พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เปิดใจ ขอฝ่ามรสุมภัยแล้ง และวิกฤตศรัทธาภาคเกษตร โดย ธนพล ตั้งสิริสุธีกุล

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เปิดใจ ขอฝ่ามรสุมภัยแล้ง และวิกฤตศรัทธาภาคเกษตร โดย ธนพล ตั้งสิริสุธีกุล

“คงไม่ประเมินผลงานตัวเอง..หากให้ประเมินการทำงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ค่อนข้างพึงพอใจผลงาน”

จากผลสำรวจความเห็นของประชาชนและนักวิชาการ เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา ถึงผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบ 1 ปี 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็นจากศูนย์สำรวจความคิดเห็นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) และศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) มักปรากฏชื่อของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เห็นอยู่ในลำดับคะแนนรั้งท้ายเสมอ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งหนีไม่พ้นปัญหาภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ที่รอวันปะทุ..อีกระลอก

กอปรกับการทำงานของกระทรวงเกษตรฯที่มักถูกมองว่าเป็นไปด้วยความล่าช้า ส่วนใหญ่มีลักษณะเชิงรับมากกว่าเชิงรุก รวมทั้งตัวรัฐมนตรีว่าการที่ถูกสังคมมองว่ายังไม่มีผลงานและนโยบายที่เด่นชัดเกิดขึ้นเลย จนอาจมีบางคนตั้งคำถามขึ้นว่า แล้วอนาคตของภาคเกษตรไทยจะเดินต่อไปในทิศทางไหน? มืดมน หรือสดใส คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยจะดีขึ้นหรือไม่

Advertisement

“มติชน” ได้โอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงการทำงานในรอบ 6 เดือน ตลอดจนประเด็นร้อนอย่างปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตร และการเรียกศรัทธาคืนมาจากภาคเกษตรกร รวมทั้งการปฏิรูปภาคเกษตรว่าคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น มั่นใจว่าจะเอาอยู่หรือไม่?

ขอยืนยันและมั่นใจได้เลยว่า น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการรักษานิเวศ จะมีเพียงพอไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ตามที่รัฐบาลวางแผนไว้แน่นอน จากการลงพื้นที่ตรวจสอบและการทำงานร่วมกันของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง ทุกหน่วยงานต่างยืนยันว่า น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคไม่มีปัญหาแน่นอน น้ำที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถบริหารจัดการได้ และบางส่วนได้สำรองแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการทำประปาไว้แล้ว หากวิกฤตรุนแรงถึงขนาดน้ำประปาไม่สามารถผลิตได้ ก็จะมีกระบวนการช่วยเหลือประชาชน โดยการจัดหน่วยรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำทันที ส่วนน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ ได้สอบถามกรมชลประทานถึงพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง รวมถึงคณะกรรมการจัดการชลประทาน (เจเอ็มซี) ในส่วนของภูมิภาค ได้รับคำยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการได้เช่นกัน

“การเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ขอยืนยันว่าประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตและเล่นน้ำได้ตามปกติเหมือนเช่นทุกปี แต่อยากขอความร่วมมือจากประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า และอยากให้ตระหนักถึงนิสัย”

สำหรับน้ำเพื่อการเกษตร ยอมรับว่าเมื่อน้ำต้นทุนมีน้อยย่อมต้องเกิดปัญหาแน่ แต่จาก 8 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กระทรวงเกษตรฯเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเฉพาะมาตรการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืช ให้หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเลี้ยงปศุสัตว์แทน ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 แห่งทั่วประเทศ เชื่อว่าจะสามารถบรรเทาผลให้เกษตรกรได้มาก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการประกาศพื้นที่ภัยแล้งในเดือนมีนาคม 2559 ที่มีเพียง 17 จังหวัด 2,576 หมู่บ้าน ต่างจากเดือนมีนาคม 2558 ที่มีมากถึง 27 จังหวัด 6,822 หมู่บ้าน และเดือนมีนาคม 2557 ที่มีสูงถึง 29 จังหวัด 8,921 หมู่บ้าน แสดงว่ามาตรการที่กระทรวงเกษตรฯและภาครัฐที่เตรียมการไว้ได้ผลน่าพอใจ

หากภัยแล้งยังคงลากยาวต่อเนื่องถึงปีหน้า มีการเตรียมการไว้แล้วหรือไม่?

คงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าฤดูฝนปีนี้และปีหน้าจะมีปริมาณน้ำมากน้อยเพียงใด แต่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว อาทิ การขุดบ่อน้ำ ขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ ปี 2558 และ ปี 2559 ช่วยให้ทั่วทั้งประเทศมีแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) รวมทั้งมีโครงการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน มาใช้ประโยชน์และเก็บกักไว้ภายในประเทศ กอปรกับมาตรการปรับเปลี่ยนปลูกพืชใช้น้ำน้อย การหันมาเลี้ยงปศุสัตว์ และการเพาะปลูกตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ น่าจะช่วยให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำภายในประเทศลดลง ไม่สูงเท่ากับช่วงที่ผ่านมา และจากการวางแผนและเตรียมการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นฤดูฝน มั่นใจว่าปีนี้จะมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอแน่นอน

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แก้ไขปัญหาอย่างไร?

ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากราคาน้ำมันหดตัวและสภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทรวงเกษตรฯซึ่งอยู่ในภาคการผลิตคงไม่สามารถไปบิดเบือนกลไกตลาด จึงวางนโยบายผลักดันการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมากกว่าการผลิตเชิงปริมาณเหมือนที่ผ่าน มีการยกระดับสินค้าเกษตรให้ผ่านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือจีเอพี ให้มากขึ้น ปัจจุบันมีสินค้าเกษตรที่ได้รับมาตรฐานจีเอพีแล้วกว่า 3,000 รายการ ก็จะผลักดันให้มีมากขึ้นไปอีก รวมถึงต้องผลักดันให้เกิดสินค้าเกษตรอินทรีย์ตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงให้ได้ โดยเมื่อเกษตรกรสามารถยกระดับคุณภาพสินค้าได้แล้วจะเป็นการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไปในตัว

อีกแนวทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ คือจะยึดโมเดลการแก้ไขปัญหายางพาราเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการใช้ภายในประเทศ และการต่อยอดสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรม การวิจัย ขณะนี้มีการผลักดันในสินค้าเกษตรหลายชนิด อาทิ มันสำปะหลัง จากเดิมที่จะมีการส่งออกในลักษณะมันดิบเพียงอย่างเดียว ก็จะส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปเป็นมันเส้น และมันสะอาดมากขึ้น จะช่วยให้ขายได้ราคาดีกว่า นอกจากนี้กระทรวงฯยังเตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการผลิตสินค้าเกษตรประเภทต่างๆ โดยมีการนำร่องแล้วในข้าว ในการวางแผนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการของตลาด หากทำได้สำเร็จ เชื่อว่าปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดจะหมดไป

แผนการปฏิรูปภาคเกษตรมีอะไรบ้าง?

ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูก ประมาณ 130 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกที่ 67.3% หรือคิดเป็น 88 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม 32.6% หรือคิดเป็น 42 ล้านไร่ โดยประกอบด้วย พื้นที่ปลูกข้าว 27 ล้านไร่ ยางพารา 5.8 ล้านไร่ อ้อย 3.7 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 2.2 ล้านไร่ ปาล์ม 1.8 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.4 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก เพราะเมื่อปลูกพืชในบริเวณที่ไม่เหมาะสมแล้วมักเกิดปัญหาต่างๆ อาทิ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพไม่ดี และผลผลิตมีปริมาณที่ต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรขายสินค้าได้ในราคาที่ต่ำตามมา ดังนั้นกระทรวงจึงต้องเร่งแก้ไขในเรื่องนี้ โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก หรือ อี-แมฟ ขึ้น ซึ่งแผนที่ดังกล่าวจะมีการระบุว่า ในแต่ละพื้นที่มีความเหมาะสม และไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด มีลักษณะดินเป็นอย่างไร ปริมาณน้ำ และความชื้นในพื้นที่มีเท่าใด รวมทั้งจะมีการระบุปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่ ตามแผนยุทธศาสตร์น้ำระยะเวลา 10 ปีที่รัฐบาลกำลังรดำเนินการอยู่ คาดว่าแผนดังกล่าวจะจัดทำแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ และแจกจ่ายแผนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงในพื้นที่นำไปขับเคลื่อนต่อ

“เกษตรกรที่รับทราบข้อมูลนี้แล้วต้องการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ปลูกพืชชนิดอื่นแทนสามารถขอรับความรู้แลข้อมูลจากศูนย์การเรียนรู้ฯ 882 แห่งทั่วประเทศได้ เชื่อว่าเมื่อเกษตรกรคนอื่นๆ เห็นเกษตรกรที่นำไปปฏิบัติแล้วได้ผล จะเริ่มปรับเปลี่ยนตาม ขยายสู่วงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิธีนี้จะกลายเป็นการจัดโซนนิ่งภาคเกษตรไปในตัว ขณะที่เกษตรกรจะได้ยกระดับรายได้ด้วย”

ประเมินผลการทำงานของตนเอง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

คงไม่ประเมินผลงานตัวเอง แต่ด้วยการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯที่มีทั้งมาตรการระยะสั้น อาทิ ภัยแล้ง ดูแลราคาสินค้าเกษตร ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร และระยะยาว อาทิ การทำโซนนิ่ง การปรับเปลี่ยนการเพาะปลูก ทุกอย่างย่อมใช้ระยะเวลาเป็นปี ย่อมไม่ปรากฏให้เห็นผลได้ทันที หากให้ประเมินการทำงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ค่อนข้างพึงพอใจผลงาน เพราะในขณะนี้ เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะการทำงานแบบซิงเกิ้ลคอมมานด์ในระดับจังหวัด หลายงานเกิดความคืบหน้า มีการขับเคลื่อนไปค่อนข้างมาก จากการลงพื้นที่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็เห็นว่ากระทรวงไม่ได้ละเลย เพียงแต่ว่า ประชาชนส่วนกลางอาจจะยังไม่ได้รับรู้ข่าวสารมากเพียงพอ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นสิ่งที่กระทรวงเกษตรจะต้องไปเพิ่มเติม และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ คือความในใจของชายชื่อ “ฉัตรชัย สาริกัลยะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image