2กูรู ‘แดนปลาดิบ’ ถอดรหัส “SLC” ช่วยการศึกษาไทย

การสร้างโรงเรียนให้กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือ School as Learning Community (SLC) เป็นเรื่องที่บุคลากรในแวดวงการศึกษานานาชาติกล่าวถึงและมุ่งแสวงหาวิธีมาตลอด ด้วยมุ่งหวังที่จะปฏิรูปโรงเรียน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต

บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู หรือ EDUCA จึงได้ร่วมกับกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ นำโดย รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ และกลุ่มความร่วมมือด้านการศึกษาแห่งประเทศไทย (Thailand Education Partnership) ซึ่งเป็นคณาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีการประชุมวิชาการแนวคิด “โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้” โดยได้เชิญ 2 กูรูด้าน SLC จากญี่ปุ่น 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์มาซาอากิ ซาโต และ ดร.เอสุเกะ ไซโต มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานกว่า 150 คน

นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปการศึกษาที่หลากหลายทฤษฎีในปัจจุบัน บริษัทได้นำเสนอแนวคิดบนฐานความเชื่อของการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เด็กทุกคนไม่ว่าจะมีทักษะพื้นฐานที่แข็งแรงหรือไม่ ก็ควรได้รับการพัฒนาศักยภาพที่ตนมีอย่างเต็มที่ แนวคิด SLC จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทั้งวิสัยทัศน์ ปรัชญา และระบบกิจกรรม โดยเริ่มปฏิรูปโรงเรียนจากภายใน ให้เด็ก ครู และผู้ปกครอง ได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างมืออาชีพ จึงน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม ช่วยให้เกิดการปฏิรูปโรงเรียนและห้องเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมของเด็กๆ และทำให้เด็กๆ เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้

เหตุที่บริษัทเลือกแนวคิด SLC มาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาไทย เพราะแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่มองระดับมหภาค ใช้วิธีสร้างวิสัยทัศน์ร่วมให้ทุกคนเห็นภาพใหญ่ โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็กๆ อย่างห้องเรียนและโรงเรียน แล้วสร้างให้โรงเรียนเป็นสถานที่สาธารณะที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่เข้มแข็งและบ่มเพาะประชาธิปไตย มีวิธีการแยบยลในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เน้นกระจายอำนาจ ไม่มีหัวหน้า ไม่มีศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับเด็ก ครู ครูใหญ่ และผู้ปกครองทุกคน

Advertisement

อาจารย์มาซาอากิ ซาโต หนึ่งในวิทยากรที่และเป็นผู้มีบทบาทในการปฏิรูปโรงเรียนทั้งในญี่ปุ่นและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้อยู่ภายใต้แนวคิด SLC บอกเล่าว่า เดิมทีการศึกษาของญี่ปุ่นเป็นแบบการสื่อสารทางเดียว กล่าวคือ ครู ก็จะมีหน้าที่สอนและจดบนกระดาน ขณะที่นักเรียนก็จะฟังและจดตามเท่านั้น ซึ่งปฏิกริยาที่ตอบสนองกลับมาคือนักเรียนมีอาการเบื่อ เนื่องจากไม่ได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน นำมาซึ่งความไม่เข้าใจในวิชานั้นๆ ดังนั้นครูต้องมีการสังเกตและแสวงหาวิธีแก้ปัญหา โดยเพิ่มการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนให้มากขึ้น

ทั้งนี้ การปฏิรูปโรงเรียนไม่ใช่แค่คิดจะทำอะไรก็ทำ แต่จำเป็นต้องมีหลักการ แนวคิด และองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ โรงเรียน ครูใหญ่ และครูผู้สอน ต้องแชร์แนวคิดและปรัชญาการศึกษาร่วมกัน เพราะผู้ปกครองและคนในชุมชนล้วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนขึ้นมาด้วย ในห้องเรียนจะต้องไม่มีนักเรียนคนไหนโดดเดี่ยวและจะต้องไม่มีใครถูกทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

“ระบบการศึกษา SLC ในญี่ปุ่น ไม่ได้มาจากคณะกรรมการหรือหน่วยงานภาครัฐ แต่เกิดจากการผลักดันเข้าสู่ระบบการศึกษาของครู คาดว่าในปี 2020 ทุกโรงเรียนในญี่ปุ่นจะนำระบบ SLC ไปใช้” อาจารย์มาซาอากิ กล่าว

Advertisement

ด้าน ดร.เอสุเกะ ไซโต อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ประเทศออสเตรเลีย ผู้มีประสบการณ์ด้านงานวิจัยและปฏิบัติการด้านการศึกษาผ่านบทเรียน ตลอดจนสร้างโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ มากกว่า 15 ปี กล่าวว่า จากที่ได้เยี่ยมชมการเรียนการสอนในโรงเรียนไทย และเก็บภาพบรรยากาศระหว่างการสังเกตชั้นเรียนวิชาเย็บปักถักร้อยมีเหตุการณ์ซึ่งสร้างความประทับใจเกิดขึ้น โดยได้เล่าให้เหล่าครูผู้เข้าร่วม SLC Symposium ได้เรียนรู้ร่วมกัน

ขณะที่เยี่ยมชมการเรียนการสอนอยู่นั้น พบว่ามีนักเรียนคู่หนึ่งซึ่งนั่งอยู่ข้างกัน นักเรียนผู้หญิงไม่สามารถเย็บผ้าตามโจทย์ที่อาจารย์สั่งได้ นักเรียนชายซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ มีความสามารถในการทำสิ่งนี้มากกว่า นักเรียนผู้หญิงได้เอ่ยปากขอให้นักเรียนชายช่วยเหลือเธอ แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของผู้ออกปากขอความช่วยเหลือ และยิ่งสวยงามมากขึ้น เมื่อนักเรียนชายแสดงออกต่อผู้ขอความช่วยเหลือในทำนองที่ว่า ไม่ต้องเป็นกังวล ฉันจะคอยช่วยเหลือเธออยู่ตรงนี้

“การที่เด็กไม่เข้าใจบทเรียนและกล้าที่จะออกปากขอความช่วยเหลือเพื่อน เป็นเหมือนก้าวเล็กๆ ของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า นักเรียนตระหนักถึงสิทธิในการเรียนรู้ของตนซึ่งเป็นคุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ทั้งยังมีความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อนในการเป็นคู่หูร่วมเรียนรู้กัน ซึ่งนั่นคือการศึกษาแบบ SLC นักเรียนที่เก่งกว่าต้องช่วยเหลือนักเรียนที่อ่อนกว่า เพราะหนึ่งในหลัก SLC คือ เด็กทุกคนต้องได้รับทั้งคุณภาพและโอกาสทางการศึกษาที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน ในห้องเรียนครูจะต้องใส่ใจการเรียนรู้ของเด็กทุกคน โดยไม่ยอมทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” ดร.เอสุเกะ กล่าว

นอกจากการมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ท่านยังได้รวบรวมแนวคิด School as Learning Community ทั้งหมดถ่ายทอดผ่านหนังสือ เรียนรู้จากข้อเท็จจริงของเด็กและห้องเรียน : การปฏิรูปโรงเรียนด้วย ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้’ และการไตร่ตรอง โดย อาจารย์มาซาอากิ ซาโตกับดร.เอสุเกะ ไซโต และ หนังสือ พัฒนาบทเรียนร่วมกันเพื่อชุมชนแห่งการเรียนรู้ : คู่มือการปฏิรูปโรงเรียนที่ยั่งยืน โดย ดร.เอสุเกะ ไซโต และคณะ

ด้วยความมุ่งหวังจะช่วยให้ครูเข้าใจปรัชญาของการปฏิรูปโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ สร้างการปฏิรูปโรงเรียนให้เกิดขึ้นจริง

ศีลชัย เกียรติภาพันธ์
เอสุเกะ ไซโต
มาซาอากิ ซาโต
หนังสือของ อ.มาซาอากิ ซาโต
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image