ทำไมปากใต้ไม่ใช่ปักษ์ใต้ อยุธยาอยู่ที่ไหนในกรุงเทพฯ

หากไม่มานะสำรวจค้นคว้า ไฉนความจริงที่อยู่ต่อหน้าจะกลายเป็นความรู้ให้ศึกษาเล่าเรียนได้ อาจารย์ ประภัสสร์ ชูวิเชียร เดินตามเส้นทางคมนาคมเดิม คือแม่น้ำลำคลองทั่วทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่พบเห็นคือ บรรดางานศิลปกรรมซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ทำให้เห็นชุมชนโบราณดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “หัวเมืองปากใต้” ของอยุธยา ในเอกสารโบราณ ไม่ใช่คำ “ปักษ์ใต้” ซึ่งหมายถึง 14 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดขึ้นในภายหลัง

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมืองหลวงแห่งนี้ แต่เดิมคือชุมชนเก่าแก่ที่แวดล้อมด้วยเรือกสวนไร่นา มีวัดวาอารามเสมือนศูนย์กลางท้องถิ่น วัดวาอารามที่เกิดงานศิลปอันสัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง ซึ่งปัจจุบันถูกความศิวิไลซ์เบียดเสียดจนแทบไม่ปรากฏร่องรอย กระทั่งงานวิจัยเรื่อง “หลักฐานศิลปกรรมอยุธยาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล วิเคราะห์ในฐานะหัวเมือง ‘ปากใต้’ สมัยอยุธยา” เกิดขึ้น และถูกปรับปรุงมาเป็น อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ เล่มนี้

ที่เหมือนกับพบฟิล์มหนังโบราณเข้าโดยมิได้บังเอิญ การเดินทวนลึกกลับไปตามแม่น้ำลำคลองซึ่งหล่อเลี้ยงผืนดินและผู้คนมานับร้อยนับพันปี ฉายให้เห็นเส้นทางอดีตครั้งอยุธยาที่ขึ้นล่องอาศัยใช้มาถึงปัจจุบัน

Advertisement

วัดวาต่างๆ ที่พบทุกละแวกทางน้ำ มีส่วนมากที่แสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างชุมชนเหนือใต้สมัยอยุธยาตอนปลาย และบ้างมีที่เก่าคร่ำไปยิ่งกว่านั้นอีกมาก ทำให้จินตนาการได้ว่า เมื่อคนต้องอยู่ใกล้น้ำ เจ้าพระยาและลำสาขาต่างๆ ย่อมมีผู้คนตั้งรกรากชุมนุมต่อเนื่องกันมาแต่ปีมะโว้แล้ว ก่อนเป็นบางกอก ธนบุรี และรัตนโกสินทร์

อาจารย์ประภัสสร์ขึ้นล่องแม่เจ้าพระยา นนทบุรี บางกรวย มหาชัย อ่านร่องรอยบ้านที่กลายเป็นเมือง ให้เห็นวัดปรางค์หลวง สถาปัตยกรรมอยุธยาซึ่งเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ แยกแยะพระพุทธรูปอยุธยาที่พบในกรุง เป็นหลักฐานสำคัญของชุมชนยุคแรก และแยกใบเสมาแบบราชวงศ์ปราสาททอง แบบต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง แบบอัมพวา และแบบบางพลัดให้ดู

ก่อนจะจัดลำดับอุโบสถวิหารและเจดีย์ศิลปอยุธยาให้เห็น แล้วจึงวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปกรรมกับภูมิประเทศและชุมชน พร้อมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของแม่น้ำลำคลอง

อ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งประกอบด้วยภาพสีที่เกี่ยวข้องมากมายตลอดทั้งเล่มแล้ว จะรู้จักตื้นลึกหนาบางของกรุงเทพฯดีขึ้นอีกไม่น้อย นอกเหนือจากที่เห็นภาพเต็มของอยุธยาซึ่งเป็นเทือกเถาเหล่ากอเดียวกัน

– พุทธศาสนาที่มีคนอยากให้ตราในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งๆ ความเข้าใจศาสนาที่สามารถนำมาเป็นประโยชน์ใช้สอยในฐานะแสงทองส่องทาง ยังไม่เห็นว่าพุทธศาสนิกชน (ไทย) ส่วนมากจะกระทำได้ เพราะเมื่อไม่เห็นอิสระของศาสนาหรือของความเชื่อว่าต้องปราศจากการครอบงำในทุกทาง จะเป็นความสำคัญยิ่งยวดแล้ว วิถีพุทธศาสนาในประเทศไทยก็ยังต้องการเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาอยู่

งานวิจัยของ สุรพศ ทวีศักดิ์ ที่ตั้งกระทู้ว่า จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ จึงเป็นงานที่ชาวพุทธควรสนใจศึกษา คิดตาม และออกความเห็นถกถามหาคำตอบพร้อมกันไป ตามกำลังปัญญา เพื่อปฏิบัติให้เหมาะควรแก่ศาสนาที่เป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ มิใช่ศาสนาแห่งการขอ หรือบนบาน บริจาค ที่ทำได้เพียงตักบาตร ไหว้พระ สวดมนต์ หยอดเหรียญลงตู้ ไม่เคยภาวนาสมาธิ ฝึกฝน ขัดเกลาจิตใจตัวเองเลย

เป็นพุทธแต่ไม่รู้ตัวว่าติดพุทธแบบหนึ่ง และพุทธแบบที่ติดนั้น ก็ติดหนึบกับอำนาจรัฐจนดิ้นไม่หลุดจากลาภและสักการเข้าไปอีก พัลวันพัลเกแกะไม่ออกจนเดี๋ยวนี้

– ในเมื่อเบื่อการเมืองแบบไทยๆ กันนัก จนคนอยากเลือกตั้งถูกคนเบื่อหน่ายเลือกตั้งบ่น ต้องหาอ่าน อย่าคิดถึงช้าง คู่มือสร้างการเมืองใหม่ที่ผ่านการวางกรอบคิดและวาทกรรมสาธารณะของ จอร์จ ลาคอฟ นักภาษาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ด้านการรู้คิด ซึ่งพบแนวทางศึกษาความคิดที่เกิดขึ้นในสมองหลายรูปแบบ ทั้งระบบจิตรู้สำนึกและจิตไร้สำนึก ก่อนเสนอว่าองค์ความรู้นี้จะช่วยให้สังคมและการเมืองเปลี่ยนไปทางที่ดี เพราะความคิดในสมองมนุษย์สำคัญไม่แพ้การนำเสนอความจริง

เนื่องจากการเมืองคือสงครามวาทกรรมและการต่อสู้ผ่านเรื่องเล่า ฝ่ายที่กุมชัยชนะในการกำหนดนโยบายเป็นผู้วางกรอบคิดให้เชื่อมโยงกับคุณค่าที่ตนปรารถนา

ช่วยกันอ่านมากๆ แล้วช่วยกันสร้างกรอบคิด สร้างวาทกรรมสาธารณะกันให้กว้างขวาง เพื่อสร้างการเมืองใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ฐณฐ จินดานนท์ แปลให้เข้าใจ

– นักอ่านชีวประวัติบุคคลผู้ประสบความสำเร็จในงานอาชีพ ยุคแรกๆ มักเป็นเศรษฐีอเมริกัน ต่อมาเป็นญี่ปุ่น ที่รู้จักกันดีมักใช้ยุทธวิธีซุนวู หรือปรัชญาบูชิโด นักธุรกิจจีนเพิ่งมามีเอาคนสองคนตอนหลังๆ เช่น แจ็ค หม่า เป็นอาทิ ตอนนี้ที่น่าสนใจคือชีวิตของเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์หมายเลขหนึ่ง หวัง เจี้ยน หลิน ที่ว่ากันว่าร่ำรวยที่สุดในเอเชีย ไม่น้อยหน้าหม่า ที่นึกไม่ถึงคือเกิดหลังทศวรรษ 1950 เป็นทหารมาก่อนถึง 17 ปีก่อนทำธุรกิจ และที่สำคัญอีกประการคือยึดมั่นในลัทธิขงจื๊อ โดยเฉพาะที่ว่า ถ้าผู้คนไม่ศรัทธาใคร ผู้นั้นก็ไม่มีที่ยืนในสังคม จนในที่สุดเป็นผู้นำของเครือบริษัท วั่นต๋า อันใหญ่โต

12 ปรัชญาการบริหารของนายทหารที่กลายเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านรายนี้ เป็นความคิดซึ่งคนทำกินทั้งหลายไม่อาจละเลยได้ ลองหาอ่านดู พิมพ์ใจ สุรินทรเสรี แปล

และอย่าลืม มติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารการเมืองประจำครอบครัว ที่อ่านได้ตั้งแต่ปู่ย่าจนลูกหลานวัยรุ่น

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image