พลังคนรุ่นใหม่ ในสังคมไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลง สภาพการณ์ที่ต้องเผชิญ กับการปลดเปลื้องภาระที่ไม่ได้ก่อ

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย “นักศึกษา” ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของ “คนรุ่นใหม่” เป็นความหวังในการขับเคลื่อนสังคมไทยมาโดยตลอด จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อกล่าวคำว่า “พลังนักศึกษา-พลังคนรุ่นใหม่” แล้วจะรู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาได้บ้าง

แล้วทำไม “พลังคนรุ่นใหม่” จึงสำคัญ?

อาจเป็นเพราะในแต่ละยุคสมัย ทุกคนเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อม สังคม และเทคโนโลยี รวมถึงการศึกษาที่ต่างกัน ซึ่งถูกพัฒนาและพยายามยกระดับศักยภาพให้ดีขึ้นตลอด

“สังคมต้องดีขึ้น” จึงเป็นความคาดหวังที่ตามมาพร้อมกับการเติบโตของคนในยุคนั้นๆ แต่กระนั้นการเรียนรู้จากบทเรียนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องสำคัญ และสิ่งที่ควรจะต้องรู้คือ ในขณะนี้คนรุ่นใหม่กำลังอยู่ในสังคมแบบไหน

Advertisement

และเรื่องนี้มีคำตอบ

เนื่องในงานสัมมนาสภานิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 24 ซึ่งในปีนี้สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพจัดงาน ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ประเทศไทยภายใต้การเปลี่ยนแปลง : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมายและสังคม” โดยมี รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มธ. และ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักแปล ร่วมเสวนา

จากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง สู่บทใหม่ ‘ต้มกบ’
สังคมไทยแก่ก่อนรวย ระบบเศรษฐกิจที่ล่มช้าๆ

“ยืนยันเหมือนเดิม ถ้าคุณหนีไปได้ก็หนีไปเถอะ”

Advertisement

คำยืนยันจาก อภิชาต สถิตนิรามัย หลังพิธีกรถามถึงคำแนะนำสำหรับคนรุ่นต่อไปในปัจจุบันว่าควรจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่รอด

อภิชาตกล่าวว่า ทำไมผมบอกว่าหนีไปอยู่เมืองนอกดีกว่า หนีไปอยู่เมืองนอกคือคุณไม่สู้ ถ้าคุณสู้ในฐานะคนรุ่นใหม่ คุณก็ไม่ต้องหนีไปอยู่เมืองนอก ซึ่งถ้าจะสู้ สิ่งที่ต้องการคือ “พื้นที่” แต่ถ้าคุณยังไม่สามารถจะออกไปอยู่ข้างนอกเกิน 5 คนได้ มันหมายถึงอะไร

สิ่งที่บอกว่าจะมาแก้ปัญหาประเด็นที่การเมืองไทยทางเศรษฐกิจ มองดูไม่มีอนาคต เพราะเรากำลังเผชิญกับ สังคมแก่ก่อนรวย ดังนั้นวิธีการแก้สิ่งนี้คือต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ผลิตภาพในการผลิต ถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ แล้วการเพิ่มผลิตภาพจะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อคุณยังใช้คอนเซ็ปต์ไทยแลนด์ 4.0 ผลิตภาพการผลิตจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าพื้นที่ไม่มีเสรีภาพ คุณไม่เปิดพื้นที่จะสร้างสตาร์ตอัพได้อย่างไร

ในด้านเศรษฐกิจ อภิชาตยังวิเคราะห์ให้ฟังว่า ถ้าเจอวิกฤตทางเศรษฐกิจภายหลังต้มยำกุ้งอีกครั้ง จะเป็น “วิกฤตต้มกบ” หมายถึงภาวะการตายอย่างช้าๆ เผชิญกับสังคมคนแก่อย่างรวดเร็ว และเป็นสังคมที่แก่ก่อนรวย

โดยทั้งหมดนี้เกิดจากก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเราลงทุนมากกว่าเงินออมที่มีอยู่ จึงต้องไปกู้มาลงทุน ก่อเกิดเป็นหนี้สินตรงกันข้ามในปัจจุบันคือมีการลงทุนน้อยมาก จากเดิมที่เราเป็นลูกหนี้เรากลายเป็นเจ้าหนี้แทน ฟังดูดีแต่ว่าในความเป็นจริงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเราลดลงเรื่อยๆ

“สำหรับคนรุ่นใหม่ นี่คือสภาพที่คุณต้องเจอ ไม่มีอนาคต ทางออกคือการต้องเพิ่มการผลิต แต่จะเพิ่มได้ยังไงถ้ายังมีสังคมที่ปิดกั้นทั้งในโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมือง แม้แต่จะพูดว่าประเทศไม่น่าอยู่ คุณก็บ่นไม่ได้ แล้วคุณจะเอาพลังสร้างสรรค์ที่ไหนมา คนรุ่นใหม่จึงเจอความท้าทายหลากหลาย สังคมที่คุณโตมาปิดกั้นกว่ารุ่นผมเยอะ

“ทันทีที่ผมจบปริญญาตรีมา เศรษฐกิจรุ่งเรืองมาก แต่พวกคุณจบปริญญาตรีมาเจอกับเศรษฐกิจย่ำแย่ เติบโตทีละน้อย หมายความว่า เงินเดือนขึ้นช้า สะสมเงินซื้อบ้านไม่ได้ ไม่มีเงินเก็บ”

เหล่านี้คือประเด็นที่อภิชาตแนะนำว่า “หนีไปเมืองนอกเถอะ”

เปลี่ยนสังคมแบบเดิมๆ ปลดเปลื้องภาระที่ไม่ได้ก่อ

สำหรับการเมืองไทยและประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน ทำไมถึงต้องการคนรุ่นใหม่ หรือการเมืองของคนรุ่นใหม่มากกว่าเดิม

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวไว้ว่า คนรุ่นใหม่ ถ้าคิดเป็นอายุ เป็นเจเนอเรชั่น ณ ห้องเสวนานี้น่าจะมีช่วงอายุประมาณ 18-25 ปี ซึ่งไม่ได้อยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงมาตั้งแต่ปี 2548 ตอนนี้ผ่านมากว่า 13 ปีแล้ว พวกเขาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องอะไรเลย แต่ความขัดแย้งที่ผ่านมาได้สร้างผลพวงและภาระจำนวนมากไว้ และคนรุ่นนี้ต้องมีช่วงชีวิตต่อไปอีกอย่างน้อยประมาณ 40 กว่าปี ขณะที่ผู้สร้างภาระทยอยล้มหายตายจาก

ถึงตอนนั้นเขาก็ไม่รู้แล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้น

“ผมจึงเรียกร้องว่า คนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ปลดเปลื้องภาระให้เบาบางลงไปได้ด้วยอาศัยกำลังคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยคือ คุณเจอวิกฤตการณ์อย่างต่อเนื่อง เจอรัฐประหารཱུ จนกระทั่งปัจจุบัน ช่วงเวลาที่คุณอยู่กับระบอบการเมืองประเทศนี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบการเมืองในสภาวการณ์ปกติ

“คนรุ่นนี้จึงต้องลงมือจัดการเปลี่ยนแปลงเอง เพราะพึ่งคนรุ่นก่อนคงยากแล้ว”

ในขณะที่โลกหมุนไปเรื่อยๆ การเมืองไทยยังคงติดล็อก เพราะมีตัวละครทางการเมืองหน้าเดิมๆ ไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยังใช้การบริหารจัดการ ออกแบบรูปแบบทางการเมืองซึ่งไม่ทันกับยุคสมัย และอาจเข้าไม่ได้กับคนรุ่นปัจจุบันที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

เพราะฉะนั้น การออกไปสู่ความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้ตัวละครหน้าเดิมมีบทบาทสำคัญมากอีก จึงจำเป็นต้องมีทางเลือกใหม่ ในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยพลังของคนรุ่นหนุ่มสาว อาจช่วยบรรเทาความขัดแย้งนี้ลงไปได้

“อย่างน้อยที่สุด ถ้าออกไปจาก คสช. คุณอาจไปเจอคนใหม่ๆ หน้าใหม่ๆ บ้างก็ได้”

 

เปิดพื้นที่ทางการเมือง ตั้งคำถามกับสังคม
รสชาติที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยลิ้มลอง

ด้านนักรัฐศาสตร์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี กล่าวว่า นักศึกษาจำนวนหนึ่งในห้องนี้อาจยังไม่มีประสบการณ์ จึงไม่ทราบว่าในสังคมที่พื้นที่ทางการเมืองเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมเป็นอย่างไร แม้แต่ผู้ดำเนินการเสวนาทั้ง 4-5 ท่าน อาจเคยผ่านช่วงเวลาที่เหมือนจะเปิดบ้าง แต่ว่ามันก็ “สั้น” เหลือเกิน

“พื้นที่ทางการเมืองเปิด” หมายความว่า อย่างน้อยที่สุดคือสามารถวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามถึงผู้นำทางการเมืองได้ ถามว่าทุกวันนี้เราสามารถใช้สิทธิตรงนั้นในฐานะพลเมืองได้หรือไม่ อันนี้ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของการปรับตัว และความฉลาดของระบอบอำนาจนิยมใหม่

จะเห็นว่า ในพื้นที่บางส่วนอาจล้อเลียนแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน ล้อเลียนในหลายๆ เรื่องได้ แต่พื้นที่สังคมไม่ได้เปิดเต็มที่ ชนชั้นนำทางการเมืองฉลาดพอที่จะวาดขอบเขต อาณาบริเวณ ปริมณฑลบางอย่างที่แตะต้องไม่ได้ ความน่ากลัวจึงอยู่ที่ว่า หลายคนไม่เคยลิ้มรสโอกาสที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์จริงๆ ทุกคนไม่เคยมีโอกาสนั้น ดังนั้น จึงเกิดความรู้สึกว่าการตั้งเส้นแบ่งเขตแดนไว้เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องเผชิญและยอมรับกับมัน

ขณะเดียวกัน ในสังคมที่เปิดมาก เช่น อเมริกา สุภาพสตรีท่านหนึ่งขี่จักรยานตามรถโดนัลด์ ทรัมป์ แล้วชูนิ้วกลางให้ ถามว่าเราสามารถทำแบบนี้กับผู้นำทางการเมืองประเทศเราได้ไหม อาจทำได้ เช่น คุณป้าขวานซึ่งวันนี้กลายเป็นฮีโร่ คุณป้าขวานเปิดพื้นที่ให้สามารถตรวจสอบระบบราชการหรือชนชั้นนำในระดับล่างได้ แต่บนต่อจากนั้นได้ไหม ได้แค่ไหน บนสุดได้แค่ไหน

นี่คือบรรยากาศทางการเมืองที่หวังว่าเจเนอเรชั่นใหม่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อน และเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มากขึ้น

“ประตูตอนนี้ไม่ถึงกับปิดสนิท แต่ต้องช่วยกันแง้มให้เปิดมากขึ้น อาจเปิดได้ไม่สุดในวัฒนธรรมการเมืองของเรา แต่ก็อยากเห็นบรรยากาศแบบนั้น”

‘โซเชียลมีเดีย’ เครื่องมือทรงอิทธิพล
รู้เท่าทันไม่พอ ต้องรู้จักคิด-วิเคราะห์ด้วย

สฤณี อาชวานันทกุล กล่าวว่า สิ่งที่แตกต่างจาก 15 ปีที่แล้วกับปัจจุบันที่เห็นได้ชัดคือ เครื่องมือที่ชื่อว่า อินเตอร์เน็ต ที่ทำให้เกิด “โซเชียลมีเดีย” เพราะไม่ว่าเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือทวิตเตอร์นั้นเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง

จากตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม พบว่า ประชากรไทย 69 ล้านคน เข้าถึงอินเตอร์เน็ต 55 ล้านคน คิดเป็น 85% และใช้โซเชียลมีเดียรวมกันถึง 48 ล้านคน โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่คนไทยใช้งานติดอันดับท็อป 5 ของโลก

“โซเชียลมีเดีย” จึงกลายเป็นช่องทางการสื่อสารที่ทรงพลังมาก ส่งผลและมีอิทธิพลในหลายด้าน เช่น การรับสารที่เปลี่ยนไปจากการอ่านหนังสือพิมพ์ เปลี่ยนเป็นตื่นเช้ามาก็จับโทรศัพท์ ในมุมหนึ่งข้อมูลข่าวสารถูกส่งมาในหลายๆ ด้านที่กว้างขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีอันตราย ในแง่ที่หากเราเลือกรับข้อมูลกับคนที่คิดเหมือนๆ กัน ติดตามคนที่คิดคล้ายๆ กัน รู้สึกเป็น “พวกเดียวกัน”

เมื่อรู้สึกว่า คนไหน เพจไหน หรือสำนักข่าวน่าขัดใจก็เลิกติดตาม ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นก็เหมือน “ห้องเสียงก้อง” คือการตอกย้ำสิ่งที่เราคิด เห็นแต่สิ่งที่เราชอบ กดไลค์กันไปมา ทำให้คิดว่านี่คือเสียงส่วนใหญ่ และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ความคิดของเราถูกต้อง

จากที่เหมือนว่าจะกว้างขึ้นอาจแคบลง เพราะไม่ได้เปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่าง จึงต้องมีสติและคิด วิเคราะห์ แยกแยะให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ใช้งานด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image