นักวิชาการวิพากษ์ เกมดัน ‘บิ๊กตู่’ ปธ.กุนซือพรรค

หมายเหตุ – นักวิชาการให้ความเห็นกรณีกลุ่มการเมืองในรัฐบาล เตรียมเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคพลังประชารัฐเพื่อแก้เกมถูกโจมตีเป็นคนนอก


อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

อย่าถามว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ก็ยินดีที่มีคนสนับสนุนให้ตนเป็นผู้นำ โดยทั่วไปแล้วลักษณะที่มีพรรคมาหนุนมันก็ต้องมีเป็นพิเศษ แต่ว่าทางพรรคยังเล็กเกินไป ไม่น่าจะมีพลังมากพอที่จะสนับสนุน หรือเป็นแค่แนวร่วม

พรรคอาจจะประกาศนโยบายพรรคการเมืองหรือจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นเรื่องของแนวคิด เป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรพิเศษ เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าพรรคนี้อยู่เบื้องหลังจริงไหม ให้ออกทุนให้ หรือเป็นพรรคที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงหรือไม่ ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองว่าพรรคการเมืองที่แถลงนโยบายมา มีอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ การดูข่าวคงบอกอะไรไม่ได้มาก มีแค่ว่าพรรคการเมืองประกาศตัวว่าสนับสนุน จริงๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์เตรียมไว้หมดแล้ว

ข้อดีข้อเสียคือไม่มี เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเกินไป พรรคการเมืองเพิ่งเปิดให้จดทะเบียน มันจึงต้องมีพรรคการเมืองที่มีอำนาจ มีความสัมพันธ์ด้วยกัน และพรรคนั้นก็กล้าประกาศตัวว่าสนับสนุน ทั้งที่ยังไม่ได้ลงเลือกตั้งเลย ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้คะแนนเท่าใด

Advertisement

ปัญหาของการเลือกตั้ง ความเป็นกลางคงไม่มีอยู่แล้ว เพราะประเทศนี้ใครมีอำนาจก็ฉกฉวยประโยชน์ให้ตัวเองและพรรคพวกเป็นใหญ่ ระบบนี้แก้ไม่ได้ เพราะประเทศไทยไม่มีความเป็นธรรมในสังคม แต่ปัญหาของการเลือกตั้งคงไม่มี

การประกาศแบบนี้แสดงให้เห็นว่ามีคนสนับสนุนเยอะ แต่ตอนนี้ยังคาดเดาอะไรไม่ได้ จริงๆ แล้วพรรคสำคัญคือพรรคใหญ่ๆ ที่มีอยู่เดิมอยู่แล้ว หลังเดือนเมษายนไปต้องจับตาดูว่าพรรคไหนจะกล้าประกาศตัว เพราะว่าพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคใหญ่ 2 พรรค พรรคกลาง 1 พรรค พรรคเล็ก 2-3 พรรค พรรคพวกนี้มีคะแนนเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้วในการเลือกตั้ง


 

Advertisement

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ที่พรรคพลังประชารัฐจะขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค มองว่าเป็นเรื่องการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ลึกๆ แล้วพรรคพลังประชารัฐคิดว่ายังมีฐานของคนที่ชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคงเป็นเกมทางการเมืองเพื่อขอพื้นที่ส่วนแบ่งในทางการเมืองเท่านั้นเอง เป็นการฉวยจังหวะและโอกาสในการหาช่องเสนอนายกฯ เพื่อตีกันคนอื่นๆ ต้องกลับไปดูว่าพรรคอื่นๆ อยู่ในสถานการณ์อย่างไร

เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์อยากเป็นแกนนำในการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่สถานการณ์แบบนี้ก็ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีความยากลำบากในการเสนอชื่อนายกฯคนนอก จึงเป็นช่องทางของพรรคพลังประชารัฐ เป็นจังหวะทางการเมืองที่สามารถฉวยโอกาสในขณะที่พรรคอื่นซึ่งพอจะเป็นนั่งร้านให้รัฐบาลหรือ คสช.อยู่ในช่วงที่ถูกกดดันจากกระแสสังคมก็ดี ด้วยสถานการณ์ของเครือข่าย ฐานคะแนนเสียงก็ดี

นอกจากนี้ คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงมีทีมงานพรรคการเมืองเตรียมเป็นนั่งร้านอยู่บ้างแล้ว ซึ่งคงเป็นพรรคการเมืองที่มีประสบการณ์มากกว่านี้ มีเครือข่ายทางการเมืองมากกว่านี้ คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงจะมีบทเรียนและรู้ดีว่าการที่จะเอาชนะการเลือกตั้งต้องอาศัยเครือข่ายทางการเมืองในพื้นที่

กรณีการเลือกตั้งอาจไม่เป็นกลางนั้น ก็คิดได้ โดยในสถานการณ์แบบนี้เชื่อว่าคนที่ต้องการการเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็คือรัฐบาลเอง แต่รัฐบาลต้องการการเลือกตั้งที่สามารถควบคุมกลไกสถานการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องความได้เปรียบต่างๆ คิดว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วในทางการเมือง เป็นการใช้โอกาสเพื่อสร้างความได้เปรียบในการต่อสู้ทางการเมือง ในสถานการณ์ทางการเมืองลักษณะนี้

ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกไม่รู้เรื่องนี้ ก็เป็นธรรมดาที่จะตอบเช่นนั้น เพราะรับแบบนี้ ไม่สง่างาม เนื่องจาก คสช.เองก็ต้องพยายามวางตัวเป็นกลาง ต้องแสดงจุดยืนว่าตนไม่รู้ ไม่เกี่ยว เป็นการสนับสนุนของประชาชนกลุ่มที่ต้องการให้อยู่ต่อเท่านั้น เพื่อให้เห็นว่าตัวเองมีความชอบธรรม มีแรงหนุนจากภาคการเมืองอยู่

ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ควรอยู่บนหิ้ง ไม่ควรรับเป็นกุนซือหรือไม่ มองว่าก็ควรต้องวางสถานะตัวเองอย่างนั้น กระบวนการกลไกอย่างไรก็ปล่อยไป แต่ต้องวางสถานะว่าไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ตัวเองเป็น คสช. แต่ถ้าคุณชนะ จัดตั้งรัฐบาลได้ แล้วมาเชิญเป็นนายกฯ จึงจะพิจารณา แต่ถ้าออกโรงเอง มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง


ยุทธพร อิสรชัย
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะแต่ละพรรคการเมืองมีสิทธิเสนอ หรือสนับสนุนใครเป็นนายกฯได้อยู่แล้ว เนื่องจากเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นนายกฯที่มาจาก ส.ส. หรือที่เรียกว่านายกฯคนใน เพราะฉะนั้นการที่แต่ละพรรคเสนอเสนอชื่อนายกฯคนนอกก็เป็นสิทธิของเขาที่สามารถทำได้

อีกทั้งพรรคพลังประชารัฐคงไม่ใช่พรรคแรกที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเห็นว่าก่อนหน้านี้พรรคของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน มีการโชว์ชื่อ พล.ประยุทธ์ขึ้นมาเช่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งกระแสการตั้งพรรค กปปส.ที่ตอนนั้นมีข่าวว่าจะชู พล.อ.ประยุทธ์ สุดท้ายก็อาจไม่ได้เกิดพรรค กปปส.ขึ้นจริง ดังนั้น ถ้าพรรคพลังประชารัฐจะชู พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาคงไม่ใช่เรื่องแปลก

ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐจะขอให้ พล.อ.ประยุทธ์รับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค เพื่อตัดประเด็นการถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น ผมคิดว่าในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้า คสช.ด้วย ท่านเองก็ชูเรื่องการปฏิรูปมาตลอด รวมถึงการที่ คสช.เข้ามาจากการรัฐประหารเป็นภาพที่ชัดเจนว่า คสช.พยายามจะเข้ามาจัดการนักการเมือง จัดการปราบโกงต่างๆ แล้วจะมาดำเนินการปฏิรูป

ในเมื่อออกมาเป็นเช่นนี้ ผมจึงเห็นว่าไม่ควรจะให้ท่านดำรงตำแหน่งใดในพรรค ส่วนพรรคจะเสนอชื่อท่าน ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก สามารถทำได้ แต่การดำรงตำแหน่งในพรรคแม้จะไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร เป็นตำแหน่งลักษณะที่ปรึกษา ประธานที่ปรึกษา อาจไม่เหมาะสมเท่าไหร่ แม้ว่าโดยระเบียบทางกฎหมายไม่มีตรงไหนบังคับไว้ แต่การที่ท่านต้องรักษาความเป็นกลางนั้นสำคัญมาก เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นกติกาที่ คสช.กำหนดขึ้น ดังนั้น ถ้าท่านจะต้องเป็นผู้กำหนดกติกา ท่านก็ควรต้องรักษาความเป็นกลาง

ข้อดีของการมีนายกฯคนนอก คืออาจทำให้ความขัดแย้งในสภาลดลง ความเป็นภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองมีน้อย แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย แต่อาจจะน้อย

แต่ถ้าเป็นข้อเสีย ผมคิดว่าอาจจะเยอะกว่า สุดท้ายการมีนายกฯคนนอกอาจไม่ได้ตอบสนองต่อประชาชน หรือไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างจริงจังเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายการรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะของการเป็นผู้แทนมันน้อยลง อีกทั้งการทำให้ประชาชนรู้สึกสัมผัสได้ เข้าถึง หรือจะวิพากษ์วิจารณ์ได้จะน้อยลง

ถามว่าจะส่งผลกระทบต่อเรื่องการควบคุมเลือกตั้งว่าจะเป็นกลางหรือไม่นั้น อย่างที่บอกว่าการเสนอนายกฯไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเกิดขึ้นจากพรรคการเมืองเสนอ แต่ถ้าดำรงตำแหน่งในพรรค อันนี้จะกระทบต่อเรื่องความไม่เป็นกลาง ในแง่บทบาทที่ไม่เป็นทางการ เพราะการแยกกับบทบาทที่เป็นทางการนั้นยากสำหรับสังคมไทย เพราะฉะนั้นถ้าให้นั่งตำแหน่งในพรรค อาจทำให้เกิดความทับซ้อนกันในเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image