“ซิโมน่า ฮาเล็ป” และบทเรียนจาก “ความผิดหวัง”

การแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม ออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อต้นปี ถือเป็นการสิ้นสุดการรอคอยอันยาวนานสำหรับ แคโรไลน์ วอซนิอัคกี้ นักเทนนิสสาวชาวเดนมาร์ก กับแชมป์แกรนด์สแลมแรกในชีวิต และการกลับขึ้นไปเป็นมือ 1 ของโลกอีกครั้ง

แต่ในขณะเดียวกัน ผลการแข่งขันนัดดังกล่าวก็หมายถึงความผิดหวังของ “ผู้แพ้” ในรอบชิงอย่าง ซิโมน่า ฮาเล็ป นักหวดสาวชาวโรมาเนีย ซึ่งอกหักในรอบชิงแกรนด์สแลมเป็นครั้งที่ 3 ต่อจากศึก เฟร้นช์ โอเพ่น เมื่อปี 2014 และ 2017

ซ้ำร้ายหลังพ่ายแพ้ในเกมนั้น ฮาเล็ปยังโดนแย่งมือ 1 โลกไป (แต่แย่งคืนมาได้แล้วในปัจจุบัน) รวมถึงยังต้องไปนอนให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลนานหลายชั่วโมง เนื่องจากสภาพร่างกายและจิตใจอ่อนล้าจากการกรำศึกต่อเนื่องภายใต้สภาพอากาศร้อนอาบอ้าว

หลังจากนั้น ฮาเล็ปพยายามกลับมาแข่งขันในรายการที่กาตาร์ แต่ต้องถอนตัวก่อนลงสนามรอบรองชนะเลิศอย่างน่าเสียดายเนื่องจากปัญหาบาดเจ็บที่เท้า ก่อนจะคัมแบ๊กอีกครั้งในทัวร์นาเมนต์ที่อินเดียนเวลส์ซึ่งกำลังแข่งขันอยู่ในขณะนี้

Advertisement

แม้ว่าการปราชัยให้วอซนิอัคกี้จะผ่านมานานเดือนเศษๆ แล้ว แต่ฮาเล็ปยอมรับว่าเพิ่งจะฟื้นตัวจากความผิดหวังได้ไม่นานนัก อย่างไรก็ตาม ยิ่งผ่านความผิดหวังมากเท่าไร ก็รู้สึกว่าตัวเองยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น

นักหวดสาววัย 26 ปี เผยว่า ด้วยนิสัยส่วนตัว ตนเป็นคนรักความสมบูรณ์แบบมากๆ พอทุกอย่างไม่เพอร์เฟกต์อย่างที่คิดไว้ก็มักจะหงุดหงิดและผิดหวังในตัวเอง โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านๆ มา ก่อนจะก้าวมาเป็นมือ 1 ของโลกนั้น ถึงจะทำผลงานได้ดีแต่มักจะไปไม่สุดอยู่เสมอ

หนึ่งในจุดเปลี่ยนซึ่งฮาเล็ปให้เครดิตว่าเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เธอมายืนอยู่บนจุดสูงสุดของวงการเทนนิสหญิงได้ก็คือ การได้ร่วมงานกับนักวิตวิทยากีฬาซึ่งแนะแนวทางให้เธอรู้จักบาลานซ์ความรู้สึกระหว่างการใฝ่หาความสมบูรณ์แบบและการรู้จักปล่อยวางได้อย่างลงตัว

Advertisement

“เมื่อก่อนฉันพยายามจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีอะไรจะเพอร์เฟกต์ 100 เปอร์เซ็นต์ไปได้ แต่ทั้งที่รู้ก็ยังคาดหวังจะทำให้ได้ สมัยก่อนฉันเชื่อว่าตัวเองมีดีพอ และฝันว่าอยากจะเป็นมือ 1 ของโลก แต่ไม่เคยเชื่อมั่นเลยว่าเอาเข้าจริงๆ จะทำได้”

กระทั่งได้คุยกับนักจิตวิทยากีฬา ได้รับคำชี้แนะว่าต้องรู้จักปล่อยวางและใจดีกับตัวเองบ้าง ทำความเข้าใจว่าจะหวังให้ทุกอย่างเพอร์เฟกต์บนคอร์ตมันเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องใช้เวลา พอยึดหลักการนี้ก็เลยก้าวเดินในทางที่เหมาะสมและน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เป็นมือ 1 ของโลกอยู่ในขณะนี้

การขึ้นบัลลังก์มือ 1 ของโลกครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ได้สร้างพลังใจให้ฮาเล็ปมุ่งมั่นสู่เป้าหมายอื่นๆ ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะพัฒนาผลงานได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับยุคก่อน ถือว่าตำแหน่งมือ 1 โลกของวงการเทนนิสหญิงยังไม่จีรังยั่งยืน เพราะในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนมือไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ในทางหนึ่งอาจมองว่าวงการสักหลาดหญิงยุคนี้ไม่มีใครโดดเด่นขึ้นมา แต่ฮาเล็ปก็รู้สึกว่าหากมองมุมกลับก็ถือเป็นเรื่องดี แสดงให้เห็นว่ามืออันดับท็อปเทนของโลกฝีมือสูสีกัน แพ้ชนะกันได้ สลับอันดับกันได้ทุกคน แต่ละทัวร์นาเมนต์จึงเปิดกว้าง ใครทำผลงานได้ดีกว่าก็จะเก็บคะแนนสะสมแซง

“ฉันคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้ทำให้เทนนิสหญิงน่าสนใจมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าตอนที่เซเรน่า (วิลเลียมส์) ครองมือ 1 นานๆ และกวาดแชมป์เป็นว่าเล่นมันน่าเบื่อนะคะ เธอเป็นแชมป์ที่ยิ่งใหญ่มาก เพียงแต่ตอนนี้สถานการณ์ต่างกัน และคิดว่ามันสนุกกว่าค่ะ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image