กกพ.แย้มราคาก๊าซพุ่งกระทบค่าเอฟทีงวดพ.ค.-ส.ค.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ว่า ขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับที่ปรึกษาในการว่าจ้างเพื่อศึกษาโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่สำหรับปี 2561-2563 โดยเบื้องต้นการอ้างอิงค่าไฟฟ้าจะใช้ข้อมูลจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2558 (พีดีพี 2015)ไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อพีดีพีฉบับใหม่แล้วเสร็จจึงจะมีการปรับแก้ข้อมูลเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หรือเดือน กรกฎาคม-กันยายน

สำหรับประเด็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่เป็นไปตามแผนนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในระยะ 3-5 ปีนี้ เนื่องจากผลการศึกษาไม่ได้บรรจุเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าไปในแผนการปรับโครงสร้างอยู่แล้ว โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นแผนระยะยาว แต่การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าเป็นแผนระยะสั้น ต้องมีการปรับปรุงทุกๆ 3-5 อยู่แล้ว

” เบื้องต้นใช้ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เกี่ยวกับเรื่องการผลิตไฟฟ้าส่งไปให้ที่ปรึกษาของเรา ขณะเดียวกันก็ต้องรอความชัดเจนของพีดีพีใหม่ด้วย ถ้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบพีดีพีฉบับใหม่ เราก็ใช้ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่ออกมา นำมาใส่ในโครงสร้างค่าไฟใหม่ได้เลยทันที และจะไม่มีการคิดค่าไฟฟ้าจากปัจจัยเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามา ส่วนโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะเป็นอย่างไรนั้นต้องติดตาม ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้จะได้ใช้แน่นอน” นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติงวดใหม่(เอฟที)ตามโครงสร้างค่าไฟเดิม ประจำเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม2561 จะพิจารณาในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงในช่วงที่ผ่านมา และปัจจุบันราคาน้ำมันมีความผันผวน ขณะที่เงินบาทแข็งค่า ดังนั้นต้องดูว่าสรุปแล้วจะค่าเอฟทีจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่หากจำเป็นต้องเพิ่มขึ้น กกพ.ก็มีเงินเหลืออยู่จำนวนหนึ่งในการบริหารจัดการ

Advertisement

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ประเด็นความต้องการลงทุนพลังงานทดแทนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ ยังต้องติดตามว่าจะมีการกำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 20ปี(พีดีพี)ฉบับใหม่หรือไม่ เพราะยังมีความเห็นแย้งว่าการลงทุนดังกล่าวควรเปิดกว้างให้กับนักลงทุนทุกกลุ่ม ไม่ใช่กำหนดเฉพาะกฟผ. เพื่อให้ได้ราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกที่สุด ส่วนโควต้าการผลิตพลังงานทดแทนเดิมของกฟผ.ประมาณ 500 เมกะวัตต์ จะคงเดิมต่อไปเพราะกำหนดในพีดีพีฉบับปัจจุบันอยู่แล้ว

” หากมอบสิทธิให้กฟผ.สามารถผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนมากถึง2,000เมกะวัตต์ อาจถูกเอกชนตั้งคำถามว่า สรุปแล้วเป็นแผนพีดีพี หรือแผนกฟผ. ซึ่งจะทำให้การแข่งขันมีความเหลื่อมล้ำ ผูกขาด ไม่เป็นผลดีกับการบริหารพลังงานในปัจจุบัน” แหล่งข่าว กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image