นักวิชาการค้านสกัดรองผอ.ประถมลงร.ร.มัธยม จี้ศธ.ออกแนวปฏิบัติสอบผอ.ให้กศจ.

นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา เปิดเผยถึงกรณีที่นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) และผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่งได้ออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดสอบบรรจุผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการแทนตำแหน่งว่างอยู่กว่า 4,000 ตำแหน่งทั่วประเทศว่าเข้าใจว่า ตนเห็นด้วยกับเหตุผลของนายก ส.บ.ม.ท.และผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ต้องการให้ ก.ค.ศ.กำหนดให้สอบบรรจุผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน โดยแยกสอบระหว่างสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) โดยให้บรรจุร้อยละ 50 ของตำแหน่งว่าง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้บริหารโรงเรียน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ โรงเรียนที่มีอัตราผู้บริหารว่างที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเป้าหมายของผู้บริหารที่เขียนย้ายและถูกชะลอการย้ายในปัจจุบัน จะถูกนำมาเป็นโรงเรียนที่มีตำแหน่งว่างเพื่อรองรับผู้บริหารจากการสอบหรือไม่ อย่างไร ก.ค.ศ.จะกล้าออกแนวปฏิบัติในประเด็นนี้หรือไม่ หรือจะให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของ กศจ.แต่ละแห่ง หากนำอัตราว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของผู้บริหารที่เขียนย้ายมารับบรรจุผู้อำนวยการใหม่จากการสอบ กลุ่มผู้อำนวยการที่เขียนย้ายขอลงโรงเรียนดังกล่าวจะฟ้องอีกหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าถ้าจะจัดสอบจริง ก.ค.ศ.ต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้ กศจ.

นายอดิศร กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ นายก ส.ค.บ.ท.เรียกร้องให้ ก.ค.ศ.แจ้ง กศจ. กันอัตราว่างเพื่อใช้เรียกบรรจุผู้สอบขึ้นบัญชีในสัดส่วนที่เท่ากับจำนวนที่จะรับย้ายเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารโรงเรียน เพราะหากไม่กันอัตราไว้สำหรับเรียกบรรจุ กศจ.ก็จำเป็นต้องรับย้ายผู้บริหารต่างประเภทคือผู้บริหารจากสายประถมศึกษามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา และว่าสุ่มเสี่ยงที่จะถูกรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาฟ้องร้องให้ยกเลิกเพิกถอนจะเป็นภาระต่อศาลและกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)นั้น ตนเห็นว่าถ้ามองโดยผิวเผินเป็นเรื่องที่ดี แต่ลึกๆ แล้วคือ นายก ส.ค.บ.ท. ต้องการปกป้องผลประโยชน์ขององค์กรครูมัธยมมากกว่า ซึ่งก็เป็นปกติของผู้นำองค์กร ส่วนตัวอยากให้นายก ส.ค.บ.ท.มองภาพรวมของการปฏิรูปการศึกษามากกว่า ที่ผ่านมาก็มีบรรดารองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมออกไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนประถมจำนวนมากและก็พยายามวิ่งเต้นกลับมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมเช่นเดียวกัน

“ยังเชื่อว่าศาลปกครองสูงสุดคงจะเห็นความเดือดร้อนและปัญหาในการบริหารจัดการทั้งเรื่องการย้ายและการสอบผู้บริหารสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) คงจะมีคำพิพากษาประเด็นที่ ก.ค.ศ.อุทธรณ์ทั้งเรื่องเกณฑ์การย้าย และการทุเลาคำสั่ง เพราะเมื่อเทียบเคียงกับการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีการพิพากษาโดยเฉพาะประเด็นการขอทุเลาคำสั่ง โดยใช้เวลาไม่นานนัก ซึ่งหากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดออกมาโดยเร็วก็น่าจะทำให้เกิดความชัดเจน ทำให้ ศธ.สามารถที่จะดำเนินการทั้งเรื่องย้ายและเรื่องสอบได้โดยไม่มีข้อกังวล” นายอดิศรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image