ตามรอย ‘สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร’ จากกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงอังวะ

พระเจดีย์ชเวซีโกง เมืองพุกาม ซึ่งมีจารึกพระเจ้ากรุงอังวะกล่าวถึงการเอาชนะกรุงศรีอยุธยา

เหตุการณ์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 อยู่ในความสนใจของนักวิชาการและบุคคลทั่วไปจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากบทความ, สารคดี, ภาพยนตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะวีรกรรมต่างๆ เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่ว่าจะเป็นการตีฝ่าวงล้อม, การวางแผนการเดินทัพไปรวบรวมกำลังไพร่พลที่จันทบุรี, การปราบปรามกลุ่มก๊กต่างๆ ฯลฯ

เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ “ฮึดสู้” จนกลับมาได้รับชัยชนะและได้เอกราชคืน กลายเป็นภาพจำของคนส่วนใหญ่ จนดูเหมือนเราจะลืมไปว่าก่อนหน้านั้นเราแพ้ และต้องเป็นเชลย

คนไทยที่ต้องไปพม่าในครั้งนั้นมีตั้งแต่ ชาวบ้านทั่วไป, แม่ทัพนายกอง, ขุนนางข้าราชสำนัก เจ้านายชั้นสูง ฯลฯ

รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา ทำงานวิชาการเรื่องนี้อย่างจริงจังค้นคว้าเอกสารชั้นต้นและชั้นรองหลายสิบรายการ รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลเขียนบทความชื่อ “ตามรอยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด จากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงอมรปุระ” ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2561

Advertisement

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กับกรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) ที่ทรงมีพระชะตาพลิกผันยิ่ง

เมื่อเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถูกลงโทษจนทิวงคต (เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทรงเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์) ทำให้ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่างลง

พระราชโอรสที่มีอิสริยยศและอยู่ในลำดับที่จะได้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มี เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (พระเชษฐาร่วมพระราชชนกและพระราชชนนีเดียวกัน) และเจ้าฟ้าอุทุมพร หากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเลือกสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพร แทนตำแหน่งที่ว่าง และโปรดให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์เสด็จออกไปทรงผนวชที่วัดละมุด ปากจั่น

Advertisement
ภาพนี้คือ พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์อยุธยา (เดิมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นภาพสมเด็จ พระเจ้าอุทุมพร) ในสมุดภาพพม่าชื่อ “นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท” แปลว่า “เอกสารการ บันทึกราชสำนัก พร้อมด้วยภาพเขียน” ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ British Library กรุงลอนดอน

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระประชวรหนัก จึงได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

แต่เรื่องราวไม่ได้เป็นไปโดยง่าย

พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่เกิดจากพระสนมคือ กรมหมื่นสุนทรเทพ, กรมหมื่นเสพภักดี, กรมหมื่นจิตรสุนทร ได้เตรียมการซ่องสุมอาวุธหวังช่วงชิงแผ่นดิน ก่อนที่กรมหมื่นทั้งสามจะถูกจับมาสำเร็จโทษ

นอกจากนี้ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ก็ทรงปรารถนาราชสมบัติเช่นกัน พระองค์เสด็จมาประทับพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ไม่ยอมเสด็จไปประทับที่อื่นๆ แม้ว่าขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจะเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว สุดท้ายพระองค์ก็ถวายราชสมบัติให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์แล้วเสด็จออกไปทรงผนวช

แต่ก็มี “บางส่วน” ที่ยังไม่ยอมรามือ

หอคอยในพระราชวังเมืองรัตนบุระอังวะ

ขุนนางผู้ใหญ่และเจ้านายบางส่วนวางแผนจะถอดสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ แล้วหวังจะให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกลับมาทรงครองแผ่นดิน เมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงทราบข่าวนี้ จึงเสด็จฯไปแจ้งข่าวแก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แล้วเสด็จฯกลับไปยังวัดประดู่ทรงธรรม

ต่อมาอยุธยาทำศึกกับพม่าที่มีพระเจ้าอลองพญาเป็นผู้นำทัพ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงทรงลาสิกขามาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยา หากเมื่อเสร็จศึกพม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงระแวงสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงเสด็จออกผนวชอีกครั้ง

จนปี พ.ศ.2310 ที่เกิดสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พระเจ้ามังระ ปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ที่กระด้างกระเดื่องเสร็จสิ้น จึงโปรดให้ มังมหานรธา และ เนเมียวมหาเสนาบดี เป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2309 โดยแบ่งเส้นทางเดินทัพเป็น 3 ทาง คือ

1.ทางเมืองทวาย มีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ คุมกำลังทหาร 15,000 คน

2 ทางเมืองเชียงใหม่ มีเนเมียวมหาเสนาบดีเป็นแม่ทัพ คุมกำลังทหาร 20,000 คน

3.ทางด่านเมืองอุทัยธานี มีแมงกิม้าระหญ่าเป็นแม่ทัพ คุมกำลัง 3,000 คน

กองทัพกรุงศรีอยุธยาที่ออกไปรับศึกตามหัวเมืองต่างๆ แพ้กลับมาจนต้องถอยเข้ามายังพระนคร สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงมีดำรัสให้นิมนต์พระราชาคณะจากวัดต่างๆ นอกพระนครให้เข้ามาอยู่ในพระนครเสีย สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรที่ทรงพระผนวชอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม จึงได้เสด็จฯเข้ามาประทับ ณ วัดราชประดิษฐาน

เมื่อกองทัพพม่าตีเข้ามาพระนครศรีอยุธยาได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 จึงเผาทำลายเมืองและกวาดต้อนผู้คนไปยังพม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์สวรรคตระหว่างเสด็จพระราชดำเนินหนีออกจากพระนคร

ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็ถูกพม่ากวาดต้อนไปยังกรุงอังวะพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ ซึ่งมีทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในตั้งแต่ พระอัครมเหสี, พระมเหสี, พระภคินี, พระราชธิดา, พระราชโอรส, พระราชนัดดา ฯลฯ รวมถึงไพร่พลชาวกรุงศรีอยุธยาด้วย

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรประทับอยู่ที่เมืองอังวะประมาณ 16 ปี พ.ศ.2325 พระเจ้าโบดอพญาปะโดเมง หรือพระเจ้าปดุง แห่งราชวงศ์คองบอง ทรงย้ายราชธานีจากกรุงอังวะไปเมืองอมรปุระ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็ต้องทรงย้ายไปด้วย และเมืองอมรปุระก็เป็นเมืองที่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรสวรรคต

โดยรายละเอียดเรื่องเชลยชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางที่ใช้เดินทางกลับพม่า, การกำหนดพื้นที่พำนักสำหรับเจ้านายฝ่ายในและฝ่ายหน้า ตลอดจนไพร่พลทั่วไป, หลักฐานการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ฯลฯ

จารึกที่กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จมาประทับจำพรรษาที่เมืองอมรปุระ ณ วัดปองเล ในย่านตลาดระแหง เมืองอมรปุระ

ขอได้โปรดติดตามจาก “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2561 นี้

มาดูกันว่าเอกสารต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น “มหาราชวงศ์ พงศาวดารพม่า”, “สมุดภาพนั้นเตวั้งรุปซุงประบุท” (เอกสารการบันทึกราชสำนักพร้อมภาพเขียน) ซึ่งราชเลขาราชจอว์เทง พระราชนัดดาของพระเจ้าปดุงเป็นผู้บันทึก ฯลฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมหรือแตกต่างไปจากเอกสารฝ่ายไทยอย่างไร

ประตูเมืองรัตนบุระอังวะ
พระสถูปที่วัดเยตะพัน (วัดมะเดื่อ) ทางใต้ของเมืองอังวะ ตามหลักฐานในคำบอกเล่าของชาวพม่าว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชได้มาประทับอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลากว่า 16 ปี และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปจากไม้มะเดื่อประดิษฐานไว้ภายในพระสถูปนี้
“วัดโยเดีย” เมืองอมรปุระ ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
จิตรกรรมแสดงถึงชาวโยเดีย ที่วัดเจาตอจี เมืองอมรปุระ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image