สุจิตต์ วงษ์เทศ : “จุดไต้ตำตอ” เมื่อ 50 ปีมาแล้ว ที่เมืองโคราชเก่า อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา

“จุดไต้ตำตอ” เมื่อ 50 ปีมาแล้ว ที่เมืองโคราชเก่า อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา

ซากพระนอน เมื่อเรือน พ.ศ. 1200 (แบบทวารวดี) หินทราย วัดธรรมจักรเสมาราม อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา (ภาพถ่ายเมื่อวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2512) [จากหนังสือ โบราณคดีนครราชสีมา ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2512]
ขรรค์ชัย บุนปาน กับผม เป็นนักเรียนโบราณคดี ร่วมติดสอยห้อยตามไปสำรวจทางโบราณคดีที่โคราชกับท่านอาจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) และอาจารย์ท่านอื่นๆ ช่วงปลายธันวาคม 2511-ต้นมกราคม 2512

ผมมีหน้าที่บันทึกรายงานการเดินทางตั้งแต่ต้นจนจบ แล้วมีภาระหาทุนพิมพ์เป็นเล่ม ตั้งชื่อว่า โบราณคดีนครราชสีมา (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดพิมพ์ขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องในการนำนักศึกษาไปขุดค้นบริเวณปราสาทพิมาย อ. พิมาย จ. นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม 2512)

บันทึกตอนหนึ่งของนักเรียนโบราณคดีมีข้อความจะคัดมาแบ่งปันดังนี้

Advertisement

 

 (ซ้าย) พระพักตร์พระนอน (ขวา) ชิ้นส่วนพระนอน

Advertisement

 

รายงานการสำรวจและศึกษาทางโบราณคดี

“เชื่อถือกันมานานแล้วว่าตัวเมืองนครราชสีมาเดิมนั้น อยู่ในท้องที่อำเภอสูงเนิน ซึ่งอยู่ห่างมาทางทิศตะวันตกประมาณ 31 กิโลเมตร

อันเมืองเดิมทั้งสองแห่งนี้ แห่งหนึ่งเรียกว่าเมืองเสมา ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของลำตะคอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเนินไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 5 กิโลเมตร ในบริเวณเมืองเคยพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ศิลาธรรมจักร กับศิลาจารึกตำบลบ่ออีกา อายุ พ.ศ. 1411

อีกแห่งหนึ่งเชื่อกันว่าเมืองโคราฆะปุระ ตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของลำตะคอง ห่างจากที่ว่าการอำเภอสูงเนินไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร เหมือนกัน ในบริเวณเมืองนี้มีซากปราสาทหินหลายแห่ง แต่ไม่ปรากฏร่องรอยคูเมือง

โบราณวัตถุสถานในเมืองทั้งสองแห่งนี้ มีอายุแก่กว่าเมืองนครราชสีมานานหลายร้อยปี

การสำรวจครั้งนี้มีเวลาสำหรับดำเนินการไม่มากนัก ส่วนใหญ่มุ่งศึกษาโบราณวัตถุสถานที่กรมศิลปากรสำรวจและขุดแต่งไว้แล้ว แลมีสำรวจเพิ่มเติมจากที่กรมศิลปากรยังมิได้สำรวจบ้างเพียงเล็กน้อย

ธรรมดาโบราณวัตถุสถานอยู่กลางแจ้ง แม้ไม่มีผู้ใดทำลาย โบราณวัตถุสถานนั้นๆ ก็อาจชำรุดทรุดโทรมได้ด้วยแรงบันดาลจากธรรมชาติ ฉะนั้น การที่ได้ออกศึกษาตรวจตราเป็นระยะจังหวะพองาม เราก็อาจรู้ความเร้นลับทางวิชาการเพิ่มขึ้นได้ อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าโบราณวัตถุสถานนั้นๆ กำลังจะหมดอายุหรือสูญสลายไปแล้ว

 

(ซ้าย) พระบาทถูกยกตั้งขึ้น ครั้งนั้นมีข้อถกเถียงว่าพระยืน หรือพระนอน? (บนขวา) เสมาหิน เมืองเสมา (ล่างขวา) คูเมืองเสมา
[จากหนังสือ โบราณคดีนครราชสีมา ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2512]

 

ระยะเวลาการสำรวจและพาหนะ

ออกศึกษาและสำรวจโดยใช้รถยนต์แลนด์โรเวอร์ กท.พ. 19293 ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นพาหนะ

เริ่มออกเดินทางตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2511 ถึงวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2512

รวมทั้งสิ้น 8 วัน

ผู้ร่วมสำรวจ

(อาจารย์) ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, นายศรีศักร วัลลิโภดม, นายคงเดช ประพัฒน์ทอง, นายพิบูล ศุภกิจวิเลขการ, นายอรรถทวี ศรีสวัสดิ์

(นักศึกษา) นายสุจิตต์ วงษ์เทศ, นายขรรค์ชัย บุนปาน, นายจำกัด ผ่องใส, นายพิเศษ สังข์สุวรรณ, นายสมิทธิ ศิริภัทร์, นางสาวผุสดี ม่วงมณี, นางสาวฉวีงาม มาเจริญ และนายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี กำลังศึกษาชั้นปริญญาโทอยู่ ณ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์)”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

(ซ้าย) ลำตะคอง เมืองเสมา อ. สูงเนิน จ.นครราชสีมา (ขวา) อุ้มน้องเข้าเอว เมืองเสมา อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา [จากหนังสือ โบราณคดีนครราชสีมา ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2512]

 

เมืองโคราชเก่า

ครั้งนั้นยังเป็นนักเรียนโบราณคดี (พ.ศ. 2511-2512) ที่อ่อนด้อยและไม่ฉลาด จึงไม่รู้ว่าบริเวณเมืองโคราฆะปุระ คือ เมืองโคราชเก่า ที่นักปราชญ์เชื่อว่าเป็นเมืองราดของพ่อขุนผาเมือง

ตอนนั้นผมไม่เคยอ่านงานเขียนค้นคว้า และไม่เคยได้ยินชื่อจิตร ภูมิศักดิ์

ตอนนี้ก็ยังไม่ฉลาด และขาดประสบการณ์หลายอย่างทางวิชาการประวัติศาสตร์โบราณดคี จึงต้องติดตามสอบถามงานค้นคว้าของผู้รู้ทางวิชาการอีกมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image