เปิดสมุดข่อยหอสมุดแห่งชาติ ไขความลับ ‘คุณหญิงจำปา’ เผยสูตร ‘จับเขม่า’ ปิดผมหงอกให้ดำขลับ

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่สร้างสีสันมิใช่น้อย สำหรับ ‘คุณหญิงจำปา’ แห่ง ‘บุพเพสันนิวาส’ ละครสุดฮอต ณ เพลานี้ รับบทโดยอดีตนางเอกเจ้าบทบาทแถมน้ำเสียงยังไพเราะ ก้องกังวาน อย่าง ‘ชไมพร จตุรภุช’ ซึ่งมาพร้อมทรงผมโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ งามหรูดูมีชาติตระกูล

ผมทรงนี้ เรียกว่า ‘ผมปีก’ มีมาอย่างน้อยแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วฮิตสืบมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในกลุ่มสตรีไทยในวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลักษณะโดยทั่วไป คือ ส่วนบนของศีรษะไม่ต่างจากทรงมหาดไทยของผู้ชายมากนัก โดยใช้น้ำมันจับเพื่อให้อยู่ทรง ส่วนด้านข้างมีการถอนหรือโกนผมออกไป เหลือเพียงไรผม

ในวรรณคดีหลายเรื่องที่ปรากฏหลักฐานในสมุดข่อย มีการกล่าวถึงค่านิยมของการไว้ทรงผมลักษณะนี้ซึ่งไว้กันทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะ ‘ผู้ดี’ เท่านั้น นอกจากนี้ ยังบอกวิธีการดูแลให้สวยงาม ดังเช่น ในเรื่อง ‘สุวรรณเศียรกลอนอ่าน’ วรรณกรรมภาคกลางยุคต้นรัตนโกสินทร์ กล่าวในตอนหนึ่งถึงการเตรียมตัวของเหล่านางกำนัลก่อนออกเดินทางไปในขบวนประพาสอุทยานของพระยาพรหมทัต ความว่า

“…..ต่างหุงข้าวต้มแกงไฟแดงครืด พอเช้ามืดต่างสำเร็จเสร็จทุกสิ่ง เข้าในห้องขัดไรจุกสนุกจริง การผู้หญิงสาวข้าเข้าใจ ไม่รักอื่นชื่นชมเหมือนผมดอก ถ้ามีหงอกสักเส้นแทนไม่ได้ นางอบเชยที่กระจกตกแตกไป นั่งขัดไรอาศัยเพื่อนออกเลอะ

Advertisement

รูปร่างราวกับสาวมิได้เคย ไม่เสบยบ่นบ้าฟ้าผ่าเถอะ ให้เศร้าจิตเสียใจร้องไห้เซอะ ยิ้มกระเยอะอยากงามเมื่อยามจน นิจจาเอยครั้งนี้ว่าข้าไย คอยเมื่อไรจึงจะมีสักขี่หน วิไลลักษณ์งามทั่วทุกตัวคน ถึงยากจนก็จะทำไปตามมี

ที่มั่งคั่งคนมากไม่ยากทุกข์ ขัดไรจุกจับเขม่าเฝ้าขัดศรี อย่าว่าเขาเลยที่เขาเป็นผู้ดี กระจกมีรอบตัวกลัวอะไร…”

ข้อความดังกล่าว มีการระบุถึงการ ‘จับเขม่า’ ซึ่งหมายถึง การใช้กระจกอังควันเทียนให้ได้เขม่าเพื่อเอาเขม่าผสมน้ำมันตานี หรือน้ำมันชนิดอื่นๆ เพื่อทาไรผมให้ดำนั่นเอง

Advertisement

ทั้งนี้ ต้นฉบับวรรณกรรมเรื่องดังกล่าว เก็บรักษาอยู่ที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ เขียนด้วยอักษรไทยด้วยเส้นหมึกสีดำบนสมุดไทยขาว เจ้าของเดิมคือ เจ้าพระยามุขมนตรี ศรีสมุหนครบาล (อวบ เปาโรหิตย์)

ภาพจากเวปไซต์หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร http://www.thapra.lib.su.ac.th
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image