รศ.ดร.กรรณิกา จรรย์แสง ‘ไม่เห็นด้วยกับการเอาความตายไปส่งให้ใคร’

นับเป็นผลงานที่ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งในแวดวงสิทธิมนุษยชนไทย สำหรับ ‘วันสุดท้ายของนักโทษประหาร’ หรือ Le Dernier Jour d’un condamné โดยนักเขียนคนสำคัญของโลก “วิกตอร์ อูโก” (Victor HUGO) ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อต่อต้านโทษประหารชีวิตในฝรั่งเศส ตั้งแต่ ค.ศ.1828 หรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว ทว่า ยังเป็นประเด็นร่วมสมัย เมื่อ 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก ยังคงมีโทษดังกล่าว รวมถึงประเทศไทยซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงในสังคมอย่างเข้มข้น

รศ.ดร.กรรณิกา จรรย์แสง คือผู้ถ่ายทอดจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทยได้อย่างงดงาม สละสลวย ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์มติชน ด้วยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย

แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่ผลงานชิ้นแรกของนักแปลท่านนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่นักอ่าน โดยเฉพาะคอหนังสือแนว ‘อิงประวัติศาสตร์’ ทั้งนวนิยายและบันทึกล้ำค่าจากปลายปากกาของนักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางรอนแรมมาถึงดินแดนอุษาคเนย์เมื่อกว่าศตวรรษก่อนหน้า อาทิ “รุกสยามในนามของพระเจ้า”, “เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์”, บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ “

รวมถึงนิยายอิงเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ณ ชานกรุงปารีส เมื่อ ค.ศ.2006 “ชั่ว…พริบตา”

Advertisement

รศ.ดร.กรรณิกา เกิดที่ภูเก็ต บรรพบุรุษเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย

เป็นลูกคนสุดท้องในพี่น้อง 8 คน ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กๆด้วยการสนับสนุนของพ่อแม่ที่เลี้ยงดูอย่างอิสระ หนึ่งในภาพความทรงจำคือการปีนเก้าอี้เปิดฟังละครวิทยุเมื่อกลับบ้านหลังเลิกเรียน

“ชอบอ่านหนังสือที่เป็นภาพสะท้อนสังคมของแต่ละชาติ มันทำให้เราเห็นโลกกว้างขึ้น ก็เลยติดตัวมา เรื่องของมนุษย์ มันมีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดที่เราสัมผัสได้ ถ้าเป็นนิยายหวานแหวว อ่านได้สักเล่มหนึ่ง ก็ไม่อยากอ่านแล้ว”

สารภาพว่าสมัยมัธยมอยากเรียนสายวิทย์ตามค่านิยมยุคนั้น แต่เรียนวิชาเรขาคณิตไม่รู้เรื่อง เลยหันมาทางภาษา

สอบเข้าเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น 37 คว้าเกียรตินิยมอันดับสอง แล้วต่อปริญญาโทที่สถาบันเดิม ก่อนบินข้ามทวีปไปศึกษาสาขาวรรณคดีฝรั่งเศส ณ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส

“ตอนไปแรกๆ รู้สึกเลยว่ามันคนละวัฒนธรรม ตอนนั้นคนฝรั่งเศสรุ่นสงครามเวียดนามยังอยู่ เขาตะโกนใส่หน้าว่า Les jaune หมายถึง ไอ้พวกผิวเหลือง มันคือการเหยียด เรารู้สึกได้แม้จะไม่ได้ผ่านสงครามแบบนั้นมา แต่ยุคนี้ไม่ใช่แล้ว คนละเรื่องเลย ฝรั่งเศสกลายเป็นคนหลายชาติภาษาอยู่ด้วยกัน”

กลับมาสอนหนังสือต่อที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เน้นการสอนให้นักศึกษาเติบโตอย่างอิสระ กระทั่งเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด

นอกจากสอนหนังสือ ยังมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ได้แก่ ‘สถานภาพเอกสารด้านฝรั่งเศส-ไทยศึกษาในประเทศไทยจนถึงปี พ.ศ.2536’

ความภูมิใจในงานแปลตามความหมายของตัวเอง ไม่ใช่เชิงปัจเจก แต่เป็นความพอใจในการสื่อสารกับสังคมหรือสร้างผลกระทบบางอย่าง ดังเช่นผลงานแปลเล่มล่าสุด ซึ่งเกี่ยวข้องกับโทษประหาร

ต่อไปนี้ คือ บทสนทนาว่าด้วยเรื่องราวชีวิต การแปล และความคิดความเห็นในประเด็นสังคมที่น่าสนใจยิ่ง

◊ การคัดสรรเรื่องที่จะแปลใช้เกณฑ์อะไรเป็นหลัก ความชอบส่วนตัว หรือทางสำนักพิมพ์ขอให้แปล?

ปกติไม่ใช่คนที่จะให้ใครมาบอกว่าให้ทำเล่มนี้หรือเล่มไหน จะทำเอง อย่างรุกสยามฯ ก็คิดว่าจะทำเอง เล่มต่อๆ มาก็ใช่ มีเรื่อง ‘วัดสุดท้ายของนักโทษประหาร’ นี่แหละที่มาจากเพื่อนซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยทูตด้านวัฒนธรรมของสถานทูตฝรั่งเศส โทรศัพท์มาถามว่าจะแปลหนังสือเล่มนี้ไหม เราก็บอกว่าเดี๋ยวก่อน ฉันเป็นคนปวดหลัง เวลาแปลหนังสือต้องยืนแปล (หัวเราะ) คือนั่งนานไม่ได้ ต้องยืนทำ เลยขอดูต้นฉบับก่อน เขาก็ส่งต้นฉบับมาให้อ่าน พออ่านคำนำที่วิคตอร์ อูโก เขียนแล้วรู้สึกว่าฉันต้องแปลเล่มนี้ แม้ว่าจะไม่ใช้เล่มที่เราเลือกอย่างที่เคยเป็น

◊ อะไรในถ้อยความของ วิคตอร์ อูโก ที่อ่านแล้วรู้สึกว่าต้องแปลเล่มนี้

ในคำนำการตีพิมพ์ครั้งที่ 3 มีย่อหน้าหนึ่ง เขาบอกว่าต้องเขียนเล่มนี้ เพราะตอนนั้นเขาอยู่ในปารีส ช่วงที่จะมีการประหารชีวิต คนรู้กันทั่วเมือง ตัวเองนั่งอยู่แล้วได้ยินเสียงผู้คนข้างนอกบ้านที่เป็นฝรั่งมุง กำลังจะไปดูการประหาร เขานึกถึงอารมณ์ความรู้สึกของนักโทษที่จะโดนประหาร และบอกว่าวันนั้นเขียนหนังสือไม่ได้เลย เพราะใจไปอยู่กับนักโทษว่าจะรู้สึกอย่างไร เลยรู้สึกว่าอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว ต้อเขียนเรื่องนี้ เราอ่านแล้วก็…โห! อะไรเธอจะเป็นมนุษย์ที่มีมนุษยธรรมได้ปานนี้

◊ ใช้เวลาในการแปลนานแค่ไหน

โดนบังคับให้ทำให้เสร็จ (หัวเราะ) สำนักพิมพ์บอกว่าต้องเสร็จในเวลา 2 เดือน เพราะทางสถานทูตฝรั่งเศส อยากให้ตีพิมพ์ภายในสิ้นปี เราก็ทำไป เหมือนกับที่อูโกเขียน เขาใช้เวลาแค่เดือนครึ่ง ทำไมเราจะทำไม่ได้ เพราะแค่แปลเอง ไม่เห็นต้องคิดอะไรเลย (ยิ้ม)

◊ แล้วมีช่วงต้องยืนแปลจริงๆบ้างไหม

(หัวเราะ) มีๆ เพื่อนก็รู้ แต่อยากให้เราแปล อยากบอกว่าหนังสือเล่มนี้ออกมาได้งดงาม เพราะมีบรรณาธิการ 2 คนช่วยทำงาน คนหนึ่งคือคุณ ภชพร ด่านวิรุฬหวณิช บก.แปล เขาอ่านเทียบกับต้นฉบับอย่างละเอียดมาก ช่วยทั้งปรับและแก้ภาษาให้ซึ่งนับถือมาก เพราะเขาทำงานได้ดี หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของ คุณนันท์ชนก คามชิตานนท์ บก.เล่ม ที่ช่วยอ่านใหม่อีกครั้ง บก.ทั้ง 2 คนน่ารักมาก มันช่วยทำให้คนแปลซึ่งอยู่ในวัยที่กำลังจะไปแล้ว รู้สึกว่าวงการหนังสือบ้านเรามีอนาคต ถ้ามีคนรุ่นใหม่ที่ทำหนังสือได้แบบนี้ ….รู้สึกดีมาก (ยิ้ม)

◊ นอกเหนือจากคำนำผู้เขียนแล้ว มีฉากไหนอีกไหมที่กระทบใจเป็นพิเศษ

ตอนที่นักโทษรู้แล้วว่า โดนแน่ ไม่รอดแน่ และคิดถึงครอบครัว พอมีคนพาลูกส่าวมาส่งให้ ลูกสาวจำพ่อไม่ได้แล้ว นี่เป็นตอนที่กินใจมาก

◊ คิดอย่างไรที่ในเมืองไทยยังมีกระแสสนับสนุนโทษประหารค่อนข้างมาก

โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเอาความตายไปส่งให้ใคร ไม่ว่าจะด้วยวิธีอะไร อย่างนักโทษในเรื่องที่ถูกตัดสินประหารชีวิตโดยวิธีทางกฎหมาย หรือทางอำนาจรัฐ หรืออะไรก็ตาม การฆ่าคือสิ่งที่ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นเวลาแปลหนังสือเล่มนี้นอกจากประเด็นที่สถานทูตฝรั่งเศสตั้งไว้ในเรื่องการต่อต้านโทษประหารชีวิต โดยลึกๆ ของคนแปลก็แน่นอนว่าไม่เห็นด้วยกับโทษประหารเพราะมันคือการฆ่า และไปไกลกว่านั้น คือ ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าที่เกิดขึ้นทั่วโลกในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นในสงครามหรือในคุก หรืออยู่ดีๆ ผู้ก่อการร้ายมาระเบิด ผู้คนที่ไม่รู้เรื่องก็ตายไป

ไม่ว่าจะฆ่าด้วยอุดมการณ์ หรือฆ่าเพื่อความเรียบร้อยของสังคม ถ้าแกไม่เห็นด้วยแกตายแน่ อะไรประมาณนี้ หรือฆ่าเพราะแค้นเป็นการส่วนตัว ยังไงก็ไม่เห็นด้วย

◊ แม้เป็นงานที่เขียนขึ้นเมื่อ 2 ศตวรรษที่แล้ว แต่มีความร่วมสมัยในประเด็นสังคม

ใช่ค่ะ สารที่อูโกสื่อ คือต้องการจะบอกว่า สังคมซึ่งในที่นี้คือกฎหมายไม่มีสิทธิลงโทษสมาชิกในสังคมด้วยวิธีนี้ มันน่าจะมีวิธีจัดการ จัดระเบียบสังคมที่ดีกว่านี้ได้ โดยไม่ใช่การประหารชีวิต หนังสือเล่มนี้โดยสารที่เขาส่งให้ผู้คนในยุคของเขา คือการต่อต้านโทษประหารชีวิต แต่พอเราเอามาอ่านในยุคนี้ มันก็เข้ากับยุคสมัยเราได้ มันไม่ใช่แค่โทษประหาร มันเป็นเรื่องที่คนคนหนึ่งถูกยัดเยียดความตายให้

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งเคยดูข่าวผู้หญิงถูกข่มขืนและเสียชีวิต มีนักข่าวไปถามพ่อเขา พ่อบอกว่า อโหสิให้ แต่แม่บอกว่าถ้าจับได้ขอให้ประหารชีวิต พอเห็นหน้าแม่ เราก็เข้าใจนะ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังตั้งคำถามอยู่ว่า มันจะเป็นวัฎจักรไปอย่างนี้ โดยยังไม่ได้แก้ปัญหาได้ชัดเจน จะต้องดูว่าแต่ละคนทำไปเพราะอะไร เกิดอะไรขึ้นในชีวิตของเขา

◊ มองว่าโทษประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา?

จริงๆ มีวิธีลงโทษอย่างอื่น ถ้าฆ่าเขาก็จบไปเลย แต่ถ้าตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตให้เขาเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำคืออะไร มันน่าจะเป็นการลงโทษทีดี่กว่า คิดว่าการสูญสิ้นอิสรภาพคือการลงโทษอย่างสูงสุดที่จะทำได้ ซึ่งต้องขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย โดยเฉพาะคุณ Fabian Forni ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมและความร่วมมือ ผู้ริเริ่มโครงการแปลหนังสือเล่มนี้ หนังสือที่ทำให้เรารู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับการรณรงค์ต้านโทษประหารชีวิต และการฆ่าที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้

◊ ผลงานส่วนใหญ่ค่อนข้างชัดเจนว่ามาแนวประวัติศาสตร์ เป็นความสนใจส่วนตัว? 

ใช่ค่ะ ตอนปริญญาตรีเคยตั้งใจจะเรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ แล้วมันติดอยู่ในตัวมาตลอด พอมาสอนภาษาฝรั่งเศส รู้สึกว่าแค่สอนหนังสืออย่างเดียว ไม่น่าจะพอ น่าจะดูด้วยว่าฝรั่งเศสกับไทยมีอะไรที่เกี่ยวดองกันหรือเปล่าทางประวัติศาสตร์ พอเห็นเรื่องที่คนฝรั่งเศส เขียนเรื่องเมืองไทย เช่น รุกสยามในนามของพระเจ้า และบันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์ ก็มีความรู้สึกว่า เอ๊ะ! อยากให้คนไทยได้อ่านด้วย นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมเลือกหนังสือตามที่เราอ่านแล้ว รู้สึกว่าฉันกรี๊ด (หัวเราะ)

◊ รู้สึกอย่างไรเวลาแปลแล้วเจอข้อความในต้นฉบับที่กล่าวถึงชาวสยามในแง่ลบ เช่น วิจารณ์รูปร่างหน้าตา และความล้าหลังของบ้านเมือง

อ่านแล้ว เอ๊ะ! เราเป็นอย่างนั้นจริงเปล่า แต่ก็อ่านได้นะ มันเป็นมุมมองจากเขา เช่น ทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์ แล้วเขาเขียนว่าคนไทยหน้าตาซื่อๆ แล้วภาพลักษณ์คนไทยมาอย่างนี้ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์ ตั้งแต่ฝรั่งเศสเข้ามา ลาลูแบร์ก็เขียนเอาไว้แล้วอย่างนั้น มันมีภาษาอังกฤษเรียกว่า stereotype เพราะฉะนั้นเวลามูโอต์เขียนก็คงได้ความรู้สึกนี้จำลองกันมา ส่งกันมาเป็นรุ่นๆ เรื่องรูปร่างหน้าตาไม่ว่ากัน แต่ที่บอกพวกนี้ไม่ศิวิไลซ์ ก็แอบกรี๊ดในใจ เพราะเราอยู่ของเราอย่างนี้ แต่มันก็จริงส่วนหนึ่งที่ว่าเราอยู่อย่างสบายๆ ขี้เกียจ เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว

◊ อยากบอกอะไรกับคนที่ยังฝังใจเหตุการณ์ระหว่างฝรั่งเศสกับสยามในประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคม ซึ่งผ่านมานานมาแล้ว

ตอนไปเรียนที่ฝรั่งเศสใหม่ๆ ยังไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย กระทั่งหันมาสนใจประวัติศาสตร์ เริ่มเห็นว่าเขาเข้ามาอย่างไร แต่มันคือประวัติศาสตร์ มันคืออดีต สิ่งที่เราควรทำคือ ต้องรู้จักอดีต แต่ไม่ใช่ยึดติดกับอดีต ต้องรู้ว่าอดีตจะสอนอะไรเราได้บ้าง เพราะฉะนั้นคนยุคปัจจุบัน ซึ่งอยู่กับปัจจุบันจะไปอิงความคิดความเชื่อของอดีตไม่ได้อีกแล้ว มันคนละเรื่องกันแล้ว

◊ จำเป็นไหมที่นักแปลต้องชอบอ่านหนังสือ

ต้องอย่างยิ่ง! จริงๆ แล้วถ้าถามว่านักแปลต้องรู้อะไรดีที่สุด ต้องรู้ภาษาไทยดีที่สุด เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ภาษาไทยดีที่สุด มันมาจากการอ่าน เก็บไปเรื่อยๆ ดูว่าสำนวนไทย เป็นอย่างไร ตั้งแต่รุ่นไหนจนมาถึงรุ่นเรา เพราะความรู้ภาษาต่างชาติที่เราจะแปล สามารถสั่งสมทางเทคนิคได้ แต่เวลาจะถ่ายทอดภาษาของเขามาเป็นภาษาของเรา เราต้องมีความรู้ภาษาของตัวเองอย่างแน่นหนา มั่นคง ซึ่งมันมาจากการอ่าน

◊ การแปลจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคนละตระกูลกับภาษาไทย มีอุปสรรคอะไรบ้าง

ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางยุโรป โครงสร้างภาษาแตกต่างจากภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาที่ง่าย เป็นภาษาคำโดด ประโยคของเราก็สั้นๆ ไม่ต้องมีเพศหญิง เพศชาย นี่เฉพาะภาษานะ ยังไม่พูดถึงสำนวนและวัฒนธรรม ซึ่งแตกต่างจากเราอยู่แล้ว และโดยอุดมคติของคนทำงานแปล เราควรจะทำให้เป็นภาษาของเราให้มากที่สุด ก็จะมีปัญหาเล็กน้อย เพราะภาษาฝรั่งเศสเวลาเธอพูดลีลาเธอร้ายกาจขึ้นมา ประโยคจะเริ่มยาว มี ที่ ซึ่ง อัน เยอะ เวลาถ่ายเป็นภาษาไทย จะพยายามทำให้มีกลิ่นนมเนยให้น้อยที่สุด

ถ้าพูดเรื่องสำนวน ก็ต้องเป็นแบบเดียวกัน ต้องนึกถึงว่าถ้าเขาใช้สำนวนนี้ในภาษาของเขา พอมาเป็นวัฒนธรรมไทย จะเทียบเคียงได้กับสำนวนอะไร เราแปลตรงๆไม่ได้ เช่น ตอนแปลเรื่อง รุกสยามฯ ฉากที่ตัวละครตัวหนึ่งโกรธมาก ต้นฉบับใช้สำนวนว่า ‘เหมือนถูกน้ำเย็นสาด’ เวลาแปลก็ต้องนึกถึงพี่ไทย เลยเปลี่ยนเป็น ‘เหมือนถูกน้ำร้อนสาด’ คือ ไม่เคารพต้นฉบับแล้ว แต่เก็บเอาจุดประสงค์และเจตนาของคนเขียนเอาไว้

ในวงการแปลมีสำนวนว่า Traduttore, traditore เป็นภาษาอิตาเลียน หมายความว่า เวลาแปลเป็นการทรยศต้นฉบับเล็กๆ เพราะมันไม่สามารถแปลได้ตรงตามตัวอักษร

ส่วนเล่มของมูโอต์ ปัญหามีแค่ว่าทำอย่างไรให้ออกมาเป็นภาษาไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่มูโอต์เข้ามา เล่มที่มีปัญหาคือ เรื่องวันสุดท้ายของนักโทษประหารของอูโก เพราะนักเขียนแต่ละศตวรรษลีลาไม่เหมือนกัน ก็ต้องแกะต้องแงะกันพอสมควรเวลาแปลเรื่องนี้

◊ มีคำ วลี หรือประโยคที่แปลแล้วติดบ้างไหม แก้ปัญหาอย่างไร

มีสิคะ มีอยู่แล้ว มีเป็นประจำ บางทีก็ได้ บก.ช่วย คือ คิดไม่ออกแล้วจริงๆ ถ้าเราติดคำไหน ต้องไม่จ้ำจี้จ้ำไชอยู่กับมัน ต้องทิ้งไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วค่อนย้อนกลับมาดูใหม่ บางทีมันก็มาเอง อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เวลาเราแปลภาษาเขา มันเป็นไปไมได้เลยที่เราจะรู้ครอบจักรวาล ต้องถามเจ้าของภาษา จะคิดว่าฉันรู้แล้ว ไม่ได้ ยิ่งวรรณกรรม สำนวนจะดิ้นได้ ซึ่งเราก็ไม่รู้จุดประสงค์คนเขียน

◊ เคยไหมที่อ่านแล้วรู้สึกว่าจะแปลไม่จบเช่นเบื่อเสียก่อน

เคยค่ะ (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่ที่หยิบมาก็เป็นเล่มที่ชอบ ที่รู้ว่าเราต้องลุยมันให้จบ แต่เป็นคนไม่ขยัน คือจะหยิบหนังสือเล่มที่ชอบมาแล้วค่อยๆ ทำไป ยกเว้นเรื่องวันสุดท้ายของนักโทษประหารที่โดนกรอบเวลา หนังสือเล่มที่เราจะแปล ต้องอ่านให้จบก่อน ถึงจะรู้ว่าฉันจะแปลมันได้จนจบไหม

◊ แล้วมีไหมเล่มที่แปลไปแล้ว รู้สึกอยากแปลใหม่ หรือแก้ไขบางส่วนเวลาย้อนกลับมาอ่านอีก

คิดว่าเป็นเรื่องของคนแปลทุกคน ที่ไม่ว่าจะอ่านกี่ครั้งกี่หนก็แก้งานตัวเองได้ทุกที อย่างรุกสยามฯ มาอ่านใหม่อีกที รู้สึกว่าทำไมแปลอย่างนี้นะ ทำไมไม่สละสลวย (หัวเราะ)

ในงานปเิดตัวหนังสือ ‘ชั่ว…พริบตา’ ของ “ชั่ว…พริบตา” ของ มอร์กาน สปอร์แตซ เมื่อ พ.ศ.2557

◊ นักแปลกับการเป็นอาจารย์ ชอบบทบาทไหนมากกว่า 

เป็นคนชอบทำงานอยู่กับตัวเอง เวลานั่งแปล เราอินอยู่กับอะไรที่อยู่ตรงหน้า แต่เวลาสอนหนังสือต้องสัมพันธ์กับผู้คน งานแปลเป็นอะไรที่ทำแล้วสบายใจ และอยู่ในโลกของเราเอง แต่มีนักแปลที่เป็นประธานชมรมแปลซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการแปลในฝรั่งเศส เคยเขียนไว้ว่าคนที่แปลหนังสือคือคนที่เขียนหนังสือไม่ได้ (หัวเราะ) โดนใจมาก ใช่สินะ เราเคยคิดจะเขียนหนังสือแล้วเขียนไม่ได้ แต่เวลาแปลหนังสือเหมือนได้เขียนอีกเล่มหนึ่งโดยไม่คิด

◊ ที่คิดจะเขียน เป็นงานแนวไหน

อยากเขียนบันทึกเกี่ยวกับชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ ก็น่าจะเป็นจดหมายเหตุ แต่ใครจะอ่านล่ะ ยกเว้นเราเอง ก็เลยเลิกเขียน

◊ ผลงานแปลที่ภูมิใจมากที่สุด 

ไม่มีแล้ว (หัวเราะ) ตอบอย่างนี้ได้ไหม เมื่อก่อนงานทุกชิ้นที่ทำเสร็จแล้วมันคือจบ ก่อนหน้านี้เคยดูตัวเองว่า แปลรุกสยามฯ ได้อย่างไรจนจบ

เล่มที่พอใจว่าเราทำงานแล้วส่งสารให้ผู้คนได้คือ บันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์ และวันสุดท้ายของนักโทษประหาร เพราะถ้าสามารถแพร่ไปสู่ผู้คนได้ สามารถทำให้ผู้อ่านคนไทยอ่านแล้วอินกับความรู้สึกของตัวละครตัวนี้ได้ ก็น่าจะเป็นอะไรที่พอใจ อย่าเรียกว่าภูมิใจเลย เมื่อทำงานแปลแล้ว มันคือการเป็นตัวกลางที่จะสื่อสารจากวัฒนธรรมหนึ่งไปอีกวัฒนธรรมหนึ่ง นี่พูดอย่างอุดมคตินะ

◊ หนังสือที่อยากแปลให้ได้ในชีวิตนี้

เป็นพันธกรณีที่ติดค้างกัน คือโตมากับอัลแบร์ กามู นักเขียนฝรั่งเศส ที่เขียนเรื่องคนนอก คุณเวียง วชิระ บัวสนธ์ เคยบอกมาหลายครั้งหลายหน บังคับขู่เข็ญก็แล้ว ให้ช่วยแปลงานของการ์มูบางเล่มที่ยังไม่มีการแปล เลยตั้งใจว่าอย่างไรก็ตาม ถึงจะต้องยืนแปลก็อาจจะต้องแปลต่อ (หัวเราะ)

◊ ทำงานค่อนข้างเยอะ มีวิธีพักผ่อนจากอย่างไร

ตอนนี้อยู่บ้านก็น่าจะดี เมื่อก่อนปีนึงต้องไปเข้าวัดสัก 2-3 ครั้ง เราไปรู้วัฒนธรรมฝรั่งเศส ไปรู้วรรณคดีของเขา แต่เอาเข้าจริงๆ เรารู้จักตัวเองมากน้อยแค่ไหน การปฏิบัติธรรมคือการย้อนกลับมาดูตัวเองได้อย่างดียิ่ง ถ้าคุณไปทำตั้งแต่ยังสาวๆ จะรู้ว่าชีวิตมันอัศจรรย์ เพราะการได้ค้นพบตัวอง เวลาทำงานแปลมันก็เป็นอะไรที่เราเป็นตัวกลาง แต่การปฏิบัติธรรม คือการกลับมาสู่ตัวเอง

อันที่จริงการแปลหนังสือก็คือการกลับมาสู่ตัวเอง การกลับมาสู่ความสามารถของตัวเองในการที่จะถ่ายทอดออกมา แต่ไม่ใช่จิตวิญญาณ นี่ตอบแบบโบราณไหม (ยิ้ม)

ในวันพักผ่อน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image