‘ความจริง’ที่‘ใจ’ไม่ต้องการ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

คนเรามักจะฝืนกับความจริงที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย” หรือแม้แต่ “ความจริงก็คือ ความจริงวันยังค่ำ” อย่างความจริงที่ว่า “เราทุกคนต้องตาย” และทุกคนที่เรารัก เรารู้จักล้วนต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ คือ “ความจริง” แต่พวกเราเคยคิดถึงความเป็นจริงของความตายกันมากน้อยแค่ไหน? เรามีความเข้าใจต่อความหมายของคำว่า “ความตาย” กันอย่างไร?
ความเจ็บป่วย และความตาย เป็นเรื่องสุดห้าม สุดยื้อ

เมื่อ “หมอ” ถูกญาติถามเชิงขอร้องอย่าเพิ่งให้คนป่วยตายได้ไหม รออีก 2-3 วัน 1 เดือนได้ไหม? “หมอ” ส่วนใหญ่ เมื่อเจอคำถามนี้เข้า แม้ผู้เขียนเอง สมัยเป็นแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี ก็เคยถูกขอร้องให้ยื้อชีวิตลักษณะนี้เข้า ก็ใบ้กินเหมือนกัน (ฮา) รู้อยู่แก่ใจ พูดความจริงเขาก็จะเสียใจยอมรับไม่ได้ ถ้าพูดตรงเราอาจจะเสียคนเพราะโดนต่อว่าได้ แต่ถ้าเราปิดบังก็บาป ผิดศีลข้อ 4 พูดปด ถ้าญาติรู้ภายหลัง กล่าวหาว่าเราโกหกพูดไม่จริงก็มี หมอเองก็ตายได้เหมือนกัน

“คนตาย” ถ้าถามเขาก็คงบอกยังไม่อยากตายเหมือนกัน ไอ้คนที่อยู่หลายคนก็ไม่อยากให้เขาตายเหมือนกัน แม้จะมีบางคนบอก เฮ้อ…ป่วยมานานแล้ว ตายก็สมควรแก่เหตุ แต่แท้ที่จริงนี่ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร เป็นผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ร่ำรวย เป็นผู้ยากจน หรือ ต่อให้มีอำนาจแค่ไหน หรือเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งก็ตาม เราก็ต่อรองกับมันไม่ได้เลย

คนเราเกิดมาทุกคนมีสมบัติติดตัวมา คือ “ความตาย” ด้วยกันทุกคน มันไม่ได้รอว่าต้องให้ได้อยู่อายุครบเท่านั้นเท่านี้แล้วค่อยตาย เพราะเด็กๆ…ก็มีให้เห็นว่าตายได้ ตายตั้งแต่อยู่ในท้องก็มี ขณะนอน กิน นั่ง เดิน กำลังพูดจากันดีๆ ตายไปก็มี แม้กำลังอยู่ในวัยสนุกสนานร่าเริงอย่างวัยหนุ่มวัยสาวตายไปก็ไม่รู้ตัว มันจะแปลกอะไรถ้าเราคนหนึ่งก็จะกลัวตายกับเขาด้วย?

Advertisement

แต่หลายคนเพราะไม่ชอบคำว่าตายนี่เอง รังเกียจ ไม่ปรารถนาความตาย ไม่อยากแม้ได้ยินคำว่าตาย ทุกคนจึงพยายามมีความคิดแปลกๆ คือพยายามหนี พยายามที่จะแยกตนเองออกจากความจริง แยกจากธรรมชาติ หนีธรรมดาๆ หนีธรรมชาติ จะทำอภิสิทธิ์ให้แก่ตนเอง ด้วยการขอยกเลิกยกเว้นว่า… เรายังไม่สมควรจะตาย เราควรจะได้อยู่ต่อไปอีก หรือถ้ามีบุคคลที่เรารักที่เราพอใจอย่างเช่น เป็นพ่อแม่ ญาติมิตร เป็นเพื่อนสนิท หรือเป็นคนที่รู้ใจต่างๆ เราก็มักจะรำพึงในใจของเราเองอยู่ว่า…คนเหล่านั้นน่าจะได้ “อภิสิทธิ์” น่าจะได้รับการยกเว้น…ว่าไม่ต้องตาย หรือยังไม่สมควรตาย ก็เลยไม่รู้ว่าเราจะไปต่อรองกับใคร? ไปขออภิสิทธิ์พิเศษตรงนั้นจากใคร เพราะสิทธิตรงนี้ในการตายนี่เป็นสิทธิที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่ามนุษย์ ไม่ว่าสัตว์ ไม่ว่าพืช ไม่ว่าผู้หญิง ไม่ว่าผู้ชาย ไม่ว่าเด็กว่าผู้ใหญ่ ไม่ว่าเป็นหมอวิเศษแค่ไหนหรือโจรใจร้ายทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

คนเราเกิด สัตว์เกิด พืชเกิด เขาเกิดและเขาตาย “เรา” ก็ต้องตายจะมายกเว้นกันไม่ได้

ถ้าคนเรายอมรับสิทธิที่เท่าเทียมกันที่ตรงนั้น ความเป็นจริงหลายอย่างในชีวิตจะปรากฏแก่ใจ พอที่จะให้ใจนั้นได้ซึมซาบ ซึมซับเอาความจริงเหล่านั้นเข้าไปเป็นภูมิคุ้มกันของใจ เพราะไม่วันนี้เราก็มักจะใช้สิทธิพิเศษที่ไม่รู้ใครเป็นผู้ให้ เอาเข้าไปตั้งไว้ในใจเพื่อปัดปฏิเสธความจริงอยู่เรื่อยๆ แต่ความจริงพอปรากฏขึ้นเมื่อไหร่เดือดร้อนทุกที เพราะมันเป็น “ความจริง” ที่ไม่ต้องการที่รับไม่ได้เป็นความจริงที่เราไม่ต้องการ
อย่างความ “ชราวัย” หนังเหี่ยว จมูกบี้ ตาเหี่ยว ตาย่น หนังแตก เปลี่ยนแปลงตามสังขาร เราก็ต้องพึ่งเครื่องสำอาง พึ่งแพทย์ด้วยการทำศัลยกรรมตกแต่งราคาเป็นหมื่นเป็นแสนก็ไม่ว่ายอมเสียเท่าไหร่เท่ากัน ขอให้หนุ่มสาวขึ้นมากว่าเดิม หรืออย่างความเจ็บป่วย การพลัดพรากจากกัน อย่างการที่ต้องพบต้องประสบต้องเจอกับสิ่งหรือการที่ไม่ถูกใจ ไม่ชอบไม่สบอารมณ์ตลอดถึงการตาย เมื่อความจริงเหล่านี้มันแสดงตน แสดงตัวของมันให้ปรากฏอย่างชัดแจ้ง คนที่ไม่ได้ทำความเห็นทำความคิดของตนเองปรับตัวกายใจให้ยอมรับในสิ่งเหล่านี้ พอมันเกิดขึ้นมาทีไรดูว่าใจของเราไม่เคยเป็นสุข บางทีเรื่องเล็กๆ น้อย เรื่องนิดเดียวเพื่อแต่ว่าไอ้นิดเดียว ตรงนั้นแหละมันไม่ได้เป็นอย่างใจเรา แค่นั้นคนเราสามารถที่จะทำใจของตนเองให้ลุกเป็นไฟขึ้นมาได้ เผาใจได้ พลุ่งพล่านได้…

Advertisement

อย่างแค่เดินไปเจอหน้าคนบังเอิญเขาไม่ได้ยิ้มให้เราแต่เราทำหน้าบึ้งหน้าตึง จะด้วยเหตุผลกลใดไม่รู้ บางทีเขาอาจจะโกรธใครมาก่อนหน้านั้น พอมาเจอหน้าเราเข้าให้ หน้าเขาไม่อาจที่จะเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกให้ทันควรที่ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส หน้าเขาก็เลยยังบึ้งตึงอยู่ เราก็บอกว่าอะไรของมัน เจอหน้ากันก็หน้าบึ้งใส่กันแล้ว โกรธกันแล้ว เพราะดูว่าเราไปตั้งความหวัง ตั้งอภิสิทธิ์ไว้ว่า “เราต้องการสิ่งใดต้องได้สิ่งนั้น” เหมือนต้องการที่ไม่ป่วยก็ต้องไม่ป่วย ป่วยแล้วเดือดร้อน ไม่ต้องการพลัดพราก แต่พอพลัดพรากก็เอาแล้วทนไม่ได้ อยู่ไม่ได้ โวยวาย

เราตั้งอภิสิทธิ์ให้ตนเอง หรือพูดภาษาง่าย เราชอบ “มโน” กันเอาเองให้ตัวเองเกือบทุกเรื่องในโลกนี้ แต่ผลที่มันปรากฏออกมาก็คือ สิทธิของเราไม่เคยได้ยิ่งไปกว่าคนอื่น ไม่ได้ดีไปกว่าสัตว์หรือสัตว์เดรัจฉาน หรือพืช เพราะพืชและสัตว์มันเกิดมามันก็ตาย เราเกิดมาก็ตาย สัตว์ที่เกิดมาก็มีพลัดพราก เราเกิดมากินข้าวกินอาหาร สัตว์เกิดมาก็กินอาหาร สืบพันธุ์เหมือนกัน ก็แล้วต่างคนก็ต้องมีกิจกรรมต้องไปขี้ไปเยี่ยว สืบพันธุ์ ทั้งคนและสัตว์ก็พอกัน เราจะเห็นอย่างเด่นชัดว่า อภิสิทธิ์ทั้งหลาย ความเป็นพิเศษทั้งปวง ที่คนเราชอบและชอบเรียกร้องหาให้กับตนเอง หรือพยายามให้กับคนที่เรารัก คนที่เราปรารถนาดีนั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีในโลกนี้ คือ มันเกิดขึ้นไม่ได้ของมัน “เท่าเทียมกัน” เป็นระนาบเดียวกัน ใช่ว่าจะเป็นความสวยความหล่อ ความเท่ ขี้ริ้ว ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยความตาย ความทุกข์ทั้งหลายแล้วในเมื่อทุกร่างกายทุกชีวิตมีความเท่าเทียมกันเสมอภาคกันตรงนี้แล้วเราจะไปสร้างความแตกต่างเพื่ออะไรกัน?

หรือเพื่อเผาใจตนเองเพื่อสร้างภาวะให้แก่ใจเรา สร้างปัญหาในใจเรา เผาไหม้ความรู้สึกแล้วเราก็เป็น “ทุกข์” อยู่อย่างนั้น

มีคำถามว่า ทำไมเราไม่ยอมรับความจริง? เพราะเหตุใด? ในเมื่อเราจะฝืนขนาดไหนก็ตาม จะโกหกตนเองขนาดไหนก็ตาม หรือให้คนทั้งโลกมาช่วยกันโกหกพกลมว่า “เกิดมาแล้วไม่ต้องตาย” หรือเกิดมาแล้วนี่ไม่ต้องพบความเสื่อม หรือความไม่เที่ยงทุกอย่างจะต้องเที่ยง ทุกอย่างจะต้องมั่นคง ทุกอย่างจะต้องเป็นสุขดั่งที่ใจเรานึก จะเอาคนทั้งโลกทั้งจักรวาล ทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์ตลอดถึงภูมิผีปีศาจ พรหมเทพเทวดา เอามาช่วยกันโกหกทั้งโลกว่า “ขอให้มันเที่ยง ขอให้มันมั่นคงถาวร ขอให้มันไม่เสื่อม ขอให้มันเป็นสุขในทุกๆ อย่างที่ปรารถนา” มันก็ไม่อาจที่จะเป็นอย่างนั้นได้ ไม่ว่าแต่เราคนเดียวมาโกหก เอาคนมาทั้งโลกทั้งจักรวาล มันก็เปลี่ยนไม่ได้เพราะมันคือ “กฎธรรมชาติ” ความจริงมันเป็นอยู่อย่างนั้น

ในอดีตที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เราแต่ละคนเคยพบเคยเห็น “ผล” ของการที่จะฝืนความเป็นจริง หลายคนเคยเร่าร้อน เพราะการฝืนความเป็นจริงที่จะเอาดั่งใจ หลายคนต้องวิตกมอดไหม้เศร้าหมองใจเพียงเพราะอยากให้สิ่งต่างๆ นั้นเป็นดังใจนึก แต่มันไม่เคยเป็น ในเมื่อมันไม่เป็นแล้วเราฝืน แล้วเราก็ได้ “ทุกข์” ถ้ามาเปรียบเทียบกับการที่เรา “ยอมรับ” แล้ว ใจเราก็จะไม่เร่าร้อน ใจไม่เศร้าหมองไม่ต้องฝืน ขัดเคือง ใจไม่เป็นทุกข์ ดูว่ามันน่าที่จะเลือกเอาสิ่งไหน? เลือกเอา “การยอมรับ” หรือเลือกเอาการ “ปฏิเสธ”

ถ้าเรายอมรับความเป็นจริงของชีวิตว่า “เกิดมาแล้วนี่ก็ต้องตาย เกิดมาแล้วต้องเจอกับความไม่เที่ยงกับความเสื่อม ความไม่ได้ดั่งใจ” เมื่อนั้น ใจมันก็คงไม่ไปตั้งความหวังแบบเอาเป็นเอาตายกับสิ่งต่างๆ ไอ้หวังไอ้ความอยากได้อยากมีอยากเป็นนั้นมันมีในใจทุกคน แต่ไม่ใช่คิดที่เอาเป็นเอาตาย หรือนึกว่าจะเสกสรรค์ปั้นยอปั้นแต่งเอาได้ดั่งใจนึกในทุกๆ เรื่องมันเป็นไปไม่ได้

ถ้าใจเรายอมรับความจริงในสิ่งเรานี้แล้ว ยอมรับในสรรพสิ่งทั้งหลายว่า…มันไม่เที่ยงไม่มั่นคงถาวร มันเปลี่ยนแปลงได้และอาการเปลี่ยนแปลงมันทั้งก็ชื่อว่ามันเป็นสภาวะทุกข์อย่างหนึ่งแล้วก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจที่คนใดคนหนึ่งจะไปบังคับบัญชาเอา แล้วเมื่อเราเห็นอยู่อย่างนี้ ยอมรับความจริงอยู่อย่างนี้ไม่ว่าร่างกายเราร่างกายคนอื่น หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกในชีวิตนี้ มันจะเป็นไปตามเรื่องตามเรื่องราวของ “ธรรมชาติ” ของมันใจเราจะได้ไม่เร่าร้อนใจเราก็จะได้ไม่ทุกข์ใจเราก็จะได้ไม่มีปัญหา เพราะมันยอมรับเพราะ “ความจริงทั้งหลายนี้ ถึงเราไม่ยอมรับมันก็ยังจริงอยู่อย่างนั้น” ไม่ใช่ว่าเราได้ยอมรับแล้วมันก็เปลี่ยน เราจะยอมรับไม่ยอมรับ “ความจริง” มันก็ยังเป็น “ความจริง” อยู่วันยังค่ำ

ฉะนั้นหันมายอมรับความจริงสักทีเพื่อทำใจของตนนั้นให้สงบลง ให้เย็นลงให้เบาลงให้สบายให้เป็นสุขอย่าได้เผาใจของตนให้เป็นทุกข์ด้วยการปฏิเสธกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ หวังจะเอาแต่ดั่งใจที่คิด ทำใจตนเอง สร้างเหตุผล สร้างความคิด ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาให้เห็นความจริงเหล่านี้ ให้ใจได้สบายให้ใจได้ยอมรับแล้วเราก็จะเป็นคนหนึ่งที่มีความสุข

ผู้เขียนและทุกท่านที่เป็นชาวพุทธหรืออื่นๆ เห็นด้วยกับที่ว่า “อย่ายินดีกับการ
สร้างเหตุแห่งทุกข์ จงยินดีในการที่จะสร้างเหตุแห่งความพ้นทุกข์และสร้างเหตุแห่งสุข” อันเป็น “ธรรม” นั่นคือ “การยอมรับความเป็นจริงอันเป็นธรรมชาติ เมื่อยอมรับความเป็นจริงมันก็ย่อมเป็นทั้งการเกาะเกี่ยว การยึดเหนี่ยวผูกพัน การอาลัยอาวรณ์ในสิ่งทั้งหลายลงได้ คือปล่อยวาง ละวางลงได้ “ใจ” ก็ย่อมสงบ ระงับเป็นสุข ใจสว่าง สะอาด สงบในที่สุด

นั่นคือ คำว่า “ตาย” ของคนเราก็คือ สภาวะอาการของร่างกายที่หยุดไปและก็ไม่ยอมที่จะเคลื่อนไหวต่อไปใดๆ อีก…ไม่ว่าจะหยุดไปเป็นเดือนเป็นวันเป็นปี เป็นหลายๆ ปีก็ตาม “ตา” ที่เคยมองเห็นก็มองไม่เห็น “หู” มีที่อยู่เคยได้ยินก็ไม่ได้ยิน “จมูก” ที่มีอยู่ก็ไม่สามารถรับรู้ซึ่งกลิ่นได้ “ลิ้น” ก็ยังคงอยู่ในปากก็ไม่สามารถรับรู้ซึ่งรสชาติต่างๆ ได้ “กาย” ก็ยังปกติเห็นๆ อยู่แต่อะไรมาถูกต้องมาสัมผัสก็ไม่รับรู้ เพราะเหตุผลว่า “จิตใจเราไม่ได้อาศัยอยู่แล้ว…ใจไม่ได้ตาย” พูดภาษาชาวบ้าน “จิตวิญญาณได้ออกจากร่างไปแล้ว” ทันทีที่ร่างเราตาย เขาก็เลยเรียกว่า “ตาย” เขา “ตาย” เฉพาะ “ร่างกาย” เท่านั้น ผุพังไปเพราะมันหมดเหตุหมดปัจจัย เอาร่างไปฝังบ้าง เผาบ้าง หรือทิ้งให้มันเน่าเปื่อยหรือเก็บไว้บ้าง อาการของการตายก็คืออย่างนี้ แค่นี้

เพราะมันเป็นเช่นนี้เอง ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image