ยื่นตีความ พ.ร.ป. ‘ส.ส.-ส.ว.’ กระทบโรดแมปเลือกตั้ง?

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมือง กรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เตรียมส่งข้อสังเกตให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้สมาชิก สนช.ยื่นตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. อาจมีประเด็นที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และหากไม่ยื่นตีความอาจมีผลกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้ง หากร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้วในภายหลัง



ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.)

ตามที่ สนช.จะมีการพิจารณาว่าจะเสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ตามข้อห่วงใยของ กรธ. ในวันที่ 15 มีนาคม เห็นว่าเรื่องนี้สังคมได้ติดตามมาตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว เหตุที่ผู้คนสนใจเพราะกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.นี้ผูกโยงกับกำหนดวันเลือกตั้ง ถ้ามีเหตุให้กฎหมายนี้ใช้บังคับล่าช้าออกไปก็จะทำให้วันเลือกตั้งที่ทุกคนรอคอยต้องเลื่อนออกไปด้วย ที่ผ่านมาก็ได้เห็นการใช้อภินิหารทางกฎหมายและการหักดิบเพื่อทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดคือการที่ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และการที่ สนช. ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน มาครั้งนี้ทำท่าว่าอาจจะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก จากการที่จะมีการส่งร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งที่เรื่องดังกล่าวได้มีการประชุมร่วมของคณะกรรมาธิการ 3 ฝ่าย และมีการแถลงว่าได้ข้อสรุป จนกระทั่งที่ประชุม สนช.ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว คะแนนไม่เห็นด้วยก็แทบจะไม่มี จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดเอามากๆ หากจะมีการลงชื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกและเมื่อดูท่าทีของหัวหน้า คสช. ก็ชักเริ่มไม่แน่ใจ แม้จะยังยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ตาม

เรื่องนี้จึงดูเหมือนจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ความเป็นจริงแล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ล้วนมีที่ไปที่มาจากแหล่งเดียวกัน การที่จะตกลงกันและทำเรื่องให้ยุติเด็ดขาดจึงไม่ใช่เรื่องที่เหลือวิสัย แต่กลับทำให้เกิดข้อสงสัย ซึ่งคล้ายๆ กับว่าแท้ที่จริงแล้วต้องการอะไรกันแน่ จะยืดเวลาหรือทำให้เกิดปัญหาขึ้นหรือไม่ เรื่องนี้หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจริง ก็ต้องดูเวลาที่ศาลจะใช้ในการวินิจฉัยและสาระสำคัญของคำวินิจฉัยด้วย เพราะหากศาลเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญและเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญ กฎหมายดังกล่าวก็ต้องตกไปทั้งฉบับ ก็ต้องไปยกร่างกันใหม่ แต่ถ้าไม่ใช่สาระสำคัญก็ตกไปเฉพาะส่วนนั้นซึ่งก็ต้องกลับมาปรับปรุงแก้ไขก่อนเสนอให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ เรื่องนี้เมื่อดูแล้วเห็นว่าน่าจะมีนัยซ่อนเร้นกรณีที่จะมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนจะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อหาเหตุเลื่อนวันเลือกตั้งหรือไม่นั้น สังคมก็อาจคิดได้ เพราะที่ผ่านมาก็ทำกันมาแล้ว หลายครั้งหลายกรณี

Advertisement

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

กรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เสนอให้นำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ฟังที่นายมีชัยออกมาเตือนบรรดา สนช.ตามที่เป็นข่าว ปรากฏว่ามี สนช.บางคนออกมารับลูกว่าอาจต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สิ่งที่ สนช. มีมติโหวตผ่านร่างกฎหมายทั้งสองฉบับว่าผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร เคยบอกแล้วว่าหลัง สนช.โหวตผ่านกฎหมาย 2 ฉบับนี้ด้วยเสียงเอกฉันท์ และถ้ามีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เพราะสิ่งใดถ้าไม่มั่นใจเขาคงไม่ทำ โดยเฉพาะองค์กรหลักอย่าง สนช.หรือศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไม่มั่นใจก็ไม่ควรทำ โดยเฉพาะในสิ่งที่ทำไปแล้ว ซ้ำยังมีมติเป็นเอกฉันท์คือ ไม่มีสมาชิก สนช.คนใดคัดค้าน

แต่เพียงชั่วข้ามคืน หลังนายมีชัยออกมาพูดแค่เสียงเดียว สนช.กลับสับสนในสิ่งที่ตัวเองได้ทำไปแล้วว่าผิดกฎหมายหรือไม่จะต้องส่งให้ศาลตีความ จึงเป็นการสนับสนุนข้อสังเกตที่มีคนตั้งว่า มีทฤษฎีสมคบคิดเกิดขึ้นในการออกกฎหมายและการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการส่งไปตีความ เพราะไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด และถ้ามีใครแสดงท่าทีขึงขังย้ำว่าจะมีเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็เท่ากับว่าบุคคลนั้นกำลังจะโกหกคำโตกับประชาชน เพราะการส่งเรื่องให้ศาลตีความไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของศาลได้ คืออาจจะใช้เวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือมากกว่านั้นก็ได้

ผมเชื่อว่ากระทบโรดแมปแน่นอน และสรุปได้ว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิดผลัดกันเล่น ถ้าศาลตีความว่าร่างกฎหมายที่ผ่าน สนช. ผิดรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งก็จะต้องเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด อาจจะเป็น 2-3 ปีก็ได้ เพราะต้องไปเริ่มต้นกระบวนการยกร่างกฎหมายใหม่ทั้งหมด ซึ่งเท่าที่ผมติดตามดูห่างๆ คิดว่ากฎหมายลูกดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะขัดรัฐธรรมนูญสูงมาก และคนระดับนายมีชัยที่ยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่างๆ มาแล้วควรจะรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าสิ่งที่ทำไปขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และไม่ควรปล่อยให้ผ่านมาอย่างนี้ ผมเชื่อว่านายมีชัยรู้ และสามารถคุยกับ สนช.ได้โดยที่เรื่องจะไม่ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

Advertisement

จึงถือได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ อภินิหารทางกฎหมายซึ่งคนที่มีอภิญญาสูงส่งระดับนายมีชัยเท่านั้นที่สามารถทำได้


 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มองว่ามีหลายเรื่องซ้อนกัน แต่คิดว่าในเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้นเป็นสิ่งที่คุยกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2540 แล้วในประเด็นมาตรการที่อยากให้คนไปใช้สิทธิกันเยอะๆ ใครไม่ใส่ใจไปใช้สิทธิจะมีมาตรการลงโทษ นั่นคือหลักคิดตั้งแต่ช่วงนั้น ว่าจะมีการตัดสิทธิไม่ให้ลงสมัคร นี่คือเรื่องเดิม ไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่ในเรื่องใหม่ๆ ก็น่าสนใจ ถ้านายมีชัยเสนอให้ตีความ ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเร่งรัดดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบจริงๆ ก็ว่ากันไปตามขั้นตอน หากปล่อยให้เลือกตั้งไป อาจเกิดการนำประเด็นแบบนี้มาใช้ขัดขวาง ตัดสิทธิทางการเมือง จะกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่านี้ ในการตีความก็ทำให้จบ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า จริงๆ แล้วนายมีชัยเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญเอง พูดง่ายๆ ว่าเป็นสถาปนิกทางการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ควรจะประกาศให้ชัดเจนว่าสิ่งที่ตนเห็นคืออะไร ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนร่างออกมาด้วย ต้องแสดงความเห็นบ้างว่าโดยเจตนารมณ์แล้วเป็นอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการโยนภาระให้กับศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับประเด็นการแบ่งประเภทการสมัครและเลือกเป็น 2 ประเภท คือ อิสระและโดยองค์กร แยกแต่ละกลุ่มเป็น 2 พวก ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ละกลุ่มเลือกกันเอง ที่อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยก่อให้เกิดความกังวลในทางปฏิบัตินั้น มองว่าลึกๆ แล้วสะท้อนความไม่ไว้วางใจของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีต่อนักการเมือง การออกแบบระบบการเลือกตั้งนั้น ได้เคยพูดไปหลายครั้งแล้วว่าไม่ควรจะออกแบบให้ซับซ้อน ผลของการซับซ้อนทำให้เกิดข้อสงสัยเอง (หัวเราะ) มันไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรก ระบบการเมืองใดๆ ไม่ควรซับซ้อนมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยความเคารพ เมื่อตัดสินกันมาแบบนี้แล้วก็ต้องว่ากันไปตามระบบ ส่วนตัวเป็นห่วงว่าจะหน่วงเวลาที่เราจะเดินไปสู่การเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่น่าห่วงมากกว่า ส่วนจะตีความอย่างไร คิดว่าคนที่อยู่ฝ่ายการเมืองก็คงยอม ขอให้เดินไปสู่การเลือกตั้งก่อน สำคัญที่สุด หลายท่านอาจเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องถูกแก้ไข ไม่ช้าก็เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการเลือกตั้ง

ส่วนคำถามที่ว่าจะกระทบโรดแมปหรือไม่นั้น มองว่านี่คือภาระหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องดำเนินการโดยเร็ว แล้วต้องคำนึงด้วยว่ามันกระทบกับโรดแมปของประเทศไทยที่ล่าช้ามาพอสมควรแล้ว แต่ส่วนตัวไม่ค่อยห่วงมากนักว่าจะใช้เวลาเกินหรือไม่ คิดว่าคงทำทัน แต่คิดว่าค่อนข้างชัดเจนว่าเห็นปัญหาแล้วว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอคติบางอย่างซึ่งทำให้ในท้ายที่สุดกระทบในทางปฏิบัติจริงของตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือการเลือกตั้งนั่นเอง


 

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เห็นด้วยว่าควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะว่าคนร่างเขาท้วงติงแล้วว่าอาจขัดกับรัฐธรรมนูญได้ นายมีชัยที่เป็นคนร่างน่าจะรู้ดี ในรายละเอียด มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรให้เกิดเป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง สนช. ไปทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่อง ส.ว. รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนแล้วไม่ใช่หรือว่าให้มีกลุ่มเดียว การไปแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ทำให้เห็นว่าอาจจะมีวาระอะไรซ่อนเร้นหรือไม่ ข้อสังเกตส่วนตัวมีเท่านี้

สำหรับประเด็นที่ว่าจะกระทบกับโรดแมปหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ นี่เป็นแค่ประเด็นข้อกฎหมายไม่เห็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอะไรกันมากมาย การเสนอขึ้นไปคิดว่าใช้เวลาอย่างมากแค่ 2 เดือน ก็พิจารณาเสร็จแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image