คอลัมน์โกลบอลโฟกัส: ฟุคุชิมาซินโดรม

เมื่อถึงวันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคมนี้ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมซ้ำซ้อน 3 เหตุการณ์ ตั้งแต่แผ่นดินไหวขนาด 9.0 แม็กนิจูด ต่อด้วยคลื่นยักษ์สึนามิ และตามมาติดๆ ด้วยวิกฤตนิวเคลียร์รั่วไหล ที่เกิดขึ้นกับจังหวัดฟุคุชิมาก็จะวนมาบรรจบครบรอบ 7 ปีเต็ม

7 ปีสำหรับคนภายนอก ดูเนิ่นนานมาก นานจนหลายคนลืมเลือนไปแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในวันโลกาวินาศของฟุคุชิมาวันนั้น แต่ไม่ใช่กับผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อโดยตรงของเหตุการณ์ดังกล่าวแน่นอน

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 20,000 คนในพริบตาเท่านั้น ยังส่งผลให้ชาวฟุคุชิมา 160,000 คนเป็นอย่างน้อยต้องอพยพออกจากบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก

จนถึงขณะนี้ 7 ปีผ่านไปผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยจากจำนวนดังกล่าวยังคงใช้ชีวิตอยู่กับ “ที่พักชั่วคราว” อยู่ต่อไป

Advertisement

ผู้คนอีกส่วนหนึ่งซึ่งเลือกที่จะปักหลักอยู่ในที่อยู่อาศัยที่คุ้นเคย แต่เป็นการใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานท่ามกลางขีดจำกัดที่ถูกกำหนดขึ้น เป็นชีวิตที่อาบอยู่ด้วยความหวั่นกลัว หวาดวิตก ชวนอึดอัดคับข้องใจ

วินาศภัยครั้งนั้นส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสมาชิกในชุมชนทั้งหลายในฟุคุชิมา ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีแต่จุดเริ่มต้น แต่ยังไม่มีจุดจบ

อุบัติภัยทางนิวเคลียร์ ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟุคุชิมาไดอิจิ ยังคงไม่สามารถระงับยับยั้งได้ กัมมันตภาพรังสี ยังคงรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

บริษัทพลังงานไฟฟ้าแห่งโตเกียว (เทปโก) เจ้าของ ฟุคุชิมา ไดอิจิ พยายามอย่างหนักในหลายวิถีทาง แม้กระทั่งการส่งหุ่นยนต์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถแม้แต่จะล่วงรู้สภาพความเป็นจริงพื้นฐานที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ภายในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1

หุ่นยนต์ติดกล้องราคาแพงระยับ “ตาย” ภายในไม่นานหลังจากเข้าสู่ภายในเตาปฏิกรณ์

7 ปีผ่านไป รัฐบาลกับประชาชนฟุคุชิมา ยังคงถกเถียงกันอย่างหนักว่า ที่นี่ปลอดภัยแล้วหรือไม่ กับการเดินทางกลับมาใช้ชีวิตอยู่ ตามโครงการ “เร่งรัด” ฟื้นฟูฟุคุชิมาให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วของทางการ ลงเอยด้วยการเป็นคดีฟ้องร้องกันอยู่ในศาล

ในเวลาเดียวกัน เหยื่อระยะยาวของโศกนาฏกรรมฟุคุชิมา เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

เหยื่อของ “ฟุคุชิมาซินโดรม”

******

อาการป่วยเห่งฟุคุชิมา แสดงออกให้เห็นทั้งทางตรงและทางอ้อม แสดงออกมาให้เห็นในลักษณะการเพิ่มพรวดของมะเร็งในร่างกาย แต่ที่ร้ายกาจยิ่งกว่าคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจ กับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่นั่้นซึ่งกลายเป็นมะเร็งร้ายเรื้อรังเกาะกินใจมานานจนกระทั่งถึงขณะนี้ ด้วยเหตุผลซึ่งทารุณร้ายกาจอย่างยิ่งที่ว่า ไม่เคยมีใครบอกอะไรได้แน่นอนชัดเจนเลยแม้แต่เรื่องเดียว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของกรณีนี้ก็คือ จำนวนผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในพื้นที่ฟุคุชิมา

เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ไมนิจิ ชิมบุน รายงานว่า จำนวนของเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 18 ปีลงมา (ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต) ในพื้นที่จังหวัดฟุคุชิมาที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ เพิ่มขึ้นเป็น 160 คนแล้ว

ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลข “อย่างเป็นทางการ” ที่แถลงออกมาโดย คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประจำจังหวัดฟุคุชิมา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ซึ่งติดตามอาการมะเร็งต่อมไทรอยด์มาตั้งแต่เกิดเหตุเรื่อยมาจนถึงขณะนี้

6 เดือนหลังโศกนาฏกรรม มีการตรวจสอบ เด็กและวัยรุ่นกลุ่มนี้เป็นครั้งแรก รวมทั้งสิ้น 360,000 คน เป็นการตรวจสอบตามบทเรียนที่ได้รับจากเหตุอุบัติภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อหลายปีก่อนที่พบหลังเกิดเหตุว่า ผู้คนในพื้นที่ได้รับรังสี มีอัตราการป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์พุ่งพรวด

การตรวจสอบคนกลุ่มเดิมรอบที่ 2 มีขึ้น 2 ปีหลังการตรวจสอบครั้งแรก คราวนี้จำนวนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 380,000 คน โดยรวมเอาเด็กที่คลอดออกมาหลังเหตุการณ์เพิ่มเข้าไปด้วย การตรวจสอบระลอกถัดไป คือระลอกที่สี่ จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณใหม่นี้ ซึ่งในญี่ปุ่นจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

จำนวน 160 รายที่เป็นผลมาจากการตรวจสอบเพื่อกลั่นกรองเป็นระลอกที่ 3 นี้ เป็นการระบุเฉพาะผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้ว ถ้าหากรวมเอาผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่า “น่าจะเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์” เข้าไปด้วยก็จะเพิ่มเป็นกว่า 190 ราย

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯเองก็ยืนยันในการแถลงว่ายังคง “ยากที่จะบอกว่าผู้ป่วยในกรณีนี้ เกี่ยวข้องกับการได้รับหรือสัมผัสรังสี” จากอุบัติภัยหนนี้หรือไม่

ความเคลือบแคลงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การตรวจกลั่นกรองในรอบแรกสุด ที่พบว่า มีผู้ป่วยและมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์รวมกันแล้วอยู่ที่ราว 166 คน

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ตัวเลขดังกล่าวเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรแล้ว ตัวเลขดังกล่าวจะทำให้อัตราการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ในพื้นที่ฟุคุชิมา สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศถึง 30 เท่าตัว

คำถามก็คือ 30 เท่าตัวนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

มีงานวิจัย 2 ชิ้นศึกษาผลการตรวจสอบดังกล่าว ชิ้นแรกเป็นผลงานของทีมวิจัยที่นำโดย ดร. โชอิชิโร สึกาเนะ จากศูนย์เพื่อการกลั่นกรองและป้องกันมะเร็ง ในสังกัดศูนย์มะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมผู้เชี่ยวชาญของฟุคุชิมาด้วย สรุปว่า การที่ผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์เพิ่มสูงผิดปกติดังกล่าวเกิดจากสภาวะที่เรียกกันในทางวิชาการว่า “โอเวอร์ไดแอกโนซิส” ซึ่งหมายถึงว่า มีการวินิจฉัยเหมารวมเอา
“เซลล์มะเร็งซ่อน” ที่ไม่เป็นอันตรายเข้าไปรวมอยู่ในกลุ่มของผู้ป่วยมะเร็งจริงๆ ด้วย ทำให้สัดส่วนสูงผิดปกติ

ดร. สึกาเนะ ยืนยันว่า มีผู้ป่วยมะเร็งจากการได้สัมผัสรังสีอยู่ด้วยจริง แต่ “เป็นส่วนน้อย” ซึ่งไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นสัดส่วนเท่าใดของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งทั้งหมด

งานวิจัยอีกชิ้นเป็นของ ศาสตราจารย์ โทชิฮิเดะ สึดะ จากมหาวิทยขาลัยโอกายามา ซึ่งสรุปเอาไว้ว่า การเพิ่มทั้งหมดเกิดจากการได้รับรังสีเกือบ 92 เปอร์เซ็นต์ ที่เกิดจากการ “โอเวอร์ไดแอกโนซิส” นั้นมีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

นี่คือสิ่งที่ชาวฟุคุชิมา ได้รับเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงตลอดเวลา

เป็นความสับสน สร้างความงุนงง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่ชนิดที่พวกเขาไม่สมควรได้รับแม้แต่น้อย

******

ความไม่รู้ชัด ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่มีแบบอย่างให้เทียบเคียง แต่ความไม่รู้ย่อม เป็นบ่อเกิดของ “วิตกจริต” หวาดผวา อยู่ร่ำไป ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่นำไปสู่ภาวะการณ์ทางจิตใจของ “ฟุคุชิมาซินโดรม”

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เป็นเรื่องของปริมาณกัมมันตภาพรังสีในพื้นที่ “อพยพ” 31 ตารางกิโลเมตรโดยรอบโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาไดอิจิ

รัฐบาลเร่งรัดให้ชาวฟุคุชิมา เดินทางกลับมาใช้ชีวิตเหมือนที่เคยอยู่เมื่อตอนก่อนหน้าเกิดภาวะวิกฤต โดยระบุว่า ปริมาณรังสีในพื้นที่ดังกล่าววัดแล้วอยู่ที่ 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี ซึ่งห่างไกลมากจากระดับปลอดภัยที่ 100 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี ซึ่งเป็นข้อกำหนดของคณะกรรมการเพื่อการป้องกันเชิงรังสีระหว่างประเทศ (ไอซีอาร์พี) และ องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ที่บอกเอาไว้ว่า ถ้าเกินกว่า 100 เมื่อใดจึงต้องอพยพ

แต่การเร่งรัดด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ชาวฟุคุชิมาหลายคน “ไม่เชื่อ” บางคนถึงกับ “โกรธ”

ซูมิโอะ คอนโนะ วัย 55 ปีชาวฟุคุชิมา ที่มีประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นาน 29 ปี บอกว่า ในโรงไฟฟ้ายังกำหนดปริมาณรังสีที่ต้องรับอยู่ไม่เกิน 12 มิลลิซีเวิร์ตต่อปีเท่านั้น แล้วรัฐบาลเอาอะไรมารับประกันกับความปลอดภัยของค่ารังสีที่ระดับ 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี?

เขาโกรธและ “อภัยให้ไม่ได้” ที่รัฐบาลรับเอามาตรฐาน 20มิลลิซีเวิร์ตมาใช้กับลูกชายอายุ 12 ปีของเขา

ข้อสังเกตของ คอนโนะ ไม่ใช่เลื่อนลอยแต่อย่างใด เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญอย่าง คีธ เบเวอร์สต็อค ที่เคยเป็นถึงที่ปรึกษาด้านรังสีและสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียยังยืนยันว่า ระดับรังสี 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี เป็นระดับรังสีที่ถ้าหากจะมาใช้ชีวิตอยู่ ก็ต้อง “อยู่แต่ในบ้าน” ที่ปิดตาย ไม่ถ่ายเทรับเอาอากาศภายนอกเข้ามาเท่านั้น

และตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่าระดับดังกล่าววัดภายในบริเวณริมถนน และภายในเมืองซึ่งผ่านการ “คลีนอัพ” มาแล้ว แต่นอกพื้นที่ดังกล่าว ที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ เช่น พื้นที่ป่าและภูเขาใกล้ชุมชน

ค่ารังสีจะเป็นเท่าใด จะก่ออันตรายให้เกิดขึ้นมากเพียงใด

มิซาโอะ ฟูจิตะ ผู้เชี่ยวชาญมะเร็ง ชี้ว่า แม้แต่ภายในห้องเอ็กซ์เรย์ ของโรงพยาบาล ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่เข้าไปใช้ “เท่าที่จำเป็น” เท่านั้น ยังมีระดับค่ารังสีเพียงแค่ 5 มิลลิซีเวิร์ตต่อปีเท่านั้นเอง

การใช้ชีวิต การส่งเด็กไปโรงเรียน ภายในสภาพแวดล้อมที่มีค่ารังสีสูงถึง 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี ถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง

******

ชาวฟุคุชิมา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งชายและหญิง ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความสับสน ไม่แน่ใจ ไม่รู้ชัด แต่เหมือนมีอันตรายไร้รูปลักษณ์คุกคามอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ต่อเนื่องยาวนานถึง 7 ปีแล้ว

งานสำรวจเมื่อปี 2017 ของ กรีนพีซ เผยให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจมากที่สุดในวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือ ผู้หญิง และ เด็ก

มีแม่เป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็น “แม่เลี้ยงเดี่ยว” เนื่องจากจำเป็นต้องหย่าร้างเพื่อความปลอดภัยของลูก ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการบันทึกไว้ แต่ปรากฏการณ์หย่าเพราะวิกฤตหนนี้ต้องเกิดขึ้นจนเป็นสามัญปกติแน่นอนเนื่องจากถึงกับมีคำเรียกขานโดยเฉพาะว่า “เก็นปาสึ ไรกอน” หรือ “หย่า(เพราะ)ปรมาณู”

การใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความระแวดระวัง หวั่นกลัวกัมมันตภาพรังสี ทำให้เด็กๆ ต้องจมอยู่แต่ภายในบ้าน ในอาคาร นานเป็นปีและหลายปี ส่งผลกระทบต่อเด็กๆ อย่างใหญ่หลวง ความแข็งแรงของเด็กลดน้อยลง, ความคล่องแคล่วที่เกิดจากการประสานงานของอวัยวะทุกส่วนขาดหายไป แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผลกระทบในเชิงอารมณ์ ความรู้สึก

มิตสุโอะ ฮิรากูริ ครูโรงเรียนอนุบาลใน โคริยามะ เล่าเอาไว้ว่า เมื่อผ่านการใช้ชีวิตแบบจำกัดดังกล่าวมาเพียง 3 ปี เด็กๆ จะจำหลักอยู่กับความกลัว พวกเขาถามก่อนที่จะกินทุกอย่างว่ามีรังสีไหม? เด็กๆ จะทะเลาะกันบ่อยครั้งมากขึ้น เถียงกันมากขึ้น ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการสะสมความเครียดเอาไว้โดยไม่รู้สึก แล้วแสดงออกมาโดยอัตโนมัติโดยการที่จู่ๆ ก็มีเลือดกำเดาไหลออกมาโดยไร้สาเหตุ

เด็กๆ บางคนไม่ตื่นตัว ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดๆ

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมโรงเรียนหลายแห่งในฟุคุชิมา ถึงต้องดิ้นรนจัดทำโครงการการเรียนการสอนพิเศษ ที่เรียกกันว่า “คอมเมดี เอดูเคชัน” สอนให้เด็กๆ รู้จักการเสาะแสวงหาอารมณ์ขันและหัวเราะออกมาดังๆ

ห้องเรียนพิเศษที่ อาอิซึ-คาวามัตสึ มีการสอน “มันไซ” การเดี่ยวตลกตามประเพณีดั้งเดิมของญี่ปุ่นภายใต้ความร่วมมือจากบริษัทการแสดง โยชิโมโต โคเกียว จากโอซากา

ในขณะที่บริษัทการแสดง โชชิกุ เกอิโนะ จากโอซากาเช่นเดียวกัน ก็ส่งดาราตลกมันไซ มาร่วมสอนในชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนอีก 2 โรงเรียนในฟุคุชิมา

หวังเพียงแค่เรียกรอยยิ้มจากเด็กๆเหล่านี้ และให้พวกเขาเรียนรู้ว่า จะมองโลกด้วยอารมณ์ขันแบบไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่นได้อย่างไร

ก่อนที่โศกนาฏกรรมจะพรากรอยยิ้มของพวกเขาไปตลอดกาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image