อธิบดีกรมชลฯการันตี แผนรับมือ ‘ภัยแล้ง’ ตุน ‘น้ำกิน-น้ำใช้’ พอทั้งฤดู

หมายเหตุ – นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงถึงการติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้ง และวิเคราะห์การบริหารจัดการให้เหมาะสมกับช่วงเวลา ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์


ขณะนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำมีจำนวนมากสุดในรอบ 5 ปี เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีฝนตกอยู่ในเกณฑ์น้อยอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีฝนมากขึ้นในปี 2559-2560 ประกอบกับประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรน้ำ เห็นได้จากปี 2558 ที่มีปริมาณน้ำน้อยมาก แต่การจัดการก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จึงไม่แปลกใจที่ในปีนี้มีปริมาณน้ำฝนดี เราจึงกักเก็บน้ำไว้ได้มาก

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการบูรณาการ ลำพังกรมชลประทานหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถดำเนินงานสำเร็จได้ ต้องบูรณาการหลายภาคส่วน เพื่อจัดการน้ำไปสู่พื้นที่ที่มีกิจกรรมที่ต้องการใช้น้ำได้

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ เกษตรกรที่ปกติใช้น้ำ 70-75% ของปริมาณน้ำทั้งหมด ได้ให้ความร่วมมือในการเพาะปลูกอย่างดี โดยเฉพาะการปลูกข้าว ถึงแม้แต่ละสัปดาห์จะมีการเพาะปลูกเกินแผนอยู่ แต่เพิ่มในอัตราที่ไม่มาก จากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5.71 ล้านไร่ เพิ่มมาเป็น 5.75 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นแค่ 40,000 ไร่ ไม่เหมือนปีก่อนๆ ที่เพิ่มสัปดาห์ละ 300,000-400,000 ไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์ของกรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานอื่น

Advertisement

กรมชลประทานขอให้ความมั่นใจว่าในทุกพื้นที่สามารถส่งน้ำให้ได้แน่นอน ขอให้เชื่อใจกัน เพราะได้แสดงให้เห็นในการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้วว่า ถ้าทุกฝ่ายทำตามแผนที่กำหนดไว้ สถานการณ์ต่างๆ จะไม่น่าเป็นห่วง

ทางด้านข้อมูลตัวเลขในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 (1 พฤศจิกายน 2560-30 เมษายน 2561) กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำได้อย่างราบรื่น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 55,873 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 74% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด (ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 รวม 7,993 ล้าน ลบ.ม.)

ทั้งนี้ เป็นน้ำใช้การได้ 31,953 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 17,078 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 69% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด (ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2560 รวม 3,357 ล้าน ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,382 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ทั้งนี้ ผลการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 5,228 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของแผนฯ

Advertisement

ในส่วนของผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.9 ล้านไร่ คิดเป็น 99% ของแผนฯ (แผน 9.05 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรังมีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.35 ล้านไร่ คิดเป็น 101% ของแผนฯ (แผน 8.35 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว 5.81 ล้านไร่ คิดเป็น 111% ของแผนฯ (แผน 5.23 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรังเพาะปลูกไปแล้ว 5.75 ล้านไร่ คิดเป็น 111% ของแผนฯ (แผน 5.17 ล้านไร่)

ปัจจุบันในเขตพื้นที่ชลประทานยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากกรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเลี้ยงเพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานทั้งประเทศ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกเกินไป 11% หรือประมาณ 6 แสนไร่ ซึ่งต้องติดตามและนำมาพิจารณาอย่างต่อเนื่องว่า ปริมาณน้ำที่ยังมีอยู่จะเพียงพอหรือไม่

กรมชลประทานขอยืนยันว่าพื้นที่ในเขตชลประทานจากช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นฤดูแล้ง น้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ และการเกษตร มีเพียงพอแน่นอน และเมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ก็ยังมีน้ำสำรองไว้ เผื่อในกรณีฝนทิ้งช่วง ฝนไม่มา ฝนมาช้า ก็ยังมีน้ำไว้ใช้ได้อีก 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม

สำหรับการควบคุมค่าความเค็มทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ตลอดฤดูแล้ง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาสามารถควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร โดยไม่กระทบต่อการผลิตน้ำประปา หรือภาคการเกษตร

ส่วนลุ่มน้ำบางปะกง ค่าความเค็มบริเวณเขื่อนบางปะกงอยู่ในเกณฑ์ควบคุมไม่เกิน 1 กรัมต่อลิตร วัดค่าความเค็มได้เพียง 0.30 กรัมต่อลิตร ทำให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา กลุ่มเกษตรกร และทุกภาคส่วนยังสามารถใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศว่า ในปีนี้ฝนจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย โดยฝนจะมาตรงตามฤดูกาลคือช่วงเดือนพฤษภาคม กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ฝนอาจทิ้งช่วงไปบ้าง แต่จะไปสอดรับกับกรมชลประทานที่ได้เตรียมน้ำในเขื่อนต่างๆ สำรองไว้ใช้เพียงพอจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม

ในกรณีที่เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตพื้นที่ชลประทานนั้น มีคำสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมชลประทานเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำ นำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ พร้อมให้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำจำนวน 23 จังหวัด 74 อำเภอ กรมชลประทานได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน และเตรียมความพร้อมสถานการณ์ภัยแล้งด้วยการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยใช้ระบบชลประทานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 47 จังหวัดตามผลการวิเคราะห์เชิงพื้นที่โดยกรมพัฒนาที่ดิน

กรมชลประทานเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้ 2,365 เครื่อง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานต่างๆ ทั่วประเทศ 1,702 เครื่อง และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 613 เครื่อง นอกจากนี้ ยังระดมรถยนต์บรรทุกน้ำอีก 242 คัน ให้กระจายไปตามพื้นที่เสี่ยง 47 จังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ หากประชาชนประสบปัญหาภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากโครงการชลประทานในพื้นที่ได้ตลอดเวลา

สำหรับการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน 2561 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น กรมชลประทานคาดการณ์ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,862 ล้าน ลบ.ม. สามารถสนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศได้วันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. โดยจะส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 (นาปี) ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ประมาณ 383,000 ไร่ ให้เริ่มทำนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561

ส่วนพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่มี 12 ทุ่ง ในวันที่ 1 พฤษภาคม ก็สามารถใช้น้ำได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ พื้นที่ดอน 1.8 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูก เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน โดยให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก และเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน

ส่วนที่หลายภาคส่วนกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วมนั้น จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ระบุว่า ปริมาณฝนในปีนี้จะอยู่ในค่าเฉลี่ย หรือประมาณ 1,400 มิลลิเมตรต่อปี กรมชลประทานจึงไม่มีความกังวลในด้านการเตรียมพร้อมรับมือ แต่ในกรณีที่บางพื้นมีฝนตกมากหรือฝนตกน้อย ก็ต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไป

หากพื้นที่ที่ฝนตกมากและอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็ต้องเกิดน้ำท่วมได้บ้าง แต่คงไม่ถึงกับท่วมใหญ่อย่างในปี 2554 แน่นอน แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องปัจจัยเสริม เช่น พายุ ที่ในแต่ละปีจะมีพายุเฉลี่ย 1-2 ลูก ต้องติดตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า พายุจะเข้ามาในช่วงเดือนไหน เพื่อเตรียมแผนรับมือต่อไป

ขณะนี้กรมชลประทานมุ่งเน้นจัดการปัญหาภัยแล้งในเขตชลประทานเป็นหลัก ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ทางกรมชลประทานก็ช่วยสนับสนุนช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

เรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำเราต้องดูตามแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กำหนดทิศทางของแต่ละหน่วยงานที่ลงพื้นที่ปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะ สทนช.เข้ามากำกับในส่วนของนโยบาย แยกส่วนงานกับหน่วยปฏิบัติอย่างชัดเจน ทำให้ สทนช.มองเห็นภาพรวมการดำเนินงานของทุกฝ่าย ครอบคลุมภาพรวมได้ทั้งหมด ต่างจากอดีตที่บางหน่วยงานดูแลรับผิดชอบแค่ในหน่วยงานของตน ไม่เกิดการบูรณาการ

นอกจากนี้ สทนช.ยังช่วยดูเรื่องงบประมาณเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน ซึ่งเมื่อก่อนกว่าจะรู้ว่าแผนงานซ้อนทับกับหน่วยงานอื่น ก็หลังจากอนุมัติงบประมาณไปแล้ว จนเกิดปัญหาต้องคืนงบประมาณ เสียทั้งเวลาและทรัพยากร

สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 ที่กระทรวงเกษตรฯได้รับมาประมาณ 24,000 ล้านบาทนั้น กรมชลประทานรับผิดชอบ 4 โครงการ งบประมาณ 13,000 ล้านบาท คือ 1.โครงการในพระราชดำริ 2.โครงการส่งเสริมการใช้ยางพารา 3.โครงการซ่อมแซมปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม 4.โครงการที่เสนอในการประชุม ครม.สัญจร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image