คอลัมน์มหัศจรรย์การ์ตูน : ปัญญามักมาหลังอุปสรรค

เคยได้ยินมานานมากแล้วค่ะว่า เราจะเติบโตขึ้นได้อีกขั้นหนึ่งเมื่อข้ามผ่านประสบการณ์เลวร้ายของชีวิตมาได้ กระบวนข้ามผ่านไม่ได้เป็นเรื่องของเวลาแต่เป็นเรื่องการเรียนรู้ หมายถึงเหตุการณ์บางอย่างสามารถข้ามผ่านได้เร็วถ้าเราเรียนรู้และยืนหยัดขึ้นสู้ได้ใหม่อีกครั้ง ในทางตรงกันข้าม เราไม่สามารถข้ามผ่านบางเหตุการณ์ได้เลยแม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรหากไม่ได้เรียนรู้หรือไม่ได้ลุกขึ้นยืนหยัดใช้ชีวิตต่อไป เรื่องนี้ทำให้นึกถึงนักศึกษาสาวคนหนึ่งค่ะ เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวมีฐานะ ความที่สอบเข้าคณะที่มีชื่อเสียงจึงเป็นความภูมิใจของพ่อแม่อย่างมาก ชีวิตมหาวิทยาลัยของเธอมีจุดสะดุดหลังจากเธอป่วยด้วยโรควิตกกังวลอย่างรุนแรง เธอมีอาการกลัวและกังวลทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเรียน กลัวเขียนรายงานผิด กลัวตอบอาจารย์ผิด กลัวกระทั่งจะทำข้อสอบผิดแม้ว่าการทำข้อสอบผิดเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องประสบก็ตาม ไปๆ มาๆ ก็เริ่มกลัวที่จะไปเรียน กลัวที่จะไปพบหน้าเพื่อน เธอขาดเรียนและสอบตกเนื่องจากไม่ส่งงานจนกระทั่งในที่สุดเธอก็ต้องออกจากการเป็นนักศึกษาเพราะเวลาเรียนไม่พอ เมื่อเรื่องลงเอยแบบนี้เธอจึงกลัวที่จะมาพบจิตแพทย์เพราะเกรงว่าจะโดนดุที่ไม่ยอมไปสอบจนกระทั่งไม่สามารถเรียนต่อได้ ครั้งนี้คุณแม่จึงมาแทนค่ะ

“พ่อแม่คิดว่าจะให้เขาเอ็นทรานซ์เข้าคณะเดิมอีกครั้งค่ะ ถ้าเขาเรียนครั้งที่ 2 บางทีเขาอาจจะกลัวน้อยลงก็ได้ คุณหมอคิดว่าตัดสินใจแบบนี้ถูกไหมคะ”

“หมอบอกไม่ได้เหมือนกันค่ะว่าถูกหรือไม่ แต่ที่หมออยากทราบคือน้องเขาตัดสินใจยังไงคะ”

“เขาไม่กล้าตัดสินใจเลยค่ะ เขากลัวว่าตัดสินใจผิดแล้วจะต้องเสียใจอีก

Advertisement

“คุณแม่จะลองให้เขาตัดสินใจดูก่อนไหมคะ หมอเห็นว่าเขาโตพอสมควรแล้ว ถ้าความกังวลของเขาน้อยลงอาจจะพอตั้งสติแล้วเลือกอนาคตตัวเองได้ จะเลือกผิดหมอก็ไม่ได้คิดว่าน่ากังวลอะไรเพราะอย่างน้อยเขาก็ยังมีคุณพ่อคุณแม่ให้กำลังใจ พลาดไปก็ยังมีเวลาตั้งตัวใหม่ได้ เราช่วยแนะนำได้แต่อยากให้เขาเลือกเองค่ะ”

ดูท่าทางคุณแม่ก็ยังไม่ตกลงปลงใจแต่เชื่อว่าสุดท้ายจะให้ลูกสาวเลือกเองแน่ๆ เพราะหลายปีที่ผ่านมาถ้ามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นกับชีวิต นักศึกษาสาวคนนี้จะต่อว่าและโทษพ่อแม่เสมอว่าเพราะพ่อแม่แนะนำให้เขาเรียนคณะนี้ เพราะพ่อแม่บอกให้ทำอย่างนี้ ชีวิตเขาถึงต้องลงเอยแบบนี้ ฟังแล้วก็น่าเห็นใจพ่อแม่ค่ะ

ทางที่ลูกเลือกอาจไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตแต่ทางที่พ่อแม่เลือกก็ไม่ได้ดีที่สุดเหมือนกันค่ะ อาจจะปลอดภัยที่สุดหรือมั่นคงที่สุด แต่สำหรับตัวลูกเองอาจมีเหตุผลทั้งดีและไม่ดีสำหรับการเลือกทางชีวิตของตัวเอง ที่ดีเห็นจะเป็นเลือกงานที่ชอบหรือถนัด ที่ไม่ดีก็เลือกงานสบายหรือเลือกตามเพื่อน ทุกทางล้วนมีอุปสรรคในแบบของตัวเองซึ่งถ้าเราข้ามผ่านมันไปด้วยการเรียนรู้และยืนหยัดอีกครั้ง เราก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นอีกก้าวหนึ่งค่ะ แอนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่อง “Aki no Kanade” ก็บอกอย่างนั้น

Advertisement

“อากิ” ฝันอยากเป็นนักแสดงกลองไทโกะซึ่งเป็นกลองพื้นเมืองตั้งแต่เด็ก เธอตัดสินใจไปโตเกียวหลังเรียนจบเพราะอยากเป็นนักแสดงกลองมืออาชีพและทำได้อย่างที่ฝัน อากิได้รับการติดต่อจากครูที่โรงเรียนบ้านเกิดซึ่งเป็นคนสอนกลองให้เธอ ครูขอให้เธอไปช่วยสอนนักตีกลองมือสมัครเล่นซึ่งทุกคนจะร่วมแสดงในงานเทศกาลศาลเจ้าของเมือง เทศกาลนี้งดเว้นไปหลายปีเนื่องจากเคยเกิดอุบัติเหตุนั่งร้านตีกลองพังลงมา การกลับมาของอากิจะช่วยให้กลองไทโกะในเทศกาลคืนชีพได้อีกครั้ง ดูเผินๆ คล้าย
อากิประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ได้ตีกลองอย่างที่ตั้งใจและหาเงินจากงานที่ชอบได้ด้วย แท้จริงอากิไม่ได้โชคดีอย่างนั้นค่ะ เธอคิดว่าตัวเองล้มเหลวในฐานะผู้ใหญ่ เธอมองไม่เห็นอนาคตว่าอยากทำอะไรต่อไปหรือมีความมุ่งมาดปรารถนาใดกับชีวิต ตอนนี้สิ่งที่ทำก็มีแค่ตีกลองโชว์ร่วมกับเพื่อนในวงแต่รายได้ก็ไม่มากพอจนเธอต้องทำงานพาร์ตไทม์ไปด้วย อากิค้นพบความหมายของชีวิตอีกครั้งเมื่อกลับบ้านเกิดและพบว่าการช่วยให้เทศกาลกลองของศาลเจ้าดำรงสืบต่อไปทำให้ชีวิตมีคุณค่าขึ้น

จะเห็นว่าอากิเกิดปัญญาขึ้นเมื่อได้เรียนรู้และเข้าใจว่าสิ่งที่ทำมีความหมายต่อชีวิตอย่างไร เธอตีกลองที่ชอบและเลี้ยงตัวเองด้วยสิ่งนี้แต่กลับไม่มีความสุขมากเท่าวันที่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร งานวิจัยของคุณแคโรลีน แอลด์วิน จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอนก็บอกว่าปัญญาจะตามหลังชีวิตที่ยากลำบากจริงๆ ค่ะ เหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวเราหลังจากนั้น ดังนั้นเมื่อเราประสบปัญหาแบบเดิมกับในอดีต เราจะไม่ได้เป็นคนเดิมที่จมปลักกับปัญหาอีกแล้ว ผู้วิจัยศึกษาคนอายุ 56-91 ปี 50 คน และพบว่า
เกินครึ่งมองอุปสรรคครั้งใหญ่เป็นจุดแวะพักจุดหนึ่งของชีวิตที่ยาวนานเท่านั้น เขาได้ข้อสรุปว่ามี 9 วิธีที่ทำให้เราข้ามผ่านช่วงเลวร้ายของชีวิตไปได้ เช่น ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง คุยกับคนที่มีประสบการณ์เหมือนกัน หาเพื่อนใหม่ หรือแม้แต่ไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ วิธีเหล่านี้อาจไม่ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขแต่ก็ช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเร็วขึ้น

ยามที่ชีวิตมีทุกข์ เพื่อนและคนรอบข้างช่วยเราได้ แต่เมื่อชีวิตพ้นช่วงทุกข์มาแล้ว ตัวเราที่เรียนรู้อดีตและยืนหยัดกลับมาใช้ชีวิตให้ได้เหมือนเดิมเท่านั้นที่ช่วยตัวเราเองได้ค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image