‘พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย’ ถอดรหัสวิกฤตรัฐธรรมนูญ วิเคราะห์ ‘ฉบับนี้อาจอยู่ไม่เกิน3ปี’

 

• หมายเหตุ – ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์มติชน ในประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง อันเป็นผลมาจากปัญหาการทับซ้อนกันของอำนาจตามโครงสร้างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

-ปัญหาของรัฐธรรมนูญใหม่หลังบังคับใช้มาระยะหนึ่ง

มันเริ่มมีสัญญาณของการขัดแย้งในทางการเมืองขึ้นมา หลังจากคสช.เข้ามาบริหารประเทศเป็นปีที่ 4 โดยก่อนหน้านี้แม้จะมีความขัดแย้งแต่ก็ยังไม่มีสัญญาณการปะทุ โดยจุดเริ่มต้นของสัญญาณการปะทุทางการเมืองเริ่มมาจากการที่ คสช.ออกคำสั่งที่ 53/2560 เพื่อแก้ไขพรบ.พรรคการเมือง นำไปสู่การรีเซตสมาชิกพรรค ทำให้พรรคการเมืองต่างๆแสดงความไม่พอใจ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งก่อนหน้านี้มีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลอยู่บ้าง

Advertisement

โดยก่อนหน้านี้ ยังไม่เห็นคสช.ใช้อำนาจในลักษณะการเข้าไปจัดการหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงสร้างองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญโดยชัด แต่ครั้งนี้เป็นการเข้าไปแตะเรื่องพรรคการเมือง โดยหากมองว่าพรรคการเมืองคือองคาพยพหนึ่งอันเป็นสถาบันทางการเมืองย่อยภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อคสช.ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วพรรคการเมืองเกิดต่อต้านของตัวสถาบันภายใต้โครงสร้าง ผมคิดว่านี่คือสัญญาณอะไรบางอย่าง โดยที่ม.44 คือตัวปัญหา

คำถามของผมคือว่าความขัดแย้งมันเกิดจากอะไร ผมคิดว่ามันเกิดจากการที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แล้วเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา หากพูดโดยหลักการ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบการเมืองทั่วไป ซึ่งยังไม่ได้มีกฎเกณฑ์หรือระบบอะไรมากมาย มาสู่การเมืองภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญหรือ Constitutional politics  ซึ่งเป็นเรื่องของการทำหน้าที่และการใช้อำนาจต่างๆต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล เรื่องความโปร่งใส โดยมีรัฐธรรมนูญกำกับการใช้อำนาจ แต่ลักษณะการใช้อำนาจตามม.44 ที่เขียนว่าการใช้อำนาจชอบด้วยกฎหมายเสมอนั้นขัดกับวิถีของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลก็มีแนวโน้มว่าศาลจะวินิจฉัยว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เราจึงได้เห็นการใช้อำนาจในแบบการเมืองธรรมดาภายใต้สภาวะที่ควรจะเป็นการเมืองในโครงสร้างรัฐธรรมนูญ มันจึงเริ่มเกิดการขัดแย้งในตัวมันเอง คือรัฐธรรมนูญฟังก์ชันไม่ได้ คำถามของผมคือว่าเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ทำไมม.44 ยังอยู่ ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการร่างรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดการทำงานคู่กัน 2 ฉบับ

โดยปกติรัฐธรรมนูญจะบังคับใช้ทีละฉบับ ไม่ว่าจะเป็นฉบับถาวรหรือชั่วคราว ยกตัวอย่างการยึดอำนาจของคมช. ที่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 บังคับใช้ก็มีผลทำให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจบสิ้นลง แต่คราวนี้ แม้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วแต่บทเฉพาะกาลก็ไปรับรองคสช.ไว้อยู่ แล้วให้อำนาจหน้าที่ของคสช.ตามรัฐธรรมนูญ 2557 ยังคงอยู่ มันจึงเกิดสภาวะทวิรัฐธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับฟังก์ชันควบคู่กัน ถ้าเทียบกับรถยนต์ก็คล้ายกับรถยนต์ไฮบริดที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าและน้ำมันควบคู่กันไป นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่รับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้แล้วบ้าง พร้อมกับยังมีคำสั่งคสช.ที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่

การเลือกให้รัฐธรรมนูญของเรามีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญแบบนี้ มันมีแนวโน้มสูงในการนำไปสู่ความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างรัฐธรรมนูญเพราะบางครั้งรัฐธรรมนูญที่มันมีอยู่ 2 ฉบับ ฟังก์ชั่นมันจะตีกันเอง ขัดแย้งกันเอง ตัวอย่างชัดคือ รธน.2557 ซึ่งเกิดจากการรัฐประหาร ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีโครงสร้างเหมือนรัฐธรรมนูญทั่วไป ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ควบคุม กำกับต่างๆ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มันมี แม้เราจะมองว่าหลายเรื่องไม่เป็นประชาธิปไตย หรือจะมีเรื่องของนายกคนนอก แต่ว่าโครงสร้างหลักมันก็เป็นเรื่องการควบคุม กำกับ ตรวจสอบการใช้อำนาจของโครงสร้างภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่ ฉะนั้น 2 ตัวนี้มันก็เหมือนขาวกับดำที่ทำงานคู่กัน บางครั้งเกิดความลักลั่นแล้วตีกันเอง

-แล้วตอนนี้ฉบับไหนชนะ

ถ้าถามผมตอนนี้คือฝ่ายดำชนะ คือ รธน.2557 เพราะในเชิงกฎหมาย มันไม่สามารถตรวจสอบได้ กลไกในทางรัฐธรรมนูญเช่นศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถไปตรวจสอบได้ เพราะมันชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ ในความเป็นจริง 2 ตัวนี้ไม่สามารถอยู่ควบคู่กัน แต่ของเราจับมาผนวก ทำงานพร้อมกัน ลักษณะเช่นนี้ในเชิงหลักวิชาเห็นได้ชัดว่ามันจะไปไม่รอด

– อะไรอีกที่เป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นวิกฤตของรัฐธรรมนูญ

เมื่อเรามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มาจากประชามติ แม้เราจะวิจารณ์เรื่องปัญหาต่างๆ แต่โดยหลักวิชาก็ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นสัญญาประชาคม  กรณีนาฬิกาของรองนายกฯมีกระแสเรียกร้องให้เข้าไปตรวจสอบ โดยปปช.ชี้แจงเหตุผลว่าเป็นการยืมเพื่อนมา ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ผมมิอาจก้าวล่วงป.ป.ช.ซึ่งอาจจะมีหลักฐานมากกว่าผม แต่ถ้าลองจับกระแสสังคม จะพบว่าสังคมอาจไม่เห็นพ้องกับคำตอบของปปช.มากนัก ผมไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสังคมตั้งคำถามอย่างมาก รวมถึงตั้งคำถามกับปปช.ด้วย ถ้าพูดในเชิงรัฐศาสตร์บทบาทของปปช.ก็เริ่มถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลง ก็จะมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมเวลาที่ปปช.จะพิจารณาทำคดีอื่นในภายหลัง เพราะจะถูกคนตั้งคำถามอยู่เสมอ นี่คือสัญญาณบางอย่างของวิกฤตรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ พลเอกประวิตร เป็นทหารอาชีพอาจจะยังไม่เข้าใจระบบตรวจสอบในทางการเมืองมากนัก เพราะโดยหลักวิชา ระบบการตรวจสอบของการเมืองภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญ จะไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ต่างกับระบบทหารอาชีพ ที่เป็นระบบเจ้านายตรวจสอบลูกน้องลูกน้องไม่สามารถตรวจสอบเจ้านายได้ การเมืองในแบบคสช. มันจึงเป็นเรื่องของ Political Contact หรือสัญญาทางการเมือง ไม่ใช่ Social contact หรือที่เป็นสัญญาประชาคม เพราะการเมืองในโครงสร้างรัฐธรรมนูญมันไม่สามารถคุยได้แค่ระดับตัวบุคคลแล้วจบ แต่คุณต้องคุยกับประชาชนด้วย อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คือเรื่องการปราบโกง และแม้จะพูดในเชิงหลักวิชา ที่มารัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะดูไม่ชอบธรรมนักเพราะร่างในสมัยรัฐบาลทหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ในทางหลักวิชารัฐธรรมนูญ ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญมันอาจเกิดขึ้นได้หากรัฐธรรมนูญนั้นมีฟังก์ชันรองรับสิทธิของคน สามารถทำงานตามหลักการได้ แม้ที่มาอาจจะไม่ชอบธรรม แต่การทำงานทำให้ประชาชนพอใจ มันก็เกิดความชอบธรรมขึ้นมาได้ กรณีประชาชนสงสัยเรื่องความโปร่งใส แล้วประชาชนรู้สึกว่าองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถปราบโกงได้เลย นี่คือการลดทอนความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ เพราะกลไกของรัฐธรรมนูญมันตรวจสอบอะไรไม่ได้

หากเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ การเมืองในอนาคตก็ลำบาก หากเราไปดูในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่จะเน้นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมาย ซึ่งรวมปปช.และศาล ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้สูง หากเราไปดูจะเห็นว่า ปปช.มีอำนาจเยอะมาก แต่พอเกิดเหตุขึ้นมา คนกลับตั้งคำถามมาที่ปปช. เมื่อความเชื่อมั่นไม่มี ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปลำบาก นี่ยังไม่พูดถึงองค์กรอื่นซึ่งมีช่องให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ได้อีกมาก เช่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเชิงหลักการมีความคลุมเครือหลายเรื่องที่เรียกว่า Constitutional silence   คือรัฐธรรมนูญไม่ตอบอะไรบางอย่าง ผมไม่แน่ใจว่าคนร่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ตัวอย่างเช่น การบอกว่าการเลือกตั้งจะเกิดได้เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมาย 4 ฉบับ กฎหมายกกต. กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้งสส. และที่มาสว. โดยขณะนี้ประกาศไปแล้ว 2 เหลืออีก 2 ตัว

ตอนนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างว่ากรธ. เองกับ สนช.หรือกกต. เริ่มไม่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องเนื้อหาที่มีการแก้ไข ขั้นแรกจะมีการตั้งกรรมาธิการร่วม มาพิจารณา แต่เราก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วสนช.ทุกคนจะเห็นพ้องด้วยหรือเปล่า วันดีคืนดีสนช.บางคนเกิดบอกไม่เห็นด้วย แล้วโหวตไม่ให้กฎหมายผ่านแค่ตัวใดตัวหนึ่ง คำถามคือเราจะทำยังไง? หากไปดูรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ตอบ ว่าหากมีการโหวตคว่ำ ผลจะเป็นอย่างไร? ใครจะมาร่างต่อ? บางคนบอกก็ต้องเป็นกรธ.ร่างต่อ เพราะมีความเชี่ยวชาญ แต่ก็มีคนค้านว่าแล้วกรธ.จะมีความชอบธรรมอะไรมาร่างต่อ เพราะร่างที่ร่างมาก็เพิ่งถูกคว่ำ คือมันมีประเด็นอีกมากมาย หรือแม้แต่สนช.ผ่านร่างแต่ก็มีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย อาจจะเสียง 1 ใน 10 ตามที่รธน.เขียนไว้ ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากระบวนการชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญร่างฉบับนี้ก็ตกอีก เมื่อตกก็เข้ามาสู่วังวนเดิมเป็นภาวะสูญญากาศทางรัฐธรรมนูญ ต่างๆเหล่านี้ สุดท้ายศาลก็จะต้องแบกรับความคลุมเครือหลายอย่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่นับว่าศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งในวิกฤตการเมืองตอนนี้เช่นกัน ถ้าจำได้ว่าก่อนการรัฐประหารครั้งที่แล้วมันเกิดการปะทะกันเชิงโครงสร้างทางรัฐธรรมนูญ คือสภาที่จะทำการแก้ไขเพิ่มเติมแต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ห้ามการแก้ไขเพิ่มเติม สุดท้ายนำมาสู่ภาวะทางตันทางการเมือง และเกิดการรัฐประหาร คำถามคือหากย้อนมาสู่ศาลอีกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะเกิดแรงต้านขึ้น

ยังไม่พูดถึงเรื่องการไม่ได้เขียนว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง แค่เขียนว่า ในทางปฏิบัติว่าพึงต้องเลือกคนจากบัญชีของพรรคการเมืองก่อน ซึ่งหากไปดูข่าวตอนนี้ ก็จะมีบางพรรคชูการสนับสนุนนายกฯคนนอก หรือการเขียนให้สว.มีส่วนในกระบวนการนี้ด้วย ถามว่าลักษณะแบบนี้มันเป็นไปตามหลักการเมืองภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญหรือ? การเมืองขณะนี้มันเหมือนการมองข้ามหรือไม่สนใจใยดีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเลย รัฐธรรมนูญเหมือนมีแค่ชื่อแต่บังคับใช้ไม่ได้ ทุกอย่างตอนนี้เหมือนกลับไปหารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

-สภาวะสองรัฐธรรมนูญซ้อนกันอะไรน่าห่วงที่สุด

อย่างที่ผมบอกการที่โครงสร้างของรัฐธรรมนูญมันชนกัน กรณีแยกกันทำงาน คนที่เห็นว่ามันไม่ชอบธรรมเขาก็ต่อต้านทีละฉบับใช่ไหม? แต่คราวนี้คุณเอาทั้งสองฉบับมาฟังก์ชั่นร่วมกัน คนทั่วไปเขาไม่มองหรอกว่าคุณกำลังใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับไหน ตอนนี้ผมคิดว่าหลายๆคนมองว่านี่คือรัฐธรรมนูญ 2560 และขณะนี้มันมีการลดทอนความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือของรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ นี่คือการนับถอยหลังไปเรื่อยๆนั่นเอง

ในเชิงหลักการความขัดแย้งหากมีการบ่มเพาะมากขึ้นได้เรื่อยๆ มันจะพัฒนาจากความขัดแย้ง หรือ Conflict เป็นวิกฤต หรือ Crisis ถามว่าพฤติกรรมอะไรที่จะนำไปสู่วิกฤต ในเชิงหลักการขอยกตัวอย่างซัก 3 กรณี

กรณีแรกคือผู้นำทางการเมืองมีการอ้างถึงสภาวะพิเศษบางอย่างเพื่อใช้อำนาจในการยกเว้น ไม่ทำตามสิ่งที่ควรจะเป็น เช่นการบอกว่าประเทศไทยมีสถานการณ์พิเศษ การจะใช้รัฐธรรมนูญแก้ปัญหาทุกอย่าง มีขั้นตอนเยอะเป็นไปไม่ได้จึงต้องยกเว้น ยกตัวอย่าง คือการใช้อำนาจตามม.44

2. คือการที่ผู้นำหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปยึดหรือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทั้งที่เห็นอยู่แล้วว่ามันไม่แก้ปัญหา แต่ตัวมันนำไปสู่การสร้างปัญหา พูดภาษาชาวบ้าน มันคือการดันทุรัง เช่นที่ผ่านมาพบว่านักการเมืองคอรัปชั่น ไม่เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเขียนขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อสาธารณชนหรือหลายๆคนอ่านแล้วเห็นได้ชัดว่ามันไม่ใช่ ฝรั่งเขาเรียกแบบนี้ว่า Suicide pact หรือกติกาที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย เพราะถ้าคุณดันทุรังที่จะใช้รัฐธรรมนูญแบบนี้ในการแก้ปัญหา ก็แปลว่าคุณพยายามขับเคลื่อนประเทศไปสู่ทางตัน เกิดเดดล็อกทางการเมือง 3. ก็คือตัวผู้นำทางการเมืองหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง พยายามกล่าวหา กับคนที่ต่อต้านหรือคัดค้าน รัฐบาล ว่าทำผิดรัฐธรรมนูญหรือทำผิดกฎหมาย พูดง่ายๆก็คือภาวะที่รัฐบาลถูกเสมอ ฝ่ายต่อต้านผิดเสมอ ทั้งๆที่โดยหลักการแล้วบางครั้งการใช้อำนาจของผู้นำทางการเมืองก็เห็นชัดเจนว่าไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญ

สังเกตให้ดี 3 ปัจจัยเหล่านี้ที่พูดมา มันนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองทั้งนั้น มันเป็นการผลักอีกฝั่งไม่ให้มีที่ยืนทางการเมือง มันสร้างความขัดแย้งขึ้นมาทั้งหมด

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

-พยากรณ์อนาคตรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ไหม จากเงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ผมพูดตามหลักวิชาแบบนี้ว่า ตามหลักการ ประกอบกับการวิจัยทางรัฐธรรมนูญในระดับโลก อายุขัยของรัฐธรรมนูญ มันจะสั้นไปเรื่อยๆ คือ มันมีความคิดของนักกฎหมายหรือนักวิชาการหลายๆคนที่มองว่ารัฐธรรมนูญของไทยหรือเมืองนอก จะต้องสามารถมีอายุขัยเทียบเท่ารัฐธรรมนูญของอเมริกา ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวนานที่สุดในโลก 200 กว่าปี ความคิดแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ เพราะอเมริกาเป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง มันมีบริบทและพัฒนาการที่ไม่เหมือนใคร หลายที่พยายามทำให้เหมือนแต่ก็ทำไม่ได้ บางประเทศก็อาจจะได้ร้อยกว่าปีหรือบางประเทศก็ 80 ปี

คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา อายุขัยของรัฐธรรมนูญมันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ของไทยซึ่งอยู่ในโซนเอเชีย อายุขัยโดยเฉลี่ยไม่เกิน 10 ปี อันนี้คือกรณีการยกร่างในสมัยใหม่แล้วนะ ถ้าเราไปดูจะพบว่าในเชิงหลักการ รัฐธรรมนูญฉบับแรกจะมีอายุยาวที่สุด

ทีนี้ถ้าจะให้วิเคราะห์เมืองไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็จะย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญ 2540 ถามว่าทำไมต้องตั้งต้นที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะหากจากวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ 2560 เราก็ต้องรู้ว่าโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่าง มันคือการรับมรดกมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 แม้ว่าการยกร่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามจะไปเอาโมเดลรัฐธรรมนูญ 2521มา หมายความว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องการสร้างบริบททางการเมืองคล้ายกับช่วง รัฐธรรมนูญ 2521 แต่ในเชิงโครงสร้างขององค์กรรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมาย มันคือปี 2540 ซึ่งตามหลักการบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกยาวนานที่สุด ถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ยาวนานที่สุดใช่ไหม? เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็ต้องตอบว่าใช่ เพราะจากปี 2540 ถึงปี 49 ก็นับเป็นเวลา 9 ปี โดยหลังจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกาศใช้ ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นในปี 2557 ก็นับเป็นเวลา 7 ปีใช่ไหม? จะเห็นว่ามันเริ่มลดลงมา เมื่อ ดูจากปัจจัยทั้งทางการเมืองและสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะมีอายุ 5 ปี คือ 9 ปี 7 ปีและ 5 ปี มันจะลดมาฉบับละ2ปี อันนี้ผมพูดให้เห็นภาพนะ แต่ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 อายุน้อยกว่า 7 ปีแน่ๆ แต่ถ้าถามผม ผมคิดแบบง่ายๆ ฉบับนี้น่าจะเหลือ 5 ปี

-แล้วถ้าให้วิเคราะห์โดยดูจากบริบททางการเมืองตอนนี้

ถ้าดูจากบริบททางการเมืองตอนนี้ และพฤติกรรมการใช้อำนาจแบบนี้ หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ถามผม ผมจะตอบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุขัยไม่เกิน 3 ปี อันนี้คือกรณีกับสภาวะแบบนี้ และเงื่อนไขความขัดแย้งพัฒนาไปเรื่อยๆ อันนี้คือการดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพร้อมกับการเอาหลักวิชา และการวิจัยทางรัฐธรรมนูญเข้าไปวิเคราะห์

-เปรียบพลังทางการเมืองของผู้ไม่เห็นด้วยของรธน.ฉบับนี้กับ ฉบับปี 2550

ผมคิดของฉบับนี้มากกว่า ผมบอกแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้แบบปี 2521 ฉบับนี้อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เอากรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 เป็นโมเดลมาสวมเลย ถ้ายังจำได้ มีคนถามอ.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ ว่าทำไมร่างออกมาโดยใช้โมเดลปี 2521 อาจารย์วิษณุบอกว่าไปดูสิ รัฐธรรมนูญ 2521 เป็นหนึ่งในไม่กี่ฉบับที่มีอายุบังคับใช้ยาวนาน คือประมาณ 12 ปี อาจารย์วิษณุอธิบายว่า บางครั้งการที่เราพยายามสร้างประชาธิปไตยแบบฝรั่งหรือสากลก็คงไม่เหมาะกับประเทศไทย เพราะ รัฐธรรมนูญ 2521 มันเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ฉะนั้นเราก็ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ นี่คือเหตุของการเอาโมเดลดังกล่าวมาใส่

ซึ่งต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ 2540 พยายามเอาแนวคิดในการร่างมาจากรัฐธรรมนูญอเมริกา มันคือประชาธิปไตยแบบฝรั่ง แต่กระนั้นก็ดี เรื่ององค์กรอิสระ ที่อเมริกาไม่มี เราก็ไปเอาของประเทศอื่นมาใส่ มันสะท้อนว่าคนร่างตอนนั้นก็ไม่ได้ไว้วางใจกับประชาธิปไตยแบบฝรั่งมาก จึงต้องสร้างองค์กรไปถ่วงดุลค่อนข้างมาก พอใช้ไปได้ 9 ปี ก็รู้สึกว่ามันสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งมาก ประกอบกับมีเรื่องของการกล่าวหาต่างๆ ก็นำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ตั้งต้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่มีการปรับให้องค์กรอิสระมีอำนาจมาก จะเริ่มเห็นองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีบทบาทสูงมาก และเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องยอมรับว่านำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง จนเกิดภาวะทางการทางการเมืองและนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2557 และเนื่องจากลองมา 2 หนแล้ว ครั้งนี้เขาจึงคิดว่าจำเป็นจะต้องมีประชาธิปไตยแบบไทย ไม่เอาแล้วแบบฝรั่ง ย้อนกลับไปปี 2521 ครึ่งใบไปเลย

ถ้าไปอ่านอารัมภบทเขียนไว้ชัดเลยว่าเราต้องสร้างประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับบริบทไทย เมื่อเป็นแบบนี้ ปัจจุบันเราจะเห็นแคมเปญต่างๆของคสช. เช่นประชาธิปไตยไทยนิยม โครงการทุกอย่างก็จะเป็นแบบไทยๆ ถ้ามองจากกรอบรัฐธรรมนูญจะเห็นชัดเลย นี่เป็นผลจากการดีไซน์รัฐธรรมนูญ

คำถามคือว่า มันง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2521 เหมาะสมกับสังคมไทย โดยอ้างเหตุว่ามันอยู่มาได้ตั้ง 12 ปี ถ้าถามผม ความเห็นส่วนตัว ผมบอกเลยว่ามันไปไม่ได้ คือผมไม่ได้มองว่าเราต้องสร้างสภาวะความเป็นประชาธิปไตยแบบไทย เพราะมันเหมาะสมกับบริบทไทย แล้วมันจะไปได้ แต่ คำถามของผมคือ คุณรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้บริบทไทยเป็นแบบไหน? เพราะสิ่งที่ผมเห็นตอนนี้คือบริบทไทย การเมืองไทยแบบ 2521 กับบริบทไทยในปี 2561 มันไม่เหมือนกัน ผมพูดตามหลักวิชารัฐธรรมนูญเลยคือ รัฐธรรมนูญมันมีชีวิตของมัน มันพลวัตไปตามสังคม การเมือง ที่มีพลวัตไปตลอด แต่คุณกำลังเดินตามรัฐธรรมนูญซึ่งพลวัตไปตามการเมืองปี 2521 ซึ่งจนถึงปี 2561 คุณคิดว่าการเมืองมันเปลี่ยนไปขนาดไหนแล้ว?

-อาจารย์ไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คือรองเท้าที่ตัดพอดีกับขนาดเท้าของคนไทย

ผมไม่เชื่อ ผมจะเชื่อก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญมันถูกออกแบบให้เข้ากับบริบทในสภาวะนั้นๆ แต่กรณีรัฐธรรมนูญปี 2560 มันไม่ใช่ เพราะคุณไปเอาสภาวะการเมืองแบบปี 2521 มาใส่ ฉะนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ตอนปี 2521 คุณอาจจะอายุ 5 ขวบ แต่มาถึงตอนนี้คุณคิดว่าขนาดเท้าของคุณไม่เปลี่ยนหรอ? สังคมตอนนั้น โลกไม่ได้มีความเป็นโลกาภิวัฒน์แบบนี้ คุณไม่สามารถติดต่อสื่อสารข้ามพรมแดนได้มากมายขนาดนี้ ตอนนั้นไปต่างประเทศยังต้องเขียนจดหมาย กลับมาหากันอยู่เลย แต่สมัยนี้มันดิจิตอลหมดแล้ว ใช้เวลาไม่นานก็สื่อสารถึงกันหมด

ผมพูดแบบนี้เพื่อจะบอกว่าระบบอินเตอร์เน็ตต่างๆถ้าพิจารณาให้ดีมันคือข้อมูล ซึ่งเวลาเราพูดในหลักรัฐธรรมนูญ ข้อมูลทุกอย่างมันคือสิทธิและเสรีภาพ สื่อมวลชนนำเสนอข่าวก็คือการนำเสนอข้อมูล คนอ่านข่าวและได้รับข้อมูลนั่นคือการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพ สมัยก่อนถามว่ามีระบบแบบนี้หรือ คนเข้าถึงข้อมูลน้อยมาก เดี๋ยวนี้มันมีกลไกการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งสิทธิและเสรีภาพก็มาพร้อมกับกลไกการตรวจสอบอํานาจ ผมกำลังบอกว่าสังคมมันไม่เหมือนกันแล้ว ประเทศไทยเรามีอินเตอร์เน็ตใช้ และไม่ได้ใช้ระบบ Single Gateway แบบจีน คุณไม่สามารถบล็อกข่าวสารได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เราไม่ใช่ประเทศปิดแบบนั้น การไหลของข้อมูลข่าวสารแบบนี้แหละคือประชาธิปไตย การบอกว่าสังคมไทยก็ต้องเป็นแบบไทยอย่าไปตามฝรั่งล้วนเป็นวาทกรรม ที่ผมพยายามพูดแบบนี้เพื่อบอกว่าโครงสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบแบบปี2521 จะมาเทียบกับสังคมซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยสูงกว่าเดิม มันเป็นไปไม่ได้

-สว.ที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งตามโครงสร้างรธน.2560 จะเหนื่อยขนาดไหน ถ้ามาอยู่ในบริบทสังคมแบบนี้

ผมคิดว่าเหนื่อย คิดดูแล้วกันว่าขนาดรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่ฟังก์ชันแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนฉบับนี้มันต้องดีกว่าปี 2557 แต่ภายใต้ระบบเบ็ดเสร็จขนาดนี้ ยังไปลำบากเลย และยิ่งถ้าดูจากที่ผมบอกไปคือความชอบธรรมมันลดทุกวัน คสช.เองก็อยู่ยาวมาก รวมถึงเกิดเหตุการณ์ซึ่งลดทอนความน่าเชื่อถือของคสช.-องค์กรอิสระเองเยอะ คนก็ยิ่งต่อต้าน นี่ยังไม่รวมกลุ่มพรรคการเมืองอีก

คือต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายทั่วไป ถ้าหากเราไม่ทำตามกฎหมายทั่วไปก็จะมีตำรวจหรือศาล มาบังคับให้คุณต้องทำตาม แต่รัฐธรรมนูญไม่ใช่ รัฐธรรมนูญไม่มีองค์กรมาบังคับว่าจะต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ เพราะรัฐธรรมนูญมีส่วนผสมของความเป็นการเมืองอยู่ ตัวมันเองจะบังคับใช้ได้ ส่วนหนึ่งต้องมาพร้อมกับหลักการว่าด้วยเรื่องฉันทามติหรือความเห็นพ้องต้องกันระดับหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเห็นด้วย แต่อย่างน้อยทุกฝ่ายต้องมีที่อยู่ที่อยู่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมอ่านแล้วมันเป็นการบีบบางภาคส่วนให้ไม่มีที่ยืน คือ รัฐธรรมนูญที่ดีต้องไม่สร้างผู้ชนะหรือผู้แพ้ แม้ในความจริงแม้มันจะเกิดขึ้นได้ แต่คุณต้องสร้างความรู้สึกของคนที่เป็นผู้แพ้ ให้รู้สึกว่าเขาไม่ได้แพ้ 100% เขาต้องมีอะไรได้บ้าง การที่คุณสร้างสภาวะความเป็นผู้แพ้แบบเบ็ดเสร็จ 100% คนพวกนี้แหละที่เขาจะต่อต้านและไม่เอารัฐธรรมนูญ เมื่อต่อต้านหนักขึ้นก็จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมืองโลก คนเราถ้าถูกกดมากๆมันจะต้องหาทางออก

-เห็นแนวโน้มบ้างไหมว่าน่าจะมีการหาความเห็นพ้องต้องกันทางการเมืองใหม่

ผมคิดว่ามี ผมมองข้ามช็อตไปเลย เงื่อนไขตอนนี้ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ไม่เกิน 3 ปี ถ้ามันก้าวไปสู่ปัจจัยทางการเมืองที่สุกงอมมากๆ ผมคิดว่านักการเมืองเขาคงต้องมาคุยกัน ตอนนี้ผมอาจจะตอบไม่ได้ แต่ถ้าไปถึงจุดจุดนั้น และสิ่งที่ผมวิเคราะห์เป็นจริง ผมคิดว่าก็ต้องมีการมาคุยกัน

-แนะนำหนทางการช่วยลดการปะทะของโครงสร้างรัฐธรรมนูญแบบที่เป็นอยู่ให้เบาลง เพื่อเปลี่ยนผ่านให้ราบลื่น

ผมคิดว่ามันต้องเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ให้มาก พูดง่ายๆก็คือ คนที่ใช้อำนาจหรือมีพฤติกรรมการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกตรวจสอบและพร้อมรับผิด คือการเมืองภายใต้โครงสร้างรัฐธรรมนูญทุกอย่างมันต้องถูกควบคุมกำกับ ซึ่งหลักของมันคือการเปิดให้ตรวจสอบ อย่างโปร่งใส พูดง่ายๆก็คือถ้าคุณทำอะไรให้คนรู้สึกเกลียดชังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก คุณก็ต้องลดการกระทำนั้น ซึ่งเวลาคนเขาไม่ชอบ เขาอาจจะไม่ได้เกลียดแค่องค์กรใดองค์กรหนึ่งแต่มันจะลามไปทั้งระบบ มันจะกลายเป็นการต่อต้านโครงสร้างทั้งหมด

-ใช้ม.44 คลี่คลายได้ไหม

มันยาก ม.44 มีข้อดีคือรวดเร็ว แต่มันเป็นการใช้อำนาจที่อยู่บนอัตวิสัย ที่อยู่กับคนๆเดียว มันไม่มีอะไรการันตีหรอกว่าวันนี้คนๆนี้จะใช้อำนาจนี้กับใคร เรื่องอะไร ซึ่งแตกต่างกับระบบรัฐธรรมนูญเพราะมันเป็นการใช้อำนาจแบบภาวะวิสัย ตามตัวบทกฎหมายและความเป็นกลางที่พึงจะเป็น มันเป็นสิ่งแปลกปลอมในวิถีของรัฐธรรมนูญ โดยตัวมันเองก็ลดทอนความชอบธรรมในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

-แม้แต่การทำเพื่อลดอุปสรรคไปสู่ระบบประชาธิปไตย?

ถ้าทำได้ก็จะดี แต่คำถามคืออะไรคือจะเป็นเครื่องการันตีว่าเขาจะทำ ยกตัวอย่างถ้าเราจะโฟกัสแค่เรื่องการเลือกตั้ง ก็จะเห็นว่าเขาเลื่อนมาตลอด

-การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า

ยังพูดไม่ได้ เพราะมันมีเงื่อนไขต่างๆอีกมากที่จะนำไปสู่การกำหนดวันเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจน ถ้าวิเคราะห์ตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลชุดนี้พยายามปรับโครงสร้างรัฐธรรมนูญและการเมืองเยอะมาก เรากำลังนำเอาสภาวะประชาธิปไตย และสภาวะโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบันกลับไปสู่การเมืองแบบปี 2521 นี่คือสิ่งที่ผมเห็นภาพจากการอ่านโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าลำบาก มันจะเกิดการชนและการต่อต้านกันของสมัยปัจจุบันกับโครงสร้างการเมืองแบบโบราณดั้งเดิม

ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image