สพฐ. เล็งถกผอ.เขตฯดูข้อกม.ชง‘หมอธี’ดันสอบผอ.ร.ร.

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นายบุญรักษ์  ยอดเพชร  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้ากล่าวถึงกรณีที่ที่สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)และผู้อำนวยการโรงเรียน เรียกร้องให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สอบบรรจุผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการแทนตำแหน่งว่างซึ่งมีมากกว่า 4,000 อัตรา ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ โดยเสนอให้สงวนตำแหน่งว่างที่มีผู้ยื่นคำร้องขอย้ายระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2560 ไว้ก่อน รอจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว  ส่วนตำแหน่งว่างที่ไม่มีผู้ยื่นคำร้องขอย้ายในระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2560  หรือตำแหน่งว่างที่เกิดขึ้นหลังจากการยื่นคำร้องขอย้ายตามคำสั่งให้ทุเลากรณี ให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลาการทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) และมีมติให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งพร้อมหนังสือสำนักงานก.ค.ศ.ที่ศธ. 0206.4/ว9 ตามคำแนะนำของศาลปกครองอุบลราชธานี หรือปรับปรุงหลักเกณฑ์ย้ายผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ โดยเร็ว ว่า เรื่องนี้ต้องเสนอให้ก.ค.ศ. พิจารณา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังไม่กล้าคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดได้จริง ๆ แต่จะรับมาพิจารณาความเป็นไปได้ โดยจะนำเข้าหารือในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)และผู้ที่เกี่ยวข้อง วันที่ 15-16 มีนาคมนี้

“สพฐ.รับฟังเรื่องนี้ ข้อเสนอของส.บ.ม.ท. เป็นเจตนาที่จะทำให้เกิดผลดี  แต่ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้หรือไม่ จะเกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ ผมขอหารือกับตัวแทนผู้อำนวยการสพท. และผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งในการประชุมวันดังกล่าว จะมีการหารือ ประเด็นปัญหาเชิงบริหารที่ติดขัดในหลายประเด็น ทั้งในส่วนของโรงเรียนและสพท.  เพื่อเสนอให้นพ.ธีระเกียรติ   เจริญเศรษฐศิลป์  รัฐมนตรีว่าการศธ. พิจารณาแก้ปัญหาต่อไป  อย่างไรก็ตามปัญหาการย้าย  และการสอบบรรจุผู้อำนวยการโรงเรียน  มีปัญหาติดขัดที่ข้อกฎหมาย  ซึ่งจะบอกว่า เป็นปัญหาวิกฤตหรือไม่ อยู่ที่มุมมอง  หากมองในเชิงบริหารจัดการที่สพฐ. ทำ ขณะนี้ยังไม่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนครบทุกแห่ง  แต่ในเชิงคุณภาพก็อาจจะกระทบถึงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ บางโรงเรียนคนรักษาการ ไม่ใช่รองผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นครู ก็อาจจะไม่กล้าตัดสินใจบางเรื่อง ทำให้งานช้าไป แต่ส่วนใหญ่แล้วคิดว่า ถ้าจะสะดุดเชิงบริหาร โรงเรียนประถมศึกษาจะได้งบฯประจำเชิงรายหัว  งบฯ เรียนฟรี ฉะนั้นเรื่องที่จะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง โรงเรียนปกติไม่ได้มีทุกปี  ถ้าถามว่าวิกฤตหรือไม่ ก็อยู่ที่มุมมอง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำตามกฎหมาย“นายบุญรักษ์กล่าว

นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เรียกร้องให้มีการสอบบรรจุครูผู้ช่วยในช่วงเดือนเมษายน เช่นเดิมนั้น เรื่องนี้อยู่ที่นโยบายก.ค.ศ.  ซึ่งข้อเสนอนี้ทางสพฐ. และก.ค.ศ. อาจจะต้องร่วมกันคิด ว่าร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วยใหม่ จะสามารถดำเนินการได้เร็วแค่ไหน  ซึ่งสพฐ. ก็คิดเช่นเดียวกัน ว่าเรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการ แต่ก็ต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบต่าง ๆ ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image