเทศไทย

Advertisement

ฐากูร บุนปาน 
กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

การสัมมนาครั้งนี้เป็นการจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งแรกปี 2561 ต่อเนื่องจากปี 2560 ที่จัดเสวนามาแล้ว 3 ครั้ง ทั้งเรื่อง สตาร์ตอัพ ฟินเทค และอื่นๆ ทั้งนี้ ธุรกิจและความก้าวหน้าสมัยใหม่ขณะนี้กำลังยืนอยู่บนฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่จะมาถึงในปี 2563 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า คือในเรื่องของ 5G ก่อนหน้านี้ 3G และ 4G ทำให้เกิดการทำลายล้างธุรกิจทั่วโลกอย่างมโหฬาร

ส่วนตัวยังนึกไม่ออกว่าโลกเข้าสู่ยุค 5G จะเป็นอย่างไร โชคดีได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งคณะกรรมการ กสทช., หัวเว่ย, อีริคสัน และควอลคอมม์ มาช่วยฉายภาพให้เราได้เห็นว่าอนาคตอันใกล้จะเกิดอะไรขึ้น และเราทุกท่านต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่จะใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

กราบขอบพระคุณ กสทช., เอไอเอส, ดีแทค, ทรู, หัวเว่ย และอีริคสัน ที่ช่วยผลักดันให้เกิดงานสัมมนานี้ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน


อัน เจี้ยน 
ประธานบริหาร ฝ่ายขายและการตลาดโซลูชั่นไร้สาย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด 

5G เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำคนไปสู่โลกอัจฉริยะ และเชื่อว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคม 5G ได้อย่างราบรื่น และนำไปใช้พัฒนาเพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม และการให้บริการเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ จะยกตัวอย่างการใช้งาน 5G เช่น การใช้โดรนเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย การเชื่อมโยงการทำงานของหุ่นยนต์ เทคโนโลยีเสมือนและ 3 มิติ (เออาร์และวีอาร์) เพื่อสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้งานและสร้างเครือข่ายเพื่อส่งข้อมูลให้รวดเร็วขึ้น

เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา หัวเว่ยสร้างเทคโนโลยี 4G และเริ่มลงทุนใน 5G หลังจากนั้นลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ทำให้มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่สูงขึ้น และจะพัฒนาให้ครอบคลุมทุกด้าน

อย่างไรก็ตามอยากย้ำว่า 5G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ทั้งในอุตสาหกรรม การใช้ในเชิงพาณิชย์ การใช้งานด้านธุรกิจ และการร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม


นาดีน อัลเลน 
ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด 

กว่า 140 ปีที่ผ่านมา ที่อีริคสันอยู่ในแนวหน้าของโลกและเป็นผู้นำเทคโนโลยี ทุกวันนี้ในวงการสื่อสารทั่วโลกเรามีสิทธิบัตรมากมาย สิ่งหนึ่งที่เราภาคภูมิใจคือการมีสิทธิบัตรบลูทูธที่เราได้สร้างขึ้นมา ขณะนี้มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก การเข้ามาของ 5G จะทำให้การสื่อสารและการทำธุรกิจดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพสิ่งที่มีอยู่และยกระดับสร้างประสิทธิภาพใหม่

สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 112 ที่อีริคสันเข้ามาทำธุรกิจในไทย เราต้องการที่จะดูแลลูกค้าในไทยและสร้างประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น เราเริ่มจาก 1G 2G จนมาถึงปัจจุบันที่อยู่ 3G และ 4G

ปลายปีที่ผ่านมาเราได้เริ่มเข้าไปทดสอบ 5G กับ กสทช. ซึ่งมีความเร็วมาก และเราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากมายที่จะมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ เพราะจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยมีจำนวนกว่า 65 ล้านเลขหมาย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านเลขหมายในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้เราคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือในปี 2023 จะมีการเปลี่ยนไปใช้ 4G และ 5G ทั้งหมด ซึ่งประโยชน์ของ 5G นั้นมีมากกว่าความเร็ว สามารถนำมาใช้กับธุรกิจอื่น ทั้งรถอัตโนมัติ การสื่อสาร ด้านสุขภาพต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์มากมายกับผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริการและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเราประมาณการว่าผู้ประกอบการจะเพิ่มกำไร 22% หรือกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

การเคลื่อนที่ยุคดิจิทัลตอบสนองความต้องการมากมาย เราไม่ได้ห่างจากจุดนั้นเลย ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพนำดิจิทัลมาใช้เพื่อความก้าวหน้า ซึ่งภาครัฐไทยต้องรีบคว้าโอกาส 5G ให้เป็นไปได้จริง อีริคสันเองก็มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนไทยเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นประเทศดิจิทัลสมบูรณ์แบบและทุกคนได้ประโยชน์


ฐากร ตัณฑสิทธิ์ 
เลขาธิการ กสทช.

(ปาฐกถาพิเศษ)

การปาฐกถาครั้งนี้ เนื่องจาก กสทช.มีความเป็นห่วงประเทศไทยกำลังเปลี่ยนเข้าไปสู่ยุค 5G ในปี 2563 เมื่อ 2-3 วันก่อน เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นกับประธาน กสทช. และได้พบกับรัฐมนตรีกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่น คำถามแรกที่เขาถามทาง กสทช.คือเราได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค 5G อย่างไรบ้าง ผมได้ตอบไปว่า กสทช.ร่วมกับพันธมิตรจัดงานเสวนา เพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยเข้าถึง 5G ซึ่งในส่วนของญี่ปุ่นเขาเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประชาชนเข้าสู่ 5G ในเดือนสิงหาคม 2562 โดย 5G เขาจะสมบูรณ์ในเดือนสิงหาคม 2563 ต้อนรับโอลิมปิกโตเกียวในปีดังกล่าว

เมื่อเรามี 2G เปลี่ยนไปสู่ 3G และ 4G วันนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ 5G ถ้า กสทช.ไม่ลุกขึ้นมาทำให้ประชาชนเตรียมความพร้อมจะทำให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยล้าหลังแน่นอน

วันนี้ผมดีใจที่คนไทยตื่นตัวกับโลกยุคใหม่ที่กำลังเข้ามา ผมอยากขอให้ธุรกิจเร่งปรับตัวเข้าสู่ 5G เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือความเร็วของเทคโนโลยี 5G เร็วกว่า 4G ประมาณ 30-100 เท่า และมีความเสถียรมากขึ้น

เมื่อก้าวสู่ยุค 5G จะมี 4 อย่างเข้าถึงไทย คือ 1.อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที (Internet of Things : IoT) เป็นอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ที่สิ่งของสามารถเชื่อมต่อสิ่งของนับล้านๆ ตัว ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างต่างๆ อย่างสำคัญ 2.ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ 3.เทคโนโลยีเสมือนจริงหรือวีอาร์ (Virtual Reality : VR) และ 4.เทคโนโลยีความจริงแบบแต่งเติม (Augmented Reality: AR) ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ต่อไปเมื่อช้อปปิ้งในออนไลน์สามารถลองใส่เสื้อผ้าในโลกออนไลน์ได้ ไม่ต้องเดินทางไปลองที่ร้านค้า

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ และภาคสังคมเมื่อ 5G เข้ามาทำให้ 10 ภาคส่วนต้องปรับตัว ประกอบด้วย

  1. ภาคการเงินการธนาคาร พบว่าเมื่อเข้าสู่ 4G ธนาคารปิดตัวไปแล้ว 200 สาขา ดังนั้นการเข้าสู่ 5G ทำให้ความเร็วมากขึ้น เสถียรมากขึ้น คาดว่าธนาคารไม่สามารถเปิดสาขาได้เหมือนเดิม เพราะประชาชนใช้บริการโมบายแบงกิ้งมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางไปทำธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์ ธนาคารจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การวิเคราะห์สินเชื่อจะมีการใช้เอไอ สิ่งพวกนี้ธนาคารต้องรับผลกระทบ เพื่อให้ธนาคารคงอยู่ได้ต้องปรับตัว พนักงานธนาคารต้องเพิ่มทักษะ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
  2. ภาคอุตสากรรม 5G จะส่งผลกระทบเนื่องจากอุตสาหกรรมของไทยยังพึ่งแรงงานคนจำนวนมาก เมื่อ 5G เข้ามาทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ยังพึ่งพาแรงงานคนเปลี่ยนมาเป็นหุ่นยนต์ในการผลิตสินค้าในระบบอัตโนมัติมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องลดแรงงานคนลง ดังนั้นอุตสาหกรรมต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด ต้องคิดว่าจะเตรียมความพร้อมในการปรับตัวอย่างไร
  3. ภาคการเกษตร ขณะนี้ภาคเกษตรของไทยมีจุดแข็งผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก ดังนั้นเมื่อมีไอโอทีและเอไอเกิดขึ้น ภาคเกษตรต้องปรับตัวให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ไอโอทีเข้ามาช่วยเรื่องการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก ทำให้ไทยสามารถผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง และทำการเกษตรเป็นแบบทำสมาร์ทฟาร์มมิ่งมากขึ้น
  4. ภาคการขนส่ง เมื่อ 4G เข้ามามีอูเบอร์ มีแกร็บแท็กซี่ ถ้ามี 5G เข้ามาภาคการขนส่งต้องเปลี่ยนแปลง แท็กซี่ต้องปรับตัวเพราะการติดต่อสื่อสารคนที่มากขึ้นผ่าน 5G ทำให้การขนส่งน้อยลง
  5. ภาคการท่องเที่ยว จะช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวต่างๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น
  6. ภาคการแพทย์ จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา การรักษาทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ตจะเกิดขึ้น ทำให้การผ่าตัดไม่ต้องให้หมอเดินทางไปผ่าตัดแล้ว แต่ใช้อินเตอร์เน็ตแบบสื่อสัมผัส หมอนั่งอยู่ในห้องอินเตอร์เน็ตก็รักษาพยาบาลคนไข้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ ส่วนการจ่ายยานั้นในโลกของเอไอสามารถค้นข้อมูลและจ่ายยาแทนหมอได้ ทำให้หมอมีปัญหาในการปรับตัว
  7. การทำงานนอกที่ทำงาน ในญี่ปุ่นเริ่มแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำงานในออฟฟิศ ทำงานที่บ้านได้ ประสานงานผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้โครสร้างทำงานและสังคมต้องปรับตัว อาคารสร้างเพื่อให้เช่าต่างๆ ต้องระวังอย่าสร้างให้มาก เนื่องจากทุกคนทำงานที่บ้าน
  8. ภาคการค้าปลีก ขณะนี้ทำเลทองต่างๆ อยู่บนโลกออนไลน์ ไม่ได้อยู่บนตำแหน่งสถานที่ตั้ง ยุค 5G ทุกคนอยู่ในโลกออนไลน์ทั้งหมด ทำให้ซื้อเสื้อไม่ต้องกลัวหลวม กลัวฟิต ในโลก 5G สามารถทำความจริงเสมือนให้สามารถลองใส่เสื้อ ลองใส่กางเกงได้ สิ่งนี้ไม่ใช่การเพ้อฝัน เป็นโลกความจริงเกิดในปี 2563 ทั้งเออาร์ วีอาร์ เป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัว
  9. อุตสาหกรรมโทรทัศน์และสื่อ ทีวีดิจิทัลได้รับผลกระทบแน่นอน ในโลกยุคใหม่คนไม่ได้ดูทีวีผ่านทีวีที่บ้าน แต่ดูทีวีผ่านมือถือ แอพพลิเคชั่น ยูทูบ เมื่อมีโฆษณาสามารถกดข้ามไปได้ สามารถดูทีวีย้อนหลัง ทีวีดิจิทัลต้องปรับตัว ขณะนี้เริ่มปรับแล้วด้วยการเสนอใช้มาตรา 44 ช่วย และเมื่อ 5G เข้ามาทีวีดิจิทัลต้องปรับตัวอีกครั้ง
  10. ภาครัฐ หน่วยงานของรัฐต้องปรับตัวเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยไม่อยากเห็นภาครัฐออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลเอกชน แต่สนับสนุนการปรับตัวของเอกชน

โลกยุค 5G ทำให้คนในชนบทไม่ต้องเคลื่อนย้ายมาหางานในเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่ สิ่งพวกนี้เป็นความพยายามของรัฐบาลไทยและรัฐบาลในหลายประเทศในการสร้างงานในเขตชนบท วันนี้รัฐบาลไม่ต้องทำอะไรเทคโนโลยี 5G จะช่วยเขาเอง เขาจะมีอาชีพการงานเกิดขึ้นในชนบท การเคลื่อนย้ายอพยพแรงงานในโลกยุคใหม่จะน้อยลง ทำให้คนในชนบทสร้างงานเขาเอง ซึ่ง กสทช. มติชน หัวเว่ย และอีริคสัน ต้องการให้เห็นการเปลี่ยนแปลง และต้องการคืนความสุขให้พี่น้องประชาชนชาวไทย


หลู ลี่ หมิง

ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและธุรกิจ 5G บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด

(บรรยายพิเศษเรื่อง “What 5G will Bring to Thailand Future”)

ตอนนี้กำลังเข้าสู่การปฏิวัติดิจิทัล หลังมีพัฒนาการมาจากการปฏิวัติเกษตรกรรมในรุ่นแรก และทิศทางหลังจากนี้เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตประจำวัน อุตสาหกรรม และเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน

สำหรับประเทศไทยก็มีพัฒนาการเริ่มจากยุค 1.0, 2.0 ,3.0 จนมาถึง 4.0 โดยการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมถึงการเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับระบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไว้ภายใน (ไอโอที) ทั้งในด้านการเกษตร การผลิต และยานพาหนะ

เทคโนโลยี 5G เร็วเทียบเท่าไฟเบอร์ การนำ 5G เข้ามาจะรวมอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น การนำเซ็นเซอร์ใส่ในอุปกรณ์การเกษตร เพื่อจะบอกค่าความชื้น ปุ๋ยหรือสารเคมีที่ใช้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การปฏิบัติการภาคสนามทำได้ดีมากขึ้น และทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากทราบว่าจะต้องรดน้ำหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อไหร่ อย่างไร

 

นอกจากนี้แล้วในปี 2568 หัวเว่ยจะเชื่อมโยงกับพาร์ทเนอร์ในธุรกิจโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาด้านการแพทย์ โดยนำ 5G มาใช้ในการตรวจสอบทางไกล รวมถึงการร่วมมือกับไชน่าโมบาย ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่หัวเว่ยจับมือกับพาร์ทเนอร์ เช่น โนเกีย อีริคสัน เพื่อเชื่อมโยงภาคการผลิตและสถาปัตยกรรมออกแบบ

นอกจากเรื่องความเร็วแล้ว 5G จะเพิ่มขีดความสามารถการผลิตได้ถึง 20 เท่า ลดความสูญเสียได้มากกว่า 30% โดยในปี 2562 จะเห็นว่า 5G จะมีบทบาทในด้านการค้าของตลาดโลกมากขึ้นหรือมากกว่า 60% ของตลาด เช่น ในญี่ปุ่น จีน เกาหลี สหรัฐ และในปี 2563 ในหลายประเทศจะมีรถไร้คนขับอย่างแน่นอน

ในช่วงปี 2563 เป็นต้นไปเศรษฐกิจจะเติบโตสูงยิ่งขึ้น คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตมากกว่า 29% หรือมีมูลค่า 6.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573 และทำให้เศรษฐกิจโลกมีมูลค่า 12.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2578 และทำให้เกิดการจ้างงาน 22 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะในธุรกิจเทคโนโลยี ทั้งนี้ จะเห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกกว่า 40% มาจากรายได้หรือประโยชน์จากการใช้ 5G

ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มองว่าภายใน 20-30 ปีหลังจากนี้ ขนาดเศรษฐกิจไทยจะเติบโตขึ้น 5 เท่า และคาดว่ารายได้หรือประโยชน์จากการใช้ 5G จะคิดเป็น 4.5% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)


โจว ตงเฟย 

หัวหน้าฝ่ายผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี 5G บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด

(บรรยายพิเศษเรื่อง “5G Global Development Trend”)

การเข้ามาของ 5G จะเปลี่ยนสังคมเราไปอย่างสิ้นเชิง เพราะ 5G ทรงพลังมาก อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ 5G อาจจะไม่ใช่สมาร์ทโฟนอย่างเดียว เพราะ 5G จะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น อาทิ หมวกวีอาร์ โดรน

5G มีความเร็วมากกว่า 4G ถึง 10 เท่า โดยความเร็วอยู่ที่ 10 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) ขณะที่ 4G ความเร็วอยู่ที่เพียงมากกว่า 1 Gbps การรับส่งข้อมูลของ 5G ใช้เวลา 1 มิลลิวินาที (ms) ส่วน 4G อยู่ที่ 10 ms ด้านการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ถึง 1 ล้าน/cell ขณะที่ 4G อยู่ที่ 1,000/cell ทำให้การเล่นวิดีโอ โดยเฉพาะวิดีโอความคมชัดสูงมีความเร็วมากขึ้น

 

ความคืบหน้าของเทคโนโลยี 5G กลางปี 2561 นี้ กลุ่มความร่วมมือที่ทำหน้าที่ออกมาตรฐานทางเทคนิค สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ 3GPP (The 3rd Generation Partnership Project) จะมีมาตรฐานบางส่วนออกมามาก และในปี 2562 จะออกมาตรฐานมาครบ

ปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และในยุโรป เริ่มดำเนินการเชิงรุกเพื่อนำเทคโลยี 5G มาใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโฮมบรอดแบนด์ โมบายบรอดแบนด์ อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ ซึ่งเหตุผลของการนำมาใช้ของแต่ละชาตินั้นไม่เฉพาะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาให้บริการเท่านั้น แต่ยังถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติเพื่อทุกคน เชื่อว่าในปี 2563 ทุกอย่างของ 5G จะสุกงอมพร้อมใช้บริการและอุปกรณ์ต่างๆ จะราคาถูกลง

การทดลองภาคสนามพบว่า 5G มีสมรรถภาพที่ดีกว่าคาดหวังไว้ โดยมีความเร็วสูงถึง 28 Gbps การรับส่งข้อมูลที่ 0.33 ms และการเชื่อมต่อได้ถึง 1 พันล้าน/cell และได้นำมาทดลองใช้กับการเล่นวิดีโอ 4K และรถยนต์อัจฉริยะ

ทั้งนี้ หัวเว่ยยังได้สร้างแล็บ โดยร่วมมือกับผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมทั่วโลกกว่า 700 ราย เพื่อทำการทดสอบและพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งโดรน หุ่นยนต์ และรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น นอกจากนี้ปีนี้หัวเว่ยจะเริ่มทำการตลาดใช้สำหรับ 5G ได้แก่ อุปกรณ์ CPE ซึ่งคล้ายไวร์เลส แต่สามารถส่งสัญญาณได้กว้างกว่าเพื่อใช้ในสมาร์ทโฟน และจะเปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่จะทยอยออกมาในปี 2562

บริการ 5G นอกจากการนำมาใช้กับบรอดแบนด์เซอร์วิส โทรศัพท์ บ้าน และอุปกรณ์อื่นๆ ยังสามารถนำมาใช้งานอีกในหลายๆ ด้าน เช่น รถยนต์อัจฉริยะ ซึ่งการรายงานของสหรัฐประเมินว่าจะสามารถจะช่วยชีวิตคนได้ 1.2 ล้านคน ประหยัดเชื้อเพลิงได้จำนวนมาก เป็นต้น

ในไทยนั้น 5G จะมีการนำมาใช้เชิงพาณิชย์ในปี 2563 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของไทย หัวเว่ยเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับผู้ใช้บริการต่างๆ อยู่แล้ว ในระยะ 2-5 ปี คาดหวังว่าจะมีการเชื่อมโยงผู้ให้บริการและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยต่อไป


อเล็กซ์ ออเร้นจ์ 

ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการรัฐบาล, ไต้หวัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก บริษัท ควอลคอมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์

(บรรยายพิเศษเรื่อง “How to be Ready For 5G?”)

ไม่รู้ว่าอนาคต 5G จะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ ซึ่งอนาคต 5G จะช่วยให้เราสามารถจัดการทรัพยากร การขนส่งต่างๆ ช่วยเรื่องสุขภาพ บางคนอาจใช้อุปกรณ์เพื่อดูแลสุขภาพ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร สร้างเมืองที่น่าอยู่ มีผลทางเศรษฐศาสตร์และผลกระทบต่อสังคม คาดว่าปี 2578 มูลค่าเศรษฐกิจของ 5G จะอยู่ที่ 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

5G เริ่มพัฒนามาประมาณ 18 เดือนแล้ว มีพัฒนาการต่อเนื่อง และเดือนธันวาคมปี 2560 มีการกำหนดมาตรฐาน 5G ออกมาแล้วและสำเร็จทั้งระบบกลางปีนี้ ทำให้สามารถใช้งานได้จริงทั้งระบบปี 2563-2564 ตอนนี้อุตสาหกรรมต่างๆ กำลังมีการพัฒนาเพื่อรองรับ และอีริคสัน โนเกีย มีการส่งสัญญาณ 5G ออกไปแล้ว อนาคตจะมีการนำสินค้าต่างๆ ออกไปมากมาย

 

ระบบ 5G จะช่วยเรื่องความปลอดภัยของชีวิต เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน และภายใน 1 ปีข้างหน้าจะมีมาตรฐานเครื่องมือเครื่องใช้ของ 5G ออกมา ทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้า และเร็วๆ นี้จะมีเน็ตเวิร์กรองรับ ซึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ จะเริ่มขายปี 2562

เชื่อว่า 5G จะมาเร็วกว่าที่เราคิดภายใน 1 ปีหลังจากนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องรักษาโมเมนตัมของเทคโนโลยี 4G เพื่อเป็นพื้นฐานในการรองรับและพัฒนา โดยประเทศไทยจะต้องวางแผนให้ชัดเจน


วุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ 

หัวหน้าฝ่ายเน็ตเวิร์ก โซลูชั่น บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด

(บรรยายพิเศษหัวข้อ “5G Move The World Forward”)

เทคโนโลยีในอนาคตเกิดขึ้นจากความต้องการใช้งานและความต้องการจะเปลี่ยนแปลงในสาขาอาชีพและอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเรียกว่ายูสเคส การขับเคลื่อนสู่ยุค 5G ก็เช่นกันจะขับเคลื่อนโดยใช้ความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นตัวผลักดัน

5G จะช่วยชีวิตดีขึ้น การใช้งานเครื่องมือต่างๆ ไร้รอยต่อมากขึ้น และจะมีผลต่อชีวิตเราในอนาคตอันใกล้ ยกตัวอย่างยูสเคสที่เกี่ยวข้องกับ 5G ใน 5 กลุ่ม ได้แก่

1.โมบายบรอดแบนด์ ปัจจุบันเราใช้สมาร์ทโฟนดูหนังฟังเพลง ต่อไปเดินเข้าบ้านจะมีสัญญาณไร้สายทั่วบ้าน ไม่ต้องเดินหาจุดฮอตสปอร์ต และมีเครื่องมือที่ทำให้มองเห็นเสมือนจริง (วีอาร์) ที่ตอบโจทย์มากขึ้น

2.วงการรถยนต์ 5G จะเข้ามา ช่วยตอบโจทย์จะทำอย่างไรให้การสื่อสารของพาหนะ และความปลอดภัยบนถนนดีมากขึ้น ทำอย่างไรให้การใช้พลังงานเชื้องเพลิงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันมีการตั้งระบบวิเคราะห์ข้อมูลในรถยนต์บางรุ่น ส่งข้อมูลผ่านระบบไวไฟ ต่อไปจะมีการวิเคราะห์ระบบเครื่องยนต์ต่างๆ ในรถและแจ้งเตือนให้เจ้าของซ่อมหรือบำรุงรถได้ในเวลาเหมาะสม นอกจากนี้จะไปถึงการขับรถไม่มีคนควบคุม หรือควบคุมจากทางไกล

3.ภาคโรงงานการผลิต เริ่มมีการนำระบบควบคุมอัตโนมัติ ต่อสัญญาณจากระบบ 5G เพื่อควบคุมการผลิตและหุ่นยนต์จากระยะไกลได้ ต่อไปอาจจะเห็นพนักงานในโรงงานไม่กี่คนทำงานควบคุมโรงงานหรือระบบการผลิตอัตโนมัติ

4.กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค เช่น ต่อไปมิเตอร์ไฟฟ้าจะส่งสัญญาณแจ้งข้อมูลได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องส่งคนมาจดมิเตอร์ ระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ก็ใช้ระบบเดียวกันได้ หรือการควบคุมต่างๆ ในโรงผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่เฝ้า แต่อนาคตจะสามารถควบคุมจากส่วนกลางหรืออาจจะทำงานจากที่บ้าน

5.กลุ่มดูแลสสุขภาพ ซึ่งจะนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการผ่าตัดทางไกล ช่วยให้เกิดความแม่นยำ หรือใช้เก็บข้อมูลคนไข้ บันทึกสถิติส่งเก็บไว้บนคลาวด์แล้วส่งให้หมอหรือพยาบาลติดตามได้ต่อเนื่อง และใช้ในการวินิจฉัย ต่างจากปัจจุบันเราเป็นอะไรก็เข้าโรงพยาบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image