คอลัมน์ไฮไลต์โลก: เงินสดไม่ตาย!

เอเอฟพี

ในยุคที่อะไรๆ ดูจะพึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลไปเสียหมด ผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมก็นิยมหันมาใช้บัตรเครดิต โทรศัพท์มือถือ หรือ ใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า ในการชำระเงินซื้อสินค้าและบริการต่างๆกันมากยิ่งขึ้น โดยที่ภาคธนาคารและผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าและบริการต่างพากันส่งเสริมการชำระเงินผ่านระบบเหล่านี้แทนการใช้เงินสด เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็วกว่า แถมยังจัดแคมเปญลดเปอร์เซ็นต์หรือแคชแบ็กให้แก่ลูกค้าที่ใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตของทางธนาคารอีกด้วย

เล่นเอาคนที่กำเงินสดอยู่ในมือ มีอึ้ง มีงง ว่าตัวเองจ่ายเงินสดแท้ๆ ที่จะทำให้ทางร้านมีเงินสดหมุนเวียนเข้ามือแน่ๆ แต่กลับไม่ได้รับส่วนลดหรือการสมนาคุณใดๆ เหมือนคนใช้บัตรเครดิต

ยิ่งมี “สกุลเงินเสมือนจริง” เกิดขึ้นมาใช้ในโลกออนไลน์ ที่เป็นที่นิยมอย่าง “บิทคอยน์” ทำให้มีการวิเคราะห์มองกันไปว่าอีกหน่อย เงินสด ก็อาจจะสาบสูญไปจากโลก เหลือเป็นเพียงอนุสรณ์ให้ได้รำลึกแค่ในอดีต และไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งตู้เอทีเอ็มหรือขยายสาขาของธนาคารเพื่อไว้คอยให้บริการลูกค้าเบิก-ถอนเงินสดกันอีกต่อไป

แต่จากบทวิเคราะห์ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ที่เปิดเผยออกมาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆที่บ่งบอกว่าเงินสดกำลังจะล้มหายตายจากไป

Advertisement

ฮยอน ซง ชิน ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและหัวหน้าฝ่ายวิจัยของบีไอเอส บอกว่า ในบางทัศนะที่มีต่อเรื่องนี้ให้ความรู้สึกราวกับว่าเงินสดในรูปแบบดั้งเดิม ทั้งธนบัตรและเงินเหรียญซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย กำลังจะเป็นสิ่งล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว แต่แม้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ที่เราเห็นการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีก้าวไปไกลมากขึ้น ทว่าการใช้เงินสดที่บอกว่าล้าสมัยไปแล้วในระบบการชำระเงิน ก็ยังคงมีการใช้เพิ่มขึ้นให้เห็นในประเทศส่วนใหญ่ แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด โดยปริมาณการใช้เงินสดมีเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและในตลาดเกิดใหม่

ซึ่งจากการศึกษาของบีไอเอสชี้ว่ามีเงินสดไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 7 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ในปี 2543 เป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2559

แต่ในประเทศสวีเดนและอีกบางประเทศ เป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยสวีเดนเป็นประเทศที่มีการใช้เงินสดในระบบน้อยที่สุดในบรรดา 50 ประเทศที่มีการสำรวจ ที่มีการใช้เงินสดลดลงเหลือเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จากที่เคยมีการใช้เงินสดหมุนเวียนอยู่ในระบบ 4.4 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

อย่างไรก็ดีการศึกษาของบีไอเอสยังพบด้วยว่า การใช้บัตรเดบิทและบัตรเครดิตในการชำระเงินในปัจจุบันก็มีเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มจาก 13 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2543 เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ในปี 2559

เห็นข้อมูลนี้แล้ว ใครที่ยังชอบกำเงินสด มากกว่ากำอากาศธาตุ ชอบจ่ายเงินสด มากกว่าจ่ายบัตรเครดิต ก็สบายใจได้
เพราะเชื่อว่าในอีกหลายสิบปีหน้า ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีเครดิตน่าเชื่อถือ เข้าเงื่อนไขที่ทางสถาบันการเงินจะอนุมัติให้ถือบัตรเครดิตกันได้เสียทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image