แรงงานผู้สูงอายุ โดย เฉลิมพล พลมุข

ผู้สูงอายุหรือคนแก่คนชรานับว่าเป็นช่วงวัยของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายประเทศ
ทั่วโลก เขาเหล่านั้นได้ผ่านโลกและชีวิตมายาวนานเพื่อก้าวย่างเข้าสู่วัยดังกล่าว การผ่านวันเวลาและประสบการณ์ต่างๆ ของชีวิตที่รอดมาถึงปัจจุบันได้นับว่าเป็นบุคลากรสำคัญของชาตินั้นๆ ในมิติและบริบทต่างๆ

ในสังคมโลกปัจจุบัน ชีวิตของผู้คนส่วนหนึ่งที่ได้เกิดมาลืมตาดูโลกแล้วหลายๆ คนมีชีวิตอยู่ที่ยาวนานผ่านปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของชีวิตทั้งการศึกษาเล่าเรียน หน้าที่การงาน โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ การฆาตกรรม อาจจะรวมไปถึงปัญหาทางด้านการเมืองที่มีการฆ่าและทำร้ายร่างกายกันอันเป็นเหตุให้ชีวิตต้องยุติก่อนวัยอันควร

เมื่อเร็ววันมานี้มีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศกลุ่มยุโรปหรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสำนักงานอยู่ที่เมืองปารีสประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันมีสมาชิก 34 ประเทศ ได้มีข้อมูลถึงการจ้างแรงงานของผู้สูงอายุมีอัตราสูงขึ้นตามลำดับ การรับสมัครแรงงานผู้สูงอายุระหว่างอายุ 55-64 ปี ในช่วงปี พ.ศ.2543-2559 เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 14 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 58.4 ในปี พ.ศ.2559 ขณะเดียวกันมีการจ้างแรงงานระหว่างอายุ 24-54 ปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 76.8 ในปี พ.ศ.2543 เป็นร้อยละ 58.4 ในปี พ.ศ.2559

การจ้างแรงงานของผู้สูงอายุจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกหรือคนที่ทำงานตั้งแต่อายุ 65-69 ปี มีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ประเทศที่มีการจ้างแรงงานผู้สูงอายุลำดับที่ 1 คือ อินโดนีเซีย ร้อยละ 50.6 ลำดับที่ 2 เกาหลีใต้ ร้อยละ 45 ลำดับที่ 3 ญี่ปุ่น ร้อยละ 42.8 ลำดับที่ 4 นิวซีแลนด์ ร้อยละ 42.6 ลำดับที่ 5 อิสราเอล ร้อยละ 39.9 ลำดับที่ 6 จีน ร้อยละ 36.0 ลำดับที่ 7 อินเดีย ร้อยละ 35.8 ลำดับที่ 8 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 31.0 ลำดับที่ 9 บราซิล ร้อยละ 28.1 ลำดับที่ 10 ออสเตรเลีย ร้อยละ 25.9 (มติชนสุดสัปดาห์ 23 ก.พ.-1 มี.ค.2561 หน้า 108)

Advertisement

ประเทศที่มีการจ้างแรงงานผู้สูงอายุต่ำสุดก็คือ ประเทศสเปน มีการจ้างร้อยละ 5.3 และประเทศฝรั่งเศส มีการจ้างในร้อยละ 6.3 สำหรับประเทศเกาหลีใต้มีการเกษียณอายุที่ 72 ปี และรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นประกาศขยายอายุเกษียณจากเดิม 60 ปี เป็น 65 ปีภายในปี 2025 หรืออีกเจ็ดปีข้างหน้า ในปัจจุบันมีหลายบริษัทในอเมริกามีโครงการสนับสนุนรับผู้สูงอายุเข้าทำงานโดยเขาเหล่านั้นต้องมีประสบการณ์และทักษะงานของบริษัท อาทิ ธนาคารบาร์เคลย์, ฟอร์ดและบริษัทที่ปรึกษา บูซ อัลเลน แฮมิลตัน (Booz Allen Hamilton)

การจ้างแรงงานของผู้สูงอายุในประเทศอินโดนีเซีย ในอัตราสูงก็เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศดังกล่าวมีพลเมืองของประเทศอยู่ที่ 253 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ผู้คนส่วนหนึ่งมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สอดคล้องกับธรรมชาติมีพื้นที่อาศัยเป็นเกาะต่างๆ จำนวนมาก มีอากาศที่บริสุทธิ์ มีอาหารจากทะเลรับประทานทุกวัน ผู้สูงอายุส่วนหนึ่งมีอายุยืนรวมถึงทักษะการทำงานที่มีประสบการณ์มากกว่าคนรุ่นหนุ่มสาว

ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสไปประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่ได้พบเห็นก็คือพนักงานขับรถแท็กซี่หรือขับรถโดยสารส่วนหนึ่งก็จะเป็นผู้สูงอายุ รวมถึงพนักงานยกกระเป๋า ต้อนรับและพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมจะทำงานด้วยความขยันขันแข็งและมีความรับผิดชอบต่อหน่วยงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ
สิ่งหนึ่งที่เราท่านได้พบเห็นคนญี่ปุ่นในสังคมไทยก็คือเขาเหล่านั้นเป็นผู้บริหารของบริษัท ความทุ่มเทการทำงาน การตรงต่อเวลา ความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน รวมถึงความรับผิดชอบของบริษัทต่อสังคมทั้งระบบสิ่งแวดล้อม สาธารณะ การกุศล การศึกษา

Advertisement

สําหรับประเทศที่มีการจ้างแรงงานของผู้สูงอายุในระดับต่ำก็เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้น รัฐบาลในฐานะผู้ที่รับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตคนในประเทศที่ให้ความสำคัญต่อรัฐสวัสดิการตลอดทั้งชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงแก่ความตาย โดยมีกฎหมายและวิถีแห่งการปฏิบัติงานไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ ในประเทศเยอรมนี มีการตรากฎหมายถึงการประกันความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพพลภาพและประกันผู้ชรา ทางลาดชันสำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุ รถนั่งผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การรักษาพยาบาลในโรคต่างๆ การมีเงินออมหรือเงินเก็บ การประกันชีวิต การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ รวมถึงสถานที่ให้การดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร บางประเทศผู้สูงอายุสามารถทำพินัยกรรมของชีวิตถึงเจตจำนงไม่ประสงค์จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

ในสังคมไทยเราก็ได้ก้าวย่างเข้าสู่สังคมของคนแก่ คนชราหรือผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ขณะนั้นมีประชากรไทยทั้งประเทศ 64.6 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 9.6 ล้านคน คาดว่าในปี พ.ศ.2573 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุถึง 17.6 ล้านคน หรือร้อยละ 26.3 และคาดว่าในปี พ.ศ.2595 เมืองไทยเราจะมีประชากรทั้งประเทศที่ 62.45 ล้านคน เนื่องด้วยจำนวนเด็กเกิดลดน้อยและมีชีวิตอยู่รอดลดลงตามลำดับ

สำหรับสุขภาพของผู้สูงอายุในภาพรวมก็จะพบโรคประจำตัวก็คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคข้อเสื่อม สายตา หู ฟัน ระบบความจำ และโรคซึมเศร้า

มีข้อมูลหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อปี พ.ศ.2556 มีข้าราชการไทยขอใช้สิทธิยื่น “เออร์ลี่ รีไทร์” ในจำนวน 27,089 คน กรมบัญชีกลางต้องใช้งบประมาณไปในสิทธิดังกล่าวมากกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มีข้าราชการจากกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 12,801 คน กระทรวงกลาโหม 4,784 คน สนง.ตำรวจแห่งชาติ 3,282 คน กระทรวงสาธารณสุข 1,789 คน และมหาวิทยาลัย จำนวน 918 คน

บุคลากรหรือข้าราชการหลายคนเลือกใช้สิทธิดังกล่าวด้วยหลากหลายเหตุผล อาทิ ต้องการเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ รักษาตนเองจากการเจ็บป่วย ไปประกอบอาชีพอื่น อาจจะรวมไปถึงระเบียบ ประเพณีวัฒนธรรมองค์กรหน่วยงาน ระบบการทำงานในยุคปัจจุบันที่มีความสลับซับซ้อนทั้งระบบการประเมินผลงาน หรือบางรายอาจจะพบกับตนเองที่ว่า ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร การทำงานของตนต่อไปอาจจะมิได้มีความสุขจึงเลือกในสิทธิดังกล่าว

ข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือปัจจุบันยังมีข้าราชการอีกเป็นจำนวนมากที่รอขอใช้สิทธิดังกล่าวจากรัฐบาล คสช. นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีข้อพิจารณาดังกล่าวรวมอยู่ในการปฏิรูปหน่วยงานของภาครัฐรวมอยู่ด้วยหรือไม่

ระบบการทำงานของข้าราชการใน กรม กองต่างๆ ของเมืองไทยเราปัจจุบัน สัดส่วนระหว่างข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างมีสัดส่วนที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ การบริหารงานจัดการในระดับยอดของพีระมิดยังคงอยู่ในบริบทของข้าราชการ บางหน่วยงานก็มีอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไปหลายปีแล้วเข้าไปบริหารจัดการระบบ

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปรากฏต่อสังคมที่สื่อได้นำเสนอมาตลอดในช่วงหลายปีก็คือ ระบบธรรมาภิบาล นิติธรรม สิทธิและหน้าที่ การเลือกปฏิบัติทั้งระเบียบข้อบังคับในทางกฎหมาย การเรียกร้อง ฟ้องร้องขอความเป็นธรรมในหน่วยงานของรัฐยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง

สังคมไทยเรามีความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเศรษฐกิจ การศึกษา สังคมอาจจะรวมไปถึงปัญหาทางด้านความรู้ ความคิดความเชื่อทางการเมืองที่มีความแตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้บริหารประเทศที่อยู่อีกช่วงวัยหนึ่งคือวัยผู้สูงอายุ ปัญหาหนึ่งระหว่างคนกลุ่มหนึ่งต้องการให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเสมือนในบางประเทศในเร็ววันนี้

หรืออีกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าการเลือกตั้งมิใช่การแก้ทางออกหรือปัญหาของประเทศในภาพรวม โดยมีข้ออ้างที่ว่าอาจจะได้นักการเมืองบางคนที่อาจจะเข้าไปก่อปัญหาให้แก่ชาติบ้านเมืองเหมือนอดีตกาลที่ผ่านมา

คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลไทยส่วนใหญ่ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลายๆ ท่านเป็นผู้สูงอายุ ผ่านหน้าที่ชีวิตการงานมาอย่างชำนาญการ ได้รับรู้ถึงเหตุบ้านการณ์เมืองไทยมาตามลำดับ รัฐมนตรีบางคนถึงกับเสนอความเห็นของตนเองในต่างประเทศที่ดูเสมือนว่าจะมีความขัดแย้งกันในเชิงอุดมการณ์ ความเชื่อ หลักของจริยธรรมบางนัยยะ

เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีได้นำคณะรัฐมนตรีและผู้นำเหล่าทัพเข้าอวยพรปีใหม่แด่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ตู่ ใช้กองหนุนไปเกือบหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว แต่ถ้าเราแสดงให้เห็นถึง ความปรารถนาดีที่มีต่อชนชาวไทย กองหนุนจะมาเอง…”

ภาพลักษณ์ของเมืองไทยเราที่ผ่านมาประเทศไทยเราถูกมองอีกภาพหนึ่งในสายตาของต่างประเทศที่รัฐบาล คสช.มีความพยายามจะแก้ปัญหา อาทิ การค้าแรงงานข้ามชาติ สิทธิและเสรีภาพ การตรวจจับอาวุธสงครามที่ผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติดหรือยาบ้า หรือสิ่งเสพติดที่ผิดกฎหมายที่กระจายอยู่ในกลุ่มของเด็ก เยาวชนไทย เด็กแว้น การพนัน การฟอกเงิน การทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงานของรัฐ การให้คำมั่นสัญญาที่จะมีการเลือกตั้งต่อนานาชาติ การจัดระเบียบแบบแผนของประเทศในบริบทต่างๆ จะเสร็จสิ้นในรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าหรือไม่

คนไทยเราส่วนหนึ่งยังมีวิถีชีวิตที่เป็นครอบครัวใหญ่ คือมีปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา ลูกหลานอยู่ในบ้านรั้วเดียวกัน ผู้เขียนอาจจะรวมถึงท่านผู้อ่านบางท่านมีความไม่แน่ใจว่า จะมีหน่วยงานของรัฐใดที่จะเข้าไปสำรวจเพื่อให้ได้ถึงตัวเลขที่ชัดเจนที่ว่า มีครอบครัวดังกล่าวอยู่จำนวนเท่าใด ผู้สูงอายุมีวิถีชีวิตเช่นใด คุณภาพชีวิตของเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไร

สิ่งหนึ่งที่เราท่านอาจจะพบเห็นตรงกันก็คือ ในตลาดชุมชน หรือเมื่อมีงานแสดง กิจกรรมสำคัญในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศเราท่านได้พบเห็นผู้สูงอายุจำนวนมากได้เข้าร่วมกิจกรรมอาทิ เป็นจิตอาสาในกิจกรรมต่างๆ

สิ่งหนึ่งที่ชาวต่างชาติให้ความสำคัญก็คือ ฝีมือในการทำอาหาร ขนม ของขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ซึ่งเป็นฝีมือหรือทักษะของชีวิตของแรงงานของผู้สูงอายุที่ได้สั่งสมประสบการณ์ความรู้ความสามารถมายาวนานมีชื่อเสียงไปยังนานาชาติ อาชีพสงวนของคนไทย หรือทักษะในช่างฝีมือที่ต้องการความละเอียดประณีตทั้งข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรืออาชีพข้าราชการบางสาขาวิชาชีพที่หน่วยงานของรัฐ ให้โอกาสในการต่ออายุราชการต่อไป อาทิ ผู้พิพากษา อัยการ แพทย์ ข้าราชการในอุดมศึกษา

เมืองไทยเรามีสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เป็นของรัฐกระจายอยู่ทั่วเมืองไทย มีวัดในศาสนาพุทธที่มีจำนวนมากกว่าสามหมื่นแห่ง เป็นสถานที่ได้ให้โอกาสที่สุดท้ายของชีวิตที่บวชเป็นหลวงตา แม่ชี ขณะเดียวกันก็มีชาวต่างชาติได้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร หลาย ๆ คนที่เป็นชาวต่างชาติเลือกที่จะหมดลมหายใจในแผ่นดินไทยอย่างมีความสุข

เราท่านที่อาศัยเกิดในแผ่นดินไทย มีชีวิตกินอยู่หลับนอน สร้างชีวิตฐานะ หน้าที่การงาน ชื่อเสียง วันหนึ่งต้องอยู่ไปจนถึงแก่ชรา หรือที่เรียกว่าผู้สูงอายุ

เราท่านจะได้ใช้แรงงาน สติปัญญาความรู้ความสามารถเพื่อส่งต่อให้บุตรหลานได้เขาดูแลชาติบ้านเมืองนี้อย่างดีแล้วหรือไม่เพียงไร

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image