โต้คลื่น”ศรัทธา” โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

ยอมรับ แปลกใจนิดๆ

วันอังคาร 20 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศขึงขังจะไม่ให้มีการล้ม 2 กฎหมายลูก ทั้ง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.ที่มาของ ส.ว.

ทั้งที่จากเดิมมักจะพูดกว้างๆ ว่าให้เป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

แต่ไฉน จึงมาเปลี่ยนท่าที

Advertisement

แล้วก็มาถึงบางอ้อ

เมื่อ 2 วันถัดมาคือ วันพฤหัสบดี 22 กุมภาพันธ์ สนช.แสดงฤทธิ์เดช “คว่ำเงียบ” 7 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

จะอ้างว่า ไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีใบสั่ง ก็ตามที

Advertisement

แต่ก็ถือเป็นอีกเหตุบังเอิญอันร้ายกาจ

2 กฎหมายลูกมีแรงต้านหนักไม่ให้ล้ม ก็มาเก็บคะแนนหน่อยด้วยการประกาศไม่ล้ม(ซึ่งเอาเข้าจริง ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะยังมีขั้นตอน “เบี้ยว” ได้อีก)

แล้ว ก็มาลับลวงพราง คว่ำกระดาน 7 กกต.แทน

แม้จะมีความพยายาม “ลูบหลัง” ว่าถึงจะล้ม 7 กกต.แต่จะไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง

แต่กระนั้น เผื่อใจไว้เยอะๆ

อย่าง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บอกว่าไม่

กระทบโรดแมป แต่ก็ชี้ช่องไว้เองว่า

“(ที่บอกว่า) ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันยังคงทำหน้าที่ต่อไป”

“ยกเว้นว่าจะมี กกต.ลาออก 2 คน” พร้อมยอมรับว่า

“ในเดือนกรกฎาคมนี้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. จะมีอายุครบ 70 ปี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที”

นั่นหมายความว่าช่วงครึ่งหลังปี 2561 กกต.จะเหลือแค่ 4 คน

และสุ่มเสี่ยงจะถูกทำให้เหลือ 3 คน เพื่อทำให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ เช่นอาจจะมี กกต.ลาออก

ซึ่งนายสมชัยเองนั่นแหละตกเป็นข่าวลือคนแรกว่าจะออก

หรืออาจจะมีคนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าคุณสมบัติ กกต.ชุดปัจจุบันขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 อันเป็นเหตุให้ กกต.ทั้ง 5 คนถูกเซตซีโร่มาแล้วจึงไม่สมควรที่จะมาดูแลการเลือกตั้งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของชาติ

ทำใจไว้เลย จะมีเหตุหรือข้ออ้างแปลกๆ มาทำให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ จนเกิดสุญญากาศ

จะว่าระแวงเกินไป ก็คงได้

แต่กระนั้นต้องไม่ลืมว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ยืนยันว่าเป้าหมายที่อยากอยู่นานๆ โดยไม่เลือกตั้ง หรือเลื่อนออกไปให้ยาวที่สุด

ยังดำรงอยู่อย่างแน่วแน่

และพร้อมที่จะทำทุกวิถีทางหรือทุกช่องที่มี

การคว่ำ 7 กกต. ก็คือหนึ่งในตัวอย่างนั้น และยังจะเกิดขึ้นอีก

ดูเหมือนว่าฝ่ายไม่อยากให้เลือกตั้งหรือเลื่อนเลือกตั้งไปยาวๆ “รุก” ได้อย่างต่อเนื่อง

แต่กระนั้นก็ยังอยากย้ำเช่นเดิม นั่นคือ ทุกความพยายามที่จะ “สืบทอดอำนาจ” ออกไป ไม่ได้มีแต่รายรับ หากมี “รายจ่าย” ด้วย

ที่รัฐบาลและ คสช.ควักค่าใช้จ่ายออกไปเรื่อยๆ อย่างรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง ก็คือ “ศรัทธา”

“ศรัทธา” ที่ชาวบ้านมีให้รัฐบาลและ คสช.ในวันเข้ามา “ยึดอำนาจ”

กับ “ศรัทธา” ในวันนี้ เป็นอย่างไร ก็คงทราบกันดี

เราเริ่มได้ยินคำ “วิกฤตศรัทธา” บ่อยครั้งขึ้น

โดยเฉพาะในท่ามกลางการดิ้นรนที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป “สนิมจากภายใน” ก็เริ่มร่วงกราวๆ ให้เห็น

คำสัญญาที่จะปฏิรูป ที่จะปราบการโกง ปราบพฤติการณ์สามานย์ต่างๆ นั้น เป็นจริงหรือแตกหน่อเพิ่มขึ้น คงหาคำตอบได้ไม่ยาก

แต่กระนั้นก็ดูเหมือนจะพยายามไม่หาคำตอบ

ซึ่งก็คงไปว่าอะไรไม่ได้ คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรม

จะใช้เหลี่ยมใช้มุมอะไร ก็ว่ากันตามสบาย หากเชื่อว่าจะโต้คลื่น “วิกฤตศรัทธา” ไปได้

……………..

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image