‘สตีเฟน ฮอว์กิ้ง’ อัจฉริยะเหนือกาลเวลา

AFP PHOTO / Miguel RIOPA

แม้ศาสตราจารย์สตีเฟน วิลเลียม ฮอว์กิ้ง ยังไม่ได้รับการยอมรับกันว่าเป็นนักทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า ฮอว์กิ้งคือนักจักรวาลวิทยาที่ดีที่สุด เปรื่องปราดที่สุดเท่าที่โลกมีอยู่ในเวลานี้ การสูญเสียนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่รายนี้ไปเมื่อ 14 มีนาคมที่ผ่านมา หลังผ่านวันเกิดครบรอบ 76 ปีมาได้เพียง 2 เดือนเศษ จึงเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของแวดวงวิทยาศาสตร์โลก

ฮอว์กิ้งเป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากเซนต์ อัลแบนส์ สคูล จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ, ออกซ์ฟอร์ด สถาบันเก่าของผู้เป็นบิดา

น่าสนใจที่ผู้เป็นพ่อต้องการให้ฮอว์กิ้งร่ำเรียนไปในทางแพทยศาสตร์ แต่เจ้าตัวกลับอยากเรียนคณิตศาสตร์

ฮอว์กิ้งลงเอยด้วยการเรียนฟิสิกส์ เนื่องจากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ไม่สอนคณิตศาสตร์ ในเวลาเพียง 3 ปี ซึ่งฮอว์กิ้งบอกว่า เขาใช้เวลาในการเรียนแค่ไม่ถึง 1,000 ชั่วโมง ฮอว์กิ้งก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science)

Advertisement

ว่ากันว่าคณาจารย์ในเวลานั้นกำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าควรให้เกียรตินิยมอันดับ 1 หรือ 2 แก่ฮอว์กิ้งดี ในขณะที่สตีเฟน ฮอว์กิ้ง ตระหนักดีว่าในสายตาของคณาจารย์ ตนถือเป็น เด็กแสบŽ จัดการยาก

เขายื่นคำขาดว่า ถ้าอยากเห็นเขาไปที่อื่น ก็ต้องให้เกียรตินิยมอันดับ 1 แต่ถ้าได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ทุกคนก็ต้อง ทนŽ กับการที่เขาจะเรียนต่อที่นี่ต่อไป

ผลก็คือ เดือนตุลาคมปี 1962 สตีเฟน ฮอว์กิ้ง เดินทางมาศึกษาต่อพร้อมกับทำงานวิจัยทางด้านจักรวาลวิทยา (Cosmology) ที่ภาควิชา คณิตศาสตร์ประยุกต์และฟิสิกส์ทฤษฎี (ดีเอเอ็มทีพี) ของยูนิเวอร์ซิตี ออฟ เคมบริดจ์ ซึ่งไม่มีสาขาวิชานี้ที่ออกซ์ฟอร์ด จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ในปี 1965 ด้วยวิทยานิพนธ์ชื่อ คุณสมบัติต่างๆ ของจักรวาลที่กำลังขยายตัวŽ

Advertisement

ปีถัดมา ความเรียงชื่อ เอกภาวะ กับ เรขาคณิตแห่งกาล-อวกาศŽ (Singularity and the Geometry of Space-time) ได้รับรางวัล อดัมส์ ไพรซ์Ž ซึ่งกลายเป็นรางวัลทางวิชาการแรกสุดในจำนวนรางวัลและตำแหน่งเชิดชูเกียรติมากมายที่ฮอว์กิ้งได้รับจากแวดวงวิชาการทางวิทยาศาสตร์

ตอนนั้น สตีเฟน ฮอว์กิ้ง อายุเพียง 24 ปีเท่านั้น

ความสำเร็จยิ่งใหญ่ของฮอว์กิ้งอยู่ที่ผลงานการศึกษา กฎพื้นฐานŽ ซึ่งควบคุมความเป็นไปของทั้งจักรวาลอยู่ ผลงานดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกับ เซอร์ โรเจอร์ เพนโรส นักคณิตศาสตร์ฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ในปี 1970 ซึ่งเป็นการ คิดต่อŽ และขยายความ ทำความเข้าใจ ทฤษฎีพื้นฐานของจักรวาลทั้งหลาย รวมทั้งผลงานยิ่งใหญ่อย่างทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ฮอว์กิ้ง กับเพนโรส เป็นผู้เริ่มนำเอาคณิตศาสตร์ของหลุมดำมาประยุกต์ใช้กับจักรวาลทั้งจักรวาล และใช้สมการทางคณิตศาสตร์แสดงให้เห็นถึง เอกภาวะŽ ที่กาลและอวกาศบิดโค้งงอเป็นอนันต์ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไกลโพ้น ณ จุดที่เริ่มต้นการเกิด บิ๊กแบงŽ

ฮอว์กิ้งระบุว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปส่อนัยให้เห็นว่า อวกาศและกาลเวลา (สเปซ แอนด์ ไทม์) เริ่มต้นเมื่อเกิดบิ๊กแบง และจะถึงจุดสิ้นสุดใน หลุมดำŽ

ฮอว์กิ้งยังระบุต่อไปว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวเหล่านั้น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องหลอมรวมเอาทฤษฎียิ่งใหญ่และสำคัญ 2 ทฤษฎีเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งเดียว นั่นคือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป กับทฤษฎีควอนตัม ซึ่งเป็นพัฒนาการยิ่งใหญ่ในทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปพูดถึงจักรวาลอันไพศาล ในขณะที่ทฤษฎีควอนตัมพูดถึงส่วนที่เล็กที่สุดของสสาร

ผลที่ได้จากความพยายามหลอมรวม 2 ทฤษฎีเข้าเป็นหนึ่งเดียว ทำให้สตีเฟน ฮอว์กิ้ง ค้นพบเมื่อปี 1974 ว่า หลุมดำŽ นั้นไม่ควร ดำมืดโดยสิ้นเชิงŽ ในทางตรงกันข้าม หลุมดำควรปล่อยรังสีให้หลุดรอดออกมาได้ รังสีที่หลุดรอดออกมาในที่สุดจะค่อยๆ เลือนและหายไป คุณลักษณะดังกล่าวถูกเรียกขานกันในเวลานี้ว่า ฮอว์กิ้ง เรดิเอชั่นŽ หรือ การแผ่รังสีของฮอว์กิ้งŽ

ฮอว์กิ้งยังเป็นคนระบุว่า จักรวาลไม่มีริมขอบและไม่มีขอบเขต ตามจินตภาพของเวลา ซึ่งแสดงนัยให้เห็นว่า วิถีแต่แรกเริ่มของจักรวาลนั้นถูกกำกับและชี้ขาดโดยกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์โดยสมบูรณ์

ฮอว์กิ้งยังก่อให้เกิดการถกเถียงกันขนานใหญ่ว่าด้วย แบล็กโฮล อินฟอร์เมชั่น พาราดอกซ์Ž โดยการปฏิเสธความเชื่อที่ว่า ข้อมูลจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ แต่ยืนยันว่า หากหลุมดำสามารถแผ่รังสีและค่อยๆ เลือนหายไปได้ ดังนั้น ข้อมูลที่ตกลงไปในหลุมดำเมื่อถึงช่วงอายุขัยของหลุมดำ ข้อมูลดังกล่าวก็จะสูญหายไปชั่วนิรันดร์ ก่อนที่จะยอมรับและเปลี่ยนความคิดไปในทางตรงกันข้าม โดยอธิบายว่า ข้อมูล จะไม่หายไปไหน แต่จะถูกเก็บไว้ที่ เส้นขอบฟ้าเหตุการณ์Ž (Event Horizon) และถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นรังสีเมื่อเกิดการแผ่รังสีของหลุมดำ

แต่ผลงานที่ทำให้สตีเฟน ฮอว์กิ้ง กลายเป็น ซุปเปอร์สตาร์Ž กลับไม่ใช่งานเขียนพรรณนาเชิงวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย แต่กลับเป็นงานเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์ สำหรับบุคคลทั่วไปŽ ให้สามารถอ่านและเข้าใจได้โดยง่าย แบบ พ็อปปิวลาร์ ไซนซ์Ž ภายใต้การทำงานร่วมกับ ปีเตอร์ กัซซาร์ดี บรรณาธิการของแบนทัม บุค ที่ไม่ยอมปล่อยให้ข้อความที่เขาอ่านแล้ว ไม่เข้าใจว่าฮอว์กิ้งต้องการสื่ออะไรให้ผู้อ่านเข้าใจหลุดรอดออกมาในหนังสือแม้แต่ประโยคเดียว ด้วยการถาม-ตอบกับฮอว์กิ้งแบบถี่ยิบ

หนังสือยิ่งใหญ่เล่มนั้นชื่อ A Brief History of TimeŽ กลายเป็นหนังสือ เบสต์เซลเลอร์Ž ที่ติดอันดับขายดีของ ซันเดย์ไทม์ส์ ต่อเนื่องกันนานที่สุดจนเป็นสถิติของกินเนสส์ บุ๊ก ออฟ เวิลด์ เรคคอร์ด เป็นหนังสือที่ โซลด์ เอาต์Ž ภายในไม่กี่วันที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา

ฉบับภาษาอังกฤษขายได้มากกว่า 10 ล้านเล่มทั่วโลก ก่อนถูกถ่ายทอดออกเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 40 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย ที่สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์จำหน่ายในชื่อ ประวัติย่อของกาลเวลาŽ
และเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลสูงสุดร่วมสมัย ส่งผลให้เกิดนักคิด นักวิทยาศาสตร์รุ่นแล้วรุ่นเล่า สืบสานปณิธานเหนือกาลเวลาของฮอว์กิ้ง ในการแสวงหา แกรนด์ ยูนิฟายด์ ธีออรี ออฟ เอฟรีธิงŽ

สตีเฟน ฮอว์กิ้ง แต่งงานกับ เจน ไวลด์ เมื่อปี 1965 สามปีหลังจากพบกันบนถนนในเซนต์ อัลแบนส์ เรื่องราวของคนทั้งสองกลายเป็นหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรกเป็นงานเขียนในมุมมองของฮอว์กิ้งต่อความรักและแน่นอนต่อเจน ไวลด์ ชื่อ มาย บรีฟท์ ฮิสทรีŽ ที่สำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์ในชื่อ ประวัติย่อของตัวผมŽ กับอีกเล่มซึ่งเล่าเรื่องทั้งหมดในมุมมองของเจน ไวลด์ โดยใช้ชื่อว่า ทราฟเวลลิง ทู อินฟินิตี: มาย ไลฟ์ วิธ สตีเฟนŽ

ภาพยนตร์ที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตคู่ของทั้งสอง เดอะ ธีออรี ออฟ เอฟรีธิงŽ เมื่อปี 2015 ส่งผลให้ เอ็ดดี เรดเมย์น คว้ารางวัลออสการ์ดารานำชายยอดเยี่ยมในบทของฮอว์กิ้ง

สตีเฟน ฮอว์กิ้ง ถูกวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรค เอแอลเอสŽ (Amyotrophic Lateral Sclerosis) ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับการสูญเสียเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายไปก่อนอายุขัย ตั้งแต่อายุ 21 ปี สูญเสียความสามารถในการพูดโดยสิ้นเชิงในปี 1985 สืบเนื่องจากการรักษาเพื่อยื้อชีวิตของเขาไว้ต่อไป

ฮอว์กิ้งพูดผ่านระบบสังเคราะห์เสียงด้วยคอมพิวเตอร์ ที่อินเทลพัฒนาขึ้นสำหรับให้ได้ใช้งานกันโดยทั่วไปเรียกว่า เอซีเอทีŽ หรือ เอแคทŽ ซึ่งอำนวยให้ฮอว์กิ้งสามารถใช้กล้ามเนื้อแก้มในการควบคุมการเลือกเคอร์เซอร์เพื่อชี้ตัวอักษรในการผสมขึ้นเป็นคำ แล้วแปลงเป็นคำพูดด้วยเสียงสังเคราะห์ และช่วยให้ฮอว์กิ้งสามารถใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วไป อาทิ เวิร์ด หรือไฟร์ฟอกซ์ได้ สอนหนังสือได้ และให้สัมภาษณ์ได้

ฮอว์กิ้งเคยอุปมาอุปมัยความตายว่าเปรียบเสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้การไม่ได้แล้ว ดังนั้นในความคิดของเขา จึงไม่มีทั้งสวรรค์และนรก

“ผมไม่กลัวตาย แต่ยังไม่รีบตาย เพราะผมยังมีอะไรอีกมากที่ต้องทำก่อนตายŽ”

ถึงตอนนี้ นับว่า “สตีเฟน ฮอว์กิ้ง” ใช้ชีวิตและเวลาที่มีอยู่คุ้มค่าอย่างยิ่งแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image