ไตวาย : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“ภาวะไตวาย” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Renal failure บางทีเรียกไตล้ม หรือไตไม่ทำงานก็เรียกกัน หมายถึง ภาวะที่เนื้อไตทั้ง 2 ข้าง ถูกทำลายจนทำงานไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำและของเสียที่อยู่ในร่างกาย กระแสเลือดไม่ถูกขับออกมา จึงเกิดการคั่งของ “ของเสีย” จนเป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อดุลของอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) และความเป็นกรดด่างในเลือด รวมทั้งเกิดภาวะพร่องของฮอร์โมนบางชนิดที่ไตสร้าง การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้นำไปสู่อาการผิดปกติอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย

“ภาวะไตวาย” สามารถจัดแบ่งเป็น 2 จำพวก คือ “ไตวายเฉียบพลัน” (Acute Renal Failure) มีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลันและอยู่เป็นวันและเป็นสัปดาห์ กับ “ไตวายเรื้อรัง” (Chronic renal failure) มีอาการเกิดขึ้นทีละน้อยนานเป็นแรมเดือนแรมปี โรคนี้จัดเป็นภาวะที่อันตรายร้ายแรง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่ง… “ไตวายเรื้อรัง” จะพบได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากขึ้นเนื่องจากจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไต โรคติดเชื้อ เป็นต้น ที่มีภาวะแทรกซ้อนต่อไตหรือมีการใช้ยาที่มีพิษต่อไตมากขึ้น

สาเหตุ : ไตวายเฉียบพลัน (Acute Renal Failure) อาจมีสาเหตุจากโรคไตโดยตรงหรือภาวะผิดปกติที่อยู่นอกไต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตก็ได้ เช่น 1.ภาวะช็อกจากปริมาณของเลือดลดลงทำให้เลือดไปเลี้ยงไตได้น้อยลง เช่น การตกเลือด การสูญเสียน้ำ เช่น ท้องเดินรุนแรง ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ฯลฯ 2.โรคหัวใจและหลอดเลือดที่มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงไตน้อย เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูงรุนแรง 3.การติดเชื้อรุนแรง เช่น มาลาเรีย เล็ปโตสไปโรชิส ภาวะโลหิตเป็นพิษ 4.โรคไต เช่น กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute pyelonephritis)

5.ความผิดปกติของเลือดในไต เช่น หลอดเลือดไตตีบ (Renal Artery Stenosis) ภาวะที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดและไต (Renal embolism) 6.การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ท่อไต ถูกผูกโดยความเผอเรอจากการผ่าตัดในช่องท้อง ต่อมลูกหมากโต ท่อปัสสาวะตีบ เนื้องอกของกระเพาะปัสสาวะ 7.งูพิษกัด เช่น งูแมวเซา หรืองูทะเลกัด 8.ผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือสารเคมี เช่น ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ ยาต้านเอช ซัลฟา กานามัยซิน เจนตาไมซิล อะมิคาซิน ไซโคลสปอรีน แอมโฟเทอร์ชิน สารไอโอดีนที่ใช้ฉีดในการตรวจเอกซเรย์พิเศษ เป็นต้น 9.ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด

Advertisement

10.อื่นๆ เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ตับวาย

ไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) ส่วนใหญ่มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่ขาดการรักษาอย่างจริงจัง อาจเกิดจากโรคไตเรื้อรัง เช่น กรวยไตอักเสบ กรวยไตอักเสบเรื้อรัง โรคไตเนโฟสติก นิ่วไต โรคไตเป็นถุงน้ำมาแต่กำเนิด (Polycystic kidney disease) ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากโรคเกาต์ เอสแอลอี ภาวะยูริกในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โรคเอดส์ พิษจากยา เช่น ยาแก้ปวดลดไข้-เฟนาซิติน เฟนิลบิวตาโชน ลิเทียม ไซโคลสปอรีน ยาต้านมะเร็ง ฯลฯ พิษจากสารตะกั่ว หรือแคดเมียม เป็นต้น

อาการ : ไตวายเฉียบพลัน อาการเด่นชัด คือ การมีปัสสาวะน้อยกว่า 400 มิลลิเมตรใน 24 ชม. หรือมีปัสสาวะไม่ออกมากกว่านี้ ต่อมาไม่นานผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ในที่สุดผู้ป่วยจะมีอาการซึม สับสน ชัก และหมดสติ ผู้ป่วยอาจจะมีประวัติการใช้ยาหรือมีอาการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต งูกัด ตกเลือด การช็อก จากสาเหตุต่างๆ นำมาก่อน

Advertisement

ไตวายเรื้อรัง : อาการขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยระยะแรกอาจไม่มีอาการให้สังเกตได้ชัดเจน และมักจะตรวจพบจากการตรวจเลือด พบว่ามีระดับครีอะทินีนและบียูเอ็น (BUN) สูง ในขณะตรวจเช็กสุขภาพหรือมาพบแพทย์ด้วยโรคอื่น

ผู้ป่วยจะมีอาการชัดเจนเมื่อเนื้อไตทั้งสองข้างถูกทำลายจนทำหน้าที่ได้น้อยกว่าร้อยละ 5 ของไตปกติ โดยจะสังเกตว่ามีปัสสาวะออกมากและปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดินบ่อย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ขาดสมาธิ ตามัว ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำ คันตามผิวหนัง ชาตามปลายมือปลายเท้า บางรายอาจจะมีอาการหอบเหนื่อย สะอึก เป็นตะคริว ใจหวิว ใจสั่น เจ็บหน้าอก บวมหรือมีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงจ้ำเขียว หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด เมื่อเป็นถึงขั้นสุดท้ายผู้ป่วยจะมีอาการซึมลง ชักหมดสติในที่สุด

สิ่งตรวจพบ : ไตวายเฉียบพลัน อาจตรวจไม่พบอะไร นอกจากพบอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็วในผู้ป่วยภาวะช็อก อาการดีซ่านในผู้ป่วยโรคตับ ไข้ในผู้ป่วยมาลาเลียหรือโรคติดเชื้อ เป็นต้น บางรายอาจพบอาการซีด หายใจหอบลึก ความดันโลหิตสูง มือจีบ เกร็งและเป็นตะคริว หรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Crepitation) ในระยะท้ายๆ จะพบการซึม

ชัก หมดสติ ไตวายเรื้อรัง : จะมีสิ่งตรวจพบ เมื่อเป็นโรคในระยะรุนแรงมากแล้ว ได้แก่ อาการซีด ความดันโลหิตสูง ผิวหนังแห้งมีสีคล้ำ จุดแดง จ้ำเขียวตามผิวหนัง บางรายอาจพบอาการเท้าบวม (กดบุ๋ม) ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอหรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Crepitation)

อาการแทรกซ้อน : ไตวายเฉียบพลัน เนื่องจากไตขับน้ำไม่ได้ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำในกระแสเลือด (Hypervolemia) เป็นผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และภาวะหัวใจวายตามมา นอกจากนี้ ยังเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง เนื่องจากไตขับสารนี้ได้น้อย อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หรือหยุดเต้นได้ ภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) เนื่องจากขับกรดที่ได้จากการเผาผลาญโปรตีนได้น้อยลง ทำให้มีอาการหายใจลึก ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง เช่น ซึม ชัก เริ่มจากภาวะยูรีเมีย (Uremia) ภาวะเลือดออกง่าย เนื่องจากเกร็ดเลือด (Platelet) ไม่จับตัวทำให้เลือดออกง่าย อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) เกิดจากการคั่งของสารบียูเอ็น (BUN มากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิกรัม) จะมีอาการไข้สูง ภาวะติดเชื้อง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษตามมา ภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้นล้วนมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่มีความรุนแรงได้มาก ได้แก่ ภาวะซีด เนื่องจากไตสร้างสารอิริโทรพอยเอทิน (erythropoietin) ไม่ได้

สารนี้มีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อขาดก็ทำให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้ไม่ดี ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทำให้เกิดการมือจีบ เกร็ง เป็นตะคริว ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูง ภาวะยูริกในเลือดสูง

ไตวายเรื้อรัง : นอกจากจะพบอาการแทรกซ้อนแบบเดียวกับไตวายเฉียบพลันแล้ว ยังอาจพบปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ ชาปลายมือปลายเท้า โรคกระเพาะ ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (hyper parathyroid) ภาวะกระดูกอ่อน (Osteomalacia) ต่อมอัณฑะทำงานน้อย ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย (impotent) ประจำเดือนผิดปกติ

การรักษา : 1.หากสงสัยเป็นไตวายเฉียบพลัน ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล มักวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด พบระดับบียูเอ็นและ
ครีอะตินสูงกว่าปกติ ยิ่งสูงมากก็แสดงว่าโรคยิ่งรุนแรง ระดับโพแทสเซียมฟอสเฟตและแมกนีเซียมสูง ระดับแคลเซียมต่ำ เลือดมีภาวะเป็นกรด ระดับฮีโมโกลบินต่ำ ตรวจปัสสาวะ (พบสารไข่ขาว น้ำตาล เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว) เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ และตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าจำเป็น

การรักษา : หลักการ คือ ให้การรักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ และการแก้ไขภาวะผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น 1 ส่วนจำกัดปริมาณของน้ำ โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียมและโปรตีน ฉีดยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์ ให้โซเดียมคาร์บอเนต แก้ภาวะเลือดเป็นกรด ให้เลือดในรายที่ตกเลือด เป็นต้น ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการฟอกไต หรือไดอะไลซิส (Dialysis) ผลการรักษาขึ้นกับสาเหตุที่พบ ถ้าเกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ภาวะช็อกจากปริมาณของเลือดลดลง โรคติดเชื้อ พิษจากยาบางอย่างก็อาจมีทางรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะไตวายเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นรวดเร็ว และมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งมีโอกาสเป็นอันตรายถึงตายได้ค่อนข้างสูง

2.หากสงสัยเป็นไตวายเรื้อรัง : ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ บางรายอาจต้องทำการเจาะเนื้อไตออกพิเศษ (renal biopsy) ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง : นอกจากจะตรวจพบระดับ BUN และ Creatinine ในเลือดสูง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระดับของเกลือแร่ในเลือดแบบเดียวกับภาวะไตวายเฉียบพลันแล้วยังตรวจพบจากการเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวด์ว่าไตทั้ง 2 ข้างฝ่อ (ขนาดน้อยกว่า 10 เซนติเมตร) การรักษา : ถ้ามีสาเหตุชัดเจนได้ให้รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ให้ยาควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผ่าตัดสิ่งในไต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องรักษาภาวะผิดปกติต่างๆ ที่เป็นผลมาจากไตวาย เช่น จำกัดปริมาณโปรตีนไม่เกินระดับ 40 กรัม (ไข่ไก่เพราะมีโปรตีน 6-8 กรัม นมสด 1 ถ้วย มีโปรตีน 8 กรัม เนื้อสัตว์ 1 ขีด มีโปรตีน 23 กรัม) จำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม โดยคำนวณจากปริมาณปัสสาวะต่อรับบวกกับน้ำที่เสียไปทางอื่น ประมาณ 600 มิลลิลิตร+800 มิลลิลิตร รวมเป็น 1,400 มิลลิลิตรต่อวัน เป็นต้น จำกัดปริมาณโซเดียมที่กิน ถ้ามีการบวม หรือมีปัสสาวะน้อยกว่า 800 มิลลิลิตรต่อวัน ควรงดอาหารเค็ม งดใส่เครื่องปรุง เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสทุกชนิด ผงชูรส สารกันบูด อาหารที่ใส่ผงฟู อาหารกระป๋อง น้ำพริกกะปิ ปลาร้า ของดอง หนำเลี้ยบ จำกัดปริมาณโพแทสเซียมที่กิน ถ้ามีปัสสาวะน้อยกว่า 800 มิลลิลิตรต่อวัน ควรหลีกเลี่ยงการที่มีเกลือโพแทสเซียมสูง เช่น ผลไม้ ส้ม มะละกอ มะขาม มะเขือเทศ น้ำมะพร้าว ถั่ว สะตอ มันทอด หอย เครื่องในสัตว์ เป็นต้น

หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูง อะมิโลไรด์ (amiloride) ยาต้านเอดส์ ยาที่มีสารโพแทสเซียม เป็นต้น จำกัดปริมาณแมกนีเซียมที่กิน ถ้าการงดยาลดกรดที่มีเกลือแมกนีเซียมโฮดรอกไซด์ ถ้ามีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง หรือภาวะเลือดเป็นกรดให้กินยาเม็ดแคลเซียมคาร์บอเนต (650 มิลลิกรัม) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 เวลา ถ้าบวมให้ยาขับปัสสาวะ ฟูโรซีไมด์ ถ้ามีความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย ก็ให้รักษาลดความดันให้พ้นระยะอันตราย ถ้าซีด อาจต้องให้เลือด

บางรายแพทย์อาจสั่งให้จัดฮอร์โมน erythropoietin เพื่อการกระตุ้นสร้างเม็ดเลือดแดง (ยานี้มีราคาแพง อาจทำให้ความดันโลหิตสูง)

สําหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย : มักมีระดับ (Creatinine และ BUN ในเลือดสูงเกิน 10 และ 100 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซีซี) การรักษาทางยาจะไม่ได้ผล จำเป็นต้องทำการฟอกล้างของเสียหรือไดอะไลซิส (Dialysis) ซึ่งมีอยู่หลายวิธีได้แก่

1) การฟอกล้างของเสียทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Continuous ambulatory peritoneal dialysis/CAPD) วิธีนี้แพทย์สามารถฝึกให้ผู้ป่วยทำเองที่บ้านได้ นับว่าสะดวก แต่ต้องทำการเปลี่ยนถุงน้ำยา 4 ครั้ง ทุกๆ วันตลอดไป และแพทย์ต้องนัดมาเปลี่ยนสายน้ำยาที่ใช้ฟอกล้างของเสียงทุก 1 เดือน ผู้ป่วยสามารถทำงานและปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติ

2) การฟอกล้างของเสียทางเลือด (hemodialysis) นิยมเรียกการฟอกเลือดด้วยไตเทียม หรือการทำไตเทียมผู้ป่วยต้องไปทำที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
การทำการฟอกล้างของเสียทั้ง 2 วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (สามารถทำงาน ออกกำลังกาย และมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นคนปกติ) มีชีวิตยืนยาวขึ้น บางรายอาจอยู่ได้นานเกิน 10 ปีขึ้นไป แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง

3) ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไต หรือเปลี่ยนไป (kidney transplantation) ซึ่งจัดว่าเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน อายุการทำงานของไต ร้อยละ 18-55 อยู่ได้ 10 ปี แต่การปลูกถ่ายไตเป็นวิธีรักษายุ่งยาก ราคาแพง และจะต้องหาได้จากญาติโดยตรงเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้ากันได้ นอกจากภายหลังปลูกถ่ายไตผู้ป่วยต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สารสเตียรอยด์ ไชโคลสปอริน อะชาไทรอฟริน ทุกวันตลอดไปเพื่อป้องกันมิให้ร่างกายต่อต้านไตใหม่

ข้อแนะนำ : 1.ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ควรติดต่อกับแพทย์อย่าได้ขาด ควรกินยาและปฏิบัติตัว รวมทั้งควบคุมอาหาร ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะช่วยทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อายุยืนยาวต่อไปอีกนาน 2.ผู้ป่วยไม่ควรปรับขนาดยาเอง หรือซื้อยากินเอง เพราะยาบางอย่างมีพิษต่อไต ไม่ควรกินยาหม้อยาต้มสมุนไพรเด็ดขาด อาจถึงชีวิตได้ 3.ไตวายเป็นภาวะที่มีผลแทรกซ้อนต่อร่างกายเรื้อรังมักมีความยุ่งยากและสิ้นเปลืองค่ารักษา ดังนั้น จึงควรป้องกันมิให้เป็นโรคนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ควรรักษาอย่างเร่งรีบ สามารถควบคุมโรคได้จะได้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นไตวายแทรกซ้อน 4.การปลูกถ่ายไตเป็นวิธีรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ดีที่สุดในปัจจุบัน จึงควรรณรงค์คนทั่วไปให้มาบริจาคไตกันให้มากขึ้นจะได้มีไตบริจาคช่วยเหลือให้ผู้ป่วย พ้นจากความทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

การป้องกันโรคหรือปัจจัยที่ต้องเป็นโรคไตวาย ที่สำคัญมี 4 เรื่อง เพราะถ้าเป็นแล้วรักษาไม่หายขาดตายแน่ๆ

1.ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ ดูว่าเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคเกาต์หรือไม่ ถ้าเป็นต้องรักษาอย่างจริงจัง ควบคุมระดับความดัน น้ำตาลในเลือด กรดยูริกให้อยู่ในระดับปกติ ป้องกันผู้ป่วยรุนแรงที่เป็นสีแดงไม่ให้เป็นสีดำ (ปิงปองจราจรชีวิต 7 สี : Vichai’s 7 Colors Ball Model) ความดันมากกว่า 180/120 มม.ปรอท น้ำตาลมากกว่า 183 มก.เปอร์เซ็นต์ 2.เมื่อเป็นโรคเกี่ยวกับไต เช่น นิ่ว ต่อมลูกหมากโต มีการอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะต้องรีบรักษาให้หายขาด 3.เมื่อเป็นโรคติดเชื้อ เช่น งูสวัดหรือท้องเดิน อย่าให้เกิดภาวะช็อก ผลตามมาทำให้ไตวายได้

4.ระมัดระวังการใช้ยาที่มีพิษหรือมีผลต่อไต โดยเฉพาะอย่าซื้อยามากินเองตามร้านขายยา สี่ข้อนี้ คือหัวใจในการ “สร้างสุขภาพ นำซ่อมสุขภาพ” ถ้าเกิดไตวายแล้วบอกได้เลยว่า…ตายแน่ๆ เร็วด้วยนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image