ทูตไทยประจำอียูมอง อนาคตสัมพันธ์ไทย-อียู

มนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียม และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป

หมายเหตุ “มติชน” – นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียม และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป(อียู) มองภาพรวมการเยือนยุโรปครั้งแรกของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังอียูได้ปลดล็อคการดำเนินความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับ

-มองผลการเยือนอียูครั้งแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอย่างไร

โดยรวมมองว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือความสัมพันธ์ไทย-อียู และไทย-เบลเยียม หลังงดเว้นการติดต่อแลกเปลี่ยนการเยือน 3 ปี ในการเยือนครั้งนี้ซึ่งเป็นเวลาสั้นๆ ท่านดอนได้หารือทวิภาคีกับ 4 ท่าน คือนายดิดิเยร์ เรนเดอส์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศและกิจการยุโรปของเบลเยียม นางเฟเดอริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นายเนเว็น มิมิช่า กรรมาธิการยุโรปด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและการพัฒนา และนายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทะเล และประมง ซึ่งได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น นายเรนเดอส์ถึงกับเดินมาส่งที่รถด้วยตนเอง ขณะที่บรรยากาศการหารือกับทั้ง 4 ท่าน ทุกคนก็ยิ้มแย้มแจ่มใส และมองไปข้างหน้าว่าจะร่วมมือกันในด้านต่างๆ อย่างไร

ในส่วนของเบลเยียม ปีนี้ถือว่าพิเศษเพราะครบ 150 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เบลเยียม จึงได้พูดคุยกันถึงกิจกรรมที่จะทำร่วมกันเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญนี้ ซึ่งมีมากพอสมควร ทั้งกิจกรรมทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนการเยือนของรัฐสภาทั้งสองฝ่าย และการหารือระดับปลัดกระทรวงต่างประเทศของไทย-เบลเยียม นอกจากนี้สถานทูตไทยจะจัดงานเทศกาลไทยที่เมืองแอนต์เวิร์ปและบรัสเซลส์ สถานทูตเบลเยียมในไทยจะนำตัวสเมิร์บซึ่งเป็นของเบลเยียมไปติดตามระบบขนส่งมวลชนในไทย มีการประดับธงบนสะพานมิตรภาพไทย-เบลเยียม เป็นอาทิ

Advertisement

นอกจากนี้เบลเยี่ยมยังได้พูดคุยเรื่องการลงทุน ซึ่งฝ่ายเบลเยียมอยากให้ไทยมาลงทุนที่เขา ขณะที่ไทยก็อยากให้เบลเยียมมาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)และรวมถึงความร่วมมือด้านวิทยาศาสต์เทคโนโลยี เพราะเบลเยียมมีศักยภาพ ปัจจุบันบริษัทเคมีภัณฑ์ขนาดใหญ่ของเบลเยียม อาทิ Solvay และ Umicore ก็เข้าไปลงทนุในไทยอยู่แล้ว

ในส่วนของอียู ท่านดอนได้พบกับระดับรัฐมนตรีของอียูถึง 3 คน เมื่อเจอกันนางโมเกรินีก็ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับท่านดอนที่สำนักงานใหญ่อียู หลังจากอียูได้ออกข้อมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนการเยือนและการติดต่อระหว่างกันในระดับการเมือง การที่ได้มาเยือนและได้มีโอกาสพบกันจึงเป็นการตอบสนองข้อมติของอียู

ขณะที่ในการพูดคุยก็มีการเท้าความว่าขณะนี้ความสัมพันธ์ไทย-อียู อยู่บนพื้นฐานที่เขามองเราเป็นหุ้นส่วน 3 ปีที่ผ่านมาที่ไทยทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-อียู งานมีความราบรื่นและมีข้อริเริ่มที่มีนัยสำคัญหลายเรื่องทั้งในด้านสาระและสัญลักษณ์ อาทิ การที่นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ได้ไปเข้าร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนเป็นครั้งแรก อาเซียน-อียูได้ทำแผนปฏิบัติการซึ่งเป็นการวางรากฐานความสัมพันธ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า มีการเจรจาทำความตกลงระหว่างอาเซียน-อียูว่าด้วยการบินพลเรือนซึ่งใกล้จะสรุปการเจรจาแล้ว อีกทั้งยังมีการรื้อฟื้นการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-อียู ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษากรอบการเจรจาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนเอฟทีเอไทย-อียู ขณะนี้อยู่ในขั้นสำรวจความเป็นไปได้ที่จะมีการรื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทย ถือว่าอยู่ในขั้นการเตรียมการ

Advertisement

โมเกรินีเขารับทราบด้วยความยินดีว่ามีรัฐมนตรีต่างประเทศอียูเยือนไทยแล้ว 3 ประเทศ และก่อนที่ท่านดอนจะมาบรัสเซลส์ ก็ได้มีการเยือนอิตาลีและพบหารือกับรองนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศเบลเยียม จึงดีใจที่เป็นการเปิดศักราชใหม่ นอจกากนี้ยังได้สอบถามความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เขามีความสนใจอยู่

มอบสแตมป์ที่ระลึก 150 ปีไทย-เบลเยียม

-การหารือกับรัฐมนตรีอียูที่รับผิดชอบเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู)เป็นอย่างไร

เป็นครั้งแรกที่้ท่านดอนได้พบกับนายเวลลา แต่การพูดคุยเป็นไปอย่างสนิทสนม เพราะไทย-อียูร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหาไอยูยูมา 3 ปี เขาชื่นชมไทยที่ได้ยกเครื่องกฎหมาย แผนงาน รวมถึงองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาไอยูยู โดยต้นเดือนเมษายนนี้อียูจะมาประเมินสถานะของไทยอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงติดตามความคืบหน้า แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และให้ข้อแนะนำ

สิ่งที่ฝ่ายอียูย้ำมาตลอดคือไทยได้ทำอะไรไปเยอะแล้ว แต่ขณะนี้เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามที่ได้จัดทำมา ท่านดอนได้ถือโอกาสแจ้งความคืบหน้าด้านต่างๆ ให้เขารับทราบไปพร้อมๆ กัน และยืนยันว่าไทยจะเดินหน้าทำงานเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนในการทำประมงต่อไป

-มีแนวโน้มที่อียูจะปลดใบเหลืองไทยหรือไม่

เป็นการตัดสินใจของฝ่ายอียูซึ่งคิดว่าน่าจะพอได้ข่าวในช่วงเดือนเมษายนนี้ แต่โดยรวมอียูก็ตระหนักว่าเราทำมาเยอะแล้ว ถ้าเราสามารถแสดงให้เขาเห็นว่าเราเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่แค่ออกกฎหมาย แต่ยังเอาผิดกับคนผิดก็ช่วยให้เขาตัดสินใจได้ อีกทั้งในช่วงต้นเดือนเมษายนที่เขาจะมาเยือนไทย ถ้าเราสามารถแสดงให้เห็นว่าข้อกังวลของเขาได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่องก็น่าจะช่วย

ท่านดอนได้บอกกับเวลลาว่ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นจะแก้ทั้งปัญหาประมงและแรงงานอย่างจริงจัง แต่อย่าเอาเรื่องแรงงานมาพันกับไอยูยูเพราะเป็นคนละเรื่อง ซึ่งเวลลาก็บอกว่าเป็นคนละเรื่อง แต่อยากจะให้การแก้ไขปัญหาทั้งสองเรื่องเดินไปคู่ขนานกัน เพราะผู้บริโภคของเขาก็ให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้

ต้องเข้าใจว่าอียูเขาไม่ได้มุ่งเน้นที่ไทย เพราะมีหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่โดนใบเหลืองใบแดงมาแล้ว และถูกปลดไปแล้ว แต่มันสะท้อนว่าเขาเป็นห่วงในภาพรวม และเป็นภาระของเขาที่จะตอบสนองผู้บริโภคว่าสิ่งที่เขากินมันสามารถตรวจสอบได้

ตอนผมมารับตำแหน่งเมื่อปีก่อน ตั้งเป้าไว้ 3 เรื่องคือ 1.ความปลอดภัยทางการบินพลเรือน ผอ.สำนักงานการบินพลเรือนได้มาชี้แจ้งให้ฝ่ายอียูทราบปีละ 2-3 ครั้งถึงสิ่งที่ทำเพื่อปฏิรูปการบินพลเรือนให้ได้ความปลอดภัยระหว่างประเทศ จนเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอเคโอ)ได้ถอดไทยออกจากใบแดงแล้ว

2.เรื่องการเมืองที่ไม่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันมา 3 ปี ประเด็นนี้มันบดบังความสามารถที่จะเพิ่มความร่วมมือและทำให้ความสัมพันธ์เข้มข้นขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม พออียูมีข้อมติผ่อนคลาย เราก็รู้สึกดีใจมาก

ขณะนี้ก็เหลือไอยูยู ซึ่งฝ่ายไทยทำมาเยอะมาก อยากเห็นอียูให้กำลังใจว่าเขาตระหนักถึงสิ่งที่ไทยได้ทำมา ซึ่งเขาเป็นคนให้คำแนะนำเราตลอด 3 ปี เพราะมันก็ดีสำหรับเขาด้วย สินค้าประมงไทยที่มายังยุโรปก็เป็นที่นิยม แต่เขาอยากเห็นการทำประมงไทยมีความยั่งยืน ซึ่งท่านดอนก็ยืนยันว่าเราก็อยากเห็นความยั่งยืนเช่นกัน

-ทิศทางความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต หลังอียูปลดล็อกการติดต่อกับไทยทุกระดับ

คิดว่ามันต้องดีขึ้น อย่างน้อยก็เริ่มจากเอฟทีเอไทย-อียู อียูอยากมีเอฟทีเอกับอาเซียน แต่ก่อนไปถึงจุดนั้นเขาอยากมีเอฟทีเอกับประเทศแนวหน้าของอาเซียน 3-4 ประเทศ จึงขาดไทยไม่ได้ ข้อมติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมจึงกำหนดให้มีการสำรวจขั้นต้นเพื่อเตรียมการเจรจา ในอนาคตเขตการค้าเสรีไทย-อียูต้องเป็นมิติสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกัน

อียูมองไทยเป็นแบบอย่างของความสำเร็จในเรื่องต่างๆ และเป็นแบบอย่างของมาตรฐานที่ดี ไม่ว่าจะเรื่องแรงงาน ประมง สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย มาตลอด เขาอยากเห็นเราเป็นแบบอย่างของประเทศกำลังพัฒนา เพราะไทยก็เป็นแบบอย่างของความสำเร็จมากมาย โอกาสที่จะร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ ยังมีอีกเยอะ ความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนก็บ่งชี้ว่าเขาอยากร่วมมือกับไทยในรูปแบบที่กว้างขวางขึ้น

ขณะนี้อียูเขามีความท้าทายและปัญหารุมเร้าสูงมากในภูมิภาคเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่าทีของสหรัฐในเรื่องต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ภาษีเหล็ก ปัญหาผู้อพยพซึ่งเขาต้องหาทางแก้ให้ได้ ที่สำคัญเบร็กซิทและทีพีพียิ่งทำให้เขาต้องเร่งหาพันธมิตรใหม่ ขณะที่พันธมิตรเก่ารวมถึงไทยก็อยากรื้อฟื้นให้ดีขึ้น เขาอยากเห็นการลงทุนของนานาประเทศในยุโรป ดังนั้นเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

การเยือนของท่านดอนครั้งนี้ ผมยิ่งกว่าพอใจเพราะภาพรวมของการพบปะถือว่าดีมาก มาครั้งเดียวในเวลาสั้นได้พบกับทั้งรองนายกฯเบลเยียมและรัฐมนตรีอียูถึง 3 คน ทุกคนที่เราขอนัดได้พบทั้งหมด ขณะที่การพบกันก็เป็นไปด้วยมิตรไมตรีและอบอุ่น สะท้อนให้เห็นว่าเขาเห็นความสำคัญของไทย ในฐานะทูตเห็นแล้วสบายใจและมั่นใจว่าความสัมพันธ์ไทยอียูจะเพิ่มพูนมากขึ้นนับจากนี้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image