‘ลักษณะเสริม’ของเมฆ (1) : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

การดูเมฆให้สนุก คือการมองหาลักษณะบางอย่างที่ติดอยู่กับเมฆ International Cloud Atlas (ICA) ได้ระบุลักษณะต่างๆ ไว้ 11 แบบ เรียกว่า “supplementary features” หรือ “ลักษณะเสริม” อย่างไรก็ดี ผมขอแถมเข้าไปอีก 2 อย่าง เพราะเป็นสิ่งที่คนรักเมฆสนใจมองหาเช่นกัน มาดูกันทีละอย่างครับ
เริ่มจากเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือคิวมูโลนิมบัส บางครั้งบริเวณฐานเมฆด้านหน้าอาจเป็นแนวโค้งคล้ายกันชนรถ ดูภาพที่ 1 ครับ แนวโค้งนี้ ICA เรียกว่า arcus (อาร์คัส) เป็นภาษาละตินแปลว่าส่วนโค้ง (เห็นคำว่า arc ที่ซ่อนอยู่ไหมครับ) ภาษาทั่วไปเรียกว่า shelf cloud น่ารู้ด้วยว่าเมฆคิวมูลัสคอนเจสตัสบางครั้งอาจมีอาร์คัสได้ด้วยเช่นกัน (แต่พบไม่บ่อยนัก)

ภาพที่ 1 : อาร์คัส
6 มิถุนายน พ.ศ.2557
ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี
ภาพ : พุทธิพร อินทรสงเคราะห์

คราวนี้แหงนหน้าสังเกตด้านบนของเมฆฝนฟ้าคะนอง ถ้าคุณผู้อ่านโชคดีก็จะได้เห็นแสงเป็นลำสั้นๆ ขยับวูบไปมา! ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า crown flash (คราวน์แฟลช) หรือเรียกง่ายๆ ว่า leaping sundog หรือ jumping sundog ดูภาพที่ 2 ครับ น่ารู้ด้วยว่า ICA ไม่ได้จัดให้คราวน์แฟลชเป็นลักษณะเสริม

ภาพที่ 2 : คราวน์แฟลช
15 สิงหาคม 2558 เวลา 15.00 น. (เกิดอยู่นาน 2 นาที)
อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
ภาพ : My name’s TaRay

คราวนี้มาดูเมฆฝนฟ้าคะนองชนิดหัวฟู หากยอดเมฆบานออกคล้ายดอกเห็ด นักวิชาการฝรั่งมองว่าคล้ายรูปทั่ง จึงตั้งชื่อว่า incus (อิงคัส) เป็นภาษาละตินแปลว่า ทั่ง (anvil) อิงคัสจัดเป็นลักษณะเสริมแบบหนึ่ง ดูภาพที่ 3 ครับ

ภาพที่ 3 : อิงคัส
26 เมษายน 2556 เวลา 17.05 น. กรุงเทพฯ
ภาพ : ศุภสิทธิ์ พิศวง

ทีนี้มองไปที่ด้านบนของรูปทั่ง อาจเห็นยอดโดมปูดขึ้นมา คล้ายๆ เมฆไว้ผมจุก ดูภาพที่ 4 ครับ โดมที่ปูดขึ้นมานี้ ICA เรียกว่า “overshooting top” หรือ “penetrating top” แต่ไม่ได้จัดให้เป็นลักษณะเสริม ภาษาไทยผมตั้งชื่อให้ว่า “โดมยอดเมฆ” หากโดมยอดเมฆคงตัวอยู่นานเกิน 10 นาที แสดงว่าพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง เช่น อาจมีลูกเห็บ

Advertisement
ภาพที่ 4 : โดมยอดเมฆ
2 พฤษภาคม พ.ศ.2555 เวลา 16.06 น.
อ.อันลองเวง จ.อุดรมีชัย กัมพูชา
ภาพ : สุชาดา ชินะวรพงศ์

คราวนี้ไปดูเมฆซุปเปอร์เซลล์ (supercell) หรือเมฆฝนฟ้าคะนองแบบหลายเซลล์ที่รุนแรง (severe multicell thunderstorm) บ้าง บางครั้งใต้ฐานเมฆอาจมีส่วนยื่นลงมา เรียกว่า murus (มิวรัส) เป็นภาษาละตินแปลว่าผนัง ชื่อที่นิยมเรียกคือ wall cloud หรือเมฆผนัง ลักษณะเช่นนี้บ่งว่ากระแสอากาศพุ่งขึ้น หรืออัพดราฟต์ (updraft) ค่อนข้างรุนแรง หากมิวรัสหมุนในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว ก็อาจทำให้เกิดเมฆรูปร่างเป็นงวง เรียกว่า ทูบา (tuba) ยื่นออกมาได้

ภาพที่ 5 : มิวรัส
19 มิถุนายน ค.ศ.1980 ไมอามี รัฐเท็กซัส
ภาพ : Brad Smull, NOAA Photo Library

เมฆซุปเปอร์เซลล์ยังอาจมี “หาง” ยื่นออกมาได้ หางนี้ติดกับมิวรัส เรียกว่า cauda (คอดา) เป็นภาษาละตินแปลว่า หาง ชื่อเรียกง่ายๆ คือ tail cloud หรือเมฆหาง

ภาพที่ 6 : คอดา
16 มิถุนายน ค.ศ.1980
ภาพ : NOAA Photo Library

ได้รู้จักลักษณะเสริมไปหลายแบบแล้ว คราวหน้าจะชวนไปรู้จักแบบที่เหลือกันครับ!

Advertisement

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ชวนไปชมพฤติกรรมสนุกๆ ของ crown flash ตามคลิปที่ให้ไว้


 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image