ศาล ปค.สั่ง ม.ธรรมศาสตร์ จ้าง ‘เคท’ เป็นอาจารย์ใน 60 วัน(คลิป)

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 8 มีนาคม ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ บ. 447/2558 ระหว่างนายเคท หรือคทาวุธ ครั้งพิบูลย์ ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2

คำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องคดีสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ผ่านการคัดเลือกแล้ว แต่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

นายคทาวุธ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่2 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาหนังสือแล้วมีมติยืนยันตามมติเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาล

Advertisement

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีสื่อสารทางสังคมออนไลน์เป็นวิธีสื่อสารถึงกัน อันเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทรับรองสิทธินี้ไว้ แต่สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ของผู้ฟ้องคดีจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ หากผู้ฟ้องคดีมีการสื่อสารทางสังคมออนไลน์โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้

ศาลได้พิจารณามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้เกี่ยวกับเพศสภาพ หากแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้นำพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์มาใช้อ้างในการมีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่เมื่อศาลได้พิจารณาพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่ได้สื่อสารทางสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก (Facebook) จำนวน 4 ข้อความ และอินสตาแกรม (Instagram) จำนวน 2 ข้อความ พร้อมภาพประกอบแล้วเห็นว่าการใช้ถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีและภาพที่ได้เผยแพร่ในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอาจจะมีการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและสุภาพไม่เหมาะสมอยู่บ้างบางคำบางภาพ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องจากเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี ตามมาตรา 7(ข) (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยให้มีผลนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และมีข้อสังเกตและแนวทางเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่2ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ตามที่สอบคัดเลือกได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

นายคทาวุธ ให้สัมภาษณ์หลังจากฟังคำพิพากษา ศาลปกครองกลาง ว่า กล่าวขอบคุณศาลปกครองที่มีคำพิพากษาดังกล่าว ถือเป็นการพิสูจน์ ว่าการใช้ดุลยพินิจไม่ว่าจ้างตนเป็นพนักงาน มธ.ของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยไม่เป็นธรรม ทั้งที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของผู้มีปัญญาชน รวมทั้งศาลก็ได้วินิจฉัยว่าการแสดงออกของตนทางสื่อโซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นพฤติกรรมชั่วร้ายที่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็ต้องรอดูว่ามหาวิทยาลัยจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ และหากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเช่นเดียวกับศาลปกครองชั้นต้นในวันนี้ ตนก็พร้อมที่จะกลับไปเป็นพนักงานของ มธ. เพราะเป็นความตั้งใจมาโดยตลอดที่จะไปเป็นอาจารย์ เนื่องจากมีความคิดว่าองค์ความรู้โดยเฉพาะการถูกปฏิบัติด้วยเหตุของเพศสภาพยังมีการเรียนการสอนที่ไม่กว้างขวาง และยังคงมีอยู่ในสังคมไทย โดยกรณีของตนเองอยากให้เป็นตัวเองให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุของเพศสภาพไม่นิ่งเฉย และออกมาต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจ้างงาน ซึ่งผู้ที่ไม่ได้รับการจ้างด้วยเหตุแห่งเพศสภาพถือว่าเป็นความลำบากของชีวิต

ด้านอังคณา นีละไพจิตร ได้กล่าวชื่นชมว่า คำวินิจฉัยของศาลปกครองในวันนี้ได้มีชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมใดเข้าข่ายเป็นความบกพร่องทางศีลธรรมอันดี โดยในกรณีของครูเคท แม้จะโพสข้อความในสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ก็ได้ตั้งค่าเป็นส่วนตัวเห็นเฉพาะเพื่อนจึงไม่ได้ทำให้สาธารณะเกิดความเสียหาย และนำไปสู่การพิจารณาว่าคำสั่งของมธ.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถ้าหากมีการยื่นอุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุดยื่นตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ต่อไปก็จะเป็นบรรทัดฐานว่าการกระทำใดบ้างที่เป็นความบกพร่องต่อศีลธรรมอันดี ตามระเบียบของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 2547 และจะทำให้ไม่มีผู้นำพฤติกรรมต่างๆมากล่าวหาบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่าเป็นผู้บกพร่องศีลธรรมอันดีได้ง่ายๆ ทั้งนี้ข้าราชการจะต้องระมัดระวังมากขึ้นในการรับบุคคลที่ข้ามเพศสภาพ

ผู้สื่อสำหรับคดีนี้นายคทาวุธ ได้ยื่นฟ้อง มธ. คณะกรรมการบริหาร มธ. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เพื่อขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการบริหาร มธ. ที่มีมติไม่ว่าจ้าง ให้ไปเป็นพนักงานในมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์โดยอ้างว่าการที่นายคทาวุธ แสดงออกโดยโพสภาพลิปสติกที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชาย และใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะไม่เหมาะสมจึงกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นอาจารย์ ซึ่งการเดินทางมาฟังคำพิพากษาของนายคทาวุธ ก็ได้มีกลุ่มเพศทางเลือก อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาร่วมให้กำลังใจด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image