สธ.ชี้ฝนประปรายอย่าเฉย กำจัด ‘ลูกน้ำยุงลาย’ สกัด 3 โรคต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ.ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 พบผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้ว 2,526 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 42 เป็นเด็กนักเรียน แม้จำนวนผู้ป่วยจะน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 แต่ปีนี้มีฝนตกประปรายต่อเนื่อง จึงไม่อาจนิ่งนอนใจ

“นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด สธ.จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ประสานความร่วมมือกับชุมชนและท้องถิ่น ในการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก และขอให้ทุกคนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง อาทิ ในภาชนะต่างๆ ต้นไม้ ในบริเวณบ้าน โรงเรียน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ลดการป่วยจาก 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ยังคงให้ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ประกอบด้วย 1.เก็บบ้านให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้าน ทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง เป็นต้น

นพ.โอภาสกล่าวต่อไปว่า อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอยเกิน 38.5 องศาเซลเซียส 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น เบื่ออาหาร อาเจียน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด หรือลดชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก ให้ไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรักษา ในการดูแลผู้ป่วยเมื่อมีไข้ ให้เช็ดตัวผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด กินยาตามแพทย์สั่ง กินอาหารอ่อนและที่ทำให้สดชื่น เช่น น้ำเกลือ น้ำผลไม้ พักผ่อนมากๆ และหมั่นสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย โดยเฉพาะช่วงที่ไข้ลดประมาณตั้งแต่ 3-5 วันหลังป่วย จะเป็นช่วงอันตรายที่สุด หากมีอาการซึมลง อ่อนเพลีย กินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่า เข้าสู่ภาวะช็อก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และควรให้ข้อมูลเรื่องอาการ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือสถานที่รักษาบ่อยๆ และไม่ควรกินยาแอสไพริน กับยากลุ่มไอบูโปรเฟน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image