ฤาสงครามการค้าโลกจะเกิดขึ้นในยุคนี้ : สมหมาย ภาษี

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำของชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้นสิ่งใดที่ทรัมป์ทำหรือคิดจะทำก็จะกระเทือนถึงคนทั้งโลกเป็นธรรมดา ซึ่งเป็นวันศุกร์ที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา เขาได้ประกาศว่าจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกา ตามข่าวกล่าวว่าจะขึ้นถึง 25% สำหรับเหล็ก และ 10% สำหรับอะลูมิเนียม จึงเป็นเรื่องใหญ่ ทันทีที่ข่าวออกมาบรรดาดัชนีหุ้นของตลาดหุ้นที่ใหญ่ของโลกต่างก็ปรับตัวลงทันที รวมทั้งประเทศที่ไม่ใหญ่ในเอเชียหลายประเทศ รวมทั้งไทยดัชนีหุ้นก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ทันทีที่มีข่าวออกมา ประเทศที่เป็นผู้ผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมรายใหญ่ๆ ของโลก อย่างเช่นประเทศแคนาดา แม็กซิโก กลุ่มอียูในยุโรป ประเทศจีน และเกาหลีใต้ ก็ได้ออกมาโวยวายกันอย่างมาก พร้อมกับเตือนเชิงขู่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าถ้าทำกันอย่างนี้ก็จะต้องมีการตอบสนองที่สมน้ำสมเนื้อกันมั่ง แล้วทั้งคู่และรวมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและที่กำลังพัฒนาก็จะเจ็บตัวกันถ้วนหน้า

การขู่ฮึ่มๆ ใส่กันไปมาครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องของชาติใหญ่ที่พัฒนาแล้วทั้งนั้น ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กรายใหญ่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ ในเบื้องต้นยังคอยดูท่าทีอยู่เพราะคงไม่คิดว่าการร้องขู่กันในเรื่องการทำสงครามการค้าโลกแบบซึ่งๆ หน้าเช่นนี้จะเป็นจริง เพราะที่แล้วๆ มานับตั้งแต่อุตสาหกรรม
สิ่งทอในอดีตที่มีท่าทีว่าจะเป็นสงครามการค้าโลกก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริกาเองหลายคนที่ได้ออกมาพูดคุยว่า หากทำเช่นนี้ตามนโยบาย “อเมริกันต้องมาก่อน” ของทรัมป์ คนที่เจ็บตัวก็คือบริษัทอเมริกันนั่นแหละ เพราะประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้เหล็กและอะลูมิเนียมมากมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการวางท่อในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ การก่อสร้างที่มากมายมหาศาล รวมทั้งอุตสาหกรรมแทบทั้งหมดก็จะได้รับผล
กระทบเป็นอย่างมากด้วย กล่าวคือต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น ในที่สุดก็จะสู้ชาติอื่นไม่ได้ คนว่างงานก็จะตามมา

Advertisement

ตัวผมเองไม่ได้มีความรู้เรื่องการค้าระหว่างประเทศเท่าใดนัก แต่โชคดีที่มีเพื่อนสนิทที่ผมเองรู้ว่าเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนี้ดีมากในประเทศคนหนึ่ง คือ คุณเกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นลูกหม้อของกระทรวงนี้มาตั้งแต่ยังหนุ่ม และได้ทำงานให้ประเทศไทยในเรื่องการค้าระหว่างประเทศอย่างโชกโชน จนได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตคนแรกของไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) ที่ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1995 หรือประมาณ 23 ปีที่แล้ว จำได้ว่าผมเคยแวะไปเที่ยวเจนีวา และท่านได้กรุณาให้ผมพักที่บ้านพักของท่านหนึ่งคืนด้วย

คุณเกริกไกรได้เล่าให้ฟังว่าความพยายามในการจัดระเบียบการค้าโลกของสังคมโลกโดยการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติได้มีมายาวนาน จนกระทั่งได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติในเรื่องภาษีและการค้า ที่เรียกว่า General Agreement on Tariffs and Trade หรือ GATT (แกต) ในปี 1948 หรือเมื่อ 70 ปีมาแล้ว ซึ่งทำให้การบูดเบี้ยวในเรื่องการค้าระหว่างประเทศลดน้อยลง เพราะมีกฎเกณฑ์ที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตามเกิดขึ้นแล้ว

แต่แม้กระนั้นก็ตาม ตามสันดานของมนุษย์ที่เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่ง ต่างก็พยายามหาช่องทางเอาเปรียบชาติอื่นๆ เพื่อให้สินค้าของตนสามารถเข้าแข่งขันได้และขายได้ปริมาณมาก ดังนั้นกฎเกณฑ์ของ GATT จึงเอาไม่อยู่ จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติต้องเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาด้วยวิธีการจับประเทศต่างๆ มาเจรจากันเป็นรอบๆ มีการยกประเด็นปัญหาหรือประเด็นที่เป็นช่องโหว่ในทางปฏิบัติขึ้นมาพูดเจรจา ทั้งหมดมีถึงร่วม 30 เรื่อง ซึ่งต้องใช้เวลาเจรจารอบแล้วรอบเล่าร่วมหลายสิบปี ซึ่งการเจรจาระหว่างประเทศในเรื่องนี้เรียกว่า การเจรจารอบอุรุกวัย (Uruguay Round)

Advertisement

จนกระทั่งทำให้กฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศอันเป็นที่ยอมรับปฏิบัติของนานาประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติครอบคลุมได้หมดแทบทุกเรื่อง หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) หรือ WTO ขึ้นในปี 1995 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าโลก

เมื่อมีองค์การการค้าโลก ซึ่งมุ่งส่งเสริมการแข่งขันการค้าเสรีที่ไม่มีการกีดกันใดๆ จากประเทศสมาชิก คอยทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศอยู่อย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ถามว่าแล้วการจะใช้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของเหล็ก 25% และอะลูมิเนียม 10% นี้ประเทศสหรัฐอเมริกายังคงปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ GATT หรือไม่ เรื่องนี้น่าสนใจ

ปกติด้วยสันดานของมนุษย์ทุกชาติทุกเผ่า การนำความฉลาดแกมโกงมาใช้ในการหาประโยชน์ให้ตัวนั้นย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา ใครจะหน้าหนาทำมากทำน้อย ข้างๆ คูๆ อย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การป้องกันไม่ให้ประเทศไหนใช้วิชาฉลาดแกมโกงนี้ คุณเกริกไกรได้เล่าให้ฟังว่าข้อตกลง GATT ได้วางกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างรอบคอบเช่นกัน โดยได้วางเกณฑ์การป้องกันตัวเองที่เรียกว่า เซฟการ์ด (Safe Guard) ขึ้นเพื่อปกป้องการกระทำที่เป็นการคุกคามในทางการค้าจากอีกฝ่ายหรือจากหลายฝ่าย โดยได้กำหนดไว้ 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นสิทธิในการนำเข้า ถ้าหากประเทศถูกคุกคามจากประเทศอื่นทำให้มีการนำเข้าสินค้าบางอย่างที่มากผิดปกติจนทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศเสียหาย ก็นำมาตรการเซฟการ์ด คือการขึ้นภาษีการนำเข้ามาใช้กับสินค้านั้นก็ย่อมกระทำได้ และประการที่สอง คือการเสียหายของประเทศในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งที่เป็นผลมาจากการทุ่มตลาดหรือการ
กระทำใดๆ ที่เป็นลักษณะคุกคามจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของตนเองก็สามารถนำมาตรการเซฟการ์ดมาใช้ได้เช่นกัน เช่นการควบคุมการนำเข้า หรือการขึ้นภาษีนำเข้า แต่มาตรการที่ใช้นี้จะต้องเป็นเรื่องชั่วคราว มีเงื่อนไขเวลาที่ชัดเจน ใช้แล้วก็ต้องไปหารือกับประเทศ
คู่ค้าเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว

ดังนั้นการที่ทรัมป์คิดจะใช้มาตรการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในครั้งนี้ ก็ต้องดูแล้วว่ากฎเกณฑ์ของ GATT เปิดช่องให้ทำได้ อย่างไรก็ดี ประเทศที่เคยส่งสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมมาขายที่สหรัฐอเมริกาก็ต้องพูดว่า ก็เหล็กและอะลูมิเนียมที่ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกามันสู้เขาไม่ได้ เพราะประสิทธิภาพ ต่ำต้นทุนก็สูง แล้วจะมาหาเรื่องใช้เซฟการ์ดได้อย่างไร เรื่องของเรื่องก็ต้องว่ากันไปอีกยาว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 หรือ 9 มีนาคม ตามเวลาสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ลงนามอนุมัติมาตรการเซฟการ์ดขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และอะลูมิเนียม 10% ซึ่งจะมีผลในอีก 15 วันข้างหน้า โดยยกเว้นประเทศในกลุ่มนาฟต้า (NAFTA) ซึ่งได้แก่แคนาดาและเม็กซิโก และประเทศพันธมิตรบางประเทศ ทั้งนี้จะเปิดให้ประเทศพันธมิตรต่างๆ เข้าไปเจรจาตามแนวของการปฏิบัติตามมาตรการเซฟการ์ด ซึ่งได้มีข่าวว่าประเทศไทยก็กำลังจะไปขอยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กด้วย รวมทั้งประเทศที่ส่งออกเหล็กรายใหญ่เช่น เกาหลีใต้ และรวมทั้งญี่ปุ่นก็เตรียมตัวไปเจรจาเช่นกัน ดูเหมือนว่าประเทศจีนเองจะรู้ตัวดีว่ามาตรการเซฟการ์ดนี้ประเทศสหรัฐอเมริกามุ่งจะใช้กับจีนเป็นหลัก จึงได้ออกข่าวโจมตีการใช้มาตรการนี้ของสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง และย้ำชัดเจนว่าจะใช้มาตรการตอบโต้สินค้าสหรัฐที่ส่งไปขายจีนบางตัวด้วย อย่างนี้ก็คงเล่นกันสนุกเป็นไฟละครับ

ปัจจุบันนี้โลกได้เปลี่ยนไป ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก โครงสร้างของการค้าและการผลิตระหว่างประเทศก็เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ใช่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเท่านั้นที่ประเทศหนึ่งออกแบบให้ผลิต หรือทั้งออกแบบและป้อนวัสดุให้แล้วจ้างอีกประเทศหนึ่งผลิต ยิ่งกว่านั้น การย้ายโรงงานผลิตมาอยู่ในประเทศจีนๆ แล้วผลิตทุกขั้นตอนหรือบางขั้นตอนบางส่วนในประเทศนั้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ขั้นตอนในการทำการค้าจึงเปลี่ยนไปมาก โครงสร้างของการค้าโลกจึงเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านการผลิต การลงทุน และการค้าเหล่านี้ ถ้าประเทศที่ถูกใช้เป็นฐานการผลิต ตัวอย่างเช่นประเทศไทยที่พยายามจะเพิ่มพื้นที่ให้เป็นฐานเศรษฐกิจให้ต่างชาติมาลงทุนเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่เรียกว่า EEC ในทุกวันนี้ การเปิดเขตการลงทุนพร้อมกับการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างพร้อมมูลเช่นนี้ มองเผินๆ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศ แต่ถ้าถามลึกลงไปว่าเราได้วางกลยุทธ์ของประเทศที่ดีพอที่จะให้เกิดผลดีแก่ประเทศไทย นับตั้งแต่การถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้คนไทยทำเองคิดเองได้ตามหลักอุตสาหกรรม 3.0 เพื่อให้คนไทยมีความกินดีอยู่ดีขึ้นในอนาคตอันยาวไกลเพียงใดหรือไม่ คำตอบในเรื่องนี้ยังว่างเปล่าอยู่

เชื่อเถอะครับว่า ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องการค้าระหว่างประเทศของ ไทย ทั้งกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ไปจนถึงประเทศโพ้นทะเลที่อยู่ต่างทวีป รวมตลอดทั้งยุทธศาสตร์ของไทย จุดยืนของไทยในกลุ่มต่างๆ ที่เรามีส่วนเข้าไปร่วมในขณะนี้ทั้งกลุ่มอาเซียน กลุ่มเอเปคและกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่มนั้น คนไทยเราไม่เคยเห็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของประเทศเราที่ไหนเลย สิ่งที่เราเห็นๆ กันอยู่ก็เพียงแค่ศักยภาพของการเป็นผู้ตามเท่านั้นแหละ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image