เปิดกรณีศึกษาครั้งแรกนักอนุรักษ์จีนฟ้องบริษัทสร้างเขื่อนยักษ์ใหญ่ลุ่มน้ำโขง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซด์ sixthtone.com รายงานข่าวว่า กลุ่มเอ็นจีนโอด้านสิ่งแวดล้อมของจีน  “เฟรนดส์ออฟเนเจอร์” (Friends of Nature) ได้ยื่นฟ้องศาลในประเทศจีน กรณีเขื่อนที่กำลังก่อสร้างบนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยฟ้องต่อบริษัทสร้างเขื่อน โดยเป็นข้อกล่าวหาที่มีต่อบริษัทไชน่ารีซอสเซสสิบสองปันนา (China Resources Power Yunnan Xishuangbanna) จำกัด และบริษัท Kunming Engineering จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ  โดยบริษัทคุณหมิงเอ็นจีเนียริ่ง เป็นบริษัทลูกของ Power Construction Corporation of China ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนที่ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัท Fortune Global 500  และมีมูลค่าทางธุรกิจ 87 พันล้านเหรียญ

รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มเฟรนด์ออฟเนเจอร์ ได้ฟ้องร้องต่อศาลให้บริษัทไชนารีซอสเซส ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในการสร้างเขื่อน หยุดการตัดไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ ให้แก้ไขผลกระทบด้านนิเวศวิทยาเนื่องจากการสร้างเขื่อน และให้ร่วมกับบริษัทด้านวิศวกรรม รับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในบริเวณก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเขาหุยหลง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว  ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่จะต้องหากระบวนการนำไปสู่ความถูกต้อง  ถือว่ากลุ่มอนุรักษ์ของจีนเขาได้พยายามใช้สิทธิที่เขามีอยู่ตามกฎหมายในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของเขา เป็นปรากกฎการณ์ใหม่ที่ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมต่อเจ้าของโครงการต่างๆ ถือเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ข้อกฎหมายในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่พยายามพูดมาตลอดว่ากฎหมายยังไปไม่ถึง ทำอะไรไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ต้องทำและสร้างต่อไป และกลายเป็นเรื่องสำคัญไปแล้วและเห็นช่องทางทางกฎหมายแล้ว และคิดว่าถ้าเจ้าของโครงการขนาดใหญ่ไม่ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมและประชาชนเช่นกรณีนี้ ก็อาจจะมีการฟ้องในลักษณะนี้รายโครงการมากขึ้นทั่วแม่น้ำโขงในอนาคตแน่นอน

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ล่าสุดกลุ่มรักษ์เชียงของ ในนามกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ได้ทำหนังสือถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สอบถามเกี่ยวกับสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง บนแม่น้ำโขงใกล้พรมแดนไทยลาว โดยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมาว่า กฟผ.เพิ่งได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า  คณะอนุกรรมการประสานงานความร่วมมือด้านพลังไฟฟ้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้มีมติให้รอความชัดเจนของการทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan) ฉบับใหม่  กฟผ.จึงยังไม่มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบงในขณะนี้

Advertisement

“เป็นสิ่งที่กฟผ.และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซื้อขายพลังงาน ต้องพิจารณาให้รอบด้านและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ต้องพิจารณาถึงความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่เป็นอยู่ หรือปัญหาของโครงการดังกล่าวที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนริมแม่น้ำโขง   ไม่อยากให้เป็นเหมือนการซื้อขายไฟฟ้าที่ทำแบบเร่งด่วนเหมือนกรณีเขื่อนไซยะบุรีที่ปัญหาผลกระทบยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน แต่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไปแล้ว” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าว

นส. ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานและนักกฎหมาย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของประเทศจีนที่จะคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น  และเป็นที่ทราบกันว่าจีนสร้างเขื่อนไว้มากมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ โครงการนี้เป็นเขื่อนที่ก่อสร้างในประเทศจีน โดยบริษัทของจีน จึงสามารถฟ้องได้เลย แต่สิ่งที่ก้าวหน้ากว่านั้น คือ เป็นการฟ้องเอกชนขณะที่เขื่อนกำลังสร้าง ซึ่งผลกระทบโดยตรงจากตัวเขื่อนยังไม่เกิด คงมีแต่ผลกระทบขณะก่อสร้าง ส่วนในประเทศไทย การที่จะฟ้องโครงการใดๆของเอกชน โดยการฟ้องตรง จะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างไปแล้ว หรือเกิดผลกระทบขึ้นแล้ว ซึ่งในประเทศไทยการฟ้องเรื่องเขื่อนยังไม่มี

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีคดีการฟ้องร้องต่อบริษัทเอกชนของจีนให้ยุติการก่อสร้างเขื่อนหุยหลง มีชื่อของบริษัท Kunming Engineering Corporation จำกัด  ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยในคดีนี้ร่วมด้วย ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทเดียวกับที่จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ของโครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยกลุ่มบริษัทต้าถังโอเวอร์ซีส์อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) เป็นผู้ได้รับสัมปทาน   ซึ่งจาการทบทวนของผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่า รายงานการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของเขื่อนปากแบงมีข้อบกพร่องหลายจุด มีการใช้ข้อมูลที่ไม่ทันต่อสถานการณ์และมีการเก็บข้อมูลที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะประเด็น อุทกธวิทยาการไหลของน้ำและการประมง ซึ่งผลการศึกษาขัดกับรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่ทำการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image