ทำไมต้องผัวเดียวเมียเดียว นั่นแน่  –  อย่าเพิ่งตาขวาง     

เอาแค่ย้อนไปครึ่งศตวรรษ   เราเข้าใจไหมว่า   ทำไมเราต้องอยู่กันแบบผัวเดียวเมียเดียว   มีมากน้อยเท่าไหร่ที่รู้ว่า   ผัวเดียวเมียเดียวเป็นความคิดแบบตะวันตก   ที่ถูกยกให้เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติของไทยในทศวรรษ  2480  แล้วอยากรู้หรือน่ารู้ต่อไปไหมว่า   สังคมไทยสมัยใหม่ยอมรับความศรีวิไลแบบตะวันตกเรื่องนี้เข้ามาได้อย่างไร

เพราะช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์   ชนชั้นปกครองของสยามเห็นว่า   ผัวเดียวเมียเดียวเป็นของนอกที่จะก่อปัญหานานาประการ   ดังนั้น   จึงต้องรักษาจารีตผัวเดียวหลายเมียไว้

แต่ท่ามกลางแรงกดดันจากตะวันตก   และการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย   ผลักดันให้สังคมพากันวิจารณ์ปัญหาเรื่องเพศ   ทั้งเพศสภาพและเพศวิถี   ก่อทัศนะทางเพศเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง   ถกถามความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย   จนทำให้ในที่สุด   ผัวเดียวเมียเดียวก็กลายเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับกันในปัจจุบันไป

‘ผัวเดียวเมียเดียว  อาณานิคมครอบครัวในสยาม’ ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  แผนกวิชาประวัติศาสตร์  คณะอักษรศาสตร์  จุฬาฯของ  สุรเชษ์ฐ  สุขลาภกิจ  จึงแน่ใจได้เรื่องความถี่ถ้วนของข้อมูลที่ค้นคว้ามาให้ผู้อ่านพิจารณา

Advertisement

เนื้อหาเริ่มขึ้นอย่างดึงดูดใจด้วยพระปาฐกถาพิเศษเรื่อง  “ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าซิวิไลซ์”  (2475)  ในพระราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  นายกราชบัณฑิตยสภาที่ทรงตั้งพระปุจฉาซึ่งมิอาจ

วิสัชนาอย่างเป็นภววิสัยได้ว่า  “ก็สิ่งไรเล่าเป็นน้ำเนื้อของอารยธรรม  ทรัพย์หรือ  อำนาจหรือ  เครื่องจักรหรือ  มีเมียคนเดียวหรือ  หรืออะไร”

Advertisement

“เพราะประชุมชนที่นิยมว่าซิวิไลซ์   ใช้ประเพณีมีเมียหลายคนก็มี   …(แต่)ประชุมชนชาวป่าเถื่อนบางพวกเคร่งครัดในเรื่องเมียคนเดียว   ประเทศที่เรียกกันว่าซิวิไลซ์สิ   กลับไม่เคร่งครัดจริงจัง   ฉะนี้   จึงควรถือได้ว่า   ประเพณีชายมีเมียคนเดียวนั้น   มิใช่น้ำเนื้อของอารยธรรม”

เรื่องนี้ย่อมน่าอ่านน่ารู้   ด้วยเหตุที่ว่า   เดี๋ยวนี้แม้กฎหมายจะกำกับเรื่องผัวเดียวเมียเดียว   แต่พฤตินัยก็ยังผัวเดียวหลายเมียกันอยู่ไม่น้อย   จึงน่าจะศึกษาที่มาที่ไปให้กระจ่าง   อย่างน้อย(บางคน)ก็อาจนำไปอ้างกับเมีย(หลวง)ได้   นี่ไม่ได้พูดแสดงทัศนะทางเพศที่กดขี่เอาเปรียบ   เพราะอยากชวนให้อ่านให้รู้จริงๆ

ตั้งแต่การโต้แย้งมโนทัศน์เรื่องผัวเดียวเมียของชนชั้นนำ   พุทธศาสนากับวัฒนธรรมผัวเดียวหลายเมีย   ต้นเรื่องการวิจารณ์ผัวเดียวหลายเมียผ่านสื่อสิ่งพิมพ์สยาม   ไปจนการตอบสนองของชนชั้นกลางต่อเรื่องสองประเด็นนี้   กระทั่งพระราชทัศนะต่อสาธารณะในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   จนถึงผัวเดียวเมียเดียวในวาระการปฏิวัติ  2475

ล้วนเป็นเรื่องตื่นเต้นน่ารู้ทั้งสิ้น   ว่าสังคมผ่านเรื่องนี้มาอย่างไร   เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก   ถกเถียงกันในคณะอภิรัฐมนตรีแบบไหน   กี่เสียงสนับสนุนผัวเดียวเมียเดียว   กี่เสียงสนับสนุนผัวเดียวหลายเมีย   จนมาเป็นกฎหมายและยังมีปัญหาของกฎหมายครอบครัววันนี้   และรู้ไหม   การประดิษฐ์พิธีสมรสในยุคสร้างชาติเกิดขึ้นอย่างไร

อ่านสนุกทีเดียวเชียว   ขอบอก

๐  ชีวิตของแต่ละคนย่อมมีเรื่องราวน่าสนใจผิดแผกกันไป   ถ้าได้เล่าสู่กันฟังแล้ว   ต่อให้เรียบง่ายไม่โลดโผนโจนทะยานก็ยังมีเนื้อหารายละเอียดที่น่ารู้   ไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือเดินดินกินข้าวแกงธรรมดาก็ตาม   เพียงแต่บ้านเรายังมีงานหนังสืออัตชีวประวัติน้อย   ไม่เหมือนฝรั่งตะวันตกที่ขี่จักรยานรอบประเทศเสร็จก็เขียนหนังสือได้เล่มหนึ่งแล้ว   ทำกับข้าวกินเองทุกวันก็เขียนหนังสือได้อีกเล่ม   เป็นต้น   แผนกอัตชีวประวัติในร้านหนังสือเมืองนอกจึงมีหิ้งหลายชั้นกว้างขวาง   ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของคนที่แน่นอนว่าเราไม่รู้จักเสียมาก

ดังนั้น   เมื่อชีวิตของนักไวโอลินครูดนตรีมีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย  โกวิทย์  ขันธศิริ  ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างละเอียดใน  ‘สี่สายไวโอลิน’  โดยศิษย์  เกษศิรินทร์  ซิกเกิล  กับ  ผาณิต  บุญมาก  หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณอนันต์ทั้งโดยเนื้อหาและอรรถรสจากชีวิตเจ้าของเรื่อง

ความพิสดารน่าตื่นเต้นเริ่มตั้งแต่พ่อของครู  สมบุญ  ขันธศิริ ชาวอยุธยาเมืองเก่า   นักซอสมัครเล่นที่สอนลูกชายหญิงให้เล่นดนตรีเอง   ทำซอให้ใช้เอง   และที่น่าบันทึกไว้คือ   อาจเป็นคนไทยคนแรกที่ทำไวโอลินขึ้นเองได้   ให้ลูกใช้งาน   เพราะไม่ว่าเดี๋ยวนี้หรือกว่าครึ่งศตวรรษก่อนไวโอลินย่อมเป็นของนำเข้าและราคาแพง  ฝีมือใช้ไม้ไทยสร้างไวโอลินขึ้นมานั้น   ขายได้ถึงหลักหมื่นในปี  2509  ซึ่งก๋วยเตี๋ยวชามละ  50  สตางค์   จนนักดนตรีฝรั่งชื่นชม   มอบแบบสร้างไวโอลินกับไม้สำหรับผลิตให้

แค่เรื่องพ่อก็น่าทึ่งแล้ว   ชีวิตของครูโกวิทย์ยิ่งน่าติดตาม   จนถึงคราวไวโอลินอายุนับร้อยปีที่ฝากวิญญาณไว้หายไป   ต้องพลิกแผ่นดินตามหานานถึง  5-6  ปีถึงได้คืน   ก็ยิ่งเห็นความรักอันลึกซึ้งในดนตรีของครูที่น่าซาบซึ้งใจ

หนังสือเล่มนี้อ่านเพลิน   ได้เรียนรู้โลกดนตรีไทยเราเองอีกมากมาย   ที่สำคัญ   ภาพประกอบซึ่งเก็บไว้อย่างดีตั้งแต่วัยเยาว์มาจนตลอดทุกช่วงชีวิต   ทำให้เห็นสีสันของครูได้สมบูรณ์ขึ้น   น่าหาอ่าน

๐  พิมพ์ครั้งที่  17  แล้ว  ‘ห้าสหายผจญภัย’ ของ  อีนิด  ไบลตัน  นักเขียนนิยายสำหรับเด็กและเยาวชนชาวอังกฤษ   ซึ่งมีชื่อมาแต่กว่าครึ่งศตวรรษก่อน   หนังสือสนุกชุดนี้  21  เล่ม   วางบนหิ้งให้ลูกหลานวัยเยาว์ได้ผจญภัยในจินตนาการกันได้อย่างอิ่มเอมทีเดียว

และสหายทั้ง  4  กับอีกหนึ่งสุนัขแสนรู้จากงานชุดนี้   จะจำหลักในความทรงจำของนักอ่านรุ่นเล็กไปอีกนานแสนนานทีเดียว.

 

บรรณาลักษณ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image