คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง : เกาหลีใต้ปักธงลาว ชิงช่องว่างเกาหลีเหนือ

ช่วงนี้หากข้ามโขงไปฝั่งลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครหลวงเวียงจันทน์ จะได้พบกับร้านค้าหน้าใหม่มากมายที่ปรับปรุงตกแต่งหน้าร้านจากอาคารพาณิชย์เดิมที่เก่าทรุดโทรมให้เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ขนม หรือโฮสเทลที่ดูดีมีรสนิยม รวมถึงมีป้ายภาษาเกาหลีติดอยู่หน้าร้านเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากทุนจากเกาหลีใต้ได้ขยายกิจการอย่างต่อเนื่องทั้งทุนขนาดใหญ่และผู้ประกอบการรายย่อยที่มาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจบนแผ่นดินล้านช้างแห่งนี้

เดิมที สาธารณรัฐเกาหลีก็เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนและให้การสนับสนุนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมากเป็นอันดับที่ 5 รองจากจีน เวียดนาม ไทย และญี่ปุ่น โดยการลงทุนของเกาหลีใต้จะเน้นไปที่เครื่องจักร เครื่องกลโรงงาน รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โดยรถยนต์ฮุนไดและแดวูเป็นรถยนต์ที่ใช้งานอย่างแพร่หลายในชนชั้นกลางและรัฐกรลาวก่อนการเข้ามาตั้งโรงงานของญี่ปุ่น ส่วนรถจักรยานยนต์นั้น มีการร่วมทุนระหว่างเกาหลีใต้กับลาวเพื่อสร้างรถจักรยานยนต์แบรนด์โคลาว (KOLAO) หรือ KOREA-LAO ผลิตเป็นฐานใหญ่ใช้กันเกือบทุกบ้าน เนื่องจากสนนราคาต่ำกว่ารถฮอนด้า ยามาฮ่า ที่ผลิตในไทยมาก ถึงแม้ว่าคนลาวจะยังนิยมรถญี่ปุ่นที่ผลิตในไทยมากกว่า แต่ปัจจัยราคาก็ทำให้รถเกาหลียังขายได้เมื่อเทียบกับรถจีนแดงที่คุณภาพต่ำกว่ามาก

ในทางหนึ่ง ลาวก็เป็นไม่กี่ประเทศที่ยังคงมีสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือ ทั้งมีสถานเอกอัครรัฐทูต เจ้าหน้าที่ และมีการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการศึกษาและการทหาร อีกทั้งยังมีร้านอาหารเกาหลีเหนือขนาดใหญ่เปิดใกล้พระธาตุหลวงเป็นที่พักผ่อนและชิมรสอาหารแบบเกาหลีเหนือด้วย

อย่างไรก็ตาม จากมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือครั้งล่าสุดของสหประชาชาติ รัฐบาลลาวได้นำมาบังคับใช้ และได้ให้เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือหลายระดับออกจากประเทศไป ยังคงแต่เจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานบางส่วนเท่านั้น ทางรัฐบาลเกาหลีใต้เห็นโอกาสนี้เป็นท่าทีที่ดีต่อการเข้ามาผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลลาวให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้นเพื่อต่อต้านจุดยืนของเกาหลีเหนือ จึงสนับสนุนให้หน่วยงานองค์กรธุรกิจเอกชนเข้ามาลงทุนมากขึ้นผ่านองค์กรส่งเสริม ได้แก่ ASEAN-KOREA Center, Korean Food Research Institute (KFI) และสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งเกาหลี (Korea Trade-Investment Promotion Agency: KOTRA) มูลค่าการลงทุนโดยตรงรวมในปี 2016 เพิ่มสูงถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisement

ความสัมพันธ์ทางการค้าที่เข้มแข็งและมากขึ้นกับเกาหลีใต้ในหลายด้านนี้ ทำให้จำนวนชาวเกาหลีใต้ที่เข้ามาทำงานและท่องเที่ยวในลาวเพิ่มมากและถี่ขึ้น จนกระทั่ง 4 สายการบินสามารถเปิดเที่ยวบินตรงจากสนามบินวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์สนามบินอินชอน กรุงโซล ได้ถึง 4 เที่ยวบินต่อวัน และมีจำนวนผู้โดยสารหนาแน่นเกือบทุกเที่ยว ชุมชนคนเกาหลีเริ่มขยายตัวออกในโซนแขวงสีสัตตะนาคและไซเซดถา อันเป็นที่สถานทูตเกาหลีใต้และสำนักงานธุรกิจตั้งอยู่ มีซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าเกาหลีเปิดตัวรองรับต่อเนื่อง

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวเกาหลียังเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อและมาท่องเที่ยวชมธรรมชาติเขตร้อนในลาวจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตหลวงพระบางและวังเวียง ทำให้บริษัทโอเรียนทัล เพิร์ล ยักษ์ใหญ่ด้านการท่องเที่ยวของเกาหลีผลักดันการสร้างรีสอร์ตขนาดใหญ่มูลค่า 2 พันล้านเหรียญในแขวงเวียงจันทน์

อุตสาหกรรมอื่นที่เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนยังมีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในแขวงจำปาสัก และบริษัทผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมสำหรับไร่กาแฟซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของลาว โดยส่วนมากระยะแรก บริษัทเกาหลีใต้อาศัยการร่วมทุนกับบริษัทไทย ก่อนที่จะหาเส้นสายและบุคลากรแยกตัวออกไปร่วมมือกับลาวในภายหลัง

Advertisement

ไก่ทอดเกาหลีและขนมหวานอย่างบิงซูในร้านเกาหลีชิคๆ คูลๆ จึงกลายมาเป็นกระแสนิยมของวัยรุ่นลาวไปพร้อมกับธุรกิจสัญชาติเกาหลีใต้ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วชิงพื้นที่กับจีนและเวียดนามอย่างเข้มข้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image