5ตลาดรอบบ้าน ‘ป้าทุบรถ’ ยังขายคึกคัก แม่ค้าตะโกนไล่สื่อ บอก ‘เจ๊ห้ามทำข่าว’

หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนจัดระเบียบตลาดรอบบ้านที่ก่อเหตุทุบรถกระบะ เนื่องจากไม่พอใจที่มีการทำการค้าและจอดรถกีดขวางทางเข้าออกบ้าน ภายในซอยศรีนครินทร์ 55 เขตประเวศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะมี 3 ใน 5 ตลาด ต้องปิดกิจการถาวรเพราะทำผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการอนุญาตประกอบกิจการตลาดถูกต้องหรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดที่มีปัญหาทั้ง 5 แห่ง พบว่าประชาชนยังคงเดินทางไปจับจ่ายซื้อของภายในตลาดกันอย่างคึกคัก และบางส่วนมีการทยอยเก็บแผงค้าและสินค้ากลับ บ้างจับกลุ่มพูดคุยถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวในลักษณะวิตกกังวลว่าจะขาดรายได้ และไม่มั่นใจในการจัดหาพื้นที่ประกอบการค้าที่ กทม.จัดหาให้ใหม่

Advertisement

ทั้งนี้ น.ส.จอย นามสมมติ อายุ 44 ปี แม้ค้าขายเสื้อผ้า ตลาดร่มเหลือง เปิดเผยว่า หลังมีข่าวตลาดจะปิดกิจการ ซึ่งตลาดร่มเหลืองเป็น 1 ใน 3 ตลาด ที่ต้องปิดเพราะไม่มีใบอนุญาตนั้น ทำให้พ่อค้าแม่ค้าตกใจมาก เพราะไม่มีใครทันได้ตั้งตัว

“กทม.ได้ให้กลุ่มผู้ค้าเปิดการค้าเพื่อระบายสินค้าภายใน 7 วัน นับเป็นเวลาที่น้อยมาก ควรให้เวลาผู้ค้าได้มีเวลาเตรียมตัวมากกว่านี้ อีกอย่างผู้ค้าบางรายก็ยังหาพื้นที่ขายของใหม่ไม่ได้ เข้าใจดีว่าเมื่อตลาดเปิดผิดกฎหมาย กลุ่มผู้ค้าก็ต้องยอมรับ แต่ กทม.จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ค้าอย่างไร เพราะผู้ค้าก็ไม่ได้รู้ล่วงหน้ามาก่อนว่าตลาดนี้ทำผิดกฎหมาย จึงอยากให้กทม.หาพื้นที่รองรับกลุ่มผู้ค้าให้สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพเดิม คือ ตลาดร่มเหลืองขายของทั่วไปและขายในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 6.00-11.00 น. ไม่ได้ขายของในช่วงกลางคืน และอยากให้จัดหาพื้นที่รองรับที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณเดิม เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ในละแวกนี้ และมีกลุ่มลูกค้าที่ออกกำลังกายในสวนหลวง ร.9” น.ส.จอย กล่าว

ด้านนายนุ นามสมมติ อายุ 48 ปี พ่อค้าขายขนมหวาน กล่าวว่า ทราบมาบ้างว่า กทม.จะจัดให้ผู้ค้าที่ได้รับผละกระทบไปขายที่ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ แต่ขอถามว่าผู้ค้าตลาดร่มเหลืองส่วนใหญ่ขายเสื้อผ้าและของกินเล่น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่วัยรุ่น เมื่อย้ายไปแล้วกลุ่มผู้ค้าจะขายของได้หรือไม่

“อีกอย่างกลุ่มผู้ค้าขายของตอนเช้า ไม่ใช่ตอนกลางคืน ส่วนใหญ่มีอายุมากแล้วจะให้ขายของกลับบ้านตอนตีหนึ่ง ตีสอง มันใช่หรือ รวมถึงพื้นที่จัดหาให้ใหม่นั้น ควรเป็นพื้นที่ขายของได้ด้วย ไม่ใช้ให้ขายตามลานจอดรถ หรือหลังห้องน้ำ ที่ผ่านมา ตลาดของ กทม.ที่เปิดรองรับผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบทางเท้า เช่น ประตูน้ำ ยังขายของไม่ได้เลย อยากให้ กทม.สร้างความมั่นใจให้ผู้ค้าด้วยว่า หากย้ายไปแล้วผู้ค้าจะมีรายได้เช่นเดิม” นายนุ กล่าว

ขณะที่นางเกษ นามสมมติ แม่ค้าขายเครื่องประดับ กล่าวทั้งน้ำตาว่า เดือดร้อนมาก เพราะไม่รู้มาก่อนว่าตลาดทำผิดกฎหมาย

“ป้าเดือดร้อนจริงๆ ป้าไม่รู้หรอกว่าตอนที่มาขายของที่ตลาดแห่งนี้ มันถูกหรือผิดกฎหมาย ตอนมาขอเช่าที่ก็ไม่ได้ถามเจ้าของที่ว่าตลาดของคุณผิดกฎหมายหรือเปล่า มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ การที่ กทม.จะหาพื้นที่ใหม่ให้ สัญญาได้หรือไม่ว่าพ่อค้าแม่ค้าจะขายของได้เหมือนเดิม วันนี้เป็นสุดท้ายที่ป้ามาขายของแล้ว ก็อยากให้เจ้าของตลาดทุกแห่งทำให้ทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะท้ายสุดแล้วคนที่ได้รับผลกระทบคือ พ่อค้าและแม่ค้าที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย” นางเกษ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางด้านตลาดสวนหลวง ซึ่งเป็นตลาดที่จะต้องปิดกิจการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ กลุ่มผู้ค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มจำหน่ายอาหารและเสื้อผ้า โดยกลุ่มที่จำหน่ายเสื้อผ้าได้เริ่มทยอยเก็บสินค้าออกจากพื้นที่

ผู้ค้ารายหนึ่ง กล่าวว่า รายได้หลักของครอบครัวมาจากการขายสินค้าในตลาดสวนหลวง ต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากรายได้ลดลงแน่นอน ทั้งนี้ อยากให้ กทม.หาพื้นที่ขายใหม่ โดยเฉพาะในวันเสาร์และอาทิตย์ด้วยค่าเช่าที่เป็นธรรม ไม่ขูดรีด

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่เดินสำรวจตลาดสวนหลวง ปรากฎว่าได้มีแม่ค้าขายอาหารสดคนหนึ่งตะโกนไล่ผู้สื่อข่าวให้ออกจากตลาด ระบุว่า”ออกไปได้แล้ว เจ๊เค้าสั่งมาว่าไม่ให้ผู้สื่อข่าวมาทำข่าวแล้ว ไม่ให้สัมภาษณ์หมดเวลาให้ข่าวแล้ว” กระทั่งกลุ่มผู้ค้าที่กำลังให้สัมภาษณ์ต้องแยกย้ายกันออกไป ส่วนบริเวณหน้าป้าที่เกิดเหตุ ตลอดทั้งวันยังพบประชาชนเดินทางไปถ่ายเซลฟีอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image