แพทย์เป็นศูนย์กลาง : โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย

“ทําไมเราไม่ทำละครง่ายๆ สนุกๆ ทำไมต้องมีความขัดแย้ง”

คำถามนี้มาจากนักศึกษาแพทย์ปี 2 ตัดผมสั้น รูปร่างท้วม ผิวออกคล้ำ หน้าตาดูราวกับหลุดออกมาจากหนังไทยย้อนยุคที่ผู้ชายนุ่งผ้าจีบและไม่ใส่เสื้อ

เป็นคำถามง่ายๆ ที่ชวนให้ผมคิด จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากละครไม่มีความขัดแย้ง จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากแม่มดใจร้ายยอมให้สโนว์ไวต์ไปงานเลี้ยงและแถมตัดชุดให้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากกระต่ายไม่ไปท้าทายเต่าให้วิ่งแข่งกัน คำตอบน่าจะเห็นชัดๆ อยู่แล้วว่าคนก็จะ “เลิกดูละคร” เพราะว่ามันไม่มีอะไรน่าสนใจ

การศึกษาเรื่องจิตวิวัฒน์บอกกับเราว่า มนุษย์เราจะมีระบบคัดสรรการรับรู้ โดยจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มีความน่าสนใจ เพราะปริมาณข้อมูลที่เข้ามากระทบผัสสะของเรามีมหาศาล ถ้าเราเลือกสนใจทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาเราอาจจะเป็นบ้าได้ การศึกษายังได้ค้นพบว่าในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างความทรงจำใหม่ๆ จะไวต่อการกระตุ้นของฮอร์โมนคอร์ติโซล ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เราได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่เร้าอารมณ์ ประสบการณ์อย่างนั้นจะกระตุ้นให้เกิดคอร์ติโซลซึ่งจะส่งสัญญาณเตือนเซลสมองส่วนฮิปโปแคมปัสว่าข้อมูลที่กำลังรับอยู่ขณะนี้เป็นเรื่องสำคัญ และต่อมาจะถูกบันทึกเป็นความทรงจำที่ยากจะลบเลือน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงสามารถจดจำเหตุการณ์อย่าง 9/11 หรือเหตุการณ์การสูญเสียคนที่เรารักไปได้อย่างไม่มีวันลืมเลือน

Advertisement

ในแง่จิตวิทยาการรับรู้การค้นหาปัจจัยซึ่งกระตุ้นให้เกิดความทรงจำเป็นที่สนใจศึกษากันอย่างมาก แม้ว่ายังไม่ได้คำตอบชัดเจน แต่ในทางการละครอริสโตเติลได้ทำการศึกษาละครโศกนาฏกรรมและค้นพบว่ามันก่อให้เกิดสภาวะ “ความสงสารและความกลัว” เมื่อตัวละครเอกต้องประสบกับหายนะ ซึ่งต่อมาส่งผลให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “การเปลื้องอารมณ์” (Catharsis) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากทางการแพทย์หมายถึงการกำจัดสิ่งมลทินให้ออกไปจากร่างกาย โดยเมื่อกำจัดโรคร้ายออกไปแล้วร่างกายจึงจะหายดี กลับมาเป็นปกติดังเดิม เมื่อตอนที่อริสโตเติลรับเอาคำคำนี้มาจากทางการแพทย์ เขาคงจะไม่ทราบว่าได้รับเอาทัศนคติหรือวิธีการมองโลกแบบแพทย์ยุคเก่ามาด้วยนั่นก็คือวิธีการมองโลกแบบนิวตัน ซึ่งมองเห็นว่าร่างกายของคนเราเป็นกลไกที่สามารถอธิบายได้ทางวิทยาศาสตร์ และถ้าหากมีส่วนใดเสียก็ตัดหรือขจัดมันทิ้ง วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่าจึงมองว่าคำตอบอยู่ที่แพทย์ผู้ทำการรักษา และไม่น่าเชื่อว่าทัศนคติแบบนี้ยังฝังรากลึกมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ผมต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีนักศึกษาลุกขึ้นมาทักท้วงในขณะทำกระบวนการ

“อาจารย์ครับ ทำไมเราไม่ทำละครแนะนำชาวบ้านไปเลยว่าวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกสุขลักษณะมันเป็นอย่างไร ก็ชาวบ้านเขาไม่รู้ เราก็แค่นำเสนอข้อมูลให้เขารู้ และบอกว่าวิธีการดูแลสุขภาพที่ดีเป็นอย่างไร”

ตัดภาพไปสองวันก่อนนักศึกษาคนนี้กับเพื่อนกว่า 90 กว่าชีวิตกำลัง “ลงพื้นที่” เพื่อเก็บข้อมูลโดยใช้เครื่องมือสำรวจสุขภาพชุมชน 7 ชิ้น ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยอาจารย์ที่ปรึกษากำหนดให้พวกเขาต้องกลับมานำเสนอเรื่องที่เขาค้นพบให้ชาวบ้านฟัง แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องทำเป็น “ละคร”

Advertisement

สิ่งที่นักศึกษาแพทย์ถาม เป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ เพราะอย่าลืมว่าแพทย์มีอิทธิพลในการชี้นำสังคมไทยมาช้านาน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากนักศึกษามีแนวความคิดว่าตนเองรู้ดีกว่าชาวบ้าน และชาวบ้านคือผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย และรอคอยการช่วยเหลือ แนวความคิดนี้เป็นแนวความคิดที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางและเบียดขับให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นเพียงวัตถุที่ถูกกระทำ แค่พูดคำว่า “ชาวบ้าน” เองก็ลักลั่นมากแล้ว เพราะใครกันคือชาวบ้าน เพราะแม้แต่นักศึกษาเองก็เป็นลูกชาวบ้านไม่ใช่หรือ?

ผมก็ไม่ทราบว่าความคิดแบบ “แพทย์เป็นศูนย์กลาง” ของสังคมไทยนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด และใครเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น แต่ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยน เราจะเสียเวลามากมายในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาแพทย์อย่างไรก็ได้ แต่ถ้าหากไม่เปลี่ยนที่รากความคิดตรงนี้ ความคิดแบบ “แพทย์เป็นใหญ่” ก็จะไม่หมดไปจากสังคมไทย

ผมเป็นแค่นักการละครตัวเล็กๆ แต่ผมรู้ในแบบของผมว่าละครอาจจะแบ่งได้เป็นสองแบบ คือ 1.สอนสั่ง และ 2.ชวนให้เกิดความตระหนักรู้ด้วยตัวเอง วิธีการที่สองเข้ากับแนวความคิดแบบโค้ชชิ่งที่กำลังเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากขึ้นๆ เพราะนั่นคือการย้ายศูนย์กลางจากตัวผู้ให้คำปรึกษาไปสู่ตัวผู้รับคำปรึกษา เพราะเชื่อมั่นว่าหากจะเกิดปัญญารู้จริงรู้แน่ ปัญญานั้นก็ย่อมจะเกิดการตกผลึกด้วยตนเอง การศึกษาทางเลือกค้นพบความจริงข้อนี้มานานแล้ว ครูในระบบการศึกษาทางเลือกจึงทำหน้าที่เป็นเพียง “ปัจจัย” ของการเรียนรู้ ไม่ใช่ศูนย์กลางของความรู้ ยิ่งในยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารหาง่ายเพียงรูดหน้าจอ โอกาสที่ใครจะยึดกุมความรู้เอาไว้กับตัวเองเพียงคนเดียวก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง

ในที่สุดผมได้แนะนำให้นักศึกษาแพทย์กลุ่มนั้นรู้จักการทำละครในลักษณะที่สองคือการโยนโจทย์ให้ชุมชนได้ขบคิด แต่ไม่เป็นผู้หยิบยื่นคำตอบสำเร็จรูปให้ ด้วยความรู้ว่าปัญหาแต่ละเรื่องนั้นเกี่ยวโยงกันไปหมด เราไม่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพของชุมชนที่ก่อสร้าง “สถูป” (ใส่อัฐิ) ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นละเอียดที่ส่งผลทำต่อโรคทางเดินหายใจ โดยไม่พูดถึงเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ปากท้องของชาวบ้าน ถ้าเลิกทำแล้วจะให้เขาไปทำอาชีพอะไร? ถ้าอาชีพนั้นรัฐส่งเสริมว่าเป็นโอท็อประดับประเทศ หรือเราจะทำอย่างไรกับฟาร์มไก่ที่ครอบครองเนื้อที่ 200 ไร่ ซึ่งจู่ๆ ก็มาตั้งอยู่ในหมู่บ้านของเรา ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเนื่องจากน้ำเสีย ฝุ่นขี้ไก่และเสียงอันดัง จากพัดลมขนาดยักษ์ซึ่งเปิดเพื่อให้ความเย็นกับไก่จำนวนเป็นพันๆ ตัว แต่ในฟาร์มนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยการสนับสนุนจากผู้นำชุมชนและมีชาวบ้านบางส่วนเป็นพนักงาน? จะเห็นได้ว่าปัญหาไม่อาจจะถูกแยกออกไปแก้เดี่ยวๆ เป็นปัญหาสุขภาพ แต่มันโยงไปถึงปัญหาอื่นๆ อย่างซับซ้อน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของชีวิต

และนี่เองก็เป็นสาเหตุที่ทำให้นายแพทย์บางคนเมื่อมองเห็นปัญหานี้แล้ว จึงก้าวข้ามไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะรู้ว่าปัญหาไม่อาจจะแก้ได้จบที่โรงพยาบาล ผมชื่นชมนายแพทย์เหล่านี้ซึ่งนอกจากต้องเสียสละด้วยวิชาชีพของตนเองแล้ว ยังต้องเสียสละเพื่อสังคมไทยด้วย เราจึงได้เห็นแพทย์ที่ออกมาปฏิวัติระบบสวัสดิการสุขภาพ แพทย์ผู้ออกมาเรียกร้องไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แพทย์ผู้ออกมาสู้รบกับสารพิษในยาฆ่าหญ้า ซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยวแต่จริงๆ เกี่ยวข้องกับสุขภาพองค์รวม

ในวันนั้น ที่นักศึกษาแพทย์ไปแสดงละครในชุมชน เมื่อจบละครแล้วชาวบ้านหลายคนเข้ามาสวมกอดนักศึกษาเหมือนลูกเหมือนหลาน ภาพเหล่านี้ อาจารย์บอกว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในครั้งก่อนๆ ที่ได้ใช้วิธีให้นักศึกษาแพทย์นำเสนอข้อมูลด้วยเพาเวอร์พอยต์ ผมอาจจะเปลี่ยนใจนักศึกษาบางส่วนไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่สะท้อนว่าพวกเขาเข้าใจแล้วว่าผมอยากจะกระซิบบอกอะไรกับเขา

ผมดีใจที่ได้เป็นปัจจัยเล็กๆ ให้กับพวกเขาซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไปในอนาคต

ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
กลุ่มจีมานอม www.facebook.com/resetpractice
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image