ลาโลก! ‘สตีเฟน ฮอว์กิ้ง’ นักฟิสิกส์ดัง เสียชีวิตในวัย 76 ปี

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตัวแทนของศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์กิ้ง นักทฤษฎีฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในยุคสมัยชาวอังกฤษ ออกมาเปิดเผยว่าฮอว์กิ้งเสียชีวิตแล้วขณะมีอายุ 76 ปี เบื้องต้นยังไม่มีการเปิดเผยสาเหตุของการเสียชีวิตแต่อย่างใด

ด้านบุตรทั้ง 3 คนของฮอว์กิ้งได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า บิดาของพวกเขาเสียชีวิตที่บ้านในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 14 มีนาคม พร้อมกับยกย่องบิดาว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่และเป็นบุคคลสุดพิเศษ ซึ่งผลงานและสิ่งที่ได้ทำเป็นมรดกตกทอดให้กับคนรุ่นหลัง ความกล้าหาญ และการยืนหยัดสู้กับเรื่องต่างๆ ด้วยความหลักแหลมและอารมณ์ขันได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก

“ครั้งหนึ่งพ่อเคยบอกว่า จักรวาลจะไม่มีอะไร หากมันไม่ใช่บ้านสำหรับคนที่เรารัก พวกเราจะคิดถึงท่านตลอดไป” แถลงการณ์ระบุ ทั้งนี้ ครอบครัวฮอว์กิ้งยังขอความเป็นส่วนตัวในช่วงเวลานี้และฝากขอบคุณไปยังทุกคนที่อยู่เคียงข้างและให้ความช่วยเหลือฮอว์กิ้งตลอดชีวิตของเขา

การจากไปของ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง ทำให้ในโลกโซเชี่ยล มีคนดังจากแทบทุกวงการแห่ทวีตแสดงความอาลัยต่อการจากไปของหนึ่งในบุคคลที่เป็นอัจฉริยะของโลก โดยแม็คคัลเลย์ คัลกิน นักแสดงดัง อดีตดาราเด็กจาก โฮม อโลน ทวีตว่า “ผมเพิ่งได้ยินข่าวการเสียชีวิตของ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง เขาเป็นทั้งอัจฉริยะและตัวละครซิมป์สันคนโปรดของผม เราจะคิดถึงคุณนะเพื่อน ”

Advertisement

เคที เพอร์รี นักร้องดัง ทวีตว่า “มีหลุมดำขนาดใหญ่ในหัวใจฉันก่อนถึงวันพาย. หลับให้สบายนะ สตีเฟน ฮอว์กิ้ง ”

แลร์รี คิง นักข่าวและพิธีกรดัง ทวีตว่า ” ผมได้รับเกียรติเคยสัมภาษณ์ สตีเฟน ฮอว์กิ้งหลายครั้ง เขาช่างเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และมองโลกในแง่บวก และมีอารมณ์ขันอย่างร้ายกาจด้วย มวลมนุษยชาติได้อยู่ดีขึ้นเพราะเขาและความอยากใฝ่รู้ของเขา หลับให้สบายนะศาตราจารย์ที่รัก ”

ทั้งนี้ฮอว์กิ้งเป็นนักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาที่โด่งดังที่สุดในโลก มีผลงานเป็นที่รู้จักจากการนำเสนอทฤษฎีใหม่ว่าด้วยหลุมดำ และยังมีผลงานเขียนแนววิทยาศาสตร์ยอดนิยมหลายเรื่อง เรื่องราวของเขาเคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ดัง The Theory of Everything เมื่อปี 2557 เขาล้มป่วยด้วยโรคเอแอลเอสชนิดหายาก ทำให้เขามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่ปี 2506 ขณะมีอายุได้ 21 ปี และได้รับการวินิจฉัยว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี แต่ความเจ็บป่วยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความมุ่งมั่นในการทำงานของเขา

Advertisement

ฮอว์กิ้งยังคงเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ปราดเปรื่องที่สุดนับตั้งแต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ โดยผลงานของฮอว์กิ้งที่ได้รับการตีพิมพ์จนสร้างชื่อให้เขาโด่งดังไปทั่วโลกและเป็นหนังสือที่ครองสถิติขายดีอย่างต่อเนื่องยาวนานคือ ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) และจักรวาลในเปลือกนัท (The Universe in a Nutshell)

ครั้งหนึ่ง ฮอว์กิ้งเคยเขียนเล่าว่า “ผมเคยถูกถามบ่อยมากว่า ผมรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคเอแอลเอส คำตอบของผมคือ ไม่มีอะไรมาก ผมพยายามใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติเท่าที่จะทำได้ และไม่คิดถึงอาการป่วยของผมมากนัก”

อ่าน “สตีเฟน ฮอว์กิ้ง” ไขปริศนา เกิดอะไรขึ้นก่อน “บิ๊กแบง”?

อ่าน ‘มนุษย์ต่างดาว’ ในทรรศนะ ‘สตีเฟน ฮอว์กิ้ง’

อ่าน “สตีเฟน ฮอว์กิ้ง” ชี้ “หลุมดำ” ให้พลังงานกับโลกได้

อ่าน ‘สตีเฟน ฮอว์กิ้ง’ ยัน’หลุมดำ’มีทางออก!

อ่าน “สตีเฟน ฮอว์กิ้ง” ชี้ “หลุมดำ” ให้พลังงานกับโลกได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image