4 พันเก้าอี้..ผู้บริหาร ร.ร.ร้าง!! กระทบ..คุณภาพ “การศึกษา-เด็กไทย”??

กลายเป็นปัญหา “เรื้อรัง” และอาจจะลุกลามบานปลายออกไป กรณีตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” และ “รองผู้อำนวยการ” สถานศึกษา ประมาณ 4,000 อัตรา ที่ยัง “ว่าง” มานานกว่า 1 ปี และยังไม่มีทีท่าที่จะบรรจุแต่งตั้งได้

อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มว่าตำแหน่งผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ จะว่างเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ หรือรองผู้อำนวยการในปัจจุบัน จะทยอยเกษียณอายุราชการไปเรื่อยๆ

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการแต่งตั้ง “รักษาการ” ผู้อำนวยการให้บริหารงานในโรงเรียนเหล่านั้นไปก่อน หรือหากโรงเรียนนั้นๆ ไม่มีรองผู้อำนวยการ ก็จะให้ผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง นั่งบริหารงานควบคู่กันไป

แต่ดูเหมือนเวลายิ่งผ่านไปเนิ่นนาน ปัญหาต่างๆ ก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง แต่กลับพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มีทีท่าว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง จะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

Advertisement

ทำให้ กลุ่มสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เร่งสอบบรรจุผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ แทนตำแหน่งว่าง ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนดังหลายๆ แห่ง ทยอยออกมาเรียกร้องให้ ก.ค.ศ.เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

แทนที่จะนั่งรอคำสั่ง “ศาลปกครองสูงสุด” เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 เนื่องจากมีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองอุบลราชธานี และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ประทับรับฟ้องคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี (กศจ.อบ.) และคณะอนุกรรมการ กศจ.อบ.เป็นจำเลยกรณีย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน ประจำปี 2559 โดยมิชอบ รวม 33 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 จากกรณีการโยกย้าย และแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษา ประจำปี 2559 ตามมติ กศจ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 โดยไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีการให้คะแนนที่มีผลต่อการย้าย และแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป แต่ทั้งหมดให้การปฏิเสธ

Advertisement

ขณะที่ศาลปกครองอุบลราชธานี มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ให้ทุเลาบังคับคดีดังกล่าว

นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.จึงได้ทำหนังสือถึง ศธจ.ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระบุว่า เนื่องจากศาลปกครองอุบลราชธานีมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามข้อ 10 และข้อ 11 ของหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. (ว24/2560) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธาน ก.ค.ศ.จึงมอบหมายให้สำนักงาน ก.ค.ศ.แจ้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ให้ชะลอการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ.ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับ

ล่าสุด ผู้อำนวยการโรงเรียนดังหลายแห่งมองว่าปัญหาฟ้องร้องที่เกิดขึ้น เนื่องจากการปรับแก้ระเบียบของ ก.ค.ศ.ที่ไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ดังนั้น ก.ค.ศ.ควรเร่งสอบบรรจุผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ แทนตำแหน่งว่าง เพราะปัจจุบันมีโรงเรียนที่ขาดผู้บริหารจำนวนมาก บางแห่งขาดทั้งผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ ซึ่งส่งผลกระทบกับการบริหารจัดการ ขณะที่ “ผู้รักษาการ” ก็ไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ

ที่สำคัญ ขณะนี้่มีตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนว่างเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4,000 ตำแหน่ง ทาง ส.บ.ม.ท.และผู้อำนวยการโรงเรียน จึงเห็นว่า ก.ค.ศ.ควรเร่งแก้ไขเรื่องนี้ ไม่ใช่นั่งรอคำสั่งศาลเฉยๆ เพราะผู้บริหารโรงเรียนเกษียณฯ ทุกปี จึงอยากให้ ก.ค.ศ.ฟันธงว่าจะทำอย่างไร หรือทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ไม่ทำอะไร และปล่อยให้ สพฐ.แก้ปัญหาเอง

ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งคำถามเกิดขึ้นว่า หาก ก.ค.ศ.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ทำได้เพียงแค่รอ “คำตัดสิน” ของศาล ทั้งศาลปกครองสูงสุด หรือศาลอาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีกันอีกหลายปี

จะยิ่งทำให้ปัญหาต่างๆ บานปลายหรือไม่ เนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ ทยอยว่างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเกษียณฯ ลาออก ตาย และอื่นๆ

ฉะนั้น ระหว่างที่รอศาลพิจารณาคดี และมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอื่นหรือไม่ นอกเหนือจากที่ สพฐ.แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการแต่งตั้งรักษาการ หรือให้ผู้บริหารโรงเรียนใกล้เคียง ทำหน้าที่บริหารควบคู่กันไป

ซึ่งหนึ่งในหลายๆ แนวทางที่น่าจะเป็น “ทางออก” ในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ คือการเสนอหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ใช้ “มาตรา 44” ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แทนที่จะรอให้ศาลพิจารณาคดีเพียงอย่างเดียว

ก่อนที่โรงเรียนทั่วประเทศ จะ “ร้าง” ผู้อำนวยการไปมากกว่านี้

เพราะนอกจากจะใช้ระยะเวลายาวนานแล้ว ความ “เสียหาย” ที่เกิดขึ้นจากความ “ล่าช้า” ในการแก้ปัญหาของ ศธ.ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพ “การศึกษา” หรือคุณภาพของ “เด็กไทย” ก็อาจจะเกินกว่าที่จะ “เยียวยา” ได้

ก็ต้องติดตามว่า ศธ.จะหา “ทางออก” ในเรื่องอย่างไร ก่อนที่ทุกอย่างจะถึง “ทางตัน” ไปกว่านี้!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image