วาระแห่งชาติ ‘สิทธิมนุษยชน’ เริ่มที่การศึกษา (ในสังคมประชาธิปไตย)

ปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศให้ “สิทธิมนุษยชน” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามการเสนอของกระทรวงยุติธรรม

แม้สถานการณ์ในรัฐบาลปัจจุบันจะถูกตั้งคำถามอย่างมากเรื่องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ แต่ในความหวังน้อยนิดก็ยังถือเป็นโอกาสให้ได้พูดเรื่องนี้มากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่ปีนี้ครบรอบ 70 ปี “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declarations of Human Rights) หรือ UDHR”

ในการเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2560/61 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ผ่านมา มีการเปิดวงเสวนาเรื่อง “70 ปี UDHR: สิทธิมนุษยชนศึกษากับประเทศไทย” มีประเด็นน่าสนใจถึงการวางรากฐานการศึกษาสิทธิมนุษยชนในไทย ที่ “มีแต่เหมือนไม่มี”

Advertisement

รวมถึงข้อเสนอแนวทางที่น่าจะทำให้คนทั่วไปสัมผัสเรื่องนี้ได้มากกว่าการท่องจำในชั้นเรียน

มีอยู่ แต่ไม่ให้ความสำคัญเชิงคุณค่า

“หลายท่านคงไม่เคยได้ยินเรื่องปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลายท่านมองว่าเป็นความคิดตะวันตก แต่คณะผู้ร่างมีตัวแทนจากทุกภูมิภาคในโลก รวมถึงเอเชีย ทำให้ UDHR สะท้อนมุมมองจากหลายวัฒนธรรม”

สำหรับความเข้าใจพื้นฐานนั้น ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล อธิบายว่า UDHR เป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับหนึ่งที่ทั่วโลกยอมรับในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยร่างและรับรองในปี 1948 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง สหประชาชาติจึงร่วมกันยกร่างฉบับนี้ ซึ่งไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติช่วงนั้นจึงมีภาระผูกพันด้วย

Advertisement

ดร.วัชรฤทัยเผยว่า จากการค้นแบบเรียนตั้งแต่สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรื่องสิทธิมนุษยชนถูกพูดถึงในตำราเรียนครั้งแรก ปี 2544 เชื่อมโยงจากการมีรัฐธรรมนูญ 2540 และพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่ระบุว่าการศึกษาต้องมุ่งส่งเสริมการเคารพสิทธิเสรีภาพ จึงมีการให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการในแบบเรียน

“UDHR ปรากฏเป็นหนังสืออ้างอิงของนักเรียน ม.ปลาย จากหลักสูตรปี 2544 แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในการพูดถึงเชิงในคุณค่า เช่นเดียวกับการพูดถึงความเป็นไทยหรือการเคารพนอบน้อมผู้ใหญ่ ทั้งที่ความเข้าใจสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เพียงการพูดเรื่องเนื้อหา แต่เป็นการพูดถึงคุณค่า ซึ่งไม่มีอยู่ในตำราเรียน” ดร.วัชรฤทัยกล่าว

‘สิทธิมนุษยชน’ เรื่องของใคร?

มุมมองของ กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มอง UDHR ว่าเป็นสิ่งที่โลกบอกว่าจะทำสิ่งนี้ด้วยกัน และจะทำให้สังคมเกิดสวัสดิภาพ

“อยากเทียบUDHRกับหลักศีลห้า เป็นปฏิญญาว่าตัวเองจะทำสิ่งเหล่านี้ เมื่อทำแล้วสังคมจะมีความสุข ความมั่นคง ถ้าเราอยู่ในสังคมโดยรู้ว่าคนอื่นจะไม่มาฆ่า ขโมย หรือแย่งชิงคนที่เรารัก ก็จะรู้สึกปลอดภัย UDHR ไม่ใช่เรื่องตะวันตกหรือตะวันออก แต่เป็นเรื่องธรรมะ เป็นระบบความคิดและวิถีชีวิตที่จะทำให้ทุกคนปลอดภัย”

ในมุมมองภาครัฐ กาญจนาเผยว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของรัฐเพียงผู้เดียว รัฐมีหน้าที่ซึ่งต้องทำ แต่ทุกคนต้องทำด้วย

ด้าน ดร.วัชรฤทัย เสริมในประเด็นนี้ว่า แม้ทุกภาคส่วนต้องรับผิดชอบเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ความรับผิดชอบหลักนั้นอยู่ที่รัฐบาลที่ต้องปกป้องไม่ให้ใครละเมิดกัน

“เรื่องท่องจำนั้นไทยเก่งมาก บอกได้ว่ามีหลักการอะไรบ้าง แต่ว่าสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องการท่องจำ แต่ต้องเชื่อจริงๆ บรรยากาศสังคมที่อยู่ต้องเคารพสิทธิกัน ตั้งแต่ในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ที่สำคัญการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ถ้ารู้หลักการแต่ไม่ปกป้องสิทธิตัวเองและคนอื่นเมื่อถูกละเมิดสิทธิก็ไม่มีประโยชน์ เห็นรัฐละเมิดสิทธิก็ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง รัฐเองก็ต้องรู้เรื่องการไม่ละเมิดสิทธิ

“ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ จะเกลียดกันยังไงให้ยอมรับกันและไม่ใช้ความรุนแรง สิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นการสร้างทักษะเหล่านี้ด้วย” ดร.วัชรฤทัยกล่าว

จากซ้าย สุภนิดา จันทร์มูล (ดำเนินรายการ), กาญจนา ภัทรโชค, เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ และ ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์

การศึกษาที่ผู้เรียนไม่มีส่วนตัดสินใจ

“เคยเห็นแต่จำไม่ได้”

เป็นคำตอบของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ตัวแทนเยาวชนจากองค์กรนิวกราวด์ เมื่อพูดถึง UDHR และเผยว่าการศึกษาทำให้รู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่แต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้างที่ผูกพันตามมา

“เวลาเราพูดเรื่องปัญหาการศึกษา ไม่ค่อยมีใครพูดถึงอำนาจผู้เรียน ขณะที่ไทยมีงบอุดหนุนการศึกษาต่อหัวต่อปีมากเป็นอันดับต้นในโลก แต่เรามีสิทธิตัดสินใจแค่ว่าจะซื้อเครื่องแบบยี่ห้ออะไร แต่ไม่มีสิทธิตัดสินใจว่าเราจะเรียนอะไร”

ส่วนบริบทที่ทำให้คนยุคใหม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้นนั้น เปรมปพัทธ กล่าวว่า ไทยรับ UDHR มา 70 ปีแล้ว ขณะที่ขบวนการเยาวชนก็เกิดขึ้นมากมายนับแต่ปี 2535 จนปี2548 เริ่มมีนโยบายจัดระเบียบสังคม พูดถึงค่านิยมที่ถูกต้องของเด็กไทย ก่อนที่จะเป็นค่านิยม12ประการในปัจจุบัน

“แต่พอมีไอโฟน เกิดโซเชียลมีเดียและการเข้าถึงทรัพยากรข้อมูลจำนวนมาก เวลาผมต้องการแสดงความเห็นแล้วไม่อยากให้พ่อรู้ก็บล็อกเขาได้ เรามีวิธีการจัดการความสัมพันธ์ในโลกของเรามากขึ้น จึงไม่แปลกที่เด็กทุกวันนี้กล้าวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องสิทธิตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี” เปรมปพัทธกล่าว

ก้าวแรกเริ่มที่ประชาธิปไตย

เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษานั้น ดร.วัชรฤทัย อธิบายว่ามีพัฒนาการควบคู่กับบริบทสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เช่นในยุโรปตะวันออกที่ผลักดันการศึกษาเรื่องนี้คู่กับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีการศึกษาทั้งในโรงเรียนและชุมชน ซึ่งไม่ได้สอนแค่เรื่องกฎหมาย แต่ปลูกฝังวัฒนธรรมในการเคารพสิทธิกัน

“เอเชียมีเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด จากความขึ้นลงของประชาธิปไตย เชื่อมกับคุณค่าที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม ประเทศที่มีพัฒนาการประชาธิปไตยที่เปิดกว้างจะมีความก้าวหน้ากว่าเรา ส่วนไทยขึ้นอยู่กับยุคสมัย เช่นสมัยรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีความคืบหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ในภาวะประชาธิปไตยถดถอยก็ต้องมีการต่อสู้ เพราะการแสดงความเห็นในมหาวิทยาลัยถูกจำกัด” ดร.วัชรฤทัยกล่าว

วาระแห่งชาติ คนต้องมีสิทธิพูด

ประเด็นที่น่าสนใจคือการประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ในสมัยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศมองว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง ทั้งเรื่องสันติภาพ-ความมั่นคง และการพัฒนา ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เช่นที่จะเห็นจากการประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล โดยเชื่อมโยงไทยแลนด์ 4.0 และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำระยะยาว ไม่สามารถแก้ไขได้ปุบปับ

“คนมองว่าการประกาศวาระแห่งชาติเป็นเพียงวาทกรรม แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องมองอย่างน้ำครึ่งแก้ว รัฐบาลมีความตั้งใจจริง เป็นการย้ำความสำคัญในทุกหน่วยงานว่ามีแผนงานอะไร ถ้าไม่เอาจริงคงไม่กล้าประกาศ” กาญจนากล่าว

ด้านวัชรฤทัยเผยว่า รู้สึกดีใจที่มีการประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 แต่ต้องใช้มุมมองสิทธิมนุษยชนเข้ามาจับในเรื่องต่างๆ ที่รัฐบาลทำด้วย รวมถึงเรื่องกฎหมายตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ

“แต่เรื่องการมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นได้อย่างไรการจำกัดกีดกันการแสดงความเห็น และต้องไม่ใช่การมีส่วนร่วมแบบที่เรียกชาวบ้านมานั่งเวลาจะมีโครงการต่างๆ แต่ต้องเป็นการมีส่วนร่วมที่มีสิทธิพูดและมีพื้นที่แสดงความเห็นได้จริง ให้คนรู้สึกมีพลังในการร่วมขับเคลื่อนสังคม” ดร.วัชรฤทัยกล่าว

สากลวางหลัก สอนตั้งแต่ในบ้านถึง จนท.

มาถึงข้อเสนอในการสร้างสิทธิมนุษยชนศึกษาให้เกิดขึ้นจริงในไทยนั้น ศ.กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ผู้เคยได้รับรางวัลด้านการศึกษาสิทธิมนุษยชน จากยูเนสโก ระบุไว้ในปาฐกถาตอนหนึ่งว่า สหประชาชาติมี World Programme for Human Rights Education ช่วงปี 2015-2019 โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายของสิทธิมนุษยชนศึกษาไว้ 2 กลุ่ม

1.การศึกษาในหลายลำดับ ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่มากกว่านั้นคือเน้นการศึกษากับฝ่ายราชการ ตำรวจ ทหาร ผู้บังคับใช้กฎหมาย 2.สิทธิมนุษยชนศึกษาในสื่อมวลชน

“ขณะที่เรามีกรอบของเรา คือ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีการพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาในหลายลำดับตั้งแต่ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย แต่ต้องดูคุณภาพด้วยไม่ใช่แค่อ้างว่ามี และดูว่าเป็นการศึกษาที่เพิ่มวิจารณญาณหรือเป็นการสั่งท่องให้เชื่อลัทธิแนวคิดของฐานอำนาจบางอย่าง

“เป้าหมายทางเนื้อหาสาระสิทธิมนุษยชนศึกษานั้น จะไปท่องปฏิญญาสากลให้ตำรวจชายแดนฟังไม่ช่วยอะไร แต่ถ้าทำให้เขาเห็นสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันแล้วช่วยบรรเทางานเขา จะช่วยให้เขารับเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น หรือการเล่านิทานตั้งแต่เด็ก เช่นครูสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าผู้หญิงก็ช่วยชีวิตผู้ชายได้ และผู้หญิงนั้นอาจเป็นผู้หญิงข้ามเพศก็ได้ อีกทั้งวิธีการสอนต้องมีส่วนร่วม มีพื้นที่เปิดในการสอน หาทางออก พูดคุยด้วยเหตุผล”

ศ.กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์

อ.วิทิตกล่าวต่อไปว่า สภาพความเป็นจริง ในระดับประถม-มัธยมมีสอนนิดหน่อยเรื่องสิทธิเด็ก แต่การคุยกับเด็กเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงในห้องเรียนนั้นสำคัญกว่าการนั่งท่องอนุสัญญาสิทธิเด็ก ที่สำคัญคือยังขาดเรื่องการร่วมมือระหว่าง ครู-พ่อแม่-เด็ก

“ระดับประถม-มัธยม 1.ต้องพยายามสร้างฐานระเบียบวินัยโดยไม่ใช้ความรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่ที่บ้านและในห้องเรียน โดยเฉพาะเรื่องตีเด็ก 2.การแกล้งกัน โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าสร้างความเข้าใจแต่ต้นจะช่วยไม่ให้แกล้งกันได้ 3.การเรียนรู้จากการกระทำสำคัญมาก สร้างจิตเรื่องการกระทำเพื่อสังคมตั้งแต่เด็ก

“ระดับมหาวิทยาลัยและอื่นๆ ที่มีการสอนสิทธิมนุษยชนเป็นหลักสูตร อยากฝากว่า 1.ประเด็นใหญ่คือพื้นที่ซึ่งต้องเปิดมากขึ้นในชั้นเรียน ซึ่งถูกกระทบโดยสถานการณ์ทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะถ้าบางฝ่ายมาตรวจสอบหรือจำกัดพื้นที่บ่อยๆ 2.ค่ายพัฒนาชนบท การทำกิจกรรมข้างนอกเอื้อต่อการสร้างจิตใจ 3.โอกาสระดับสูงในมหาวิทยาลัยช่วยเรียนรู้เรื่องการคานอำนาจ กลไกกฎหมาย นโยบายทรัพยากรในประเทศ ภูมิภาคและโลก รวมถึงเรื่องสนธิสัญญา การตรวจสอบในรัฐต่อรัฐ

ส่วนสิทธิมนุษยชนศึกษาในราชการนั้น อ.วิทิตเผยว่าปัจจุบันมีเป็นคอร์สพิเศษบ้าง แต่เสนอให้แทรกเข้าไปในหลักสูตรอย่างถาวรและปรับเนื้อหาให้เข้ากับชีวิตประจำวัน รวมถึงการให้รางวัลฝ่ายที่ทำดี และตรวจสอบลงโทษฝ่ายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องไม่ลอยนวล แต่หากกลไกเยียวยาในประเทศไม่มี สามารถขอความเป็นธรรมจากสากลได้ รวมถึงการเผยแพร่ผ่านประชาชน ชุมชน และสื่อ

“ตำรวจทหารเป็นกลุ่มสำคัญมากที่สหประชาชาติระบุไว้ ที่มักถูกถามเรื่องการกักตัวและจับตัวคน ต้องสอนหลักว่าบุคคลที่ถูกกักตัวมีสิทธิไปสู่ศาล วิธีที่ดีที่สุดคือตามหลักนิติธรรมคือใน 48 ชั่วโมง แม้มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก แต่ท่านไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจนั้นเต็มที่ และจะดีต่อท่าน เพื่อป้องกันถูกกล่าวหาว่าทรมานเขา และการเข้าถึงญาติพี่น้องหลังถูกจับกุมแต่ต้นเป็นสิ่งสำคัญ ปล่อยไว้นานจะไม่มีพยานว่าถูกประทุษร้ายหรือไม่ ไม่เป็นคุณต่อเจ้าหน้าที่ ส่วนการใช้อาวุธ ต้องทีละขั้นตอน เจรจาก่อน-ใช้น้ำ-ใช้แก๊ส ในไทยบางครั้งก็มี บางครั้งก็ยิงกระสุนจริง ทั้งที่ยูเอ็นมีหลักให้

“ส่วนสื่อมวลชนในการศึกษาสิทธิมนุษยชนย่อมเป็นผู้ปกป้องและให้ความรู้เรื่องการขอความช่วยเหลือ แต่ต้องระวังหลวมตัวโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียที่จะมีเฮทสปีชชวนให้เกลียดชัง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องมีกฎหมายห้าม”

อ.วิทิต มองว่าสิ่งที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีในอนาคตที่เข้ามา เช่น ในยุโรปเกิด “สิทธิที่จะถูกลืม” บนโลกอินเตอร์เน็ต เป็นมิติใหม่ที่ต้องเจอ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องมีกฎหมายใหม่ๆ มารองรับ เพราะกฎหมายในระดับท้องถิ่นนั้นมีมากเกินไป

“อยากให้วัดตามหลักสากลและมุ่งปฏิรูปให้ดีขึ้นตามหลักสากล ร่วมรู้กฎเกณฑ์ที่ละเอียดขึ้นตามลำดับการศึกษา โดยเริ่มที่ตัวเอง ขอให้เลือกว่าในบริบทนั้นจะอยู่ที่ไหนที่จะร่วมในสิทธิมนุษยชนศึกษา อาจเป็นผู้ปกป้องสิทธิ ร่วมกิจกรรมคุ้มครองปกป้องโดยตรง หรือร่วมกันเรียกร้องเสนอให้มีการเยียวยามากขึ้นตั้งแต่ในบ้านถึงสากล หรือการคานอำนาจเพื่อแก้ไข

“บางครั้งยากมากแต่อย่าท้อ สุดท้ายการมีส่วนร่วมสำคัญมาก ตัวเราเองก็ต้องร่วมกับตัวเราด้วย เพราะไม่ใช่แค่เรื่องความรู้แต่เป็นเรื่องทัศนคติและการประพฤติตน สุดท้ายขอให้ช่วยกันเปิดพื้นที่ด้วย” ศ.กิตติคุณวิทิตกล่าว

การจะทำสิทธิมนุษยชนศึกษาเห็นผลนั้น ต้องเกิดจากทุกระดับ โดยเฉพาะจากภาครัฐ เพื่อไม่ให้คำว่า “วาระแห่งชาติ” เป็นคำพูดลอยๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image