ไข้หวัด : Common cold : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

โรคไข้หวัดเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นหลายครั้งโดยเฉพาะในเด็ก ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต
ทั้งนี้ เนื่องจากไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด (เชื้อหวัด) มีอยู่มากกว่า 200 ชนิด ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) ครั้งละชนิด เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆ เพิ่มขึ้น การป่วยเป็นไข้หวัดจะห่างขึ้น และอาการรุนแรงน้อยลง

โรคหวัดติดต่อกันได้ง่าย โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน พบเป็นกันมากตามโรงเรียน โรงงาน โรงหนังและที่ที่ มีคนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ เป็นโรคที่พบเป็นได้ตลอดปี และมักจะพบมากในช่วงหน้าฝน หน้าหนาว หรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนในฤดูร้อนจะพบน้อย

สาเหตุ : เกิดจากเชื้อหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัส (virus) มีอยู่มากกว่า 200 ชนิด จากกลุ่มไวรัส 8 กลุ่มด้วยกัน ที่สำคัญได้แก่ 1) กลุ่มไวรัสไรโน (rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด 2) กลุ่มอาเอสวี (Respiratory Syncytial Virus/RSV) 3) กลุ่มไวรัสพาราอินฟลูเอนซ่า (Parainfuenza virus) 4) กลุ่มเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) 5) กลุ่มไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) 6) กลุ่มเชื้อเริม (herpes simplex virus) เป็นต้น การเกิดโรคขึ้นในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อหวัดเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดชนิดนั้นๆ ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ก็จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ หมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อกันโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน นอกจากนี้ยังอาจติดต่อด้วยการสัมผัส เช่น เชื้อหวัดอาจติดที่เสื้อผู้ป่วยหรือของใช้ผู้ป่วย (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้ว จาน ชาม ของเล่น หนังสือ โทรศัพท์) ระยะฟักตัวตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไป จนกระทั่งมีอาการ 1-3 วัน

Advertisement

อาการ : มีไข้เป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อยลักษณะน้ำมูก เสมหะสีขาว บางครั้งอาจจะทำให้รู้สึกเจ็บแถวลิ้นปี่เวลาไอ ในเด็กเล็กอาจมีอาการอาเจียนเวลาไอ ในผู้ใหญ่อาจมีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ในเด็กบางครั้งจับไข้ขึ้นทันที บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก ในทารกอาจมีการอาเจียนหรือท้องเดินร่วมด้วย

ถ้าเป็นอยู่เกิน 4 วัน อาจมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีสีเหลืองหรือสีเขียว จากการอักเสบช้ำๆ ของเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจมีอาการอื่นแทรกมา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ : ที่พบบ่อยเกิดจากการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีน้ำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลือง หรือเขียว ลุกลามไปยังบริเวณข้างเคียง อาจทำให้เกิดต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ดังที่เรียกว่า หวัดลงหู ซึ่งจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน โรคแทรกที่รุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อนตรากตรำงานหนัก ร่างกายอ่อนแรง เช่น ขาดอาหาร พบในทารกหรือคนสูงอายุ

Advertisement

การรักษา : เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะเพียงแต่ในการรักษาไปตามอาการเท่านั้น ได้แก่
1.แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย : 1.1 พักผ่อนมาก ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังมากเกินไป 1.2 ใช้เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝน หรือถูกอากาศเย็นและอย่าอาบน้ำเย็น 1.3 ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปจากไข้สูง 1.4 ควรกินอาหารอ่อน เช่น น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อนๆ 1.5 ใช้ผ้าชุบน้ำ ควรใช้น้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นเช็ดตัวขณะมีไข้สูง ข้อเสนอแนะเหล่านี้สามารถใช้กับผู้ป่วยอื่นๆ ที่มีไข้สูงจากสาเหตุอื่นได้เช่นเดียวกัน

2.ให้ยารักษาตามอาการ : 2.1 สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต (อายุมากกว่า 5 ขวบ) ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้ เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล ถ้ามีน้ำมูกไหลมากขึ้นสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ใช้ 2-3 วันแรก เมื่อทุเลาควรหยุด หรือกรณีมีอาการไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานี้ ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาว (น้ำผึ้ง+น้ำมะนาว) ถ้าไอมากๆ ลักษณะไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะให้ยาระงับไอ 2.2 สำหรับเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ขวบ) ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ เช่นให้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม ถ้ามีน้ำมูกมาก ใช้ลูกยางเบอร์ 2 ดูดเอาน้ำมูกออกบ่อยๆ หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่ง สอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ถ้าน้ำมูกข้นมากควรชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือพอชุ่มๆ ก่อน ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นๆ มากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว ถ้ามีอาการอาเจียนเวลาไอ ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน ควรแนะนำให้ป้อนนม หรืออาหารทีละน้อย แต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจะเข้านอน

3.ยาปฏิชีวนะ : ปกติหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องให้ เพราะไม่ได้ผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัส อาการที่สังเกตได้ คือ มีน้ำมูกใสๆ หรือสีขาว ยกเว้นในรายที่สงสัยจะมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่น มีน้ำมูกหรือเสลดข้นเหลืองหรือเขียวเกิน 24 ชั่วโมง หรือปวดหู หูอื้อ หรือมีไข้เกิน 4 วัน ยาปฏิชีวนะ ให้เลือกใช้เพนวี อะม็อกซีซิลลิน ในรายที่แพ้เพนิซิลลิน ให้ใช้อีริโทรมัยซิน แทน ควรให้นาน 7-10 วัน

4.ถ้าไอมีเสลดเหนียว : ให้งดยาแก้แพ้และยาระงับการไอให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ วันละ 10-15 แก้ว (ห้ามดื่มน้ำเย็น) อาจให้ยาขับเสมหะร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

5.ถ้ามีอาการหอบหรือนับการหายใจเร็วกว่าปกติ : เด็กอายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้งต่อนาที เด็กอายุ 2 เดือน ถึง 1 ขวบ หายใจมากกว่า 50 ครั้งต่อปี อายุ 1-5 ขวบ หายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อปี หรือมีไข้นานเกิน 7 วัน ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว อาจเป็นปอดอักเสบ หรือภาวะรุนแรงอื่นๆ ได้ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ

6.ในเด็กถ้ามีอาการชักร่วมด้วย : ให้ยากันชัก ดูเรื่องชักจากไข้สูงให้เช็ดตัวเป็นหลัก หากไข้ไม่ลดให้ยาลดไข้ หรือฉีดยาถ้าจำเป็น

ข้อแนะนำ : 1.ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผล การรักษาอยู่ที่การพักผ่อนและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยาที่ใช้ก็เป็นเพียงยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น โดยทั่วไปอาการตัวร้อนมักจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน ถ้าเป็นเกิน 4 วัน มักแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรืออาจเกิดจากโรคอื่นๆ ผู้ป่วยบางรายถึงแม้ว่าจะหายตัวร้อนแล้ว แต่ก็อาจมีน้ำมูกไหลและไอต่อไปได้ บางรายอาจไอ
โครกๆ นาน 2-3 สัปดาห์ (นาน 4-6 สัปดาห์) ซึ่งมักจะเป็นลักษณะแห้งๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ถ้าพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยไม่ต้องให้ยาอะไรทั้งสิ้น ให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ห้ามดื่มน้ำเย็น อาการไอจะค่อยๆ หายไปเอง

2.ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกราย ยกเว้นในรายที่สงสัยจะมีอาการแทรกซ้อนเท่านั้น

3.ผู้ที่เป็นไข้หวัด มีอาการตัวร้อนร่วมด้วย เรื้อรังเป็นๆ หายๆ ประจำอาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด ธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางอะพลาสติก โรคขาดอาหาร เป็นต้น จึงควรตรวจดูว่ามีสาเหตุเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่ หากสงสัยควรแนะนำไปโรงพยาบาล

4.เด็กเล็กที่เพิ่งฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเข้าโรงเรียนในช่วง 3-4 เดือนแรก อาจเป็นไข้หวัดได้บ่อย เพราะติดเชื้อหวัดจากเด็กคนอื่นๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเรื่อยๆ ควรตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน ถ้าไม่พบมีความผิดปกติ และเด็กมีพัฒนาการดี ก็ควรอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจ ควรมียาลดไข้ พาราเซตามอลไว้ประจำบ้าน ให้เด็กกินเวลาตัวร้อน ส่วนยาอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องให้ อย่ากินยาปฏิชีวนะ (ซึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบ) โดยไม่จำเป็น ควรสงวนไว้ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้จริงๆ เท่านั้น การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่ออาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย เช่น ทำให้เชื้อโรคดื้อยา ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นต้น ควรดูแลเรื่องอาหารการกิน หมั่นชั่งน้ำหนักตัว พอพ้น 3-4 เดือน อาการก็จะเป็นห่างไปเอง

5.ผู้ที่เป็นไข้หวัดและจามบ่อยๆ โดยไม่มีไข้ มักเกิดจากการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือละอองเกสร เป็นต้น มากกว่าจะเกิดจากติดเชื้อไวรัส

6.ผู้ที่มีอาการไข้และมีน้ำมูก แต่ตัวร้อนจัดตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ค่อยทุเลา มักจะไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่มีสาเหตุอื่นๆ เช่น หัด ปอดอักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ ควรตรวจดูอาการของโรคเหล่านี้อย่างละเอียด โดยเฉพาะรายที่เป็นไข้หวัดเกิน 7 วัน ต้องติดโรคอื่น อาจจะเป็นได้ เช่น ไข้เลือดออก ไอกรน โปลิโอ บาดทะยัก ตับอักเสบจากไวรัส ไทฟอยด์ สมองอักเสบ ไข้สันหลังอักเสบ เป็นต้น

7.อย่าซื้อหรือจ่ายยาชุดแก้หวัดที่มีคลอแรมเฟนิคอล เตตราไซคลิน หรือเพร็ดนิโซโลน ผสมอยู่ด้วย นอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังมีอันตรายผลข้างเคียงของยาได้

8.เมื่อเป็นไข้หวัด ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูก เพราะอาจทำให้เชื้อลุกลามเข้าหูและโพรงไซนัสได้ทำให้เกิดการอักเสบแทรกซ้อนได้

9.สำหรับเด็กเล็ก อย่าซื้อยาแก้ไอสูตรผสมต่างๆ กินเอง เพราะอาจมีตัวยาเกินความจำเป็นจนอาจเกิดพิษได้ แม้แต่ยาแก้แพ้ แก้หวัด นอกจากจะไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร แล้วยังอาจมีผลข้างเคียงต่อเด็กเล็กได้ ในการรักษาเบื้องต้นควรให้ยาลดไข้พาราเซตามอล เพียงชนิดเดียวจะปลอดภัยกว่ามาก

10.ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก อย่าปะปนกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก ไม่หายใจรดผู้อื่น

ผู้เขียนในฐานะหมอ ขอให้คำแนะนำว่า “การป้องกันและการสร้างสุขภาพ
ให้แข็งแรงเสมอ” สำคัญที่สุด สิ่งแรก ถ้าคนในบ้านหรือที่ทำงานป่วยเป็นไข้หวัด อย่าเข้าใกล้ หรือนอนร่วมกับผู้ป่วย ระวังรักษาให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝนตก หรือมีอากาศหนาวเย็น อย่าตรากตรำทำงานหนักเกินไป และควรออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ควรเข้าไปในที่ ที่แออัด เช่น ตามโรงมหรสพ ตลาดนัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะเวลาที่มีอากาศเย็น ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ทั้งผู้ป่วยและคนเฉพาะที่อยู่ใกล้เคียง และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตา หรือแคะในจมูก อย่าใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เครื่องใช้ โทรศัพท์ของเล่น ฯลฯ ของเล่นร่วมกับผู้ที่เป็นไข้หวัด ข้อสำคัญที่สุด คือ การสร้างสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารที่สุกมีคุณค่าครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้พอเพียง ไม่ตรากตรำงานหนักหรือมากเกินไป พร้อมทั้ง 3 ลด : การลดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา การอ้วนเกินไป จะทำให้อึดอัดไม่กระฉับกระเฉง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยเสริมให้ป่วยได้ง่าย และจำไว้ว่า “ไข้หวัด” ธรรมดาเริ่มเป็นครั้งแรกให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา ทานยาลดไข้พาราเซตามอล พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่กินยาปฏิชีวนะ (ยกเว้นแพทย์สั่ง)

ไข้หวัดปกติภายใน 4-5 วัน น่าจะหายเป็นปกติ ถ้าเป็นมากกว่า 4-7 วัน ต้องไปโรงพยาบาล เพื่อการตรวจละเอียดว่ามีโรคอื่นแทรกซ้อนด้วยหรือไม่? ที่เป็น “ต้นเหตุ” จะได้ไม่หลงทางไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image