เรื่องเสือดำทำให้ประชาชน ปฏิรูประบบการสอบสวนด้วยตนเอง : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

ละครบุพเพสันนิวาส ได้แสดงให้เห็นความพยายามของคน ที่จะทำสิ่งใดอย่างเต็มความสามารถ และนักแสดงได้กลั่นเอาตัวหนังสือออกมาจากบทประพันธ์ได้จริงๆ เหมือนตัวอักษรนั้นได้โลดเต้น ล่องลอย และแสดงอารมณ์อบอวลคุกรุ่นอยู่ และบางครั้งบางฉากนักแสดงได้ถอดคำประพันธ์เสียยิ่งกว่าคำประพันธ์จะแสดงได้ เหมือนไม่ใช่การแสดง แต่เหมือนเป็นคนที่มีชีวิตอยู่จริงๆ ละครเรื่องนี้ได้จองพื้นที่เกียรติยศในทางศิลปะไปอีก 50 ปี หรือ 100 ปีไปแล้ว หรือก็มิอาจทราบได้

และหลังจากละครบุพเพฯได้แสดงกระบวนการปฏิรูปทำละครไทยให้มีมาตรฐานไปแล้วนั้น คราวนี้ก็ถึงเวลาที่ประชาชนจะปฏิรูปกระบวนการสอบสวนด้วยตนเองโดยเปลี่ยนยุทธศาสตร์ จากที่เคยคิดว่าจะปฏิรูประบบและองค์กรการสอบสวน มาเป็นยุทธศาสตร์แบบที่ว่า

“ปล่อยมันไว้อย่างนั้นแหละ แต่หันมากำกับดูแลแทน”

ผู้เขียนไม่นึกเลยว่า เรื่องการล่าเสือดำนั้นจะทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาได้มากขนาดนี้ และเรื่องนี้อาจจะกลายเป็นสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนแปลง หรืออนุวัตกระบวนการยุติธรรม เพราะ “เรื่องเสือดำอาจไม่ใช่แค่เสือดำ แต่เป็นเรื่องระบบกระบวนการยุติธรรม” การอนุวัตที่กล่าวถึงนั้น คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามเฝ้าระวังการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงลูกถึงคน หนักหน่วง และกัดไม่ปล่อย อาจจะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า “การกำกับดูแลโดยประชาชน”

Advertisement

เรื่องเสือดำนี้ ประชาชนตั้งคำถามแต่ละประเด็น และเป็นประเด็นที่ใครๆ ก็เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดี จนเป็นเหมือนการกำหนดประเด็นให้เจ้าหน้าที่ต้องทำ การสืบสวนสอบสวนไปตามประเด็นนั้นเลยทีเดียว

นับเป็นมิติใหม่ของการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (แม้จะเป็นในทางอ้อมที่เจ้าหน้าที่ไม่คาดคิด หรือไม่รู้ตัว หรือไม่ค่อยชอบ หรือชอบนิดหน่อยแต่ไม่ค่อยคุ้น) แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและจะเป็นมาตรฐานใหม่ของการสืบสวนสอบสวนหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะธำรงประเพณีใหม่นี้ไว้ได้นานเท่าใด เรียกว่าเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยประชาชนที่ไม่พึ่งการแก้ไขกฎหมาย ไม่ต้องรอเวลา ไม่ง้อใคร ไม่พูด แต่ลงมือทำไปเลย

เมื่อก่อนนี้ไม่มีคดีไหนเลยที่กำหนดประเด็นการสืบสวนสอบสวนโดยประชาชน เพิ่งมีคดีนี้ซึ่งคล้ายๆ กับว่าหน่วยงานของรัฐจะยอมกำหนดประเด็นการค้นหาความจริงตามที่ประชาชนต้องการ หรือยอมให้ประชาชนบังคับก็แล้วแต่จะมอง ใครที่เคยกล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมประชาชนไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมนั้นก็คงจะไม่เป็นความจริงอีกต่อไปและพลวัตนี้แสดงถึงอำนาจเหนือของประชาชนหรือสังคม และอำนาจนั้นจะมีมากจนเหนือกว่าเจ้าหน้าที่รัฐถ้าจำนวนคนที่เรียกร้องหรือคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันนั้นมีจำนวนมากพอ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ประชาชนรวมกลุ่มกันได้มากขนาดนี้คือสื่อต่างๆ ทั้งสื่อสารมวลชนและประชาชนแต่ละคนที่ทำตัวเป็นสื่อนั่นเอง

Advertisement

ถ้าเป็นอย่างนี้บ่อยๆ เข้าแล้ว ไม่ต้องรอปฏิรูปอะไร เพราะระบบจะปฏิรูปตัวระบบเอง ในเมื่อระบบพื้นฐานที่มีอยู่ที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมันดีพอ ก็ย่อมมีพลวัตด้วยตัวเอง เรื่องนี้น่าตกใจสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ระบบที่เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ทำให้อำนาจเด็ดขาดต่างๆ แทบใช้ไม่ได้ผล

ระบบที่ว่านั้นมีปัจจัยหล่อเลี้ยงคือ “หัวจิตหัวใจคน” ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความเข้าใจในระบบกฎหมายที่ดีพอว่าจะหมุนกงล้อของกฎหมายอย่างไร ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไรจะร้องเรียนหรือเรียกร้องต่อหน่วยงานใดเพื่อบีบเจ้าหน้าที่ วิธีการบีบ และกดดันทำอย่างไร ทุกวันนี้ประชาชนเข้าใจวิธีการผลักดันเจ้าหน้าที่ผ่านกระบวนการทางศาลปกครอง การร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช. ฯลฯ

และประชาชนเรียนรู้วิธีการกำกับดูแล และวิธีรวมกลุ่มที่มากพอ เพราะการต่อสู้ต่างๆ ที่ได้ผลมาแล้วในอดีต เริ่มต้นจากการมีกลุ่มคนซึ่งมีแนวคิดเดียวกันที่มากพอ

การที่ประชาชนช่วยกันกำหนดประเด็นการสืบสวนสอบสวนเรื่องเสือดำนี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมดูแปลกไปกว่าเดิม เท่ากับว่าประชาชนทำตัวเป็นหน่วยงานรัฐอีกหน่วยหนึ่งหรือสถาบันทางการสืบสวนสอบสวนอย่างหนึ่งที่คอยตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่อีกที และเป็นหน่วยงานที่ไม่มีวันเหน็ดเหนื่อยเพราะประกอบไปด้วยคนจำนวนมากเหลือเกินที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ แม้จะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ก็เหมือนหน่วยงานเงา ซึ่งหน่วยงานเงานี้ก็เกิดมีอำนาจขึ้นจริง หรือมีอำนาจเหนือทางข้อเท็จจริง (de facto) และผลักให้หน่วยงานของรัฐจริงๆ กลับเป็นหน่วยงานเงาทางแบบพิธีไปเสียอีก ถ้าประชาชนเรียนรู้ที่จะกดดันแบบนี้บ่อยๆ เข้า ก็เหมือนประชาชนเรียนรู้ที่จะใช้อำนาจของฝ่ายปกครองหรือใช้อำนาจรัฐด้วยตนเองผ่านการกำกับดูแล ถ้าประชาชนเข้าใจวิธีการนี้มากแล้ว บางเรื่องที่เป็นปกติรูทีน ก็ปล่อยให้รัฐทำไป เรื่องไหนอยากโดดลงมาเล่นเองก็ทำได้เสมอ จะทำเรื่องใหญ่กว่านี้ก็ยังได้ และจะทำเมื่อไหร่ก็ได้

ความจริงกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น มีความซับซ้อน ผู้ปฏิบัติที่ทำงานได้ดีนั้นส่วนใหญ่ต้องได้รับการศึกษามาอย่างดีและต้องมีประสบการณ์มากพอ อย่างการกำหนดประเด็นการสอบสวนนี้ความจริงเป็นเรื่องยาก แต่เรื่องเสือดำนี้ แปลกตรงที่ว่า ประเด็นที่กำหนดโดยประชาชน (ให้ไปสอบสวนอะไร) นั้นไม่หนีจากประเด็นของผู้ที่เชี่ยวชาญทางกฎหมายคิดสักเท่าไหร่ แสดงว่าความรู้นั้นเรียนทันกันหมดแล้วในปัจจุบัน เพราะความรู้ที่ซับซ้อนในทางกฎหมาย การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ ไม่เว้นแม้การเมืองการปกครองต่างๆ มีผู้เขียนเป็นตำราไว้หมดแล้วในโลกอินเตอร์เน็ต การค้นหาความรู้และการทำความเข้าใจเบื้องต้นทำได้ง่ายในต้นทุนการเรียนรู้ที่ต่ำกว่าเดิม หรืออาจจะเป็นเพราะว่าประชาชนที่เคลื่อนไหวนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นนักกฎหมายด้วย รวมทั้งอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในระบบที่โดดออกมาเล่นนอกระบบอย่างประชาชนด้วยก็อาจจะมีพลวัตนี้จะถึงขั้นอนุวัต หรืออภิวัฒน์หรือไม่ ก็ต้องตามดูไปจนเสร็จกระบวนการ
ในทางคดี

แต่อย่างน้อยเรื่องเสือดำนี้ก็สอนให้รู้ว่าหน่วยงานของรัฐจะทำอะไร ถ้าประชาชนเขาไม่เอาด้วยก็ไม่มีทางทำได้

เกี่ยวกับเรื่องเสือดำนี้มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ พอสรุปได้คือ

1.ผู้ใช้อำนาจรัฐนั้นยังต้องฟังประชาชนเสมอ ถ้าประชาชนตั้งใจผลักดันเรื่องนั้นจริง

2.ในปัจจุบันประชาชนเข้าใจฟังก์ชั่นระบบทางกฎหมายดีมากพอแล้ว และรู้ว่าจะหมุนกงล้อกฎหมายอย่างไร จะใช้ช่องทางผลักดันอย่างไรให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมตามที่เขาต้องการ

และอาจจะเป็นไปได้ว่าประชาชนก็เข้าใจระบบอื่นๆ ดีพอด้วยเช่นกัน เช่น ระบบสาธารณสุข ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองการปกครอง (สำหรับชนชั้นปกครอง-แน่นอนว่าประชาชนปกครองยากขึ้น ไม่ง่ายเหมือนเดิม)

3.กระบวนการยุติธรรมที่เข้าใจกันว่าเป็นระบบปิดนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะเรื่องนี้พิสูจน์ว่าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้เสมอถ้าตั้งใจจะเข้ามาจริงๆ โดยการเสนอแนะ การช่วยให้ข้อมูล ช่วยกำหนดประเด็นการสอบสวน การช่วยสืบ ช่วยผลักดัน ช่วยไม่ให้ลืม ฯลฯ

4.ระบบกระบวนการต่างๆ สามารถปฏิรูปได้โดยไม่ต้องใช้กฎหมาย หรือไม่ต้องแก้กฎหมาย เพราะระบบกฎหมายเดิมก็มีจุดที่ยืดหยุ่นเพียงพอที่ประชาชนจะใช้อำนาจตามข้อเท็จจริงผลักดันหรือเปลี่ยนแปลงให้เป็นกระบวนการยุติธรรมในแบบที่เขาต้องการ (de facto) ได้

5.ประชาชนมีอำนาจเหนือเสมอถ้าคิดจะทำจริงๆ

และที่กล่าวอย่างนี้มิได้มุ่งมาดปรารถนาสิ่งใด เพียงแค่อธิบายให้ฟังว่า ประชาชนทำอะไรได้บ้างเท่านั้นเอง

อีกแง่หนึ่ง ปรากฏการณ์นี้อธิบายได้ถึงประเด็นที่ว่านักกฎหมายควรจะวางตัวอย่างไร เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปรับตัวหรือไม่ เพราะสิ่งต่างๆ มีพลวัตตามแนวทางของมัน บางครั้งสิ่งที่เกิดและเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่มีใครที่กำหนดได้เป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ไม่เว้นชนชาติใด

ดังเช่นครั้งหนึ่งในยุโรปสมัยกลาง ชนชั้นอัศวิน (Knight) เป็นชนชั้นหนึ่งที่สำคัญกับการเมืองการปกครอง เพราะเป็นชนชั้นนักรบที่มีบรรดาศักดิ์มีสิทธิในการถือครองที่ดินและมีเกียรติยศ ต่อมาในสมัยกลางตอนปลาย การรบบนหลังม้าเริ่มหมดความสำคัญลง เพราะมีการรบแบบใช้ธนู ใช้ปืน และปืนใหญ่แทน การรบแบบถึงเนื้อถึงตัวของอัศวินแบบเก่าสิ้นสุดลง อัศวินส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้นำที่มีความสำคัญในการรบและการเมืองอีกต่อไป จึงได้หันไปใช้ชีวิตตามแบบพิธี แต่ยังคงใช้ชีวิตหรูหรา ฟุ้งอยู่ต่อไป (สมัยนี้คือ ฟรุ้งฟริ้ง) และนานเข้าคงเหลือเพียงตำแหน่งที่แสดงตัวเดินถือสัญลักษณ์ในงานพิธีต่างๆ ของรัฐเท่านั้นเอง

ในที่สุดก็เหลือเพียงสถานภาพ คำเรียกขานที่ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ

ชุดเกราะของอัศวินที่สวยงามอลังการที่เราเห็นตาผพิพิธภัณฑ์ต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ก็ทำในยุคหลังที่ว่างเว้นไม่ค่อยได้รบกับใครนี้เอง

อัศวินสมัยโบราณ เมื่อเข้าร่วมเดินแห่ในพิธีของรัฐ ก็มักมีธงแสดงตระกูล และม้านั้นก็ได้รับการตกแต่งคลุมผ้าไว้ด้วย ผ้าที่คลุมม้าก็เหมือนเสื้อคลุมของม้าเปิดตรงลูกตาไว้ให้มองเห็น ม้าบางตัวคลุมด้วยผ้าขาวพร้อมตราสัญลักษณ์ของนักรบผู้นั้น สง่างามทั้งคนทั้งม้าเหมือนอัศวินขี่ม้าขาว แต่ด้วยความที่เป็นผ้าขาวเปรอะเปื้อนง่ายอัศวินก็ต้องคอยก้มมองดูอยู่เสมอและตลอดเวลาว่าม้าที่ตนเองขี่นั้นยังขาวอยู่หรือไม่

ที่กล่าวมานี้อาจจะดูไม่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเท่าไร ออกไปทางเสือดำ ช้าง ม้า ละเม็งละคร แต่ตรองดูดีๆ ก็จะเห็นว่าเกี่ยว ช่วยกันตรองดูนะครับ

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image