‘วรวิทย์ สุขบุญ’ ไขข้อครหา ‘ป.ป.ช.’ สองมาตรฐาน

หมายเหตุ – นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์เครือ “มติชน” ถึงแนวทางการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. พร้อมกับชี้แจงการทำงานของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับข้อครหาสองมาตรฐาน


วางแนวทางการทำงานในตำแหน่งเลขาฯป.ป.ช.ไว้อย่างไร

จะให้ความสำคัญกับการทำคดีที่ค้างคาอยู่เป็นกรณีพิเศษ ตัวเลขเมื่อวันที่ 31 มกราคม 61 มีเรื่องค้างดำเนินการอยู่ 16,457 เรื่อง ดังนั้น จึงต้องกลับมามองวิธีการสางคดีในอดีตว่าเป็นอย่างไร เบื้องต้นพบว่า 3 ปีก่อน ป.ป.ช.เคลียร์คดีไปได้พันกว่าคดี ปีต่อมาเคลียร์ได้สองพันกว่าคดี ส่วนปีที่แล้วทำได้มากสุดถึง 4,300 คดี แต่เมื่อเทียบกับคดีที่เข้ามาในแต่ละปี พบว่ามีปีละประมาณ 4,800 เรื่อง ดังนั้น ถ้าเรายังทำงานอยู่แบบเดิม งานก็จะพอกหางหมู ผมจึงต้องการเข้าบริหารจัดการคดี โดยจัดลำดับจาก 1.เรื่องที่ใกล้ขาดอายุความ 2.เรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน 3.เรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก 4.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง

ผมได้ให้นโยบายไปว่าให้ทำตามแนวทางนี้ สอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ ที่กำหนดระยะเวลาการทำงานของ ป.ป.ช.ให้แล้วเสร็จในเวลา 2 ปี ขยายได้ไม่เกิน 1 ปี ซึ่ง ป.ป.ช.จะต้องกลับมาดูกระบวนการทำงานเดิม ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาและอุปสรรค อะไรคือขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ทำให้เกิดความล่าช้า อะไรที่สามารถตัดออกไปได้ หรือนำมาผนวกรวมกันได้ นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ยังเพิ่มวันประชุมในวันพุธ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ประชุมเพียงวันอังคารและพฤหัสบดี เพราะมีกว่า 800 คดีที่ไต่ส่วนเสร็จแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ได้พิจารณา คาดว่าจะเคลียร์ให้หมดในเดือนมีนาคมนี้

นอกจากนี้ยังต้องสร้างมืออาชีพในการทำงาน เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นชอบให้มีสำนักร่ำรวยผิดปกติ สำนักไต่สวนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงจะมีสำนักผลประโยชน์ทับซ้อน ตาม พ.ร.บ.ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม

Advertisement

กดดันหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็ลาออก เพราะได้รับแรงกดดัน กลัวทำคดีไม่ทันตามกรอบเวลา

ผมไม่กดดัน เพราะการทำงานของ ป.ป.ช.มีกฎระเบียบที่มั่นคงอยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องกลับไปดูปัญหาและอุปสรรคในอดีต อยากบอกว่าน้องๆ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ว่าไม่ต้องเป็นห่วงถ้าทำคดีเสร็จไม่ทันแล้วจะมีความผิด เพราะเราก็ต้องมาดูที่ปัญหาและอุปสรรคจริงๆ หากชี้แจงได้ก็ไม่มีปัญหา

ก่อนเป็นเลขาฯป.ป.ช.ถือเป็นนักตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินมือต้นๆ คำถามคือจากนี้กระบวนการตรวจจะอ่อนลงหรือไม่

ตรงกันข้าม เพราะเมื่อผมขึ้นมานั่งตำแหน่งเลขาฯ ผมจะมองเห็นในภาพรวม แล้วสามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่ บูรณาการร่วมกันทั้งงานปราบปรามและการตรวจสอบ จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ แต่จากนี้ต้องพิจารณาจัดลำดับความสำคัญ ใครโดนกล่าวหาเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบ จะต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สินด้วย การทำงานต่อไปจะมีความเข้มข้นมากขึ้น คนโกงอย่าคิดว่าจะรอดพ้นจากเราไปได้ง่ายๆ เพราะเราจะตามไปยึดทรัพย์ท่านด้วย 2 ปีมานี้ ป.ป.ช.สามารถส่งเรื่องให้อัยการอายัดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดินได้นับพันล้านบาท และในอนาคต ป.ป.ช.ย่อมจะมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้น คนโกงก็ต้องหนาว

ป.ป.ช.ถูกตั้งคำถามโดยตลอดว่าไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบคนในรัฐบาล

ต้องบอกให้ชัดว่าเรื่องใดบ้าง เพราะอย่างเรื่องหัวคิวอุทยานราชภักดิ์ทำเสร็จแล้ว แถลงข่าวไปแล้ว การตรวจสอบการถือหุ้นของ 5 รัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ก็พิจารณาเสร็จแล้ว ส่งเรื่องไปยังสำนักนายกฯแล้ว ต้องบอกเลยว่าคดีไหนที่ไม่คืบหน้า แล้วผมจะติดตามให้

Advertisement

การตรวจสอบนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่ในความสนใจของประชาชน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ให้แนวทางการทำงานอย่างไร

ประธาน ป.ป.ช.ไม่ได้ให้แนวทางการทำงานในเรื่องนี้ เพราะท่านถอนตัวจากการพิจารณาเรื่องนี้ การทำงานนั้นเป็นไปตามปกติ ส่วนความคืบหน้าเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการรอ พล.อ.ประวิตรชี้แจงข้อเท็จจริงกลับมาอีกรอบ ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เรื่องนี้เริ่มที่นาฬิกา 1 เรือน จนต่อมาก็โผล่เป็น 9 เรือน และ 25 เรือน เมื่อมีนาฬิกาหลายเรือน พยานหลักฐานต้องมีมากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูลของนาฬิกาแต่ละเรือนพอสมควร อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ที่ส่งหนังสือไปถึง พล.อ.ประวิตร ฉบับที่ 4 พล.อ.ประวิตร ยังไม่ได้ชี้แจงกลับมา อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัย ป.ป.ช.ก็จะเชิญ พล.อ.ประวิตรมาให้ข้อมูลด้วยตัวเอง เรื่องนี้ล่าสุด ในสัปดาห์หน้า ป.ป.ช.จะเชิญเอกชน 3 ราย มาให้ข้อมูล ผมไม่ขอเปิดเผยว่าที่ผ่านมาได้สอบใครไปบ้าง กี่คน คนกลุ่มใดบ้าง เพราะเป็นเรื่องของสำนวน

ประเด็นนาฬิกาหรูเกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาล รับมือแรงกดดันเรื่องนี้อย่างไร

ไม่มีอะไรมาก ใช้ความสุจริตในการทำงาน ผมยึดถือความสุจริต เป็นกลางเป็นธรรม หนักแน่น ไม่หวั่นไหว โดยยึดหลักกฎหมายตามข้อเท็จจริง จะไม่เอาความรู้สึกของใครมาใช้ในการพิจารณาคดี ข้อเท็จจริงต้องอยู่ในสำนวน เพราะมีคนที่ต้องทำงานต่อจากเรา ไม่ว่าจะเป็นอัยการ ศาล ต้องตรวจสอบได้ภายหลัง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาคดีอะไรก็แล้วแต่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมอบหมายให้ผมชี้แจงแถลงเหตุผลในการวินิจฉัย ถ้าตรวจสอบพบว่าตัดสินด้วยอคติ ตามกฎหมายแล้ว ป.ป.ช.ก็จะถูกลงโทษ 2 เท่า

กังวลหรือไม่ ถ้าผลการตรวจสอบนาฬิกาหรูออกมาขัดใจสังคม จะกระทบความเชื่อมั่นต่อองค์กร

ไม่อยากให้คาดเดาในขณะนี้ เพราะตัดสินตามข้อเท็จจริง ตามพยานหลักฐานและกฎหมาย โดยทุกอย่างมีเหตุผลรองรับ เพราะการคาดเดาบางครั้งก็เหมือนการชี้นำ สื่ออย่าไปชี้นำ ถ้าเป็นทางศาลก็อาจมองว่าก้าวล่วงอะไรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องให้สังคมรอการทำงาน ให้กระบวนการทำงานเสร็จสิ้น ป.ป.ช.มีหน้าที่รวมพยานหลักฐาน เพื่อจะรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ขัดต่อข้อกฎหมายหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีใครบอกว่าถูกหรือผิด แต่คิดไปเอง จึงอยากให้รอ เพราะผมว่าไม่นาน เนื่องจากเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความสนใจ อยู่ในลำดับความสำคัญ

ยึดหลักอะไรในการทำงานเนื่องจากเวลานี้ไม่ใช่ช่วงการเมืองปกติ

ผมทำงานโดยใช้ความสุจริต หน้าที่เลขาฯ ป.ป.ช.คือสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่ว่าปี 2564 ประเทศไทยต้องใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต ตั้งเป้าค่าดัชนีคอร์รัปชั่นให้ได้คะแนนมากว่า 50 อย่างไรก็ตาม หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมจะต้องช่วยกัน ผมมีแนวนโยบายจะให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันปราบทุจริต อยากรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน เช่น สะท้อนว่าการทำงานของ ป.ป.ช.ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร บกพร่องและไม่ดีอย่างไร เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไข ขณะเดียวกันเราจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนถึงพิษภัยของการทุจริต และมาเป็นแนวร่วมในการปราบปรามการทุจริต เน้นการส่งข้อมูล เบาะแสมายัง ป.ป.ช. โดยมีระบบคุ้มครองพยาน

แนวทางการทำงานที่ตรงใจผมวันนี้คือ ไม่ใช่รอเรื่องร้องเรียนแล้วค่อยตรวจสอบ เพราะวันนี้เราทำงานเชิงรุก เช่น เมื่อรู้ว่ามีเรื่องที่ส่อไปในทางทุจริต ตามกฎหมายแล้ว ป.ป.ช.สามารถก็เข้าไปตรวจสอบได้เลย เพราะกฎหมายบอกว่าถ้ามีเหตุอันควรสงสัย ว่าการดำเนินการงานของหน่วยงานใด ง่ายต่อการทุจริต อันจะก่อให้เกิดความเสียหาย ป.ป.ช.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้เลย เมื่อตรวจสอบแล้ว ป.ป.ช.ยังสามารถให้ข้อแนะนำท้วงติงได้ด้วย

ทุกวันนี้ ป.ป.ช.ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลและ คสช.

จริงๆ แล้ว การทำงานโดยบริบทของกฎหมายนั้นไม่ได้อิงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถ้ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคนในรัฐบาลเข้ามา ก็ต้องตรวจสอบตามปกติ สิ่งที่จะพิสูจน์คือผลการทำงาน โดยเอกสารหลักฐานจะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นถึงความเที่ยงธรรมหรืออิงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด อย่างสมัยก่อน ป.ป.ช.ถูกมองว่าสองมาตรฐาน ไปเข้าข้างกลุ่มหนึ่ง ไม่เข้าข้างกลุ่มหนึ่ง เรื่องนี้ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องบอกว่ารัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และพรรคเพื่อไทย (พท.) กับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะต้องดูว่ารัฐบาลใดอยู่ในอำนาจรัฐมากกว่ากัน นั่นหมายความว่ามีโอกาสถูกร้องเรียน ถูกตรวจสอบมากกว่าคนอยู่ในอำนาจน้อยกว่า

ดังนั้น ที่บอกว่าเรื่องของพรรค พท. ทำไมเสร็จมากกว่าของพรรค ปชป.ต้องบอกว่าเป็นโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว นั่นคือในเชิงปริมาณ ส่วนในเชิงคุณภาพ ก็จะมีหน่วยงานอื่น เช่น อัยการ ศาล ที่ต้องพิจารณาต่อจาก ป.ป.ช. อัยการและศาลจะเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช.ว่า ที่ชี้มูลนั้นเป็นอย่างไร มีคุณภาพหรือไม่

ระหว่างรัฐบาลปกติกับรัฐบาลรัฐประหาร ความเข้มข้นในการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ต่างกันหรือไม่

ผมว่า ป.ป.ช.ทำงานตามปกติ ไม่ว่าใครที่ถูกกล่าวหา ถูกร้องเรียนมา ป.ป.ช.ก็ทำตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับตามปกติ แม้มีรัฐบาลรัฐประหารเราก็ทำงานตามปกติ ผมไม่กดดัน

หลายเรื่องที่ถูกวิจารณ์จะกู้ศรัทธาอย่างไร

ผมมองต่างออกไป เรามี ป.ป.ช.อยู่ทุกจังหวัด ประชาชนในพื้นที่ต่างให้ความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อ ป.ป.ช. ประชาชนให้ความร่วมมือ เมื่อชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐทุจริต เขาก็จะเข้าหาเรา มาร้องเรียนให้เราดำเนินการ เราได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ผมจึงเห็นว่าประชาชนยังเชื่อมั่นศรัทธาการทำงานของ ป.ป.ช.อยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมานั่งในตำแหน่งนี้แล้ว ผมอยากให้ประชาชนเชื่อมั่น ป.ป.ช.มากๆ ยิ่งขึ้น เชื่อ ป.ป.ช. ไว้ใจ ป.ป.ช.ใช้ ป.ป.ช.ในการทำงาน เพื่อให้บ้านเมืองใสสะอาด เป็นที่ยอมรับของนักธุรกิจ นักลงทุน ทั้งภายในและต่างประเทศ

อีกเรื่องที่หลีกเลี่ยงเสียงวิจารณ์ไม่ได้คือ ประธาน ป.ป.ช.เป็นคนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร

ต้องบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมเครือญาติ รู้จักกันก็เรียกพี่เรียกน้อง การรู้จักกันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคม จึงไม่อยากให้คนมองประเด็นเรื่องการรู้จักกัน แต่อยากให้มองถึงบริบทการทำงานเป็นหลัก ว่าเมื่อประธาน ป.ป.ช.มานั่งทำงานแล้ว ได้ทำอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ อีกทั้งการทำงานของ ป.ป.ช.ก็มีระเบียบ กฎหมายวางไว้อยู่แล้ว ถ้ากรรมการไต่สวน เจ้าหน้าที่เป็นญาติกัน หรือมีส่วนได้เสียในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จะต้องไม่เข้าไปพิจารณาในเรื่องนั้น และการพิจารณาของ ป.ป.ช.ก็ทำงานเป็นองค์คณะ โดยแต่ละคนมีเอกสิทธิ์ ดุลพินิจของตัวเองในการวินิจฉัย ผมยืนยันว่าไม่มีใครสามารถครอบงำการใช้ดุลพินิจได้

ถ้าติดตามการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็จะเห็นว่ามีเรื่องที่มีมติเป็นเอกฉันท์ แต่บางเรื่องมติก็ออกมา 8:1, 7:2 ยืนยันว่า ป.ป.ช.มีมาตรฐานในการทำงาน และแต่ละองค์คณะต่างก็มีเหตุผลในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ ดังนั้น สำหรับประธาน ป.ป.ช.ผมอยากให้มองถึงการทำงานมากกว่า

หลายคนมองว่าเลขาฯป.ป.ช.มีฝีมือ ห่วงหรือไม่ ถ้าผลจากการทำงานออกมาขัดความรู้สึกประชาชน จะกลบผลงานสิ่งที่เคยทำมา เสมือนการเดิมพันเก้าอี้

ตำแหน่งเลขาฯป.ป.ช.ไม่ได้ไปตัดสิน เพราะคนที่พิจารณาคือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผมก็ไม่ได้หนักใจอะไร ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจ เชื่อใจผม

เร็วๆ นี้จะมีการชี้มูลในเรื่องใดที่อยู่ในความสนใจของประชาชนบ้าง

พยายามจะทำให้เสร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง คดีการซื้อที่ดินปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ของบริษัท พีทีที.กรีน เอเนอร์ยี่ฯ โดยอยากทำให้เสร็จในปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image