หากคนในชาติขาดธรรมาภิบาล อะไรก็เกิดขึ้นได้ โดย สมหมาย ภาษี

คนไทยที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่คงยังจำได้ว่าในปี 2540 หรือเมื่อ 21 ปีมาแล้ว ได้เกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้ โดยเฉพาะนักธุรกิจ นักการเงินการธนาคาร นักลงทุนทั้งใหญ่เล็ก คงจำเหตุการณ์สมัยนั้นได้เป็นอย่างดี นักการเมืองในพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหลายที่ความจำยังไม่เสื่อม จะต้องจำความฉิบหายที่เกิดไปทั่วแผ่นดินอันเนื่องจาก “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” ได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องบรรยายให้ฟังอีก

การล่มสลายของเศรษฐกิจไทยที่ทำให้เงินทุนสำรองของประเทศไม่พอจะใช้หนี้ต่างประเทศที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ก่อขึ้นอย่างมากมาย จนทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF และสถาบันการเงินอื่นอีกหลายแห่งต้องยื่นมือเข้ามาช่วยและกำกับการบริหารด้านเศรษฐกิจและการเงินของไทยเราถึง 3-4 ปีถัดมา ซึ่งทันทีที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลสมัยนั้นและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทซึ่งมีค่าก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 21-23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ต้องลดต่ำลงเป็น 30 บาท เป็น 40 บาท และเกือบถึง 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาไม่ถึงปี

ผลที่เกิดขึ้นแทบไม่อยากพูดถึง นักธุรกิจที่มีทรัพย์สินในมือค่าลดลงทันที คนที่มีเงินฝากกับธนาคารก็ถูกลดค่าลงอย่างมาก หุ้นที่มีค่าในตลาดหลักทรัพย์ราคาต่ำลงถึงเกือบเท่าตัว บริษัทห้างร้านล้มละลายระเนระนาด ธุรกิจที่ล้มลงไปอย่างไม่เป็นท่าภายใน 9 เดือน นับจากเดือนพฤษภาคม 2540 ก็คือบรรดาสถาบันการเงินทั้งหลายในประเทศ นับตั้งแต่บริษัทเงินทุนที่มีอยู่มากมาย บริษัทหลักทรัพย์และธนาคารขนาดเล็กและกลางแทบทั้งหมด โดยต้องมีการหาธนาคารต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการกันไป ส่วนธนาคารยักษ์ใหญ่นั้นก็ต้องยอมให้ทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่กันหมด ยกเว้นธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ และธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือหุ้นใหญ่ แต่ก็ไม่เว้นที่ต้องให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเพิ่มหุ้นบางส่วน

เมื่อเห็นหายนะของวิกฤตเศรษฐกิจ บรรดาผู้รับผิดชอบทั้งนักการเมือง ข้าราชการผู้ใหญ่ในภาครัฐ และนักธุรกิจใหญ่ทั้งหลาย ต่างก็ชี้นิ้วไปยังอีกฝ่ายที่ไม่ใช่เป็นตัวเอง แต่จริงๆ แล้วถ้าดูย้อนหลังไป 3 ปี จะเห็นได้ชัดว่าเขาเหล่านั้นมีส่วนทำให้เศรษฐกิจพังลงมาทั้งนั้น เพียงแต่ว่าใครพูดถึงความดีของตนได้เสียงดังกว่า ใครมือยาวกว่า ใครมีความไวในการฉวยโอกาสได้มากกว่า และใครมีเส้นสายโยงใยได้มากกว่า โดยทั้งหมดนี้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นรากหญ้าของประเทศไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยเลย แต่ต้องรับผลกระทบครั้งนี้ที่มีต่อเนื่องอีกหลายปีต่อมาหนักกว่านักธุรกิจ

Advertisement

ทั้งนี้ เพราะงบประมาณของประเทศไม่มีเพิ่มแต่กลับลดลง งบด้านการสาธารณสุข ด้านการศึกษา และสวัสดิการต่างๆ รัฐบาลไม่มีปัญญาจัดสรรเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ความยากไร้ให้ดีขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ที่ไหนมีวิกฤตโอกาสย่อมเปิดมากขึ้น ในภาคการเมืองคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจดีขึ้นและอยากได้ประชาธิปไตยมากขึ้น อยากมีส่วนในการหาคนดีมากู้ชาติให้ได้ ซึ่งประจวบเหมาะกับการก่อกำเนิดของพรรคไทยรักไทยที่ได้หัวหน้าพรรคที่ชาญฉลาด กล้าได้กล้าเสีย รู้ดีว่าประชาชนระดับรากหญ้าต้องการอะไร กล่าวได้ว่ารู้ดีกว่าและฉลาดกว่าพรรคอนุรักษนิยมทั้งหลาย ซึ่งต่อมาได้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างสบาย และได้อำนาจปกครองประเทศจนกระทั่งเหลิงและถูกยึดอำนาจในเวลาหลายปีต่อมา

แต่โอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยก็คือ ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่มุ่งมั่นจะช่วยแก้ไขปัญหารากเหง้าของชาติให้ทันสมัยใกล้เคียงกับชาติพัฒนาแล้วทั้งหลาย จึงได้มีการนำเสนอแนวทางพัฒนาประเทศที่เห็นว่าจะมีประโยชน์มากในขณะนั้นให้รัฐบาลที่เพิ่งกระตือรือร้นในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา
ที่สำคัญ ได้แก่ แนวทางในการป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจ และแนวทางในการกำกับดูแลธุรกิจภาคเอกชนให้มั่นคงยั่งยืนด้วยหลัก “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) โดยได้มีการวางกฎเกณฑ์ของจรรยาบรรณ (Code of Conduct) สำหรับธุรกิจทั่วไปโดยเน้นธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวนำ นอกจากนี้ในปี 2542 หรือ 2 ปีหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Institute of Directors) หรือที่เรียกว่า IOD ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้ด้านการบริหารแบบธรรมาภิบาลแก่บรรดากรรมการของบริษัททั้งหลาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาจนถึงทุกวันนี้

Advertisement

อนึ่ง สำหรับประชาชนในระดับสามัญและรากหญ้าก็ได้รับทราบและได้ปฏิบัติตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงเพียรพยายามชี้แนะประชาชนไปทั่วทุกภาคส่วน เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจจึงได้กระเตื้องขึ้นอย่างดี

ส่วนในภาครัฐ นอกจากประชาธิปไตยจะเบ่งบานแล้ว ยังได้มีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนธรรมาภิบาลในภาครัฐหลายอย่างด้วยกัน เช่น การเพิ่มเนื้อหาในรัฐธรรมนูญให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพิ่มขึ้น องค์กรอิสระเดิมก็ได้มีการปรับปรุงตัวบทกฎหมายให้ทัดเทียมกับนานาประเทศมากขึ้น โดยการสนับสนุนขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ทำให้ไทยได้ลอกแนวทางและกฎเกณฑ์จากต่างประเทศในเรื่องการตั้งคณะกรรมการสรรหามาเพื่อสรรหาบุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นองค์กรอิสระต่างๆ เป็นต้น ทุกอย่างก็ดูดีในช่วงเวลา 5 ปีแรกหลังวิกฤตปี 2540

เพื่อเข้าสู่ความรู้ความเข้าใจของหลักธรรมาภิบาลให้ชัดขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นักธุรกิจ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ นักการเมืองและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายได้เข้าใจอยู่แล้ว จึงขอกล่าวแต่เพียงย่อๆ ว่า หลักธรรมาภิบาลนี้แท้ที่จริงก็มาจากหลักคุณธรรมที่ปรากฏอยู่ในคำสอนทางพระพุทธศาสนานั่นเอง ที่สำคัญคือ ประการแรก คือ ความรับผิดชอบ (Accountability) ซึ่งหมายถึงความสำนึกของคนทุกคนที่เป็นคนดีที่จะต้องรู้ว่าตัวเองเป็นใคร รับใช้ชาติหรือประชาชน หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสิ่งที่เขามีหน้าที่หรืออำนาจที่จะทำ การรู้ตนเองอย่างถูกต้องและเสมอต้นเสมอปลายนี้เรียกว่าความรับผิดชอบ ประการที่สอง คือ ความโปร่งใส (Transparency) ซึ่งคำคำนี้มีความหมายชัดเจนที่ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติงานทั้งในภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ และในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการจะทำอะไร จำต้องดำรงความโปร่งใสให้ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ประการที่สาม คือ ความยุติธรรม (Fairness) ก็เป็นคำที่ตรงตัว คนที่มีคุณธรรมจะต้องมีความยุติธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือพวกพ้องญาติโกโหติกา และประการที่สี่ คือ จริยธรรม (Ethics) ซึ่งหมายถึงการยึดถือปฏิบัติแต่ธรรมะที่ดีในทุกเรื่องตามศีลห้านั่นแหละ

ในบ้านเมืองของเราในปัจจุบันนี้ ถ้าตั้งใจฟังเรื่องราวความเป็นไปทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐ ท่านผู้อ่านทั้งหลายที่มีจิตใจเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝายใดเป็นสรณะจะเห็นภาพเหมือนๆ กันว่า เมืองไทยยุคนี้ธรรมาภิบาลได้บูดเบี้ยวไปมากแล้ว กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้วางกันไว้เพื่อแก้วิกฤตเมื่อ 21 ปีที่แล้ว ได้ผิดเพี้ยนไปมากทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ หลายสิ่งหลายอย่างถูกละเลยและไม่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ควรจะต้องปฏิบัติ

ทั้งเจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ ที่มีหน้ามีตา และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง การฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของธรรมาภิบาลแบบสีข้างเข้าถูมีข่าวให้เห็นกันดาษดื่น

ในภาคเอกชนโดยเฉพาะการดำเนินงานของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ดูเสมือนว่าผู้บริหารบริษัทต่างๆ ที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์ธรรมาภิบาลยิ่งมีเพิ่มขึ้นทุกขณะ พฤติกรรมของฝ่ายบริหารที่คดโกงบริษัทตนเอง หรือก็คือการคดโกงผู้ถือหุ้นอื่นที่เป็นรายย่อยในบริษัทนั่นเองมีปรากฏอยู่เนืองๆ หลายรายเห็นกันชัดๆ ว่ามีผู้สอบบัญชีระดับมีชื่อในตลาดเกี่ยวข้องด้วย มีหลายรายที่เรื่องยังอยู่ในอาการลับๆ ล่อๆ รอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบฟันธงออกมา ซึ่งดูเหมือนว่าผลที่ประชาชนรอคอยจะช้าเหลือเกิน สันนิษฐานได้ว่าในประเทศไทยเรานี้คงหนีไม่พ้นพฤติกรรมที่ยังมีการวิ่งเต้นกันอยู่

สำหรับภาครัฐภายใต้รัฐบาล คสช.นี้ คนไทยที่พอครองสติได้อยู่ทุกคนก็รู้ดีว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เพราะฉะนั้นจะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินว่าเป็นธรรมาภิบาลหรือไม่ จะมีความรับผิดชอบแค่ไหน จะมีความโปร่งใสตลอดจนความยุติธรรมอย่างไร ไม่อยากจะเขียนให้เมื่อยมือ ขอจบเรื่องแต่เพียงแค่นี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image