คุณภาพคือความอยู่รอด เรื่อง หลักการที่ต้องตอกย้ำ โดย : วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีผู้บาดเจ็บพิการ หรือล้มตายจากอุบัติเหตุมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางจราจร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเรา “มองข้าม” หรือ “ละเลย” ต่อ “หลักการพื้นฐานแห่งความปลอดภัย” ก็ได้

“หลักการพื้นฐานแห่งความปลอดภัย” (Basic Principles of Safety) 10 ประการ เป็นข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ชื่อ “แดน ปีเตอร์เสน” (Dan Petersen) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 อันได้แก่

(1) การกระทำที่ไม่ปลอดภัย สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย และการเกิดอุบัติเหตุ เป็นอาการที่แสดงถึงความผิดพลาดในระบบการบริหารจัดการของผู้บริหารองค์กร

(2) เราสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าสภาพแวดล้อมหรือสภาพการณ์ใดบ้างที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรืออาจล้มตายได้ เราสามารถตรวจพบสภาพการณ์ที่เสี่ยงต่ออันตรายเหล่านั้น และทำการควบคุมป้องกันล่วงหน้าได้

Advertisement

(3) ความปลอดภัยจะต้องได้รับการบริหารจัดการเช่นเดียวกับหน้าที่อื่นๆ ขององค์กร คือเริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมายด้านการส่งเสริมความปลอดภัย และการดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุให้บรรลุเป้าหมาย โดยการวางแผน การจัดองค์การ การสั่งการและการควบคุมดูแล

(4) ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของความปลอดภัยในงานด้านการผลิต จะเกิดจากความมุ่งมั่นและจริงจังของฝ่ายบริหาร โดยมีการกำหนดผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนด้วย

(5) หน้าที่ของงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และสร้างเสริมความปลอดภัย คือการค้นหาและระบุถึงจุดอันตราย หรือข้อบกพร่องต่างๆ ของการปฏิบัติงานที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ หน้าที่นี้จะดำเนินการได้ด้วยการตอบ 2 คำถามนี้ คือ (1) “ทำไมถึงเกิดอุบัติเหตุด้วยการสอบสวนให้ได้สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุที่ผ่านๆ มา”และ (2) มาตรการควบคุมต่างๆ ที่มีประสิทธิผลที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ได้ถูกนำไปใช้หรือไม่

Advertisement

(6) เราสามารถระบุถึงสาเหตุแห่ง “พฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย” และสามารถทำการจัดรวมพฤติกรรมที่คล้ายๆ กันเป็นกลุ่มๆ ได้ ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นเราสามารถที่จะควบคุมป้องกันได้

(7) โดยปกติแล้ว พฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยจะเป็นพฤติกรรมของคนปกติทั่วไป ซึ่งตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ดังนั้น หน้าที่ของผู้บริหารก็คือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่สามารถป้องกันอุบัติเหตุอันตรายจากพนักงาน หรือคนที่มีพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยได้

(8) ระบบย่อยของการป้องกันอุบัติเหตุสมควรแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้ระบบความปลอดภัยโดยรวมมีประสิทธิผล ได้แก่ ระบบย่อยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การบริหารจัดการของผู้บริหาร และพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงาน

(9) ระบบความปลอดภัยที่ได้ผลจะต้องสอดคล้องกับ “วัฒนธรรมองค์กร” ด้วย

(10) การบรรลุผลสำเร็จด้านความปลอดภัยมีหลายวิธีการ แต่ระบบความปลอดภัยที่มีประสิทธิผลจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับกัน ตลอดจนความถูกต้องตามกฎหมายด้วย

เรื่องของ “หลักการ” เพื่อการบริหารจัดการด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ต้อง “ตอกย้ำพร่ำสอน” เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ครับผม!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image