‘วิษณุ’ยันชง สนช.ตีความ 2 กม.ลูก ไม่สะเทือนโรดแมป ไม่เชื่อสมรู้ร่วมคิดยื้อเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะทำความเห็นของ กรธ.ต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ร่าง  พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อส่งให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เนื่องจากมีข้อห่วงกังวลในร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ การทำเช่นนี้ของนายมีชัยจะกระทบต่อโรดแมปให้ล่าช้าออกไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็ต้องใช้เวลาพิจารณา แต่ถ้าถามต่อไปว่ากระทบโรดแมปหรือไม่ คิดว่าคงไม่กระทบ เพราะอย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่าช้าเท่าไหร่ก็ยังอยู่ในโรดแมปใหญ่ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเกิดเห็นว่ามีบางมาตราที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตรงนั้นก็จะมีผลคือ ส่งมาให้ทำใหม่เฉพาะมาตรานั้น ซึ่งใช้เวลาไม่กี่วัน ไม่ได้ทำทั้งร่าง ร่างมีหลายมาตรา มาตราอื่นที่ไม่กระทบกระเทือนก็ยังมีอยู่ มาตราใดที่ขัดก็ต้องจัดการทำเสียใหม่ คิดว่าคงใช้เวลาสักพัก แต่คงไม่ถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อโรดแมป ยังอยู่ในช่วงเวลาที่เรามองและคาดการณ์ไว้ เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้แล้ว คือ การเลือกตั้งจะยังเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เมื่อถามว่า หาก ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว แต่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะส่งผลกระทบอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าอย่างนี้จะมีผลกระทบมากกว่า เป็นสิ่งที่นายมีชัยเป็นห่วง เมื่อถามว่าหากต้องร่างใหม่ ใครจะเป็นผู้ร่าง นายวิษณุตอบว่า ใครก็ได้ กรธ.ไม่อยู่แล้วก็ตั้งกรรมการขึ้นมา ตั้งใครขึ้นมาก็ได้ ไม่แปลก กฤษฎีกาก็ทำได้ สภาตั้งคนขึ้นมาเองก็ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องการหาคน

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า ในเมื่อนายมีชัยมีความเป็นห่วงอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่ทำความเห็นตั้งแต่ในชั้นกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เข้าใจว่าคงได้มีการพูดแล้ว แต่เสียงข้างมากก็ออกมาเป็นอีกทางหนึ่ง อันนี้ต้องไปถามนายมีชัย เมื่อถามว่า นายมีชัยมีสิทธิในการยื่นให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นตีความหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย แต่มีสิทธิที่จะเตือน หากประธาน สนช. เห็นว่ามีเหตุผล สามารถถามสมาชิกว่าจะให้ทำอย่างไร และเข้าชื่อกัน 25 คนก็สามารถทำได้ เมื่อถามว่า นายมีชัยเป็นผู้ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับนี้ ต่อไปจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีจุดอื่นที่มีปัญหาอีก นายวิษณุกล่าวว่า อย่าถามให้บานปลายชวนวิวาทเลย เอาเป็นว่า กรธ.เป็นผู้ร่างมาในแนวหนึ่ง เมื่อไปถึง สนช. ก็ไปแก้เป็นอีกแนวหนึ่ง ไม่ตรงกัน ก็มีสิทธิจะเห็นขัดแย้งกัน แต่เมื่อตั้ง กรธ. 3 ฝ่ายขึ้นมาซึ่งมีตัวแทนทั้งจาก กรธ. สนช. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากพิจารณากันแล้ว เสียงข้างมากออกมาเป็นอย่างไรก็อย่างนั้น แต่ฝ่ายข้างน้อยก็มีสิทธิติดใจที่จะบอก ถ้าเตือนแล้วไม่ฟังก็แล้วไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการทั้งหมดจะถูกมองว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดเพื่อประวิงเวลาให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่ใช่หรอก คิดว่านายมีชัยสุจริตใจ เพราะได้เตือนมาโดยตลอดแล้ว แต่ฝ่าย  กมธ.ร่วม เช่น ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ก็บอกว่าได้ดูแล้ว เห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องของความเห็น จึงไม่รู้ว่าใครถูกหรือผิด นายมีชัยอาจจะผิดก็ได้ แต่ถ้าสงสัยก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาในส่วนนี้ได้ แต่ถ้าไม่มีเหตุอะไรเกิดขึ้น อยู่ดีๆ ไปสงสัย ส่งศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้ทำไม่ได้ ซึ่งในส่วนร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับมีการเปิดทางให้ทำได้อยู่แล้ว ศาลก็ไม่ได้ใช้เวลายืดยาวอะไร ดูอย่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ใช้เวลาไม่นาน ตนติดตามอยู่ตั้งแต่วันที่ส่งกฎหมาย ป.ป.ช. ไปจนถึงวันที่ตัดสินออกมา อยู่ในโรดแมปพอดี ไม่ได้เกินออกไป ซึ่งถ้าทำอย่างเดียวกันในกรณีนี้ก็สามารถทำได้ อีกทั้งประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ได้ซับซ้อนที่ต้องใช้เวลานาน ไม่ต้องสืบพยาน เป็นข้อกฎหมายที่ศาลดูได้เอง

Advertisement

เมื่อถามว่า จากกระบวนการที่อธิบายมาทั้งหมด นายวิษณุมีความกังวลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กังวลที่มีความเห็นไม่ตรงกัน กังวลเช่นเดียวกับนายพรเพชรที่กล่าวว่าทำไมไม่ทำมาให้เสร็จตั้งแต่แรก เมื่อถามว่า จากการท้วงติงของนายมีชัย นายวิษณุมองว่า ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอไม่ตอบ อย่าไปดึงฝ่ายที่ 4 กระโดดลงไปในความขัดแย้ง ความเห็นของตนจะเป็นอย่างไรก็ไม่ได้มีความหมาย จะว่าเป็นความเห็นของรัฐบาลก็ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ แทงกั๊กดีกว่า ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ได้คุยเรื่องนี้กับนายมีชัยหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่คุย ยังไม่ได้เจอกัน

เมื่อถามว่า สนช.ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ด้วยเสียงจำนวนมาก มีเพียงไม่กี่เสียงเท่านั้นที่ไม่เห็นชอบ แต่เมื่อมีเสียงท้วงติงจากนายมีชัย ต้องใช้เสียง 25 เสียงไปยื่น ถือเป็นเรื่องแปลกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่แปลก ภาษาอังกฤษมีคำว่า The Second Though ภาษาไทยมีคำว่าคิดอีกที คิดผิดคิดใหม่ได้ แค่ 25 คนก็ส่งได้ อีกทั้งยังอยู่ในตารางเวลาตามโรดแมป ไม่ได้ทำให้ล่าช้าเสียเวลา กฎหมายอะไรก็ตามออกมาเร็วก็ไม่ได้ทำให้เลือกตั้งเร็วไปอย่างที่คิด ฉะนั้น จึงทำได้ เมื่อถามว่า หลังจาก สนช.มีมติแล้ว ต้องยื่นความเห็นภายในกี่วัน นายวิษณุกล่าวว่า ยื่นมาก่อนที่จะส่งให้นายกรัฐมนตรี กฎหมายอยู่ที่สภาได้หลายวัน พอมาถึงรัฐบาล รัฐบาลมี 5 วันที่ต้องรอว่าสภาจะส่งความเห็นมา หลังจากนั้น ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯอีก 20 วัน ดังนั้น รัฐบาลมีเวลา 25 วัน แต่ขณะนี้ยังเดินทางจากสภามาไม่ถึงทำเนียบ เมื่อถามว่ามีการประสานกันหรือไม่ว่าจะมาถึงวันไหน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ถึงขนาดประสาน แต่ก็ได้ทราบเป็นระยะๆ ยิ่งมีเรื่องแบบนี้ ยิ่งต้องตรวจสอบให้ดี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image