ตะลึงหญิงไทยรับควันบุหรี่มือสองในบ้าน8ล้านคนที่ทำงาน1.3ล้านคน สาเหตุทำหน้าแก่แถมมีลูกยาก

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในงานเสวนา “พิษของบุหรี่ต่อสตรี ยิ่งมีมากกว่าบุรุษ” ว่า แม้อัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทยในปัจจุบันจะไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ชาย โดยอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ส่วนผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 40.5 แต่จากการสำรวจความชุกการสูบบุหรี่ของนักเรียนไทยอายุ 13-15 ปี พบว่า วัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 5 ในปี 2558 ขณะที่นักเรียนชายยังคงที่อยู่ประมาณร้อยละ 21 ถือเป็นสัญญาณอันตราย โดยประเด็นที่น่าห่วงคือเยาวชนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งมีแนวโน้มเยาวชนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น เพราะมีหลักฐานการวิจัยจากต่างประเทศว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อมากลายไปสูบบุหรี่ธรรมดา โดยข้อมูลผลการสำรวจการบริโภคยาสูบเยาวชนระดับโลก พบว่า เยาวชนอายุ 13-15 ปีของประเทศไทยปี 2558 มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 3.3 เป็นเยาวชนชายร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิง ร้อยละ 1.9 โดยมีความเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า นอกจากนี้ จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2557 ระบุว่า หญิงไทยจำนวนมากมีความรู้ไม่มากพอเรื่องอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยจากคำถามถึงการรับรู้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมารดาคลอดทารกก่อนกำหนด 28-34 สัปดาห์ พบว่า มีคุณแม่ที่ไม่สูบบุหรี่เพียงร้อยละ 54.3 รู้ว่ามีอันตราย ส่วนคุณแม่ที่สูบบุหรี่มีเพียงร้อยละ 39.5เท่านั้นที่รู้ว่าการสูบบุหรี่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ ขณะที่ผลการสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ของประเทศไทย พบว่า การรับควันบุหรี่มือสองภายในบ้านนั้น ผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 8.46 ล้านคน ผู้ชายราว 3.11 ล้านคน การรับควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน ผู้หญิงประมาณ 1.34 ล้านคน ผู้ชาย 1.24 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบรายภาคพบว่า การรับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ภาคใต้สูงสุด 2.2 ล้านคน อัตราอยู่ที่ร้อยละ 43.5 ภาคอีสาน 3.9 ล้านคน อัตราร้อยละ 29 ภาคกลาง 2.7 ล้านคน หรือ อัตราร้อยละ 27.6 ภาคเหนือ 2 ล้านคน อัตราร้อยละ 25.9 และ กทม. 6 แสนคน หรืออัตราร้อยละ 13.2

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่มีผลสุขภาพของสตรีตลอดชีวิต คือ 1.ระบบประจำเดือนและอนามัยเจริญพันธุ์ พบว่า จะทำให้ปวดประจำเดือนมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ มีบุตรยากทั้งระดับปฐมภูมิคือไม่เคยมีบุตรมาก่อน และตติยภูมิคือที่เคยมีบุตรมาแล้วก็มีได้ยากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะประเทศไทยอัตราการเกิดน้อยลงคาดว่าปี 2560 น่าจะต่ำกว่า 7 แสนราย ซึ่งบุหรี่จะยิ่งซ้ำเติมเรื่องมีบุตรยากมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ยังทำให้อาการวัยทองมากขึ้นและรุนแรงขึ้น คือประจำเดือนหมดเร็วขึ้น บางส่วนมีอาการร้อนวูบวาบ ใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ โดยเป็นมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ประจำเดือนหมดเร็วขึ้น

ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า 2.การตั้งครรภ์ การคลอด และทารก โดยน้ำหนักทารกแรกเกิดน้อยลง 200-250 กรัม น้ำหนักน้อยเมื่อเทียบกับอายุครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงการตายคลอด การตายของทารกหลังคลอด และการตายของทารกอย่างกะทันหัน รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากห่วงการสูบบุหรี่หรือไม่ ทำให้ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 3.ระบบหัวใจและหลอดเลือด พบว่า เสี่ยงหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน และเส้นเลือดสมองแตก เช่นเดียวกับผู้ชาย 4.โรคปอด ทั้งหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง 5.มะเร็ง คือ มะเร็งปอดที่มีผลโดยตรงอยู่แล้ว และมะเร็งอย่างอื่นที่จะพบมากขึ้นจากการสูบ เช่น มะเร็งปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต และมะเร็งปากมดลูก ทั้งที่เป็นมะเร็งที่คัดกรองได้เร็วกว่ามะเร็งอื่น ควบคุมได้ง่ายกว่า โดยคนสูบบุหรี่และติดเชื้อเอชพีวี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนไม่สูบ ดังนั้น การสูบบุหรี่น้อยลงจะช่วยในการควบคุมมะเร็งปากมดลูก นอกจากการใช้วัคซีนเอชพีวีด้วย

Advertisement

ศ.นพ.ภิเศก กล่าวว่า 6.ความหนาแน่นของกระดูกน้อยลง ความเสี่ยงสะโพกหักมากขึ้น และ 7.สุขภาพอย่างอื่น เช่น พบภาวะซึมเศร้ามาขึ้น การอักเสบของปริทันต์ ถุงน้ำดีอักเสบมากขึ้น เป็นโรคกระเพาะมากขึ้น ต้อกระจก หน้าตาเหี่ยวย่นจาการทำลายคอลลาเจน และ อายุขัยสั้นลง ซึ่งจากการที่ตนเคยทำงานกับองค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศเดียวที่อายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย คือประเทศเนปาล ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้หญิงสูบบุหรี่สูงมาก จึงน่าจะมีควมสัมพันธ์ทำให้อายุขัยแตกต่างระหว่างหญิงชายน้อยลง สำหรับการดำเนินงานของราชวิทยาลัยฯ ในเรื่องนี้ คือ สูตินรีแพทย์ต้องมีการถาม หญิงตั้งครรภ์ว่ามีการสูบโดยตรงหรือรับควันบุหรี่โดยอ้อมหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสมุดฝากครรภ์ของกรมอนามัยก็จะมีคำถามเรื่องการสูบบุหรี่หรือรับควันบุหรี่มือสองหรือไม่ด้วย ซึ่งหากพบก็ให้คำแนะนำ และการป้องกัน เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์มีความรอบรู้ทางสุขภาพมากขึ้นว่าบุหรี่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากทั้งตนเองและทารกในครรภ์ และต้องประเมินว่าหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการลดละเลิกสูบมากน้อยเพียงใด เพื่อจะช่วยให้ได้รับการดูแลรักษาลดเลิกบุหรี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image