อาศรมมิวสิก : ตีความชีวิตอันเป็นแบบอย่างของ‘ไฮเดิน’ : โดยบวรพงศ์ ศุภโสภณ

ตีความชีวิตอันเป็นแบบอย่างของ‘ไฮเดิน’

ชีวิตของนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกนั้นบางทีก็มีอะไรๆ ที่น่าตื่นเต้น, น่าเรียนรู้ไม่น้อยไปกว่าบรรดาผลงานดนตรีที่พวกเขาเขียนขึ้นมา กว่าจะได้ชื่อว่าเป็นนักประพันธ์ดนตรีระดับโลกก็ต้องถูกบททดสอบอย่างยากเย็นแบบผิดมนุษย์ธรรมดาๆ ทั่วไปจนบางทีก็น่าตื่นเต้นได้จนสามารถนำไปทำเป็นละคร, ภาพยนตร์กันให้ได้พบเห็นอยู่เสมอมา

หากมาลองพิจารณาดูแล้ว น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยที่ผลงานดนตรีที่ท่านเหล่านี้ประพันธ์ขึ้นนั้นได้รับการนำออกมาฟังกันครั้งแล้วครั้งเล่านานนับร้อยปี ฟังกันจากรุ่นสู่รุ่น จากสกอร์ดนตรีฉบับเดียวกันแท้ๆ สามารถพลิกแพลงค้นหาแง่มุมการตีความบรรเลงไปในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างมากมาย, หลากหลาย ชวนให้ค้นหาค้นพบแง่มุมในการบรรเลงในรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างไม่มีจบสิ้น

เช่นเดียวกับเรื่องราวในชีวิตของเขา, ประวัติผู้ประพันธ์เพลงที่คนรักดนตรีคิดว่ารู้จักกันดีแล้ว ดีจนสามารถหาบทสรุปได้เป็นที่แน่นอน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปนานเข้าๆ การค้นพบข้อมูลใหม่ๆ หรือหลักฐานอะไรใหม่ๆ ในชีวิตของพวกเขาเพิ่มเติม ก็อาจทำให้เราได้บทสรุปใหม่ๆ แง่มุมใหม่ๆ ได้อีกอย่างคาดไม่ถึง

Advertisement

เช่นเดียวกับเรื่องราวของ ฟรันซ์ โยเซฟ ไฮเดิน (Franz Joseph Haydn) นักประพันธ์ดนตรีแห่งศตวรรษที่ 18 ที่ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งเพลงซิมโฟนี” และ “บิดาแห่งบทเพลงสตริงควอเต็ท”

หลายวันก่อนผู้เขียนได้ไปอ่านบทความชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งในเว็บไซต์ WWW.Interlude.hk เขียนโดย Emily E. Hogstad บทความนี้มีชื่อว่า “วัยเด็กอันมืดมนของโยเซฟไฮเดิน” (The Dark Childhood of Joseph Haydn) ข้อมูลหลักๆ ก็เป็นเรื่องราวที่ผู้เขียนพอจะรู้อยู่ก่อนบ้างแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางเรื่องก็เป็นแง่มุมที่เราไม่เคยพิจารณาให้เน้นหนักชัดเจนมาก่อน จึงมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้เห็นภาพชีวิตของนักประพันธ์ดนตรีอัจฉริยะผู้นี้บางด้านขาดหายไป โดยเฉพาะภาพชีวิตในวัยเด็กของเขาที่พวกเราผู้รักดนตรีมักจะมองข้ามไปแล้วไปเพ่งพิจารณากันแต่ความสำเร็จในยุคทองของเขาในฐานะนักประพันธ์ดนตรีแห่งราชสำนักราชสกุล “เอสเตอร์ฮาซี” (Esterhazy) อันมั่งคั่ง ที่ไฮเดินไปเสวยสุขกินตำแหน่ง “ผู้อำนวยการดนตรี” (Kapellmeister) อยู่นานเกือบ 30 ปี
เปรียบเทียบกับชีวิตอันอาภัพและแสนสั้นของ โมซาร์ท (W.A.Mozart) และชีวิตของมหาดุริยกวี หูหนวกและขวางโลกอย่างเบโธเฟนแล้ว เราจึงอาจ มองว่าไฮเดินน่าจะเป็นนักประพันธ์ดนตรีที่มีชะตาชีวิตที่สุขสบายที่สุดในบรรดานักประพันธ์ดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด 3 คนนี้ แห่งยุคคลาสสิกศตวรรษที่ 18

Advertisement

การที่เราจะเรียนรู้และเข้าใจถึงชีวิตของท่านผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ได้ เป็นเรื่องที่เราน่าจะต้องใช้จินตนาการหลับตานึกภาพประกอบย้อนยุคไปในสมัยโน้น เสมือนกับที่เราต้องมีจินตนาการในการฟังเสียงดนตรีที่ท่านสร้างขึ้นทีเดียว ในบทความชิ้นนี้ เอมิลี ฮ็อกสตาด ได้ขยายภาพชีวิตวัยเด็กของไฮเดินให้เด่นชัดขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้วในวัยเด็กของไฮเดินก็มีชะตาชีวิตที่ต้องประสบกับความยากลำบากอย่างมาก

เริ่มจาก “เด็กบ้านนอก” ลูกช่างทำล้อเกวียน ในเมือง Rohrau ซึ่งมีพ่อที่แม้จะเล่นดนตรี แต่ก็เป็นเพียงนักดนตรีพื้นบ้านที่อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ (อ่านโน้ตดนตรีไม่เป็น) หัดเล่นพิณด้วยตนเอง โชคดีอยู่บ้างจากบรรยากาศการชอบร้องเพลงภายในครอบครัว (เพลงพื้นบ้าน) ทำให้เด็กชายไฮเดินได้ฝึกฝนพรสวรรค์, ทักษะทางการร้องเพลงจนได้ใช้เป็นต้นทุนชีวิตเล็กๆ ในอันที่จะก้าวพ้นวิถีชีวิตที่ไร้โอกาสในชนบทนั้นได้ ทักษะการร้องเพลงได้อย่างไพเราะของเด็กชายไฮเดินในวัย 6 ขวบ ทำให้ญาติห่างๆ คนหนึ่งของเขานามว่า “โยฮันน์ มาทเทียส ฟรังห์” (Johann Matthias Frankh) ที่เป็นครูสอนดนตรีและหัวหน้าวงขับร้องประสานเสียงมาเสนอโอกาสขอตัวเด็กน้อยวัย 6 ขวบคนนี้ไปเป็น “เด็กฝึกงาน” ทางดนตรีของเขา

เด็กน้อยวัย 6 ขวบจำต้องจากครอบครัวไปด้วยหวังอนาคตที่ดีกว่า (และนั่นก็เป็นการพลัดพรากจากอกพ่อ-แม่ตราบชั่วชีวิตของไฮเดิน) ชีวิตของเด็กน้อยไฮเดินกับครอบครัวใหม่ไม่สุขสบายอย่างที่คาด โยฮันน์ ฟรังห์ ญาติห่างๆ ผู้นี้ของเขาเลี้ยงดูหนูน้อยไฮเดินอย่างอดๆอยากๆ สวมใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ที่สกปรก และถูกเฆี่ยนตีอยู่บ่อยๆ (ไฮเดินอาจเป็นเด็กซนมากที่เราดูได้จากลักษณะดนตรีที่เขาประพันธ์??) ซึ่งความลำบากนั่นก็เป็นเสมือนค่าตอบแทนที่หนูน้อยต้องจ่ายให้กับการเรียนดนตรีทั้งด้านการขับร้อง, การบรรเลงไวโอลินและการเล่นฮาร์พซิคอร์ด (Harpsichord) เพื่อเป็นทุนในย่างก้าวของเขาต่อไป

ชีวิตอดๆ อยากๆ กับครอบครัวของฟรังห์ผ่านไปได้ราว 2 ปี ก็มีแมวมองใหญ่จากเมืองหลวงมาออกเดินสายตระเวนหาเด็กใหม่ๆ ที่มีพรสวรรค์เพื่อไปเป็นสมาชิกวงขับร้องประสานเสียงเด็กชายแห่งโบสถ์เซนต์สเตฟาน (St.Stephan) ในกรุงเวียนนา เขาคือ “เกออร์ก ฟอน รึตเตอร์” (Georg von Ruetter) ผู้อำนวยการดนตรีแห่งโบสถ์ใหญ่อันทรงอิทธิพลนี้ เขาต้องออกตระเวนหาคัดเลือกเด็กใหม่ที่ต้องเข้าไปทดแทนสมาชิกเก่าๆ ที่เริ่มเติบโตขึ้นและเสียงแตกหนุ่มจนไม่สามารถใช้ “เสียงสูงของเด็กผู้ชาย” (Boy Soprano) ในการร้องเพลงได้อีกต่อไป

หนูน้อยไฮเดินในวัย 8 ขวบผู้มีพรสวรรค์ทางการร้องเพลงผ่านการคัดเลือกของเกออร์ก ฟอน รึตเตอร์ ย้ายเข้าไปเป็น “เด็กวัด” ในเมืองหลวง ด้วยความหวัง (แบบเด็กบ้านนอกที่ไร้โอกาส) ว่า เขาจะได้เรียนหนังสือและที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือได้ร่ำเรียนวิชาดนตรีในขั้นสูงจนถึงขั้นวิชาการประพันธ์ดนตรี

ชีวิตในการเป็นเด็กร้องเพลงในโบสถ์ของไฮเดิน ทำให้เขาได้มีโอกาสเรียนหนังสือเพิ่มเติม ได้เรียนการขับร้อง, ไวโอลิน และการเล่นฮาร์พซิคอร์ด แต่ไม่ได้รับการเรียนวิชาทฤษฎี หรือวิชาการประพันธ์ดนตรีแบบที่เขาคาดหวังชีวิตในการเป็น “เด็กวัด” เป็นได้แค่การร้องเพลงไปตามตารางหน้าที่ประจำ หรือการได้มีโอกาสพิเศษไปร้องเพลงให้เจ้านายชั้นสูงฟังเป็นการพิเศษ ซึ่งนั่นก็ได้รับค่าตอบแทนเป็นเพียงขนมและน้ำหวานสำหรับเด็กวัดที่มีเสียงไพเราะเช่นเขา ซึ่งนั่นก็ดูจะเป็นสิ่งพิเศษแล้วที่เขาได้รับ

วิถีชีวิตทางดนตรี ณ โบสถ์ใหญ่แห่งนี้ดูจะเป็นไปได้แค่การฝึกฝนให้เขาได้เป็นเพียงนักดนตรีอาชีพที่ทำหน้าที่ได้เพียงร้องเพลง, เล่นไวโอลิน หรือเล่นคีย์บอร์ดเท่านั้นเอง

แต่ความใฝ่ฝันในการเป็นนักแต่งเพลงยังคงอยู่ในใจของเขาเสมอ

เรื่องราวอันเป็นจุดหักเหอันสำคัญในชีวิตการเป็นเด็กวัดที่โบสถ์เซนต์สเตฟาน ก็คือเนื่องมาจากความเป็นคนมีอารมณ์ซุกซนของเขานั่นเอง ในตอนอายุได้ 17 ปี ไฮเดินเริ่มเป็นหนุ่มน้อยแล้วแต่ด้วยความซุกซนจึงไปแกล้งตัดหางเปียของเพื่อนที่เป็นเด็กร้องเพลงในโบสถ์ด้วยกัน ไฮเดินจึงถูกลงโทษอย่างแรงด้วยการเฆี่ยนตีและเนรเทศออกจากโบสถ์อันยิ่งใหญ่แห่งนี้ที่เขาใช้ชีวิตอยู่มาอย่างต่อเนื่องเกือบ 10 ปี

เหตุผลที่แท้จริงในเรื่องนี้นับว่าน่าพิจารณาอยู่ไม่น้อย ในขณะนั้นไฮเดินอายุ 17 ปีแล้ว เสียงแตกเนื้อหนุ่มไม่ใช่ “Boy Soprano” อีกต่อไป ซึ่งก็หมดประโยชน์ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในฐานะ “เด็กวัด” ได้อีก หรือเราต้องไม่ลืมว่าไฮเดินเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางการร้องเพลงมากเป็นพิเศษ ซึ่งเขาได้ใช้พรสวรรค์นี้เป็นหนทางในการเดินทางสู่ความก้าวหน้าทางดนตรีมาตั้งแต่ต้น

มีข้อมูลบางแหล่งบอกว่า เกออร์ก ฟอน รึตเตอร์ ผู้อำนวยการดนตรีของโบสถ์เซนต์สเตฟานแห่งนี้ รักเสียงร้องเพลงของไฮเดินมากและต้องการให้ไฮเดิน “บูชายัญ” ชีวิตทั้งหมดเพื่อการร้องเพลง ด้วยการเป็น “นักร้องขันที” (Castrato = นักร้องชายที่ต้องถูกทำให้เป็นขันทีเพื่อรักษาเสียงร้องสูงแบบเด็กผู้ชายเอาไว้ให้ได้ตลอดชีวิต) เขาพยายามเกลี้ยกล่อมไฮเดินอยู่นาน และเมื่อไม่ประสบผลสำเร็จจึงไม่เป็นที่สบอารมณ์อย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อหนุ่มน้อยไฮเดินในวัย 17 ปี แอบไปตัดหางเปียเด็กนักร้องชายด้วยกันมันจึงกลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่เขาใช้เป็นเหตุหาเรื่องเนรเทศไฮเดินออกไปให้พ้นจากโบสถ์แห่งนี้

พลัดพรากจากอกพ่อ-แม่ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ต้องมาพำนักอยู่กับญาติห่างๆ ที่เลี้ยงดูเขาอย่างอดๆ อยากๆ การได้มาเป็น “เด็กวัด” ในเมืองหลวงอย่างกรุงเวียนนาจนโตเป็นหนุ่มก็มิได้สร้างหลักประกันในความก้าวหน้าทางดนตรีใดๆ มิหนำซ้ำยังต้องถูกอัปเปหิออกมาอย่างหมดค่าเมื่อหมดผลประโยชน์

หนุ่มน้อยไฮเดินในวัย 17 ปี ต้องระเห็จออกมาอย่างไร้จุดหมายกลายเป็นนักดนตรีข้างถนน เล่นดนตรีเพื่อยังชีพไปแบบวันต่อวัน โชคยังดีอยู่บ้างตรงที่เพื่อนของเขาคนหนึ่งที่ชื่อว่า “โยฮันน์ ไมเคิล ชปังเลอร์” (Johann Michael Spangler) ชวนให้ไปร่วมพำนักในห้องเช่าเล็กๆ แบบห้องใต้หลังคาร่วมกับครอบครัวเขา นั่นจึงทำให้หนุ่มน้อยไฮเดินได้มีที่ซุกหัวนอนไปพลางๆ พร้อมกับใช้ทักษะ, ความรู้ทางดนตรีที่พอมีติดตัวอยู่บ้างดิ้นรนทำมาหากินทางดนตรีในทุกรูปแบบ ทั้งการเป็นนักดนตรีอิสระ, การรับจ้างสอนดนตรีให้กับลูกคนที่มีฐานะดี หรือการได้ชื่อว่าเป็น “นักดนตรีข้างถนน” ในช่วงชีวิตหนึ่งที่ต้องก้าวข้ามให้ผ่านพ้น

ในปี ค.ศ.1752 ในวัย 20 ปี ไฮเดินได้มีโอกาสทำงานเป็นเลขาฯ-ผู้ช่วยของนักประพันธ์ดนตรีอิตาเลียนคนหนึ่งที่ชื่อว่า “นิโคลา พอร์โพรา” (Nicola Porpora)

ณ จุดนี้เองที่ไฮเดินบอกว่ามันคือช่วงเวลาที่เขาได้เริ่มเรียนวิชาการประพันธ์ดนตรีอันเป็นระบบอย่างแท้จริง รวมถึงการได้มีโอกาสศึกษาตำราเล่มสำคัญในทางวิชาการแต่งเพลงในยุคนั้น นั่นคือวิชาการสอดประสานแนวทำนองต่างๆ (Counterpoint)

หนังสือตำราชุดนี้มีชื่อว่า “Gradus ad Parnassum” เขียนขึ้นโดย “โยฮันน์ โยเซฟ ฟุกซ์” (Johann Joseph Fux) ตำราเล่มสำคัญทางวิชาการประพันธ์ดนตรีที่ทรงอิทธิพลอยู่นานนับร้อยปี ทั้งโมซาร์ทและเบโธเฟนต่างยอมรับและยกย่องในคุณค่าและเนื้อหา มันคือช่วงเวลาที่เขาได้ชื่อว่าเป็นนักดนตรีอิสระแห่งกรุงเวียนนาอย่างแท้จริง

ชีวิตของไฮเดินเริ่มนิ่ง, เสถียร และตั้งตัวได้ก็มาเริ่มเอาในปี ค.ศ.1757 (อายุได้ 25 ปี, ในวัยเบญจเพส) เมื่อเขาได้ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการดนตรี” (Kapellmeister) แห่งวงดนตรีประจำราชสำนักของท่านเคานท์ มอร์ซิน (Count Morzin) ซึ่งมีวงออเคสตราขนาดย่อมในสังกัด ณ จุดนี้เองไฮเดินจึงเริ่มเขียนเพลงซิมโฟนี (Symphony) บทแรกขึ้นในชีวิต การได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการดนตรีประจำราชสำนักนี้ถือเป็นจุดสูงสุดของหน้าที่การงานทางดนตรีแห่งยุคสมัยนั้นเลยก็ว่าได้

วงดนตรีล้วนอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูจากเจ้านายจากวังต่างๆ และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นความมั่นคงในชีวิตของเขา ซึ่งเรื่องราวนับจากนี้เป็นต้นไปก็จะเป็น “เรื่องราวดีๆ” เสียเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะการได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการดนตรีประจำวงดนตรีราชสำนักของราชสกุล “เอสเตอร์ฮาซี” อยู่นานเกือบ 30 ปี (ค.ศ.1761-1790) ช่วงเวลาที่สวรรค์เป็นใจ งานที่หนักหนาอย่างสาหัส เพราะเจ้าชายนิโคเลาซ์ (Nikolaus) ผู้อุปถัมภ์ทรงเสพติดเสียงดนตรีอย่างไม่ธรรมดา

แต่ที่สำคัญทรงชุบเลี้ยงไฮเดินอย่างดีมากเป็นการชดเชยกัน มันคือช่วงเวลาที่ไฮเดินได้ใช้วงดนตรีที่นี่ในการเรียนรู้ทดลองและพัฒนาศาสตร์ทางการเขียนเพลงซิมโฟนีให้มีความก้าวหน้าไปอย่างเป็นลำดับ เรื่องราวชีวิตไฮเดินจบลงอย่างมีความสุข เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ.1809 ด้วยวัย 77 ปี

ผู้เขียนชอบเรียกไฮเดินกับเพื่อนๆ เสมอว่า “ป๋าไฮเดิน” เพราะในหนังสือหลายเล่มกล่าวตรงกันว่า ในสมัยที่มีชีวิตอยู่ท่านเป็นคนใจดี, อารมณ์ดีจนใครๆ ก็เรียกท่านว่า “Papa Haydn” เรียกเป็นภาษาไทยว่า “ป๋า” คำเดียวนั่นแหละตรงที่สุด

ตัวอย่างชีวิตที่เป็นสุภาพบุรุษแห่งศตวรรษที่ 18 เรื่องราวชีวิตของท่านที่พวกเรามักจะได้ยินได้ฟังแต่ด้านดีๆ มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อได้อ่านเรื่องราวในวัยเด็กของท่านแล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายากลำเค็ญแบบแทบเอาตัวไม่รอดเช่นเดียวกัน ฟังดนตรีของท่านกันมานานนับร้อยปี, ตีความดนตรีของท่านมานับรูปแบบไม่ถ้วน

ทำไมเราจะมาตีความชีวิตของท่านบ้างไม่ได้

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image