คว่ำ 7 ว่าที่กกต. เขย่า”ความหวัง” เลือกตั้ง!

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น กกต. 7 คน

ประกอบด้วย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ นายประชา เตรัตน์ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ นายปกรณ์ มหรรณพ

ว่าที่ กกต. 7 คนนี้ 5 คนมาจากคณะกรรมการสรรหาจากผู้สมัครเข้ามา จากจำนวนทั้งหมด 41 คน มีคุณสมบัติที่จะเป็น 15 คน แล้วคณะกรรมการก็คัดเหลือ 5 คน

อีก 2 คน คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และ นายปกรณ์ มหรรณพ นั้นที่ประชุมศาลฎีกาเป็นผู้เลือก

Advertisement

หลังจากได้รายชื่อว่าที่ กกต. 7 คนแล้ว คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมได้พิจารณา

จากนั้นได้ส่งให้ สนช.โหวตรับรอง

หากผลการลงคะแนนรับรองมากกว่ากึ่งหนึ่งก็เท่ากับว่าผ่านขั้นตอน

Advertisement

รอการโปรดเกล้าฯ เป็น กกต.ต่อไป

อย่างไรก็ตามผลการลงคะแนนในวันดังกล่าว ปรากฏข่าว “ช็อก”Ž เมื่อไม่มีว่าที่ กกต.คนใดผ่านการรับรอง

ที่ประชุม สนช.ได้ลงคะแนนลับ ปรากฏว่า นายฐากรได้คะแนนเห็นชอบ 27 คะแนน ไม่เห็นชอบ 156 คะแนน ไม่ออกเสียง 17 คะแนน นายเรืองวิทย์ได้คะแนนเห็นชอบ 10 คะแนน ไม่เห็นชอบ 175 คะแนน ไม่ออกเสียง 14 คะแนน

นางชมพรรณ์ได้คะแนนเห็นชอบ 16 คะแนน ไม่เห็นชอบ 168 คะแนน ไม่ออกเสียง 16 คะแนน นายอิสสรีย์ได้คะแนนเห็นชอบ 30 คะแนน ไม่เห็นชอบ 149 คะแนน ไม่ออกเสียง 21 คะแนน นายประชาได้คะแนนเห็นชอบ 57 คะแนน ไม่เห็นชอบ 125 คะแนน ไม่ออกเสียง 18 คะแนน

นายฉัตรไชยได้คะแนนเห็นชอบ 46 คะแนน ไม่เห็นชอบ128 คะแนน ไม่ออกเสียง 26 คะแนน นายปกรณ์ได้คะแนนเห็นชอบ 41 คะแนน ไม่เห็นชอบ 130 คะแนน ไม่ออกเสียง 29 คะแนน

ทั้ง 7 ได้คะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สนช. ถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบ

การสรรหา กกต.ทั้ง 7 คน ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

ย้อนกลับไปยังกระบวนการสรรหา กกต. 7 คน มีที่มา 2 ทาง

5 คนแรก มาจากคณะกรรมการการสรรหาตาม มาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน และมีกรรมการที่มาจากประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญ และตัวแทนองค์กรอิสระที่มิใช่ กกต. องค์กรละ 1 คน

ขั้นตอนนี้หากเริ่มใหม่ ต้องใช้เวลา 20 วัน

อีก 2 คนที่เหลือ มาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ทั้งคณะกรรมการสรรหา และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีเวลาสรรหาไม่เกิน 90 วัน

จากนั้นส่งรายชื่อทั้ง 7 คน ให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบหรือไม่ต่อไป ภายใน 45 วัน

เท่ากับว่ากระบวนการสรรหาและพิจารณา ต้องใช้เวลานานที่สุดอีก 155 วัน

หรือประมาณ 5 เดือน หรือประมาณเดือนกรกฎาคม

เลยเกินกว่าเดือนมิถุนายนที่รัฐบาลบอกว่าจะประกาศวันเลือกตั้ง

การเริ่มต้นสรรหา กกต.ใหม่ จึงทำให้โรดแมปเดือนมิถุนายนได้รับผลกระทบ

แม้ว่า จะมี กกต. ที่รักษาการอยู่ แต่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ ”เซตซีโร่”Ž กกต.

คือ ต้องการให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาจัดการการเลือกตั้ง

นี่จึงเป็นอีกเงื่อนไขที่จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง

เรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้ สนช. ตกเป็นจำเลยของสังคมในข้อหา ”เขย่าการเลือกตั้งŽ”

เนื่องจากครั้งแรก สนช.แปรญัตติขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ออกไป 90 วัน ซึ่งมีผลต่อกำหนดการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีนี้

แม้ว่า สนช.จะอ้างผลกระทบจากกรณีที่ คสช. ไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผลที่ทำให้การเลือกตั้งต้องเขยื้อนออกจากกำหนดการเดิมมาจากการแก้ไขเนื้อหา พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.

คือให้เลื่อนการบังคับใช้ออกไป 90 วัน

แล้วมาครั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้รับสมัครและสรรหา เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาคัดเลือก

คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติได้ผ่านคุณสมบัติและ

เสนอให้ สนช. พิจารณารับรอง

แต่สุดท้าย ที่ประชุมเสียงข้างมากลงมติท่วมท้น ไม่รับรอง

นี่ย่อมมีนัยยะต่อบุคคลที่ได้รับการสรรหา มีนัยยะต่อกระบวนการสรรหา

และมีนัยยะต่อการเลือกตั้ง

 

นัยยะจากฝีมือของ สนช. ทำให้กำหนดการเลือกตั้งไม่แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

ยิ่งในวันที่ 8 มีนาคม สนช.มีกำหนดพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.

ทั้ง 2 ร่าง สนช.มีการแก้ไข และเนื้อหาที่แก้ไขมีองค์กรที่เกี่ยวข้องโต้แย้ง จึงต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมา

กระทั่งเกิดกระแสโหมสะพัดว่า จะมีการคว่ำทั้ง 2 ร่าง

หากแต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกาศ “2 พ.ร.ป.ไม่มีการคว่ำเด็ดขาดŽ”

ทำให้กระแสที่โหมสะพัดสงบลงชั่วครู่

แต่เมื่อผลการโหวตของ สนช. เกี่ยวกับว่าที่ กกต. 7 คนออกมาเช่นนี้

ทำให้อนาคตของร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. วันที่ 8 มีนาคม ไม่แจ่มชัด

โอกาสที่จะโดนคว่ำก็ยังมี

แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะบอกว่า ”ยากมาก”Ž ก็ตาม

จากอาการของ คสช. ที่ยืนยันว่าจะไม่ปลดล็อก จากอาการของรัฐบาลที่สนับสนุนการห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม

รวมมาถึงปฏิบัติการของ สนช. ในการพิจารณากฎหมาย ทั้งการแก้ไข การขยาย และการพิจารณาไม่รับรองว่าที่ 7 กกต. จนต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่

ล้วนมีผลต่อโรดแมปการเลือกตั้งทั้งสิ้น

การกระทำดังกล่าว เป็นการ ”เขย่าขวัญŽ” คนที่มีความหวังว่าอีกไม่นานจะได้เลือกตั้ง

เขย่าให้ตื่นจากฝัน และสัมผัสกับความจริงว่า ทุกอย่างยังไม่มีความแจ่มชัด

การเลือกตั้งที่ว่าจะมีขึ้นในปี 2562 นั้น บางทีอาจจะไม่มี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image