‘สนช.’โหวตฉลุยเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ส.ส.-ส.ว. ตัดทิ้งปมมหรสพ-5 ปีแรกคัด ส.ว.จาก 10 กลุ่ม

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช. เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยคะแนนเห็นชอบ 211 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง
ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. สนช.มีมติเห็นชอบ 202 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. คณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้ปรับแก้เนื้อหา ดังนี้ 1.ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะถูกตัดสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการเมือง และข้าราชการรัฐฝ่ายการเมือง รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น 2.ให้ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมืองมีหมายเลขผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งแตกต่างกัน 3.การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด โดยจะกำหนดให้ใช้จำนวนสมาชิกของพรรคการเมือง ที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นรายบุคคลมาเป็นฐานในการคำนวณมิได้
4.ห้ามทำการหาเสียงด้วยการจัดมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี 5.ในวันเลือกตั้งให้เปิดการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. และ 6.ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการแทนคนพิการ โดยให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาเสร็จแล้วนั้นมีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ การกำหนดในบทเฉพาะกาลให้นำวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ สนช.ได้เสนอทั้งเรื่องการให้ ส.ว.มาจากกลุ่มวิชาชีพ 10 กลุ่ม การให้บุคคลสมัคร ส.ว.ในนามอิสระและผ่านองค์กรนิติบุคคล และการยกเลิกระบบการเลือกไขว้ มาใช้กับการเลือกส.ว.ใน 5 ปีแรก แต่หลังจากเมื่อพ้นเวลา 5 ปี จะกลับไปใช้ระบบการได้มา ซึ่ง ส.ว.ตามที่ กรธ.บัญญัติมาใช้ ทั้งการให้ ส.ว.มาจากกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม การสมัคร ส.ว.ในนามอิสระเท่านั้น และการเลือกด้วยวิธีการเลือกไขว้

การเลือก ส.ว.ตามรูปแบบของ สนช. มาตรา 92/1 บัญญัติให้ ส.ว.มีจำนวน 10 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข 4.กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 5.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลที่มิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 6.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม 7.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 8.กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ 9.กลุ่มศิลปวัฒนธรรม และ 10.กลุ่มอื่นๆ

ส่วนการสมัคร ส.ว. มาตรา 92/2 ได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครผ่านการเสนอชื่อจากองค์กรนิติบุคคลว่า มีสิทธิสมัครตามกลุ่มวิชาชีพได้เพียงกลุ่มเดียว รวมทั้งมีสิทธิสมัครได้เพียงอำเภอเดียว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี ด้านองค์กรนิติบุคคลที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลให้เป็น ส.ว.ได้ มาตรา 92/3 ระบุว่าต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรมาแบ่งปันกันหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและต้องได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image